ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา

นี่คือสารคดีลงรายละเอียดเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจข้าวหอมมะลิแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ความแห้งแล้งบนผืนดินที่เค็มกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เจียระไนให้พันธุ์ข้าวจากภาคกลางไปออกรวงที่ดินแดนที่ราบสูงกลายเป็นสินค้าส่งออกลือชื่อ สารคดีเรื่องนี้ยังจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา และความปราณีตในวิถีการผลิตกระทั่งแปลงความแร้นแค้นจนกลายเป็นสินทรัพย์ ท่ามกลางน้ำฝนและนโยบายรัฐที่ไม่เคยตกต้องตามฤดูกาล

ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในภาคอีสาน เท่าที่รู้ ไม่มีชาวนาคนไหนตะโกนว่า “How dare you” สักคน ถ้าตะโกนถามกันว่า “Head young you” อาจจะพอมีบ้าง แต่การที่เขาไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประเด็น Climate change ใช่ว่า พวกเขา “บ่จั๊ก บ่หยัง” กับ ‘ปัญหาโลกร้อน’ เพราะในความจริง พวกเขาเข้าใจผลกระทบของมันตั้งแต่ก่อนที่ เกรตา ธุนเบิร์ก จะคลานจากครรภ์มารดาเสียอีก

สารภาพก็ได้ว่า ขณะที่หล่นนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ เพื่อร้อยตัวอักษรให้พวกท่านอ่าน เราก็มีส่วนร่วมในการทำลายสภาพแวดล้อมของโลกด้วยเช่นกัน เพราะไฟฟ้าในประเทศไทยกว่าครึ่งผลิตจากปิโตรเลียม ไม่ใช่เขื่อนอย่างที่เขาหลอกลวง แต่เอาเถอะ มันก็ไม่ต่างกับจังหวะเดียวกันที่น้องเกรตาทวีตบนทวิตเตอร์ของเธอนั่นแหละ เพราะถึงบ้านของเธอจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกคงไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดเสียหมด ว่าแต่ว่า เราจะไปพูดถึงเรื่องไกลตัวทำไม? เรามาพูดเรื่องที่เรา กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง อย่าง ‘ข้าว’ กับ ‘ฝน’ เสียดีกว่า เพราะหากมัวแต่เสียเวลา ‘ฆ่าเวลา’ พระบางท่านอาจกล่าวหาได้ว่ามัน “บาปกว่าฆ่าคน”

หอมมะลิ 105 ข้าวไทยใต้ปีกพญาอินทรี

Robert L. Pendleton (คนที่สองจากขวา) ขณะตรวจแปลงเกษตรที่บางเขน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรรายอื่น (ที่มา: ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ถึงคนจำนวนไม่น้อยในภาคอีสานจะใช้ข้าวเหนียว แกล้มก้อยต้อยลาบ มากกว่าใช้ข้าวเจ้า ข้าวสวย แกล้มแนม แต่ข้อเท็จจริงมันก็ทนโท่อยู่ว่า ข้าวสวยหอมมะลิที่งอกจากดินทุ่งกลาร้องไห้มันแซ่บคัก คนมักหลายไม่แพ้ข้าวจากภูมิภาคอื่น ทว่าเมื่อสืบโคตรเหง้า ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ กลับมิได้มีปิตุภูมิเป็นดินอีสาน และเพิ่งย้ายรากย้ายกอมาอยู่ทีหลัง แถมการพลัดถิ่นคราวนั้นยังมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องเสียด้วย เรียกว่า ถ้าพวกชังอเมริกาได้รู้ คงล้วงคออ้วกแทบไม่ทัน

“โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อราวต้นปี 2493 โดยอเมริกาส่งผู้เชี่ยวชาญมา 2 คน จากนั้นก็คัดเลือกคนเข้าร่วมโครงการ 30 คน โดยมีผมรวมอยู่ด้วยในฐานะพนักงานข้าวที่ฝีมือพอใช้ได้อยู่ในเกณฑ์ พอประมาณต้นฤดูกาล มิถุนา-กรกฎา เริ่มฝึกอบรมเกี่ยวกับวิชาการเรื่องข้าว ผมคิดว่า การฝึกอบรมครั้งนั้นต่อให้จบหลักสูตรปริญญาตรีมาก็ยังสู้ไม่ได้ ทั้งดู ทั้งปฏิบัติในไร่นา อบรม 3 สัปดาห์ต่อครั้ง กระทั่งถึงเดือนตุลาคมก็กำหนดว่า ใครจะไปทำหน้าที่ในจังหวัดไหน ผมได้รับมอบหมายให้ไปเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวตามที่ได้อบรมใน 2 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรากับชลบุรี” 

สุนทร สีหะเนิน พนักงานบำรุงข้าวท้องถิ่น ชาวจังหวัดตรัง เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ขณะที่เขามีอายุ 27 ปี และรับราชการอยู่ในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนที่สหรัฐอเมริกาส่งมาให้ช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศไทย ตามที่สุนทรระบุ คือ Harry Houser Love และ Robert Larimore Pendleton ซึ่งเมื่อค้นในหนังสือ The United States in Asia ระบุว่า Harry Houser Love เป็นศาสตราจารย์ด้านเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Cornell ที่มาทำวิจัยเรื่อง การเพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และทำโครงการเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศไทยภายใต้โครงการที่ใหญ่กว่าชื่อ ‘Economic Cooperation Administration’ ของสหรัฐฯ

ขณะที่ Robert Larimore Pendleton เป็นศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัย John Hopkins เขาคือ ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Aspects of landscape and life เขาถูกส่งมายังประเทศไทยโดยโครงการ US Mutual Security Agency's Special Technical and Economic Mission to Thailand  โดยทั้งโครงการที่ รอเบิร์ต และแฮรี่ ทำงานให้นั้นอยู่ภายใต้ปีกใหญ่ที่ชื่อ The Marshall Plan ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นแนวทางการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสม์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นกระบวนความ

“พันธุ์ข้าวที่จะเลือกไปใช้ในโครงการ คือพันธุ์ขาวที่คนนิยมปลูกในแต่ละอำเภอ แต่ละท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นพันธุ์เดียวกัน ผมทำแผนจะเก็บให้ได้ 25 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 200 รวง ในระหว่างที่เฝ้าทุ่ง มันมีพันธุ์หนึ่งที่ออกกะหลอมกะแหลมๆ อยู่ตามที่ที่ผมผ่านไป มันชักเหลืองๆ ลองไปสืบดูปรากฎว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ชาวบ้านเรียก ‘ขาวดอกมะลิ’ ไม่ได้อยู่ใน 25 พันธุ์ (ตามแผน) เพราะมันปลูกน้อย ผมก็คิดว่า เมื่อมาเจอไอ้ข้าวสุกแล้วไม่เก็บมันเรื่องอะไร ผมก็เลยขอเพิ่มจำนวนข้าวที่จะเก็บอีก 1 พันธุ์ คล้ายกับยกเมฆโดยบอกไปว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่คนปลูกมาก ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายการที่เสนอไปตอนแรก พอได้พันธุ์ก็ใส่กระสอบจากบางคล้าลงเรือเมล์ ซึ่งรุนแรงไม่ได้ เรียกได้ว่าต้องอุ้มมาเลย แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีแปดริ้ว พอถึงหัวลำโพง ต้องจ้างรถพิเศษไปส่งที่กรมกสิกรรม” สุนทรเล่าที่มาของการพบพันธุ์ข้าวซึ่งคล้ายว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ

สุนทรในฐานะ ข้าราชการเจ้าของพื้นที่ระบุว่า ‘ขาวดอกมะลิ’ เป็นข้าวดั้งเดิมของอำเภอบางคล้าแต่ชาวนาไม่นิยมปลูกนัก ประเมินในสมัยนั้นว่า มีการปลูกเพียงหนึ่งพันกว่าไร่ โดยข้าวขาวดอกมะลิมีนิสัยชอบที่ดอน เจริญเติบโตได้ดีในนาน้ำฝนบนดินปนทราย แต่ดินฉะเชิงเทราเป็นดินเหนียว และนาส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม แม้ในสมัยนั้น “พวกผู้ดีมีเงิน ชนชั้นสูงนิยมรับประทาน” แต่ชาวนาก็ยังไม่นิยมปลูก สุนทรเล่าว่า ในบางคล้ามีโรงสีเพียง 3 แห่ง มียุ้งพิเศษสำหรับเก็บข้าวขาวดอกมะลิแห่งละไม่เกิน 1 เกวียน (ตัน) ดังนั้นทั้งอำเภอน่าจะมีข้าวขาวดอกมะลิเพียงไม่เกิน 3 ตัน

อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อถกเถียงในทางวิชาการว่า ขาวดอกมะลิ อาจเป็นข้าวจากอำเภอบ้านโพธิ์ มิใช่อำเภอบางคล้า เนื่องจากมีเอกสารบางชิ้นระบุว่า ชาวนาชื่อ ‘จรูญ ตัณฑวุฒิ’ เป็นผู้ค้นพบ แต่สุนทรยืนยันโดยอ้างคำพูดของ ‘ขุนทิพย์’ กำนันตำบลท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า, ดาวลาย ทับเจริญ แพทย์ประจำตำบล และชื้น สุดประเสริฐ คนเก่าแก่ในพื้นที่ว่า ขาวดอกมะลิถูกปลูกที่บางคล้ามาแล้วกว่า 70 ปี ก่อนที่เขาจะเก็บพันธุ์ดังกล่าวส่งไปยังกรุงเทพฯ

