ถกมุมการเมืองกับ ‘ขนุน KKC’ นักเรียน ม.6 ผู้ได้รับหมายเรียกจากเหตุชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว

รายงานสัมภาษณ์ ขนุน (นามสมมติ) นักเรียน ม.6 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เยาวชนอายุ 18 ปีที่ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา

 

วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศ เพราะเป็นวันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต (O-NET) ซึ่ง ‘ขนุน (นามสมมติ)’ นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ที่กำลังจะจบการศึกษาอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่เพิ่งผ่านพ้นสนามสอบสำคัญนี้เช่นเดียวกับนักเรียน ม.6 คนอื่นๆ

หลังเสร็จภารกิจในสนามสอบเมื่อช่วงเที่ยงของวัน ขนุน เดินทางมาเรียนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ต่อจนถึงช่วงเย็นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชีวิตประจำวันของเธอดูปกติแบบเด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของ ขนุน แตกต่างจากเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน คือ เธอเป็นเยาวชนอายุ 18 ปีที่ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากเหตุการณ์การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ด้วยเหตุนี้ ประชาไท จึงชวน ขนุน มาพูดคุยที่มาที่ไปของเหตุการณ์ และสะท้อนมุมมองการเมืองผ่านความคิดของคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นอนาคตของชาติ

เหตุเกิดที่ สภ.ภูเขียว เพราะไลฟ์สดถ่ายทอดเรื่องราวของเพื่อนเยาวชนที่ถูกคุกคาม

“มีน้องคนหนึ่งที่เรียนอยู่ อ.ภูเขียว ถูกตำรวจมาคุกคามที่บ้านเพราะลงชื่อไปค่ายราษฎรออนทัวร์ มาถามชื่อ ถามว่ามีใครลงชื่อไปบ้าง เราได้ยินอย่างนั้นก็รู้สึกว่าไม่โอเค เพราะพื้นที่ตรงนั้น (โรงเรียน) สมควรจะเป็นที่ที่ให้เสรีภาพ เราก็เลยไปหาน้องนักเรียนคนนั้น ไลฟ์สัมภาษณ์เพื่อกระจายข่าวสารให้คนในขอนแก่นได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน จ.ชัยภูมิ ตอนนั้นที่ไป มีเรากับเพื่อนรวมเป็น 3 คน มาจากภาคีนักเรียน KKC หมดเลย แต่มีเราคนเดียว (ในกลุ่ม KKC) ที่ได้รับหมายเรียก ส่วนน้องอีก 2 คนที่ปรากฏตัวในไลฟ์ก็โดนหมายเรียกเช่นเดียวกัน”

ขนุน (กลาง) ขณะไลฟ์สัมภาษณ์นักเรียน อ.ภูเขียว ที่ถูกคุกคามจากครูและเจ้าหน้าที่ตำรวจในเพจภาคีนักเรียน KKC

“เราไปทำหน้าที่เหมือนเดิมเวลาเราไปม็อบ คืออาสาไปช่วยทำงานเบื้องหลัง เช่น ช่วยซื้อของ ช่วยขนของ ในวันนั้น เราไปในฐานะประชาชนที่เข้าร่วมม็อบ กับไปในฐานะนักเรียนจากกลุ่ม KKC ที่ช่วยกระจายข่าวสารให้นักเรียนคนอื่นๆ ที่ถูกคุกคาม พอเสร็จจากสัมภาษณ์ เราก็ไปยืนร่วมอ่านแถลงการณ์ ซึ่งเรายืนอยู่หน้าสุด และไม่ได้สวมแมสก์ เลยน่าจะโดน พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ แต่คนในนั้นก็ไม่ได้สวมแมสก์กันหลายคน เลยน่าจะโดนแจ้งข้อหาเดียวกันไปด้วย”


ขนุน (วงกลมสีแดง) จากไลฟ์การอ่านแถลงการณ์หน้า สภ.ภูเขียวในเพจ UNME of Anarchy
 
ขนุน บอกว่า ถึงแม้หมายเรียกจาก สภ.ภูเขียวจะลงวันที่ 3 มี.ค. 2564 และระบุให้เธอไปรายงานตัวภายในวันที่ 17 มี.ค. แต่เธอเพิ่งได้รับหมายเรียกในวันที่ 16 มี.ค. จึงไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ ขนุนจึงติดต่อทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ประสานไปยังตำรวจ สภ.ภูเขียว เพื่อเลื่อนวันรายงานตัว ซึ่งตำรวจขอนัดใหม่เป็นวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่เธอติดสอบจึงต้องขอเลื่อนวันรายงานตัวอีกรอบ โดยขนุนยังไม่ได้รับแจ้งจากทนายความว่าวันรายงานตัวนัดถัดไปคือวันที่เท่าไร
 
หมายเรียกจาก สภ.ภูเขียว แจ้งให้ขนุนไปรับทราบข้อกล่าวหา (ภาพจากเฟซบุ๊กภาคีนักเรียน KKC)
 

ครอบครัวรู้สึกอย่างไรเมื่อ ‘ขนุน’ ได้รับหมายเรียก

“พ่อกับแม่ค่อนข้างกังวลค่ะ เขากังวลเกี่ยวกับอาชีพในอนาคตของเรา กังวลเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัย กังวลเรื่องการทำงาน กลัวว่าเราจะมีประวัติเสียอะไรหรือเปล่า รวมถึงกังวลว่าหมายเรียกของเราอาจจะกระทบอาชีพหน้าที่การงานของเขาด้วย แต่หลังจากที่คุยกับทนายความคร่าวๆ การโดนหมายเรียกครั้งนี้ไม่ได้มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมอะไร”

ขนุน เผยว่า พ่อแม่ของเธอไม่ได้สนับสนุนแต่ก็ไม่ได้ห้ามทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพียงแต่ขอร้องให้จัดการเรื่องเรียนในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตมัธยมปลายให้เรียบร้อยก่อนค่อยไปทำงานในฐานะนักกิจกรรม

“เรายึดมั่นมาขนาดนี้แล้ว การที่จะล้มเลิกสิ่งที่ทำมาก็คงจะเป็นเรื่องยาก อย่างล่าสุดที่เห็นพี่ๆ หมู่บ้านทะลุฟ้าโดนสลายการชุมนุม เรารู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เราคงมีพลังมากกว่าเดิม คงทำกิจกรรมมากกว่าเดิม (หัวเราะ)”

สนใจการเมืองเพราะอะไร

“พ่อแม่เราเป็นเสื้อแดง และเขาก็ทำอาชีพรับข้าราชการ แต่เราไม่ชอบอาชีพข้าราชการ มีดีแค่สวัสดิการแต่จน เราไม่ชอบความจน เพราะความจนทำให้เราไม่มีสิทธิไปเรียนต่อที่อื่น เพราะจนทำให้เราคิดได้น้อย เราเกลียดระบบขนส่งในประเทศนี้ เราเป็นคนหนึ่งที่รับกรรมกับระบบขนส่งในประเทศนี้มากที่สุด เราสูงแค่ 150 ซม. เวลาโหนรถเมล์ก็ยาก เราชอบเดินทางคนเดียว ชอบนั่งรถประจำทาง มันทำให้เราได้เห็นคนหลากหลายประเภท เช่น คุณยายคนนี้ ทำไมถึงไปโรงพยาบาลด้วยรถคันนี้ ทำไมไม่มีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ให้ผู้สูงอายุ ทำไมยายของเรา อายุ 90 แล้ว เป็นอัมพาต เดินไม่ได้ เวลารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เราต้องอุ้มยายขึ้นรถแล้วพายายไปที่ศาลาหมู่บ้านเพื่อรับเงินไม่กี่ร้อย คือมันมีวิธีที่ดีกว่านี้หรือเปล่าที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องดิ้นรนขนาดนั้น เราไม่ชอบการซื้อเสียงในหมู่บ้าน อาจจะมองว่าเราเป็นคนจุกจิกนะ แต่เราสงสัยมาตั้งแต่เด็กว่าทำไมถนนไม่ดี ไฟไม่ดี ทำไมชาวนาถึงได้เงินน้อย ทำไมถึงต้องมีพ่อค้าคนกลาง เราคิดๆๆ อะไรแบบนี้อยู่ตลอด ยกตัวอย่างจากบ้านเราถีบตัวมา 2 รุ่นแล้ว อพยพมาจากที่อื่น ต้องทำงานหนักเพื่อให้ลูกได้เรียนสูงกว่า ส่วนรุ่นลูกคือพ่อกับแม่เราก็ยังต้องทำงานหนักเพื่อให้เราต้องเรียนสูงกว่าตัวเอง ความจนมันดูดกลืนความฝัน”

คุณพ่อคือผู้ปลูกฝังรากฐานความคิดทางการเมือง

“พ่อเราเรียนนิติศาสตร์ และชอบอ่านหนังสือมาก แล้วก็ชอบเล่าเรื่องการเมืองให้เราฟัง พ่อเคยให้หนังสือเรามาอ่านเล่มหนึ่ง คือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่เราอ่านไป 2 หน้า อ่านไม่จบ (หัวเราะ) ตอนนั้นเด็กมากๆ ประมาณ 11-12 ปีมั้ง อ่านไปแค่คำนำแล้ววาง เพราะภาษาที่ใช้มันเก่า เราเข้าไม่ถึง พอเราอายุ 15-16 พ่อก็เอามาให้อ่านอีก พ่อยื่นหนังสือมาให้เราเลย”

“อีกเรื่องที่ประทับใจ คือ การไปค่ายแล้วได้เจอคนเดือนตุลาฯ ที่เคยหนีเข้าป่ามาก่อน จุดสำคัญคือคนนั้นแนะนำให้เราอ่านหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ เราบอกไปว่าเราเคยอ่านแล้ว แต่อ่านไม่รู้เรื่อง เขาเลยแนะนำให้เราอ่านเล่ม ‘ตำนานนครวัด’ แทน”

ขนุนเล่าวว่าแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอส่วนหนึ่งถูกปลูกฝังมาจากพ่อ แต่ในขณะเดียวกัน ความคิดทางการเมืองบางอย่างของขนุนก็แตกต่างจากพ่อของเธอ

“พ่อเราเป็นเสื้อแดงที่เคยไปร่วมชุมนุมเมื่อปี 2553 เราก็มีโอกาสได้ดูการถ่ายทอดปราศรัยสมัยนั้น เราดูแล้วก็ไม่ได้คิดว่าที่เขาพูดกันบนเวทีมันผิดอะไรนะ คือเราน่ะดูทั้ง 2 ช่องเลย เพราะเราก็อยากรู้ว่าแต่ละฝั่งเขามีทัศนคติอย่างไร ขนาดเราเด็กๆ ยังแยกแยะได้ประมาณนึงนะ”

“แต่อีกปัญหาหนึ่งที่เราเจอ ไม่ใช่แค่เรา แต่หลายๆ คนก็ด้วย คือ พ่อแม่เป็นคนเสื้อแดง แต่ไม่สนับสนุนให้ลูกไปม็อบ เพราะเขากลัวว่าลูกจะโดนสลายการชุมุนมแบบที่คนเสื้อแดงโดนเมื่อปี 2553 พ่อกลัวว่าเราจะเป็นอะไรไป และกลัวว่ามันจะกระทบหน้าที่การงาน พ่อเราเหมือนเป็นคนที่ฝันสลายไปแล้ว อยู่ไปโดยไร้จิตวิญญาณ เหมือนส่งมอบความฝันให้คนอื่นไปแล้ว ซึ่งเราไม่ชอบการไม่มีความฝัน ก็เลยมีจุดยืนที่แตกต่างออกไป เราไม่รู้หรอกนะว่าคนรุ่นก่อนเขาวาดฝันอนาคตไว้อย่างไร แต่สิ่งที่ส่งต่อมาให้กันได้ คือ อุดมการณ์และความคิด อย่าไปคิดว่าประเทศนี้ไม่สามารถมีประชาธิปไตยได้อีกแล้ว เราต้องลองสู้ต่อ เรายังไม่เห็นผลเลย เราคงสานต่อจากคนรุ่นก่อน ทั้งรุ่นคนเสื้อแดง รุ่นคน 6 ตุลาฯ มันก็คงเป็นรุ่นเรานี่แหละ”

ทำไมถึงเข้าร่วมภาคีนักเรียน KKC

“ตอนนั้น นักเรียนโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน (ขก.) จะจัดม็อบชูป้ายเชิงสัญลักษณ์อยู่หน้าโรงเรียน แต่อยู่ดีๆ โรงเรียนก็ประกาศปิดเพราะจะฉีดยาไล่ยุง ประกอบกับช่วงนั้น จ.ขอนแก่น มีการจัดม็อบที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของหลายกลุ่ม ทั้งขอนแก่นพอกันที ดาวดิน และ UNME of Anarchy แล้วเหมือนกับว่าคนที่ยืนอยู่ข้างหน้าสุดในม็อบวันนั้น คือ เด็กนักเรียน ขก. ซึ่งเด็กนักเรียนก็ถูกคุกคามจากทั้งครูและตำรวจ เราเห็นว่าแบบนี้มันไม่ได้นะ ก็เลยออกมารวมตัวกับเพื่อนๆ โรงเรียนอื่นใน จ.ขอนแก่น มี รร.แก่นนครวิทยาลัย, กัลยาณวัตร, สาธิต มข. ศึกษาศาสตร์ และมอดินแดง รวมถึงมหาไถ่ศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งหมด 6 โรงเรียน จัดตั้งเป็นกลุ่ม KKC ขึ้น”

แผนงานของภาคีนักเรียน KKC ในอนาคต

“เราจะทำงานเกี่ยวกับความคิดคนมากกว่าเดิม เพราะรุ่นของเรา หรือรุ่นน้องที่เด็กกว่านี้ 4 ปีอาจจะยังสับสนอยู่ อาจจะยังไม่รู้ว่าแบบนี้มันถูกหรือผิดกันแน่ อาจจะยังไม่มีความตระหนักรู้มากพอว่าทำไมต้องสันติวิธี ทำไมถึงรณรงค์ให้ใส่ชุดไปรเวท ทำไมต้องมีสิทธิเสรีภาพ ทำไมการอยู่กับรัฐบาลชุดนี้ถึงไม่ดี เราพยายามจะขยายฐานความคิดตรงนี้ ให้ทุกคนตระหนักว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องชิน”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำไมถึงอยากทำงานเรื่องขยายฐานความคิด

“เราถูกครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นก่อนหน้านั้น สมมติเราย้อนกลับไป แล้วเราคิดต่างกับคนอื่นๆ เราจะถูกหาว่าเป็นบ้า (หัวเราะ) อันนี้เป็นคำพูดของพี่ใหญ่ (อรรถพล บัวพัฒน์) แกบอกว่าการเป็นคนคิดต่างในตอนนั้น เราจะโดนหาว่าเป็นคนบ้า เพราะว่าเราเป็นคนส่วนน้อยที่คิด ที่เชื่อไม่เหมือนคนอื่น แต่ว่าถ้าเราเผยแพร่ความเชื่อของเรา ยิ่งพูด ยิ่งทำให้คนเหล่านั้นคิดเหมือนกับเรา เราก็จะไม่เป็นคนบ้า เพราะคนอื่นก็จะบ้าเหมือนเรา อาจจะบ้ากว่าเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ) พูดง่ายๆ คือถ้าเขาโดนล้างสมองมา เราก็ล้างสมองเขากลับ อาจจะฟังดูรุนแรงนิดนึง แต่มันคือการทำงานกับความคิดคน การหักล้างความเชื่อเดิมๆ ด้วยแนวคิดอีกแบบ ถ้าเรามีวัฒนธรรมความเชื่อเดิมๆ อยู่แล้ว เราไม่ได้จะเอาสิ่งเหล่านั้นทิ้ง เราแค่เติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปแล้วให้คนเลือกรับ”

ถ้าการเมืองดี คิดว่าเราจะเป็นอย่างไร

“ถ้าการเมืองดี เราคงได้ไปหอศิลป์ทุกวัน ไปถ่ายรูปที่อยากถ่าย แค่นอนให้พอ ครบ 8 ชั่วโมงต่อวันก็ดีแล้ว”

เด็กสายศิลป์ที่อยากข้ามสายไปเรียนวิศวะ

ขนุน บอกว่า ตนเหลืออีก 2 สนามสอบก็เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันทรหด โดยตนตั้งใจจะยื่นคะแนนเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์

“จริงๆ สนามสอบใหญ่จะสิ้นสุดที่ 9 วิชาสามัญ แต่เราเหลืออีก 2 สนาม เพราะเราเรียนสายศิลป์ภาษาสเปน แต่อยากเข้าเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เลยต้องไปสอบเทียบความรู้ (ผู้สื่อข่าว: ทุกวันนี้สายศิลป์สามารถเรียนต่อในคณะสายวิทย์ได้แล้วเหรอ) ได้ค่ะ แต่ยื่นได้เฉพาะบางมหาวิทยาลัยและบางคณะ เท่าที่ทราบมี ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ และ ม.มหิดล”

“เราอยากเรียนวิศวะเพราะอยากปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ในไทย คือวงการวิทยาศาสตร์ในไทยก็หลากหลายนะ ผู้หญิงก็เรียนเยอะนะ แต่ว่าทำไมผู้ชายถึงมีบทบาทมากกว่า หรือภาพจำต่างๆ ว่าวิศวะมีแต่ผู้ชายเรียน พ่อแม่เรายังพูดเลยว่าจะไปเรียนทำไม มีแต่ผู้ชาย คือเราอยากจะก้าวข้าม อยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ เราอยากจะพิสูจน์ด้วยแหละว่าเราสามารถทำได้มากกว่าหนึ่งอาชีพ มากกว่าที่เราเรียนมา อยากท้าทายตัวเองด้วยว่าจะทำได้หรือเปล่า”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คิดอย่างไรกับการที่รัฐดำเนินการทางกฎหมายกับเยาวชน

“เรามองว่ามันไม่มีความน่าเชื่อถือเลยนะ เพราะว่าการที่คนที่อายุน้อยแต่โดนมากๆ แสดงว่ารัฐพยายามปิดกั้นหรือปกปิดอะไรบางอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วรุ่นของเด็กอายุ 14 น่ะ เขาก็จะมาข้างหน้าพวกเราแล้ว ยิ่งทำอย่างนั้นเขายิ่งต่อต้าน และยิ่งยากจะก้าวข้ามผ่านเรื่องพวกนี้ไป นอกจากจะรู้สึกว่ารัฐหมดความน่าเชื่อถือแล้ว มันยังเป็นอะไรที่ตกต่ำมาก มันทำให้คนรุ่นเราคิดว่ารัฐเป็นปรปักษ์กับเรา ทำให้รัฐหมดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง ตกต่ำ และไม่มีความเป็นธรรม”

คิดต่างได้แต่อย่าทำร้ายคนอื่น

ขนุน เผยว่า การได้เห็นข่าวประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนถูกทำร้ายร่างกายเนื่องจากแสดงออกทางการเมือง ทำให้เธอรู้สึกจุกจนพูดไม่ออก

“เราสามารถคิดต่างกันได้ แต่เราไม่ควรไปทำร้ายร่างกายใคร แบบนี้เรียกว่าคลั่ง เหมือนการคลั่งในลัทธิหนึ่ง การทำร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเราไม่ทราบว่าเขาเป็นใครมาก่อน เป็นอะไรที่ผิดความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง เวลาเจออะไรแบบนี้เรารู้สึกจุก ไม่รู้จะพูดอะไร การไปทำร้ายคนเพราะเราปกป้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ แล้วสิ่งนั้นคือสิ่งที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยซ้ำ”

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘เด็กรุ่นใหม่ถูกล้างสมอง’

“ถ้าเด็กรุ่นนี้ถูกล้างสมอง คนรุ่นก่อนก็คงถูกเซตระบบให้เป็นหุ่นยนต์โดยสมบูรณ์ (หัวเราะ) เราคิดว่าต่างฝ่ายต่างถูกโดนล้างสมองมาคนละแบบ คนรุ่นก่อนอาจจะไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือมีข้อมูลความรู้มากพอให้ตรวจสอบ หรือไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่าสมัยนี้ ซึ่งเรามองว่ามันไม่ผิดนะที่เขาจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาโดนประโคมข้อมูลแบบนั้นใส่มาทั้งชีวิต ถ้าเขาบอกว่าเราโดนล้างสมอง ก็คงโดนด้วยกันแหละ ต่างกันที่กระบวนการล้างสมองว่าโดนล้างเรื่องอะไร และโดนแบบไหน”

“เราก็ยอมรับนะว่าเราโดนล้างสมอง แต่มันผ่านกระบวนการอ่านหนังสือ การทำงาน การเจอเรื่องต่างๆ ที่ต้องออกมาต่อสู้ มันก็เหมือนว่าเราโดนล้างสมองผ่านกระบวนการคิดและตกตะกอนเหล่านี้หรือเปล่า”

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘เด็กอายุแค่นี้คิดเองไม่เป็นหรอก’

“คิดเองไม่เป็นจริงๆ นะ (หัวเราะ) ก่อนจะผ่านกระบวนการคิด เขาต้องไปเจออะไรมา เขาถึงตกตะกอนมาได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เขามองมันถูกหรือผิด หรือควรจะต้องทำอย่างไร เราไม่สามารถจะไปชี้หน้าหรือตราหน้าใครว่าคิดเองไม่เป็นแบบนั้นไม่ได้หรอก ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะการกระทำทุกอย่างมันเกิดจากการกลั่นกรองมาแล้วว่าเราคิดอย่างไร เขาถึงแสดงออกมาด้วยการกระทำแบบนี้ เช่นเดียวกัน เวลามีคนพูดว่า ‘เด็กรุ่นนี้คิดเองไม่เป็นหรอก’ เราก็ต้องย้อนกลับไปว่าคนพูดทำไมถึงพูดแบบนั้น ทำไมถึงคิดแบบนั้น”

แด่วัฒนธรรมเงียบในโรงเรียน

“เราเกลียดวัฒนธรรมเงียบในโรงเรียน เราโดนโรงเรียนสอนมาให้ไม่สนใจปัญหา เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหาของเรา ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่เดือดร้อน วัฒนธรรมเงียบเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถพูดอะไรออกไปได้ อย่างตัวเราเอง อายุ 18 โดนหมายเรียกทางการเมือง ไม่มีครูคนไหนเลยที่มาถามไถ่เราว่าเป็นอย่างไร แม้แต่ครูที่รู้จักเรา สอนเรา บอกว่าเราเป็นลูกศิษย์ ก็ไม่มีเลย แต่ในระดับตัวแทนโรงเรียนก็มีโทรมาถามเรานะ แต่ก็แค่โทรถาม ไม่ได้กระทำการใดๆ เพื่อปกป้องเราในฐานะนักเรียน หรือประณามการกระทำของตำรวจ ไม่ได้ทำอะไรเลย คือมันดูปอดแหกมากเลย กระจอกมากเลย พอรู้ว่าลูกศิษตัวเองโดน ไม่พูดอะไร เหมือนปล่อยๆ ไปแล้วมาให้กำลังใจทีหลัง เรารู้อยู่ว่าเขามีเหตุผลที่จะทำอย่างนี้ ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง แต่เราแค่ไม่ชอบวัฒนธรรมเงียบแบบนี้ มันคือปัญหาเล็กๆ ที่จะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้เราไม่กล้าที่จะมีปากมีเสียงกับความอยุติธรรม ทำให้เรารู้สึกว่าต้องยอมศิโรราบไปกับความอยุติธรรม”

“วัฒนธรรมเงียบควรจะหายไปจากโรงเรียน โรงเรียนหรือครูควรออกมาปกป้องนักเรียน และควรกระทำการใดๆ ให้ไวที่สุด หรือทำอะไรก็ได้ให้นักเรียนรู้ว่าโรงเรียนและครูจะอยู่เคียงข้าง ควรแสดงออกให้ชัดว่าการกระทำแบบนี้มันขัดต่อหลักประชาธิปไตย”

อย่าลังเลที่จะออกมาต่อสู้

“ถ้าเป็นพี่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) คงจะพูดว่า ‘ไม่ต้องลังเล ออกมาเลย’ แล้วขนุนก็จะตอบว่า ‘ไม่ต้องลังเล ออกมาเถอะ’ (หัวเราะ) เพราะว่าการออกมาสู้มันเป็นสิ่งที่วิเศษมาก คนหนึ่งคนเท่ากันใช่ไหม แสดงว่าถ้ามีมากกว่าคนหนึ่งคนก็จะยิ่งมีเสียงมากกว่า การออกมาของแต่ละคนมันส่งผลที่ยิ่งใหญ่นะ เพราะ 1 คน 1 ชีวิตยังมีวงจรชีวิตอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างเป็นลูกโซ่ มันส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ นะ ออกมาเถอะ (เสียงสูง)”

ทั้งนี้ เหตุการณ์ชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา วอยซ์ออนไลน์ รายงานข้อมูลไว้ว่า เนื่องจากกลุ่มราษฎรจัดค่าย 'ราษฎรออนทัวร์' ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. ที่หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยกิจกรรมนี้ได้เปิดรับสมัครกลุ่มนักเรียนมัธยมใน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของจตุภัทร์ ไปรวมกิจกรรมด้วย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีคำสั่งย้ายราชการให้ ว่าที่ พ.ต.อ.เพิ่มสุข ศิริพละ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 3 โดยขาดจากตำแหน่งและหน้าที่สังกัดเดิม นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ทันที คำสั่งดังกล่าว ลงชื่อโดย พล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ซึ่ง ภายหลังได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเหตุผลของการสั่งย้าย การกระทำของกลุ่มราษฎรที่เกิดขึ้นด้านหน้า สภ.ภูเขียวนั้น ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการกางเต็นท์ จัดเวทีปราศรัย และติดป้ายที่มีข้อความที่ไม่เหมาะสมไม่บังควร ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่ามีนักกิจกรรมและประชาชนได้รับหมายเรียกจากกรณีชุมนุมนี้ทั้งหมด 26 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นการออกหมายเรียกผิดจำนวน 3 ราย อนึ่ง นักกิจกรรม 13 จาก 26 คนเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อวันที่ 17 และ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท