Skip to main content
sharethis

'เทพไท' ห่วงรัฐลอยแพผู้ติด COVID-19 จากบ่อนและต่างประเทศ ขัดรัฐธรรมนูญ-สิทธิมนุษยชนหรือไม่? หวั่นการแพร่ระบาดมากขึ้น แนะคิดให้รอบคอบผลดีผลเสียตามมา


เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)

10 ม.ค. 2564 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวความคิดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะยกเลิกการรักษาฟรีให้คนทำผิด ติดเชื้อลอบเข้าเมือง ว่า กรณีดังกล่าวถ้าจะยึดหลักการใครทำผิดจะต้องรับผิดชอบนั้น ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สำหรับสำหรับคนไทยการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ซึ่งได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิ์ได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติบุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

ถ้าหากรัฐบาลปฏิเสธการรักษาพยาบาลหรือผลักภาระให้กับผู้ป่วย ก็จะมีปัญหาตามมามากมาย ถ้าผู้ป่วยเหล่านั้นมีฐานะเป็นคนยากจน ไม่มีกำลังเงินในการใช้จ่ายรักษาพยาบาล ก็อาจจะถึงแก่ชีวิตได้ และอาจจะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายออกไปยังบุคคลอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย

ถ้าหากคุณอนุทินจะผลักดันแนวความคิดนี้จริง อยากให้แยกแยะพฤฒิกรรมของบุคคลออกจากกัน ระหว่างการทำผิดจากบ่อนการพนัน และการหลบหนีเข้าเมือง กับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และหลักมนุษยธรรม ก็อยากให้คิดอย่างรอบคอบถึงผลเสียที่ตามมาในหลายด้าน เช่น

1.จะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 หรือไม่
2.จะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือไม่
3.จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากยิ่งขึ้น หรือไม่

ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีประชาชนคนใดที่ต้องการอยากจะป่วย หรืออยากติดเชื่อไวรัสโควิด-19 เพื่อแลกกับการรักษาพยาบาลฟรีจากรัฐบาล เพราะมนุษย์ทุกคน รักชีวิตรักตัวกลัวตายกันทั้งนั้น แต่เมื่อเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาพยาบาล และถ้าเป็นคนที่มีฐานะทางการเงินดี สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ก็จะรักษาพยาบาลในโรงบาลชั้นดี แต่ถ้าเป็นคนฐานะยากจน ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ก็เป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่อยากให้สังคมตั้งข้อรังเกียจกับคนบางกลุ่มที่ติดเชื่อโควิด-19 ไม่ว่าจะติดเชื้อมาจากบ่อน หรือจากต่างประเทศก็ตาม ต้องคิดว่าทุกคนคือคนไทย ซึ่งรัฐบาลจะต้องเลือกระหว่างความถูกต้องกับความถูกใจ จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะเลือกแนวทางไหนดีกว่ากัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่าได้เข้าประชุมกับคณะแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความไม่สบายใจ คณะแพทย์ พูดถึงเรื่องการลักลอบเล่นการพนันที่ยังมีอยู่ ซึ่งตำรวจจับได้ตามข่าว และการเข้ามาของคนไทยที่มีอาการป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ถูกนำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ยังมีอีก 200-300 คนที่ลักลอบข้ามแดนออกไปทำงานในบ่อน รอกลับเข้ามา เพราะบ่อนปิด และมีอาการป่วย

นายอนุทิน ระบุได้ตั้งคำถามกับที่ประชุมว่า กับผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งเล่นการพนัน ลักลอบข้ามแดนไปมา แล้วป่วย โรงพยาบาลต้องเสียเงิน เสียทรัพยากร เสียกำลังคน ไปดูแลคนเหล่านี้ และต้องจำกัดเวลาให้บริการประชาชนทั่วไป ต้องเลื่อนนัดทั้งตรวจรักษา ผ่าตัด รับยา เงินงบประมาณที่ควรจะเอาไปดูแลรักษาประชาชนทั่วไป ต้องเอามาใช้ดูแลคนทำผิดกฎหมายเหล่านี้อีกนาน และมากแค่ไหนยังไม่รู้ ประชาชน คนทำมาหากินสุจริต ร้านค้า ร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจ จะต้องเสียเงิน เสียรายได้ เสียโอกาสการทำงาน และ การมีงานทำ ไปอีกนานเท่าไร

อันที่จริง กฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ชัดว่า คนที่เป็นเจ้าของพาหนะหรือนำผู้ป่วย ผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโรค รวมทั้งผู้เดินทางเข้ามาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกักตัว เฝ้าระวังอาการ ดูแล รักษาพยาบาล รวมถึง การป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรค คนที่พาเข้ามา และตัวเอง โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายให้ แต่ก็ถูกแย้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดไว้ “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

คำถามคือ รัฐควรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้กระทำผิดกฎหมาย เหล่านี้หรือ หากต้องจ่าย ก็น่าจะต้องเรียกเก็บจากผู้ที่นำเชื้อโรคเข้ามา ทั้งผู้ป่วย และผู้จัดหา นำเข้ามา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้

นายอนุทิน เผยจะนำเรื่องนี้ไปประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางฏิบัติ ป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย โดยไม่มีความรับผิดชอบ เพราะคิดว่า เมื่อป่วย รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาให้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกต่อไป

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net