Skip to main content
sharethis

กรีนพีซระบุวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2563 คือความล้มเหลวของรัฐบาลไทยและอาเซียนในการจัดการมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน

 

24 ก.พ.2564 ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย รายงานว่า ข้อมูลจากการวิเคราะห์จุดความร้อน พื้นปลูกข้าวโพด พื้นที่เผาไหม้ และมลพิษ PM2.5 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา) ระหว่างปี 2562 - 2563 โดยกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ภูมิภาค เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ ฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่มีความท้าทายในภูมิภาค จำเป็นต้องมีกลไกที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายเพื่อทำให้บริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษมีภาระรับผิดตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต พร้อมไปกับการที่รัฐบาลในอาเซียนต้องทบทวนเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 

การศึกษาครั้งนี้ซึ่งต่อเนื่องจากการรวมรวมข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการประยุกต์เทคโนโลยีทางด้านรีโมตเซนซิงในการตรวจหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/AQUA ระบบเซ็นเซอร์ Modis ซึ่งถูกออกแบบสำหรับการติดตาม และตรวจสอบข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสามารถบันทึกข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกได้ภายใน 2 วัน จึงมีความเหมาะสมในการใช้ตรวจสอบค่า PM2.5 และจุดความร้อน (hotspot) ในกรณีนี้เป็นการวิเคราะห์ด้วยความละเอียดของภาพจากดาวเทียม ระบบ MODIS ระบุพื้นที่เผาไหม้ (burn scar) ของพื้นที่มากกว่า 250 ตารางเมตร และวิเคราะห์จุดความร้อน ที่มีขนาดใหญ่กว่า 375 ตารางเมตร ตามความละเอียดของภาพดาวเทียมระบบ VIIRS และมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

  • ในช่วงปี 2563 แบบแผนการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นเกินค่าเฉลี่ยรายเดือนตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก(มากกว่า 25 µg/m3) ครอบคลุมพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวม 112.6 ล้านไร่  โดยกระจายครอบคลุมตอนเหนือของ สปป.ลาว มากที่สุด 56.07 ล้านไร่ รองลงมาคือภาคเหนือตอนบนของไทย 39.3 ล้านไร่ และรัฐฉานของเมียนมา 17.2 ล้านไร่
  • ในช่วงปี 2563 พบร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสูงที่สุดในเดือนมีนาคมรวมกันเป็น 7,004,171 ไร่ รองลงมาคือเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 6,524,028 ไร่ และเดือนเมษายนจำนวน 5,344,935 ไร่
  • ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ฉลี่ยรายปีทั้งหมด 3,594,992 ไร่ ในช่วงปี 2563 อยู่ในเขตรัฐฉานของเมียนมา 2,001,539 ไร่ ตอนบนของ สปป.ลาว 986,761ไร่  และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย 606,692 ไร่ ตามลำดับ
  • พบจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมดในปี 2563 สูงที่สุดในเดือนมีนาคมจำนวน 75,115 จุด
  • และรวมตลอดทั้งปีมีจำนวน 131,498 จุด โดยอยู่ในรัฐฉานของเมียนมามากที่สุด 66,855 จุด หรือร้อยละ 50.84 ของจุดความร้อนทั้งหมด รองลงมา คือ ตอนเหนือของ สปป.ลาว 34,890 จุด หรือร้อยละ 26.53 ของจุดความร้อนทั้งหมด และภาคเหนือตอนบนของไทย 29,753 จุด หรือร้อยละ 22.63 ของจุดความร้อนทั้งหมด
  • ผลจากการวิเคราะห์ย้อนหลังปี 2562 ของจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพด(เชิงอุตสาหกรรม) และแบบแผนการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่าเฉลี่ยรายเดือน ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด(เชิงอุตสาหกรรม) พบว่า ตอนบนของ สปป.ลาว มีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ปลูกข้าวโพด(เชิงอุตสาหกรรม) มากที่สุด 11,842 จุด โดยมีการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 (ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในสัดส่วนถึง 99.97% อยู่เหนือพื้นที่ปลูกข้าวโพด ส่วนรัฐฉานของเมียนมา แม้ว่าจะมีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ปลูกข้าวโพด(เชิงอุตสาหกรรม) มีจำนวน 6,964 จุด แต่การกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 (ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เหนือพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้นมีสัดส่วนน้อยที่สุดที่ 51.68% ในขณะที่ภาคเหนือตอนบนของไทย มีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ปลูกข้าวโพด(เชิงอุตสาหกรรม) น้อยที่สุดจำนวน 3,142 จุด แต่พบการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 (ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เหนือพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในสัดส่วน 94.68% รองจากตอนบนของ สปป.ลาว
  • ข้อมูลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นพลวัตรของฝุ่น PM2.5 โดยเงื่อนไขที่เป็นตัวกำหนดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แหล่งกำเนิด ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา และสภาพอากาศสุดขั้ว เป็นต้น) ในกรณีนี้ เราจะเห็นว่า การกระจายตัวและความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ไม่จำเป็นต้องแปรผันตามจำนวนจุดความร้อนที่ตรวจพบในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเสมอไป และสะท้อนถึงคุณลักษณะของฝุ่น PM2.5 ในฐานะเป็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่ชัดเจน

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชสำคัญในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ผลที่ได้จากการศึกษาที่ผ่านมาซึ่งชี้ชัดเจนว่ามีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกร้องถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่อย่างจริงจังกับรากเหง้าของปัญหานั่นคือ การขยายความรับผิดชอบของบริษัทอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขณะเดียวกัน ต้องหันมาสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ลดการเผา ซึ่งจะช่วยกู้วิกฤต สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในภูมิภาคอย่างแท้จริง”

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลในอาเซียนทบทวนเป้าหมาย “อาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 หรือ Haze-free ASEAN by 2020”  ที่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และดำเนินมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) อย่างจริงจัง เพื่อปกป้องประชาชนในภูมิภาคจากวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน 

หมายเหตุ

[1] รายงาน “ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน สามารถดูได้ที่นี่    https://act.gp/3aPOOBU

[2] ผลการวิเคราะห์จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ ความเข้มข้นของ PM2.5 และพื้นที่ปลูกข้าวโพด  ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี  2562-2563 ฉบับเต็ม https://act.gp/2ZMhyoM

[3]  ผลการวิเคราะห์จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ ความเข้มข้นของ PM2.5 และพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี  2562-2563 ฉบับย่อและข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทย  https://act.gp/3aO7mST

[4] ร่วมเรียกร้องกฎหมายติดฉลากเพื่อเปิดเผยข้อมูลที่มาอาหารสัตว์บนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากอุตสาหกรรม ได้ที่ https://act.gp/3pMwIoA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net