สุนทรยังยืนยันอีกว่า ชาวนาชื่อ ‘จรูญ ตัณฑวุฒิ’ ไม่มีตัวตนจริง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวพันธุ์นี้น่าจะเป็น ‘จรูญ ตัณฑวุฑโฒ’ เจ้าของโรงสีใหญ่ในอำเภอบางคล้า และยังเล่าอีกว่าในสมัยที่ สงวน ตุลารักษ์ หนึ่งในคณะราษฎรไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยในประเทศจีน ได้ขอให้จรูญคัดข้าวขาวดอกมะลิ 50 กระสอบส่งข้ามทะเลไปที่นั่นเพื่อเป็นของกำนัลแด่นายพลผู้มีอำนาจในจีนสมัยนั้น 

“ผลการเปรียบเทียบพันธุ์ทุกภาค ทุกจังหวัด ข้าวหอมมะลิเหมาะที่สุดในภาคอีสาน ได้ผลผลิตดีที่สุดในจำนวนแปลงทดลองที่มีทั้งหมดทั่วประเทศ (หลังจากใช้เวลา) ขยายพันธุ์ 3 ปี เปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่น 4 - 5 ปี ประมาณปี 2502 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ของกระทรวงเกษตรจึงลงมติให้กรมการข้าวใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เผยแพร่สู่เกษตรกรได้” 

สุนทร อธิบายว่า ตัวเลข ‘105’ คือ หมายเลขรวงข้าวขาวดอกมะลิจากทั้งหมด 200 รวงที่เขาส่งมายังกรุงเทพฯ โดยหลังจากการทดลองพบเพียงรวงที่ 102 และ 105 เท่านั้นที่เจริญเติบโตได้มาตรฐาน แต่ในขั้นต่อมารวงที่ 102 พบปัญหา จึงเหลือเพียง 105 ที่ได้ผลดีกว่าพันธุ์ดั้งเดิม เช่น ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวเหลืองอ่อน และข้าวขาวตาแห้ง 

และนั่นคือที่มาที่ไปของ ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ หรือ ‘ข้าวขาวดอกมะลิ 105’ หรือ ‘Khao Dawk Mali 105’ 

อย่างไรก็ตาม แม้สุนทรจะระบุชัดเจนว่า การค้นพบข้าวดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเพราะชาวอเมริกัน แต่ในเว็บไซต์กรมการข้าวกลับมิได้เอ่ยถึงชาวอเมริกัน 2 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุ์ ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ ขณะที่ เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็เขียนชื่อทั้ง 2 คนผิดเป็น Dr.Robert Panderton และ Dr.Harris H.Love โดยเว็บไซต์ดิ อีสานเด้อ อนุมานว่า น่าจะคลาดเคลื่อนเพราะการออกเสียงของสุนทร ซึ่งเมื่อสืบค้นในเอกสารภาษาต่างประเทศก็ไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับ Dr.Robert Panderton และ Dr.Harris H.Love แต่พบชื่อ Robert L. Pendleton และ Harry H. Love โดยตัวรอเบิร์ตยังได้ถ่ายรูปเมื่อครั้งทำงานอยู่ในประเทศไทยไว้หลายรูป ซึ่งหาชมได้ที่ https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east

ในส่วนของ ‘สุนทร’ นอกจากจะถูกบันทึกในฐานะผู้ค้นพบข้าวหอมมะลิ 105 แล้ว เขายังถือเป็นผู้ที่ร่วมพัฒนา ข้าวเจ้า กข 15 และข้าวเหนียว กข 5 รวมถึงทำงานวิชาการด้านเกษตรอีกจำนวนหนึ่งจนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชศาสตร์ (พืชไร่) ให้แก่เขา อย่างไรก็ตาม สุนทรได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ด้วยวัย 92 ปี และข้อความข้างต้น คือการถอดความจากเทปสัมภาษณ์ระหว่าง ‘สุนทร’ กับ ‘Biothai’ ซึ่งสามารถหาชมทั้งหมดได้ใน youtube

The Beginning of ทุ่งกุลาร้องไห้ 

ในอดีตผืนดินทุ่งกลาร้องไห้ แห้งแล้ง และเค็มมาก จนหลายพื้นที่สามารถทำ “นาเกลือ” แทน “นาข้าวได้” และนี่คือนาเกลือในจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปี 2483 (ที่มา: Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ในอดีตผืนดินทุ่งกลาร้องไห้ แห้งแล้ง และเค็มมาก จนหลายพื้นที่สามารถทำ “นาเกลือ” แทน “นาข้าวได้” และนี่คือนาเกลือในจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปี 2483 (ที่มา: Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

 

“ทุ่งกุลา ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความแห้งแล้ง แต่ความจริงแล้วเคยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มากเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว มีประชากรหนาแน่นที่สุดใน Mainland Southeast Asia”

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการหนังสือ ‘ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหมอ’ กล่าวประโยคข้างต้นผ่านไมโครโฟนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดในงานเสวนา ‘ทุ่งกุลากับอาเซียน’ เมื่อปี 2558 เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์-วัฒน
ธรรมของ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ โดยชี้ว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนทำให้รู้ว่า ดินแดนที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตเหล็กและเกลือสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเหล็กเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ค้าขาย และการสร้างเมืองใหญ่ๆในยุคอดีต 

“คน (ที่อาศัยอยู่ใน) ทุ่งกุลา (แต่ไม่ใช่คนที่ถูกเรียกว่าเผ่ากุลา) ดั้งเดิมจะค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปหลัง พ.ศ. 1700 โดยประมาณ หรือช่วงที่สุโขทัยกำลังก่อตัวขึ้น โดยอพยพไปหาพื้นที่ที่มีน้ำ เช่น ทะเลสาบกัมพูชา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นมีคนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาแทนที่คือ คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรือลาว กระทั่งสืบทอดมาเป็นจังหวัดต่างๆ จนปัจจุบัน”

จากคำอธิบายของสุจิตต์ ทำให้เราสามารถจำแนกกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้ 3 กลุ่ม คือ 1. คนในยุคเมื่อ 2,500 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบัน อพยพไปอยู่ใกล้แหล่งน้ำแล้ว 2. คนลาวที่เข้ามาอยู่แทนที่คนพื้นถิ่น ซึ่งกลายเป็นบรรพบุรุษ-บรรพสตรีของคนอีสาน และ 3. คนที่ถูกเรียกว่า ‘กุลา’ อันเป็นที่มาของชื่อทุ่งกุลาร้องไห้

“คำว่า ‘กุลา’ มันเข้ามาอยู่ในสยามตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเอกสารก็มีคำว่า กุลา แล้ว แต่หมายถึงกลุ่มเบงกอล แต่สำหรับทุ่งกุลาร้องไห้ คำว่า กุลานี้มันมีความหมาย 1. คือ กลุ่มไทใหญ่ 2. กลุ่มต้องสู้ ตระกูลธิเบต-พม่า”

สุจิตต์ อธิบายว่า ชาวกุลา (ไทใหญ่) อพยพไปทั่วพื้นที่ ไทย-กัมพูชา โดยในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า เป็นช่างเจียรไนพลอยอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ในสมัยปัจจุบันยังพบวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่ในประเทศกัมพูชา ส่วนในอีสานพบกลุ่ม ‘กุลา’ ที่รู้ว่าตัวเองเป็น ‘ไทใหญ่’ หลายกลุ่มแต่กลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ในอำเภอ ‘เขื่องใน’ จังหวัดอุบลราชธานี 

“ท้องทุ่งแห้งแล้งที่ภาคอีสาน มีชื่อกล่าวขาน ทุ่งกุลาร้องไห้
เหลียวสุดขอบฟ้ารำไร แผ่นดินกว้างใหญ่ แล้งดั่งไฟแผดผลาญ
เขาเล่าไว้เป็นนิทาน ท้องทุ่งนี้มีช้านาน ไร่นาแสนกันดาร แห้งแล้งใจหาย

ครั้งหนึ่งพ่อค้าชาวเผ่ากุลา เดินดั้นด้นมา ทุ่งกันดารแสนเหนื่อยหน่าย 
ร้อนแดดแผดเผาเจียนตาย ดั่งทะเลทราย หาจุดหมายเมื่อยล้า
เห็นขอบฟ้าไกลลิบตา แสนเหนื่อยเพราะเดินหลงมา หมดความหวังปัญญา กอดเข่า ร้องไห้” 

กังวาลเสียงของศักดิ์สยาม เพชรชมพู แล่นผ่านลำโพงมากระทบหูของเรา ด้านหนึ่งคือเพลงเศร้าเคล้ารันทด ด้านหนึ่งคือ เศษเสี้ยวของตำนานอันเป็นที่มาของชื่อ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ 

ความจริงแล้วตำนานทุ่งกุลาร้องไห้มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายราว หลายตัวละคร แต่ถ้าเป็นสากล และย่นย่อที่สุดคงต้องบอกว่า ชื่อ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ มาจากสมัยอดีตที่ ‘ชาวกุลา’ ในฐานะพ่อค้าเร่เลือดพม่าเดินทางผ่านดินแดนแห่งนี้ แล้วต้องพบกับความแห้งแล้งที่ทำร้ายพวกเขาจนต้องหลั่งน้ำตา บ้างว่าการเดินทางผ่านทุ่งแห่งนี้ยากลำเค็ญเพราะภูมิอากาศแสนโหดเหี้ยม จนต้องทิ้งสินค้าที่ขนมาเพื่อลดภาระการแบกหาม เรื่องเล่าเหล่านี้ถูกกล่าวขานว่าเป็นที่มาของชื่อ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ 

โครงการซับน้ำตาทุ่งกุลาจะไม่ร้องไห้

ก่อนการเข้ามาของโครงการพัฒนาต่างๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ ยังเป็นเพียงทุ่งนา และพื้นที่รกร้าง มิได้มีเส้นทางคมนาคมที่ดี ระบบชลประทาน หรือชุมชนขนาดใหญ่ นี่คือภาพถ่ายทางอากาศเขตจังหวัดร้อยเอ็ดในปี 2494 (ที่มา: ภาพถ่ายโดย  Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ก่อนการเข้ามาของโครงการพัฒนาต่างๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ ยังเป็นเพียงทุ่งนา และพื้นที่รกร้าง มิได้มีเส้นทางคมนาคมที่ดี ระบบชลประทาน หรือชุมชนขนาดใหญ่ นี่คือภาพถ่ายทางอากาศเขตจังหวัดร้อยเอ็ดในปี 2494 (ที่มา: ภาพถ่ายโดย  Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ข้ามตำนานมาสู่ปัจจุบันสมัย ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ ในขอบเขตที่กรมพัฒนาที่ดินระบุเมื่อปี 2514 หลังจากการสำรวจลุ่มน้ำมูลตอนกลางว่า พื้นที่ทุ่งกุลา กินอาณาเขต 2,107,680 ไร่ใน 5 จังหวัด ครอบพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ ประทุมรัตต์ โพนทรายและหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด (ก่อนที่อำเภอยางชุมน้อยจะถูกเพิ่มในปี 2522) รวมเนื้อที่ 986,807 ไร่ อำเภอท่าตูม ชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ รวมเนื้อที่ 575,933 ไร่ อำเภอราศีไศล และศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ รวมเนื้อที่ 287,000 ไร่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม รวมเนื้อที่ 193,890 ไร่ และอำเภอมหาชัยชนะ ค้อวัง จังหวัดยโสธร รวมเนื้อที่ 64,000 ไร่

หลังจากปี 2514 มีเอกสารหลายชิ้นที่ชี้ว่า พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง เช่น ‘รายงานการสำรวจดินทุ่งกุลาร้องไห้’ ‘รายการการศึกษาการบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้’ นำมาสู่การปรับปรุงพื้นที่นาซึ่งได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลออสเตรเลียทำให้เกิดถนนและทางลำเลียง เกิดโครงการขุดลำคลองเพื่อเก็บกักและระบายน้ำ เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เกิดการจัดรูปแปลงนา รวมทั้งเกิดการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และพืชปุ๋ยสด 

จากเอกสารระบุว่า การปฏิรูปที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้โดยกรมพัฒนาที่ดินแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 กระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน และส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ขยายฐานการผลิต ช่วงที่ 2 เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ร่วมจัดการแหล่งน้ำกับชุมชน และช่วงที่ 3 ดำเนินการต่อเนื่องจากช่วงที่ 2 จนโครงการพัฒนาที่ดินพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กลายเป็นโครงการปฏิรูปที่ดินขนาดใหญ่ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จที่สุดโครงการหนึ่ง และกลายเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินในเวลาต่อมา

ในปี 2522 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติรับหลักการแผนแม่บทโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ และมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้โดยเฉพาะ ต่อมาปี 2530 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้อนุมัติงบประมาณ 580 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง (อีสานเขียว) ระหว่างปี 2531-2532 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาและอนุรักษ์ธรรมชาติ และยกระดับเศรษฐกิจของประชาชนอีสาน ซึ่งพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย

นอกจากนั้นแผนพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ยังถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 ปี 2545- 2549 มีโครงการมากมายถูกเสนอให้ใช้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ดำเนินการ แม้กระทั่งโครงการสร้างสวนสนุกระดับโลกอย่าง Disney’s Land หรือโครงการสร้างบ่อน Casino ถูกกฎหมาย ด้วยหวังพลิกผืนดินอันแห้งแล้งแตกระแหงอับโชคให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงโชคบริหารดวงชะตาราศี อย่างไรก็ตาม โครงการที่ว่าเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

และหลังจากที่รัฐบาลพยายามโอ๋เอ๋ ประคบประหงมพื้นที่เชิงสัญลักษณ์นี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน โครงการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการพัฒนาจึงกลายเป็นโครงการรายจังหวัด แทนที่จะเป็นโครงการพัฒนา ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ โดยเฉพาะดังเช่นในอดีต 

หอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ : วิทยาศาสตร์ในความอร่อย 

รวงข้าวหอมมะลิ จากนาในทุ่งกุลาร้องไห้ ถ่ายโดย ดลวรรฒ สุนสุข

ระหว่างขับรถเแหวกหมอกควัน PM10 และ PM2.5 บนทางด่วนศรีรัช ลำโพงสเตอริโอของรถยนต์ส่วนบุคคลขนาด 5 ที่นั่งได้ทำหน้าที่เล่าตำนานของทุ่งกุลาร้องไห้ไปด้วย ตำนานภาษาอีสานนั้นเล่าว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ในอดีตเคยเป็นทะเล ทะเลที่มีพญานาคเป็นผู้ดูแล ซึ่งฟังแล้วก็ทึ่งไม่น้อยที่สัตว์ในวรรณคดีที่เราเข้าใจมาตลอดว่าเป็น ‘สัตว์น้ำจืด’ กลับเป็น ‘สัตว์น้ำเค็ม’ ไปเสียได้

แต่ช้าก่อน ตำนานที่ว่าไม่ใช่เรื่องเกินเลยทางวิทยาศาสตร์ เพราะมันสอดคล้องกับสิ่งที่ ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้บอกกับเรา คือ “ภาคอีสาน ในสมัยโบราณหลายล้านปีก่อนเคยเป็นทะเล” แต่เมื่อเปลือกโลกได้หมุนและโก่งตัว จากทะเลจึงกลายเป็นที่ราบสูง และอดีตก็ได้ทิ้งหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้รู้ เพราะนักโบราณคดีได้พบเปลือกหอยดึกดำบรรพ์ และนักธรณีวิทยาได้พบว่า มีเกลือปริมาณมหาศาลซ่อนอยู่ใต้ดินผืนนี้

“พื้นที่ทุ่งกุลาเป็นแอ่งกะทะ พื้นดินเป็นเกลือทำให้ดินเค็ม ในฤดูฝนดินก็จะไม่เค็มมากเพราะมวลน้ำจะดันเกลือไว้ไม่ระเหยขึ้นมา แต่พอถึงปลายเดือนตุลาคมไม่มีฝน ความชื้นจะระเหยออกจากดิน น้ำเค็มจะระเหยขึ้นมาทำให้ดินเค็มอีกครั้ง” ดร.จิรวัฒน์ กล่าวแก่เรา

ดร.จิรวัฒน์ชี้ว่า แม้ความเค็มในดินจะเป็นข้อเสียสำหรับการปลูกพืชบางชนิด แต่สำหรับข้าวหอมมะลิ มรดกความเค็มที่ทะเลเมื่อหลายล้านปีก่อนทิ้งเอาไว้กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ข้าวหอมมะลิที่แทงรากลงบนผืนดินทุ่งกุลามีมูลค่ามากกว่าปกติ 

“ช่วงต้นฤดูปลูกข้าว ดินยังไม่เค็มเท่าไหร่ แต่พอปลายเดือนตุลาคมข้าวเริ่มออกดอกพอดี ดินเริ่มแห้งเกิดรูเล็กๆ ดูดความชื้นใต้พิภพขึ้นมาข้างบน ความชื้นดังกล่าวเอาความเค็มขึ้นมาด้วยเกิดเป็นเกลือพอกดินชั้นบน ดินก็เริ่มเค็มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความแล้งทำให้พืชเริ่มเกิดความเครียดในระดับที่ไม่รุนแรงมาก แต่เป็นจังหวะพอดีที่ข้าวเริ่มติดเมล็ด 2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยว กระตุ้นให้ข้าวหลั่งสารหอมระเหยที่ชื่อ 2 AP สะสมไว้ที่เมล็ด อีกทั้งข้าวหอมมะลิ 105 มีค่า Amylose ต่ำ ทำให้มีความเหนียวและนุ่มกว่าข้าวภาคกลาง” อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ ท่านนี้ระบุ

ดร.จิรวัฒน์ ระบุว่า ความเค็มของดินทุ่งกุลาร้องไห้ช่วงที่ข้าวติดเมล็ดอยู่ในระดับ 4 - 6 เดซิซีเมนส์ต่อเมตร (dS/m) ซึ่งปกติแล้วค่าความเค็มของดินในพื้นที่อื่นจะน้อยกว่า คือเพียง 2 dS/m ซึ่งอาจจะไม่สามารถกระตุ้นให้ข้าวหลั่งสารความหอมออกมาได้มากเท่าความเค็มระดับเดียวกับทุ่งกุลาร้องไห้ แต่หากดินมีความเค็มมากถึงระดับ 18 - 20 dS/m ก็อาจกระทบการเจริญเติบโตของพืชได้ ทั้งนี้ ค่า dS/m เป็นการประเมินการนำไฟฟ้าของเกลือที่ละลายออกมาจากดินซึ่งผันแปรตามปริมาณเกลือที่ละลายน้ำได้ ณ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (°C)

โดยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications-GI) จำเป็นจะต้องมีค่า อมิโลส (Amylose) ระดับ 14-16 เปอร์เซ็นต์ ค่าการสลายเมล็ดในด่าง (Alkali Spreading Value) ระดับ 6-7 และปริมาณสารหอม 2-acetyl-1-pyrroline (2 AP) 0.1 - 0.2 ไมโครกรัม ณ แปลงปลูก 

“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาจะมีค่าอมิโลสต่ำ (ถ้ามากกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ข้าวจะเริ่มกระด้าง) ทำให้มีความนุ่มมากกว่าข้าวภาคกลางซึ่งมีอมิโลสสูง

สอดคล้องกับรูปแบบการกินอาหาร โดยอาหารภาคอีสานลุ่มน้ำโขง ชี มูล ไม่ค่อยมีแกง จึงนิยมกินข้าวนุ่ม ต่างจากอาหารภาคกลางที่มีแกงมากกว่าคนภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงนิยมกินข้าวที่มีความแข็งมากกว่า เพราะเมื่อกินกับแกงแล้ว ข้าวแข็งจะทำให้ข้าวไม่เละเกินไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวรายเดิมอธิบายมิติเชิงวัฒนธรรม

ขณะที่ สมพร สุดาปัน ชาวนาวัย 47 ปี ในชุมพลบุรีที่ปลูกข้าวมาตั้งแต่จำความได้ ยืนยันเช่นกันว่า ดินทุ่งกุลาร้องไห้และความแล้งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ข้าวหอมมะลิ หอมและอร่อย 

“ได้ยินแต่เขาพูดว่า ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ต้องแล้งถึงจะหอมอร่อย เราก็เชื่อนะ เพราะจากที่สังเกต ถ้าน้ำเยอะ ข้าวจะไม่หอม ถ้าน้ำเยอะช่วงข้าวออกรวง เราต้องปล่อยน้ำออก เพราะเรารู้เลยว่า ข้าวน้ำน้อยหอมกว่าข้าวน้ำมาก” สมพร กล่าว 

นอกจากปัจจัยความเค็มในดินแล้ว อาจารย์จิรวัฒน์ชี้ว่า ความแห้งแล้งของภาคอีสาน และดินร่วนปนทรายที่ซึมน้ำได้เร็ว คือปัจจัยที่ผสมรวมกันอย่างลงตัวจนทำให้ข้าวเกิดความเครียดในเวลาที่เหมาะสม และสร้างรสชาติที่พิเศษ

“แล้งแล้ว หอม อร่อย ชาวนาที่อื่นเอาพันธุ์ไปหว่านในพื้นที่เขา เขาก็บอกว่า ทำแล้วมันไม่หอมเหมือนที่นี่ อาจจะขึ้นอยู่กับดินหรือความแห้งแล้งก็ได้ หอมจริงแต่แล้งทิ้งช่วงมากไม่ดี ฝนมากก็ไม่ดี ข้าวมันไม่ชอบน้ำเยอะ แช่น้ำไม่ดี” สุกัญญา สถานรัมย์ ชาวนาจากบ้านเมืองเตา พยัคฆภูมิพิสัย ยืนยันอีกเสียง

อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีระบบชลประทานน้อย นาเกือบทั้งหมดจึงต้องพึ่งพาน้ำฝน ซึ่งหากปีใดฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ ความแล้งที่เคยเป็นผู้รังสรรค์ความอร่อยของข้าวหอมมะลิก็อาจกลายเป็นปีศาจที่ทำลายข้าวได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้โดยพื้นฐานแล้ว หอมมะลิ 105 จะเป็นข้าวที่ทนแล้งและเค็ม แต่หากแล้งมากเกินไปเช่นปี 2563 ที่ผ่านมา นาจำนวนไม่น้อยก็เสียหายจากการขาดน้ำ

Climate change ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ Change

ข้าวหอมมะลิ และดินแตกระแหง กลายเป็นของคู่กันที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ่ายโดย ดลวรรฒ สุนสุข

สำหรับ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ฝนที่ตกลงมาจากฟ้า อาจเป็นเพียงความหนาวที่ทำให้เขาได้นึกถึงคนรักที่อยู่ห่างไกล “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ ยังอยากได้ยินทุกเรื่องราว ยังนอนดึกอยู่ใช่ไหม เธอผอมไปหรือเปล่า อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง” แต่สำหรับชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ ฝนที่ตกลงมาจากฟ้า หมายถึงปากท้องของเขาและเธอ ภรรยาและสามี เครื่องนุ่งห่มของลูกและหลาน บิดาและมารดา รวมถึงหยูกยาของ ปู่ ย่า อา อาว์ 

“ตอนนี้ฉันอายุ 48 ปี ทำนามา 25 ปีแล้ว รู้สึกเดี๋ยวนี้มันแล้งกว่าเมื่อก่อน ปกติ เมษา-พฤษภา เริ่มมีฝนลง ได้เริ่มลงนามิถุนา เดี๋ยวนี้บางทีมิถุนาฝนยังไม่มาเลย เรารอน้ำฝนอย่างเดียว ฝนไม่มาก็แย่ ปี 63 นี่แย่เลย เจอทั้งแล้ง ทั้งโรค” สำราญ ซุยคง ชาวนาจากสุวรรณภูมิ บอกกับเรา

เมื่อเทียบคำบอกเล่าของชาวนาจากทุ่งกุลาร้องไห้กับตัวเลขทางสถิติพบว่า มีความสอดคล้องกันอยู่ไม่น้อย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนตลอด 30 ปี (ปี 2533-2563) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนเมษายน คือ 86.3 มม. พฤษภาคม 187.1 มม. มิถุนายน 203.4 มม. กรกฎาคม 211.4 มม. สิงหาคม 266.2 มม. กันยายน 242.0 มม. ตุลาคม 117.1 มม. และ พฤศจิกายน 19.5 มม. 

ขณะที่ปริมาณน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2563 เดือนเมษายน คือ 66.31 มม. พฤษภาคม 161.22 มม. มิถุนายน 153.46 มม. กรกฎาคม 192.48 มม. สิงหาคม 298.44 มม. กันยายน 256.71 มม. ตุลาคม 189.04 มม. พฤศจิกายน 2.82 มม. 

ซึ่งสถิติดังกล่าวหมายความว่า เดือนที่ฝนควรจะตกเยอะเพื่อให้ชาวนาได้ทำนา เช่น ปลายเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม ฝนกลับตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่เดือนที่ฝนควรจะน้อยเพื่อให้นาแห้ง บ่มให้ข้าวหอมมะลิเกิดความเครียดและสะสมความหอม เช่น เดือนกันยายนและตุลาคม ฝนกลับมากกว่าในอดีต ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติเกิดความเปลี่ยนแแปลงบางอย่างขึ้นแล้ว

“ปกติข้าวมันทนแล้ง ทนเค็มอยู่แล้ว ถ้าเมล็ดพันธุ์สมบูรณ์ แล้งมาแต่ไม่เลยฤดูแตกกอ มีฝนตกลงมามันก็ฟื้นได้ แต่ถ้าแล้งเกินไป ถ้าทิ้งช่วงเกินไป ข้าวบางแปลงมันรอไม่ไหวก็ตาย เสียหายโดยเฉพาะตรงที่ดอน ปี 63 นี่แห้งเกินก็ตายเป็นหย่อมๆ ปี 62 นี่ได้ 500 กิโลต่อไร่ ปี 63 ได้น้อยกว่าเหลือ 460 กิโลต่อไร่ บางส่วนตาย” กิตติศักดิ์ สิงห์คำ เจ้าของนาข้าวหอมมะลิในอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าว

เมื่อดูสถิติค่าเฉลี่ยฝนตลอดช่วง 30 ปีของประเทศไทยจะพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,561.12 มม. ขณะที่ปี 2562 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ 1,282.32 มม. และปี 2563 แม้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่ายังน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี คือ 1,497.32 มม. เมื่อศึกษาสถิติให้แคบลง ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนตลอดช่วง 30 ปีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะน้อยกว่าทั่วประเทศที่ 1,402.58 ปี 2562 ก็น้อยกว่าค่าทั้งประเทศคือ 1,245.09 มม. และปี 2563 ก็เช่นกัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศโดยมีฝนเพียง 1,381.79 มม. 

มองมาที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็จะยิ่งเห็นว่า พื้นที่ตรงนี้อาภัพน้ำขนาดไหน เพราะนอกจากจะอยู่ในภาคอีสานซึ่งมีฝนตกน้อยแล้ว ลักษณะทางกายภาพของทุ่งกุลาร้องไห้ยังเอื้อให้ต้องเผชิญสภาวะแล้งมากกว่าพื้นที่อื่นๆ 

“ทุ่งกลาร้องไห้ เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งโคราช เป็นแอ่งกระทะกว้าง คือ รอบๆ ชายทุ่งเป็นที่สูงและลาดเทลงมาจดพื้นที่ ตอนกลางพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและคลื่นลอนลาด ระดับพื้นที่จะลาดเอียงจากด้านตะวันตกไปด้านตะวันออก โดยมีระดับต่างกัน 12 เมตร… พื้นหินใต้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นหินชุดมหาสารคาม ซึ่งเป็นชุดหินที่อยู่บนหินชุดโคราช ประกอบด้วย เกลือหินในบางแห่งหนากว่า 250 เมตร ยิปซั่มบางแห่งหนาถึง 50 เมตร… ทุ่งกุลาร้องไห้มีลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ตอนใต้มีลำน้ำมูลไหลผ่านตลอดความยาวของพื้นที่ด้านตะวันตก มีลำพังซูเป็นแนวเขต ส่วนตอนกลางทุ่งมีลำพลับพลา ลำเสียวใหญ่ ลำเสียวเล็กและลำเตา นอกจากนั้นก็ยังมีหนองบึงตามธรรมชาติที่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ระยะหนึ่งในฤดูฝน และส่วนใหญ่จะแห้งในฤดูแล้ง… ในตอนต้นฤดูเพาะปลูก เป็นระยะที่น้ำมูลยังขึ้นไม่ถึงฝั่ง น้ำในลำเตา ลำพลับพลา และลำเสียว จะไหลลงลำน้ำมูลอย่างรวดเร็วเพราะไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีแหล่งเก็บน้ำทางธรรมชาติเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก”

เอกสารประกอบโครงการพัฒนาที่ดินทุ่งกลาร้องไห้ กรมพัฒนาที่ดิน ที่เขียนโดย เผด็จ กาญจนกุล และพรชัย สุธาทร ระบุ ซึ่งข้อมูลข้างต้นนี้หมายความว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของทุ่งกุลาร้องไห้ ค่อนข้างเอื้ออำนวยให้เกิดความแล้ง เพราะนอกจากจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยแล้ว ความลาดเอียงประกอบกับลักษณะดินยังส่งเสริมเติมแต่งให้น้ำฝนเคลื่อนย้ายมวลของมันออกจากพื้นที่ได้เร็วกกว่าปกติ ทั้งลงแม่น้ำและลงใต้พื้นพิภพ พื้นที่ปลูกข้าว 1.9 พันตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประมาณ 3.3 พันตารางกิโลเมตรของทุ่งกลาร้องไห้จึงต้องอาศัยฝน และพึ่งพาความเมตตาจากฟ้าเป็นหลัก ที่สำคัญกว่านั้นคือ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นไว้ให้แก่พื้นที่ได้

หอมมะลิและชาวนา ทุ่งกุลาร้องไห้ในวิกฤตความแล้ง

เจ้าหน้าที่เก็บเกี่ยวรวงข้าวหอมมะลิ ในแปลงนาทดลองของศูนย์วิจัยข้าวแห่งหนึ่ง ภาพถ่ายโดย ดลวรรฒ สุนสุข

หลังจากได้คุยกับชาวนาจำนวนมากเท่านิ้วบนมือซ้ายและขวาก็พบว่า ไม่มีสักหนึ่งรายที่เถียงเรื่องความแล้งในปี 2563 ไม่มีสักหนึ่งชาวนาที่บอกว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกผิดเวลาที่ควรจะตก ไม่มีคำพูดทำนองว่า “ทุ่งกุลานี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในเล้ามีไก่ ในไหมีปลาแดก” เพราะเมื่อถามถึงความแล้ง ทุกคนลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์เหมือน ส.ว. ยกมือเลือกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีว่า “ช่วงที่ผ่านมา ทั้งแล้งและฝนมาช้าผิดปกติ” ส่วนกระทบมากกระทบน้อยก็แตกต่างบ้างตามพื้นที่ พื้นถิ่น เดือดร้อนจากภัยแล้งหรือไม่ ก็ตอบเลยว่า ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนเมืองที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19

“ปี 63 เจอภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นโรคโคนเน่า มิถุนา แล้งหนักฝนทิ้งช่วง ข้าวในนาจะตาย ไหม้เป็นสีแดง พอมากรกฎา-สิงหา ฝนตกติดต่อกันไม่หยุด ฟ้าไม่เปิดเลยนานเป็นเดือน ข้าวก็เป็นโรคเชื้อรา เป็นจุดด่าง เราทำนาน้ำฝน ถ้าเจอปัญหาแล้งก็แก้อะไรไม่ได้ ต้องรอฝนอย่างเดียว” สำราญ ซุยคง ชาวนาจากสุวรรณภูมิ กล่าว

“สภาพอากาศในวันนี้กับ 10 ปีที่แล้วแตกต่างกันเยอะ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล แดดเยอะ ร้อนเยอะ ฝนน้อย หนาวน้อย ปกติเดือนพฤษภาจะเริ่มมีการไถและปักดำไปเรื่อยๆ น้ำจะเยอะช่วงกรกฎา- สิงหา เต็มที่คือไม่เกินเดือนตุลา ตอนนี้ ต้องเริ่มไถช่วงมิถุนา-กรกฎา-สิงหา เพราะฝนไม่มา ฝนมาช้า พอช่วงที่ต้องแห้ง คือปลายพฤศจิกา-ตุลา น้ำก็เยอะเกิน พอข้าวจะออก น้ำไหลออกไม่ทัน ข้าวก็ไม่เกิดความหอม” บุญทอม บุญรัตย์ เกษตรกร และข้าราชการบำนาญวัย 63 ปี จากพยัคฆภูมิพิสัย บอกกับเรา

จากคำพูดของชาวนา 10 คน ในต่างพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ โดยผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้มีอายุเฉลี่ย 57 ปี มีคนที่อายุน้อยที่สุดคือ 44 ปี และมากที่สุดคือ 63 ปี ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเห็นสภาพอากาศของทุ่งกุลาร้องไห้มาหลายฝน หลายแล้ง ซึ่งเว็บไซต์ข่าวดิ อีสานเด้อ รายงานว่า 100 เปอร์เซ็นต์บอกว่าปี 2563 มีฝนน้อยและทิ้งช่วง และทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น

เมื่อถามว่า สภาพอากาศของทุ่งกุลาร้องไห้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะเวลานานแค่ไหนแล้ว มีถึง 6 จาก 10 คนที่พูดตรงกันว่า แล้งมาหลายปี แต่ 3 - 5 ปีล่าสุดนี้แล้งกว่าปกติ โดย 2 ใน 10 คน ยืนยันว่า ความผิดปกติของฟ้า-ฝนเกิดขึ้นร่วม 10 ปีแล้ว ขณะที่ 4 จาก 10 ชี้ว่า สภาพอากาศแปรปรวนนี้อยู่กับพวกเขามาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

“บ้านผมทำนามาตั้งแต่ ปู่ ยา ตา ยาย สมัยเด็กๆ เดือนมิถุนาฝนก็มาแล้ว ฝนจะหมดหน้ากฐินคือปลายเดือนตุลา ทุกวันนี้เดือนมกรา บางทีฝนก็ตกแล้ว มันแปรปรวน ฝนน้อยกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนถ้าเป็นหน้าฝน ฝนจะมาเรื่อยๆ ถ้ามาแรงๆ ก็มีน้ำหลากมาท่วมนา แต่ส่วนใหญ่ก็ท่วมไม่กี่วัน 1-2 วัน เหมือนเป็นการเติมปุ๋ยให้กับข้าวไปในตัว ทุ่งกุลาเลยเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เป็นระบบนิเวศน์ที่ดี ไม่มีต้นไม้ที่กินน้ำ เดี๋ยวนี้มีการปลูกต้นยูคา มีการใช้สารเคมี ผมว่ามันทำให้ดินเสียหายเร็วกว่าเก่า ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนผู้หญิงที่ใช้เครื่องสำอางมากเกินไป สารเคมีมันตกค้าง ไม่เหมือนกับของเดิม ธรรมชาติๆ” ณัฐวัฒน์ สีตี สมาชิกวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องเพื่อสุขภาพทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย วัย 55 ปี เปรียบเทียบทุ่งกุลาจากอดีตกับปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์และรสนิยมของเขา

นอกจากคำว่า ‘แล้ง’ ตัวเลขผลผลิตข้าวที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันผลกระทบได้ชัดเจนกว่าแค่ตัวอักษร โดยจากการสุ่มถามปากเปล่าชาวนา 10 คนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม สุรินทร์และศรีสะเกษ พบว่า โดยเฉลี่ยหากพวกเขาทำนาในสภาพอากาศปกติ ฝนตกตามฤดูกาล พวกเขาจะได้ข้าวเฉลี่ยไร่ละ 488 กิโลกรัม โดยพื้นที่อำเภอมหาชนะชัย ยโสธร ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากที่สุดถึง 700 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนพื้นที่ที่ได้น้อยที่สุด คือพยัคฆภูมิพิสัย เฉลี่ย 350 กิโลกรัมต่อไร่ 

แต่ปี 2563 พบว่า ชาวนาทั้ง 10 คนเดิมได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 375 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพื้นที่มหาชนะชัย ยังมีผลผลิตมากที่สุดคือ ราว 600 กิโลกรัมต่อไร่ และน้อยที่สุดยังเป็นพยัคฆภูมิพิสัยซึ่งได้ 170 กิโลกรัมต่อไร่ โดยระบุว่า นอกจากแล้งจนข้าวในนาบางแปลงตาย โรคระบาดยังมารบกวน และเมื่อดูคุณภาพของผลผลิตก็ยังพบว่า ไม่สมบูรณ์ เม็ดข้าวมีน้ำหนักน้อยผิดปกติ

“บางแปลงเราสูญเสียมาก ไม่ได้เลยก็มี ต้องลงทุนมากกว่าผลผลิตที่ได้ บางแปลงได้ 350 - 400 โล บางแปลงได้ 100 กว่าโล ไม่ถึง 200 กิโล เราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีชลประทาน ต้องพึ่งพาฝนผมมีนา 70 ไร่ ได้ผลผลิต 10 ตัน พื้นที่ตรงนี้ถือว่าแล้งมาก เจาะบาดาลแล้วเจอแต่น้ำเค็ม ถ้าขายข้าวสด คือเกี่ยวมาขายเลยในเดือนตุลาได้โลละ 7 บาท พฤศจิกากระเตื้องมาเป็น 9 - 10 บาท ข้าวแห้งราคาโรงสีสหกรณ์ 12.30 บาท ถ้าขึ้นทะเบียนวิสาหกิจขายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวได้มาตรฐานประกันราคาได้ 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลุ่มก็ไม่สามารถรับจากชาวนาได้ทั้งหมด เพราะยังทำตลาดได้ไม่ดีพอ” สมภพ ลุนาบุตร ชาวนาเกษตรวิสัย กล่าว

หากแปลข้อมูลที่สมภพให้กับเราพบว่า ข้าว 10,000 กิโลกรัมที่เขาเกี่ยวได้จากนาในปี 2563 ถ้าขายในราคาที่แพงที่สุด คือขายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ราคาประกัน 15 บาท เขาจะได้เงิน 150,000 บาท ฟังดูเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่นั่นหมายความว่า เขาต้องใช้เวลาดูแลนาอย่างดี 5 เดือน และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เขาต้องจ่ายระหว่างทาง

“แม่บ้านผมทำบัญชีค่าใช้จ่ายต่อไร่ คือไถดะ ไถพรวน 3 รอบ รวม 600 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ 280 บาทต่อไร่  ปุ๋ยมูลวัวตกไร่ละ 500 บาท ค่าตัด ค่ากำจัดวัชพืชไร่ละ 150 บาท ถ้านาไหนต้องสูบน้ำใส่ก็มีค่าสูบไร่ละ 100-150 บาท หากไม่สูบผลผลิตก็จะน้อยลงมาก ค่าเกี่ยวอีกไร่ละ 200 บาท นี่เกษตรกรไม่ได้คิดค่าไปนา ค่าดูแล ยังไม่ได้คิดค่าแรงงานของตัวเองเลยนะ” สมภพ กล่าว 

จากข้อมูลข้างต้นเมื่อบวกลบ คูณ หาร สมภพจะใช้เงินในการดูแลนาข้าวของเขาตกไร่ละ 1,830-1,880 บาท เขามีนาอยู่ 70 ไร่ ทำให้เขามีค่าใช้จ่ายถึง 128,100 บาทในการดูแล เมื่อหักลบจากเงินที่เขาได้ 150,000 บาท เขาจะเหลือเงินเพียง 21,900 บาทจากสิ่งที่เขาต้องคอยดูแลตลอด 150 วันในปี 2563 

“ขอบคุณมากนะครับที่ชวนคุยเรื่องนี้” สมภพขอบคุณเราถึง 3 รอบ ที่เราสนใจปัญหาที่เขาต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม สมภพและเพื่อนชาวนาของเขา ไม่ได้งอมืองอเท้ารอการช่วยเหลือ พวกเขาพยายามหาทางรอดด้วยตัวของเขาเองมาตลอด 

“ผมทำนาจริงจังตอนปี 49 แล้วปี 58 เจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำขายได้ 5 บาทต่อกิโล เก็บเกี่ยวได้ก็เอาข้าวใส่รถไปโรงสี ดั้มราคาใส่กัน ได้ราคาถูกก็ต้องขาย เราเคยแบกข้าวสาร 800 กิโลไปขายที่กรุงเทพ มันหนักมากเลยนะ จะให้ขนกลับก็ไม่ไหว เราก็ต้องขาย ทำอะไรไม่ได้ เพราะขนผีไปถึงป่าช้าแล้วก็ต้องเผา” สมภพ เล่าย้อนอดีต

“เรามาคิดว่า เราทำนาขายข้าวได้ราคาถูกมากๆ แต่ข้าวในห้างยังราคาเท่าเดิม ข้าวที่ลูกหลานที่ไปเรียนในกรุงเทพฯ ซื้อกินยังราคาแพงเท่าเดิม เราเลยรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง วางแผนร่วมกันว่าจะทำตลาดยังไง ขายยังไง ปลูกอะไร มาช่วยกันขาย ไม่ต้องไปขายแข่งกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็พอจะเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาในกลุ่มได้บ้าง เรารวมกันสร้างเป็นแบรนด์ท้องถิ่น สร้างสินค้าชุมชน เชิญหน่วยงานมาสอนแปรรูป มาบดเป็นแป้ง ทำแคร็กเกอร์ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่ปัจจุบันเราก็ยังทำตลาดได้ไม่ดีนัก” ชาวนาวัย 44 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าว

ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้อยากได้อะไรจากรัฐ

เมื่อความแล้งคือปัญหาหลักของชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ เรื่องน้ำจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด ชาวนาหลายคนจึงบอกกับเราว่า ระบบชลประทานเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุด และเชื่อว่า มันจะทำให้พวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ในปีที่อากาศร้อนและแล้งเกินกว่าปกติ

“อยากให้มีคลองชลประทาน มีน้ำส่งมา ถ้ามีน้ำ ชาวนาก็น่าจะลืมตาอ้าปากได้ เพราะบางคนจะได้ทำนา 2 ครั้ง ถ้ามีคลองชลประทานส่งถึงก็จะได้มีอาชีพช่วงแล้ง หรือปีที่ฝนทิ้งช่วง” สำราญ ซุยคง ชาวนาจากสุวรรณภูมิ บอกความต้องการของเธอ

“อยากให้ช่วยเรื่องน้ำ ทุ่งกุลาส่วนมากไม่มีแหล่งน้ำ หรือมันตื้นเขิน อย่างในหมู่บ้านนี่เคยขุดลอกแต่ไม่เสร็จ น้ำไม่พอใช้ หมู่บ้านติดกันมีสถานีสูบน้ำ แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ อยากให้มีการขุดลอกเพิ่มเติมจะได้มีแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงที่เราทำนาข้าวงอกมา ถ้าเรามีน้ำก็จะสูบไปใส่จะได้ไม่เกิดปัญหาตอนฤดูแล้ง” มาลินี จันทร์เหลือง ชาวนาจากชุมพลบุรี ชี้ปัญหาในท้องถิ่นของเธอ

“ปัญหาหลักๆ จะเป็นระบบน้ำ ถ้าเราสามารถทำระบบน้ำได้ทั่วถึงมันก็จะดีมาก ถ้ามีระบบชลประทาน หรือระบบสูบน้ำบาดาลใต้ดินที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ น่าจะพอบรรเทาความลำบากช่วงที่มันแล้งจัดได้ ชาวนาจะได้สูบน้ำไปใช้ระหว่างรอฝนได้บ้าง” กิตติศักดิ์ สิงห์คำ เจ้าของนา 21 ไร่ในราษีไศล กล่าว

“ถ้ามันมีน้ำหน่อยมันน่าจะพอทำนาได้ เพราะปีที่แล้ง ข้าวบางแปลงมันไม่ได้ผลผลิตเลย ส่วนมากแล้วแถวทุ่งกุลา มันไม่มีน้ำ ไม่มีคลองส่งน้ำ รอแต่น้ำฝนอย่างเดียว ถ้ามีระบบชลประทานเข้ามาก็น่าจะดีขึ้น อย่างน้อยก็ดีกว่ารอแต่น้ำฝนอย่างเดียว” อุดม พรมลี ชาวนาผู้ประหยัดคำพูดแห่งพยัคภูมิพิสัย บอกกับ ดิ อีสานเด้อ

ด้านสมภพ ลุนาบุตร เจ้าของนาข้าวขนาด 70 ไร่ในเกษตรวิสัย กล่าวว่า “อยากให้รัฐมาสำรวจให้หน่อยว่า เราขุดบาดาลจุดไหนได้ เพราะชาวบ้านขุดเอง ขุดไปก็เจอแต่น้ำเค็มเอามาใส่ข้าวแล้วข้าวเสียหาย ผมเป็นตัวแทนประสานงานฝนหลวงมา 2 ปี ช่วยได้บ้าง แต่ปริมาณฝนที่ลงก็ไม่มาก เพราะสภาพอากาศอาจจะไม่เอื้ออำนวย” 

นอกจากเรื่องน้ำแล้ว การอำนวยความสะดวกในกระบวนการต่างๆ เป็นสิ่งที่ชาวนาต้องการรองลงมา เพราะปัจจุบัน พวกเขาต้องแบกค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยเพื่อใช้เครื่องทุ่นแรง

“อยากให้รัฐสนับสนุน เครื่องอบข้าว เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ตอนนี้หมู่บ้านเรามีแค่เครื่องทำความสะอาด แต่เห็นหมู่บ้านข้างๆ มีเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ คิดว่าถ้าเรามีบ้างก็จะได้แบ่งกันใช้ในหมู่บ้าน น่าจะช่วยลดต้นทุนให้ชาวนา ไม่ต้องขนข้าวไปจ้างให้เขาคัดให้ เพราะปีที่ราคาข้าวตกต่ำ ถ้าเราเก็บข้าวไว้ทำเมล็ดพันธุ์มันก็จะได้เงินมากกว่าการเกี่ยวแล้วขายเป็นข้าวสดมาก” สมพร สุดาปัน ชาวนาวัย 47 ปีจากชุมพลบุรี บอก

ขณะเดียวกัน เด่นชัย ชาวสวน เจ้าของนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากพยัคฆภูมิพิสัยเชื่อว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้ว ชาวนาก็ควรได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำนาอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

“เมื่อก่อนก็ทำนาแบบเดิมๆ เอาควายไถ พอมีนวัตกรรมการทำนาก็ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ ถ้าเราไม่เปลี่ยน โดนนายทุนหรือโรงสีตัดราคาเรา เราก็ได้รายได้น้อย ถ้าภาครัฐช่วยลงทุนเรื่องเครื่องจักรในการทำนา การทำงานก็จะสะดวกขึ้น ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายให้ชาวนาได้ ถ้าเราได้เครื่องจักรมาบริหารจัดการในกลุ่มชาวนาด้วยกัน เราก็จะลดต้นทุนได้ มีเงินไว้ใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้น” เด่นชัย กล่าว

ทั้งหมดที่ชาวนาได้กล่าวมา คือทางที่อาจจะทำให้พวกเขายังเป็นชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิแสนอร่อยให้คนทั้งประเทศกิน และอยู่รอดได้ในยุคสมัยที่ยากลำบากเช่นปัจจุบัน 

รัฐควรช่วยชาวนายังไง ? - ชาวนาควรสู้ยังไง ?

ตัวอย่างรวงข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวแห่งหนึ่ง ภาพถ่ายโดย ดลวรรฒ สุนสุข

“หากเป็นไปได้รัฐควรจัดสรรระบบชลประทานให้เข้าถึงพื้นที่ปลูกข้าว ชลประทานเองก็ต้องเข้าใจว่า ช่วงไหนเป็นช่วงที่ควรจะปล่อยน้ำให้กับนา ช่วงไหนควรจะลดน้ำเพื่อให้อิทธิพลของความเค็มและความแล้งสร้างความหอม การจัดการน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของข้าว คือแนวทางที่ดีที่สุด ถ้ามีระบบชลประทานการหยุดปล่อยน้ำ 10 - 14 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยวจะส่งผลดีกับข้าวหอมมะลิ แต่ 3 - 4 เดือนแรกควรจัดน้ำให้ประชาชนเลย การสร้างชลประทาน และการจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญ” ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

ดร.จิรวัฒน์ ชี้ว่า ระบบชลประทานที่ดีจะส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลผลิตในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและเข้าใจกับลักษณะนิสัยของข้าวจะช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้กับชาวนาด้วย อย่างไรก็ตาม ดร.จิรวัฒน์ เห็นว่า การสร้างชลประทานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยังมีอุปสรรคอยู่ เนื่องจากกายภาพของทุ่งกุลาร้องไห้ไม่เอื้ออำนวย

“ปัญหาเชิงภูมิศาสตร์ ปัญหาระดับพื้นที่เป็นอุปสรรคของการจัดการชลประทาน เพราะไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมดจะสร้างระบบชลประทานได้ มันมีพื้นที่บางพื้นที่สูงและบางพื้นที่ต่ำ แม้จะสร้างเขื่อนได้หรือระบบชลประทานได้ แต่ปริมาณฝนก็เป็นอุปสรรค เนื่องจากภาคอีสานมีปริมาณฝนเฉลี่ยที่น้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ (ในขอนแก่น) ไม่สามารถให้น้ำแก่ภาคเกษตรได้เลยตั้งแต่ปี 61 เพราะ 3 ปีมาแล้วที่แล้งต่อๆ กันมา มีปี 64 ตอนนี้เริ่มระบายมาให้เกษตรกรทำนาปรังได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือ ดินในอีสานเป็นดินทรายการซึมน้ำเยอะ ไม่เหมือนภาคกลางที่เป็นดินเหนียว” 

เมื่อให้ ดร.จิรวัฒน์ แนะนำ ‘ทางชนะ’ เพื่อให้ ‘ชาวนา’ ชนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวรายนี้ ได้ให้ 3 แนวทางที่อาจจะพอทำให้ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ผ่านพ้นฤดูแล้งไปได้อย่างไม่เจ็บตัวมากนัก

“ถ้าไม่สามารถจัดการเรื่องน้ำได้ ถ้าชาวนารู้ว่า ปีนี้จะแล้งแน่ สิ่งที่จะช่วยได้คือ เปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่จะปลูกให้เหมาะสม โดยอาจเปลี่ยนจากหอมมะลิ 105 เป็น กข 15 ซึ่งเป็นข้าวที่พัฒนามาจากหอมมะลิ 105 โดยการอาบรังสี ทำให้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นลง อาจจะสามารถช่วยให้หลบภาวะฝนทิ้งช่วงหรือแล้งได้ระดับหนึ่ง เพราะพันธุ์ที่สามารถทนได้ในสภาพแล้งจัดเราก็ยังไม่มี”

หรือควรจะเปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์อื่น? เราถามอาจารย์จิรวัฒน์ แต่ในทันทีเขารีบตอบกลับว่า 

“เกษตรกรทุ่งกุลา ผมไม่แนะนำให้ปลูกข้าวพันธุ์อื่นเลย นอกจากหอมมะลิ 105, กข 15 และข้าวเหนียว กข 6 เพราะข้าวเหล่านี้มีสารหอมระเหยมาก เหมาะกับทุ่งกุลาที่สุด ธรรมชาติให้ของขวัญชิ้นสำคัญกับคนไทยแล้ว นั่นคือผืนดินที่สร้างข้าวพรีเมี่ยม ดังนั้น ชาวนาควรใช้ดินผืนนี้สร้างรายได้ให้กับครอบครัว สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ผมจึงไม่แนะนำการปลูกข้าวไร่ หรือข้าวพื้นเมืองของที่อื่น แต่จะแนะนำให้ชาวนาปราณีตกับการปลูกหอมมะลิมากขึ้น พยายามอย่าใช้สารเคมี พยายามอย่าทำให้ปนเปื้อนข้าวพันธุ์อื่น และเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้ใช้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการปลูกข้าวท้องถิ่นจากที่อื่น”  

อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์​ท่านเดิมชี้ว่า การเก็บผลผลิตเอาไว้เพื่อรอขายในช่วงที่ได้ราคาดีแทนที่จะขายแบบสด อาจจะเป็นทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตมากกว่าการเปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์อื่น

“เป็นธรรมดาที่ผลผลิตจะราคาต่ำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผมแนะนำให้เกษตรกรตากข้าวและเก็บข้าวได้เอง ถือว่าเป็นการออมเงินในแบบข้าว ถ้าเกษตรกรไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทองมากเกินไป ผมแนะนำให้ชะลอการขายเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น เพราะหากรีบขาย อาจจะด้วยความต้องการใช้เงิน ข้าวสดจะมีราคาต่ำ เพราะถูกตัดราคาด้วยเรื่องความชื้นจากผู้รับซื้อ โดยก่อนฤดูกาลปลูกก็ควรทำความสะอาดนา ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ควรทำความสะอาดเครื่องเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้เกิดการปนของข้าวเหนียวหรือพันธุ์อื่นๆ ซึ่งจะทำให้ข้าวถูกตัดราคารับซื้อ” ดร.จิรวัฒน์ ระบุ

ย้อนกลับไปในปี 2559 ที่จังหวัดมหาสารคาม มีชายคนหนึ่งที่ถูกพาขึ้นรถแห่รอบเมือง เขาไม่ใช่นักฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลเป็นแน่ และไม่ใช่เจ้าของแหวนแชมป์ซุปเปอร์โบวล์ 7 สมัยเช่น ทอม เบรดี้ด้วย แต่เขาชื่อ ‘นิยม วรรณปะโพธิ์’ เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคล ในการประกวด ‘ข้าวหอมมะลิระดับประเทศ จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประจำปี 2559’ อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนั้น อะไรคือเคล็ดลับสู่ชัยชนะ นั่นคือสิ่งที่เราอยากรู้และเราเชื่อว่า คำตอบของเขาอาจเป็นทางออกให้กับเพื่อนชาวนาได้ไม่มากก็น้อย แม้นาของนิยมจะไม่ได้ตั้งอยู่บนทุ่งกุลาก็ตาม

เคล็ดลับการปลูกข้าวในปีที่แล้งคืออะไร ?

“ไม่มีเคล็ดลับหรอก ผมจำได้ว่าปีที่ผมชนะ นั่นมันก็แล้งนะ ที่ผมทำคือ พยายามเตรียมดินให้ดี เลือกเมล็ดพันธุ์ให้ดี ผมทำแปลงเมล็ดพันธุ์เอง คัดพันธุ์เอง ผมใช้วิธีหยอดแห้ง ชาวนาส่วนมากเขาหว่าน แต่ผมหยอด ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 8-9 กิโลต่อไร่ เพราะนาหยอดจะได้ข้าวต้นใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า ทนแล้งมากกว่า ปีนั้นก็แล้ง ช่วงข้าวออกรวงประมาณ 2 อาทิตย์ไม่มีฝน ข้าวกำลังจะเฉาแล้ว แต่พอฝนมาข้าวก็ฟื้น” นิยม เล่าย้อนปีแห่งชัยชนะ

ทั้งนี้ ในการทำนาสมัยใหม่ มีรูปแบบการทำให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบดั้งเดิมคือ ‘การปักดำกล้า’ ใหม่กว่าคือ ‘การหว่านเมล็ด’ แบบที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการหว่านกับการปักดำ คือ ‘การโยนกล้า’ แต่ที่นิยมเชื่อว่ามีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุดคือ ‘การหยอดเมล็ด’ หรือที่ชาวนาในทุ่งกุลาร้องไห้เรียกติดปากว่า ‘นาหยอด’ 

นิยมชี้ว่า การทำนาแบบหยอดซึ่งเป็นการวางเมล็ดลงในรูเรียงเป็นแถวในนา มีความเป็นระเบียบกว่านาหว่าน ทำให้ต้นข้าวมีพื้นที่ว่างระหว่างกัน เป็นการป้องกันโรคเชื้อราโคนต้นที่มีสาเหตุมาจากการที่แสงแดดส่องไม่ถึงโคน เพราะต้นข้าวเบียดกันเกินไป ขณะเดียวกัน นาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์น้ำหนัก 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่นาหยอดใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 8-15 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อข้าวในนาหว่านเติบโต ยังยากแก่การถอนหรือทำลายวัชพืช ด้วยต้นข้าวเกิดชิดกันเกินไป แต่เมื่อเทียบผลผลิตที่ได้จากนาหยอดกับนาหว่านกลับพบว่า ไม่ต่างกัน

ข้อเสียของนาหยอดในความคิดของนิยมคือ นาหยอดใช้เวลาในการหยอดมากกว่าหลายเท่าตัว เพราะต้องใช้ความพิถีพิถันมากกว่า ค่อยๆ หยอดเมล็ดตามแนว ขณะที่นาหว่านหลายสิบไร่ สามารถหว่านเสร็จภายในวันเดียวอย่างไม่ต้องบรรจง

“วิธีเตรียมดินคือ เมื่อเราเกี่ยวข้าวเสร็จ ให้ขุดตอซังออก ใช้ปุ๋ยปอเทือง ปุ๋ยพืชสด แล้วไถกลบ ถ้าฝนมาในช่วงเดือนเมษายน เราจะต้องเตรียมดินในเดือนพฤษภาคม เราหยอดบนดินที่ค่อนข้างแห้ง แต่ยังมีความชุ่มชื้น แต่ไม่หยอดแบบน้ำขัง เมื่อข้าวขึ้น เราพยายามกักน้ำให้ได้ 20-30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย 16-16-8 ใส่ไม่ต้องเยอะมาก พอข้าวออกรวง ต้องเอาน้ำออกจากนาประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนเกี่ยว ถ้าอายุข้าวถึง กลางเดือนพฤศจิกายนก็จะเริ่มเกี่ยว ถ้าฝนมาช้าอาจจะเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน พยายามไม่ใช้ยา เจอวัชพืชให้ถอนออกให้หมด แล้วผมก็ขายเป็นเมล็ดพันธุ์ส่งให้รัฐ และขายเพื่อนๆ ก็ได้ราคาแพงกว่าส่งไปสี หรือขายข้าวสด” ชาวนาวัย 62 ปี จากวาปีปทุม กล่าว

แม้จะเหมือนนอกเรื่อง แต่เราอดถามไม่ได้ว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากได้แชมป์ข้าวหอมมะลิ นิยมบอกว่า ชีวิตแทบไม่ต่างจากเดิม

“ไม่ต่างนะ แต่ถือว่าเป็นขวัญกำลังใจให้เกษตรกร เป็นหน้าเป็นตาให้หมู่บ้าน อำเภอ และจังหวัด แต่ของรางวัลอาจจะไม่ตรงจุดเท่าไหร่ เขาให้รถไถเดินตาม ให้แต่ตัวรถ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ต้องซื้อเอง ทุกวันนี้เขาก็ใช้รถไถคันใหญ่กันหมดแล้ว คิดว่าถ้าเปลี่ยนจากรถไถเดินตามเป็นเครื่องตัดหญ้า เครื่องปั่นดิน หรือเครื่องมือเกษตรอื่นน่าจะดีกว่า พวกเครื่องอบข้าว หรือทำลานตากให้ เพราะลานตากก็สำคัญ ถึงห้ามตากบนถนนเขาก็ตากกันอยู่ดี เพราะตากกับนามันมีความชื้น ไม่ดีเท่ากับตากบนลานปูน” แชมป์ข้าวหอมมะลิปี 59 บ่นเล็กๆ

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องสำหรับการจัดงานประกวดข้าวหอมมะลิระดับประเทศ คือ รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และชมเชยต่างๆ 16 รางวัล รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ค่าตอบแทนกรรมการตัดสินชี้ขาดไม่เกิน 59,100 บาท แต่งบประมาณในการจัดงานมีมูลค่า 2,810,000 บาท ดูฟอร์มแล้ว งานนี้น่าจะไม่ใช่ “ชาวนาชนะ” “ข้าวชนะ” แต่เป็น “ผู้รับเหมาชนะ” ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นของ ฤดูกาล 62/63

หลังจากรวบรวมปัญหาและความต้องการของประชาชนทั้งหมด ดิ อีสานเด้อ พยายามติดต่อ อธิบดีกรมพัฒนาการเกษตร หรืออธิบดีกรมการข้าวแต่ไม่เป็นผล และหลังจากพยายามถามคำถามใกล้เคียงกันไปในอีเมลของประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ เราลองยกหูโทรศัพท์ไปหา ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน ในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และอดีตชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อขอคำตอบว่า ที่ผ่านมารัฐได้พยายามแก้ไขทุกข์ร้อนของชาวนาอย่างไร โชคยังพอเข้าข้างเราอยู่บ้าง เพราะ ดร.รณวริทธิ์ ยอมพูดคุยกับเรา

รัฐมีแผนอย่างไรบ้างในการช่วยเหลือชาวนา ? เรารวบรัดคำถามในเวลาอันสั้น

“มี 2 โครงการที่รัฐบาลทำไปแล้ว และจะประเมินผล ถ้าประสบความสำเร็จก็จะทำต่อคือ 1. สนับสนุนโครงการนาแปลงใหญ่ โดยเอาคนที่ทำนาแบบเดียวกันมารวมกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 30 คน และจัดสรรงบประมาณให้แปลงใหญ่แปลงนั้นไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้นาแปลงนั้นเขียนโครงการเข้ามาขอว่า เขาต้องการอะไร ที่เก็บข้าวเปลือก ลานตากข้าว จะซื้อเครื่องอบลดความชื้นในข้าว หรืออะไรก็ขอมา ที่ผ่านมามีการขอเข้ามาแล้ว 3.9 พันแปลง เป็นเงินประมาณ 9 พันล้านบาท ซึ่งวิธีนี้จะอนุมัติวงเงินได้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด โครงการจะเริ่มในเดือนมีนาคม แล้วก็จะโอนเงินให้เกษตรกรได้ใช้ จัดการ จัดซื้อ ซึ่งรัฐจะติดตามแผนที่เสนอและเร่งรัด ถ้าหากผลออกมาดีมีประสิทธิภาพ ชาวนาใช้เงินตามแผน ก็อาจจะมีโครงการเพิ่มเติมในอนาคต” ดร.รณวริทธิ์ กล่าว

“2. โครงการศูนย์ข้าวชุมชน รับผิดชอบโดยกรมการข้าว จะใช้งบประมาณ 1.2 พันล้านบาท โดยจะเป็นการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ และผลิตข้าวคุณภาพสูงเพื่อบริโภคในชุมชุนและจำหน่าย ซึ่งจะเป็นโครงการที่ให้เกษตรกรเสนอเช่นกันว่า ต้องการอะไร รถเกี่ยวข้าว งบประมาณปรับพื้นที่ รถหยอดเมล็ดพันธุ์ หรือใช้สำหรับเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว หรือแก้ปัญหาการตากข้าว โดยเกษตรกรจะเป็นคนเสนอความต้องการของตัวเองเข้ามา แล้วรัฐจะมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณ และจัดซื้อจัดจ้างให้” ดร.รณวริทธิ์ ระบุ

เราถาม ดร.รณวริทธิ์ว่า ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปัญหาสุดคลาสสิครัฐจะแก้ไขอย่างไรบ้าง อดีตชาวนาจากจังหวัดร้อยเอ็ดชี้ว่า กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างระบบชลประทานเพิ่มแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขหรือกำหนดการได้ 

“ปัญหาความแล้ง เรารู้ดีว่า ต้องขยายระบบชลประทานให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง บ้านเราน้ำมันเพียงพอ แต่ขาดการบริหารจัดการน้ำ หน้าที่ ส.ว. มีอยู่ 3 อย่างตรวจสอบ เสนอแนะ แล้วก็เร่งรัด เราจะไปตั้งงบไม่ได้เพราะงบมันอยู่ฝั่ง ส.ส. แต่เราได้เสนอแนะ สนทช.-สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอไปที่รัฐบาลแล้ว ทางโน้นจะเป็นคนทำตัวเลข ออกแบบแผนงานและใส่งบประมาณมา เรื่องระบบเติมน้ำลงใต้ดินก็จะมีการดำเนินโดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ จะมีแผนผังน้ำใต้ดิน เพื่อวางแผนการเอาน้ำจากใต้ดินขึ้นมา แต่ไม่ให้เอาน้ำขึ้นมามากจนดินทรุด” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน กล่าว

ท้ายที่สุด ‘ทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวหอมมะลิ - ความแล้ง และชีวิตชาวนา’ ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหาเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิที่กระทบต่อชีวิตชาวนาในทุ่งกุลาร้องไห้ แต่เชื่อว่า มันจะเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปของผืนดินอายุกว่าล้านปีแห่งนี้ และสุดท้ายเรายังเชื่อว่า แม้จะต้องเจอปัญหาความแล้งไปอีกหลายปี ก็คงไม่มีชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้คนไหน เที่ยวถามใครต่อใครว่า “How dare you”

 

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท