Skip to main content
sharethis

หน้าเว็บเพจตรวจสอบข้อเท็จจริงของสื่อเอเอฟพี ระบุถึงการที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า Tai Shing Suen กล่าวอ้างว่าสื่อตะวันตกอย่างนิวยอร์กไทม์และดอยซ์เวลเล(DW)จัดอันดับให้วัคซีนที่ผลิตจากจีนมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ Tai Shing Suen อ้างอิงมานั้นมาจากการตีความข้อมูลผิดพลาด ข่าวที่สื่อตะวันตกนำเสนอตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุถึงวัคซีนตามๆ ที่กำลังเข้าสู่การทดลองในเฟสที่สามโดยไม่ได้จัดอันดับความปลอดภัยแต่อย่างใด

ภาพจากวิกิพีเดีย

7 มิ.ย. 2564 ผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ชื่อ Tai Shing Suen เคยโพสต์เนื้อหาภาษาจีนที่ระบุอ้างว่าสื่อตะวันตกสองแห่งคือนิวยอร์กไทม์ที่มีฐานดำเนินการอยู่ในสหรัฐฯ และสื่อสัญชาติเยอรมนี ดอยซ์เวลเล จัดอันดับให้วัคซีนที่ผลิตในจีนมี "อยู่ในอันดับที่มีความปลอดภัยสูงสุด 4 อันดับแรก" เทียบกับวัคซีนตะวันตก แต่เนื้อหานี้เป็นเนื้อหาเท็จที่มาจากการอ้างตีความเนื้อหาดั้งเดิมของสื่อเหล่านี้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

โพสต์ดังกล่าวอ้างว่าแม้แต่สื่ออย่างนิวยอร์กไทม์ที่มักจะโจมตีจีนก็ยังจัดให้ซิโนฟาร์มที่เจ้าของโพสต์อ้างว่ามีสองวัคซีน อยู่ในสองอันดับแรกและวัคซีนอีกสองยี่ห้อของจีนคือซีโนแวค และแคนซีโนไปโอ อยู่อันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ตามมาด้วยวัคซีนตะวันตกอื่นๆ เช่น แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งมีข้อความในลักษณะคล้ายกันนี้หลายข้อความเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและวอทแอพพ์

อย่างไรก็ตามข้อความเหล่านี้ไม่เป็นความจริง เพราะถึงแม้ว่านิวยอร์กไทม์จะเคยเผยแพร่บทความที่ระบุพาดหัวว่า "มันถึงเวลาแล้วที่จะเชื่อมั่นในวัคซีนของจีนและรัสเซีย" อย่างไรก็ตามบทความดังกล่าวเป็นบทความแสดงความคิดเห็นจากนักกิจกรรมด้านสาธารณสุขอินเดียและทนายความด้านผลประโยชน์สาธารณะไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนหรือไวรัสวิทยา อีกทั้งบรรณาธิการนิวยอร์กไทม์ก็ไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นแบบเดียวกับบทความนี้

นอกจากนี้นิวยอร์กไทม์ยังระบุอีกว่าพวกเขาทราบเรื่องที่มีการเผยแพร่ข้อความชวนให้ไขว้เขว เข้าใจนิวยอร์กไทม์ผิด จึงมีถ้อยแถลงต่อเรื่องนี้ระบุว่า "นิวยอร์กไทม์ไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ลิสต์อันดับนี้ การรายงานของพวกเราไม่ได้เสนอว่าวัคซีนของจีนเหนือกว่าวัคซีนที่ผลิตในที่อื่น รวมถึงไม่ได้นำเสนออ้างว่าจีนได้ส่งออกวัคซีนมากกว่า 500 ล้านโดสแล้ว"

ถ้าหากว่านิวยอร์กไทม์ไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ลิสต์นี้ โพสต์ที่นำเสนอช้อมูลเท็จดังกล่าวนำมาจากไหน พวกเขาอ้างด้วยการตีความผิดจากข้อเท็จจริงมาจากบทความเก่าตั้งแต่ปี 2563 ของ ดอยซ์เวลเล (DW) ที่มีชื่อพาดหัวว่า "10 โครงการวัคซีนที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก" อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการระบุถึงทั้งวัคซีนของจีนและวัคซีนของตะวันตก แต่ก็ไม่ได้เป็นการจัดอันดับความปลอดภัยแบบที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายดังกล่าวอวดอ้างแต่อย่างใด

ในบทความของ DW นั้นระบุเพียงแค่ว่า ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม 2563 มีวัคซีน 10 ชนิดที่กำลังเข้าสู่การทดสอบในระยะที่ 3 และมีวัคซีนของจีนรวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วยเท่านั้น

นอกจากประเด็นอวดอ้างสรรพคุณของวัคซีนจากจีนแล้ว ข้อความของ Tai Shing Suen ยังกล่าวอ้างใส่ร้ายวัคซีนตะวันตกอย่างไม่มีมูลใดๆ เช่นอ้างว่าหลังจากทีคนได้รับวัคซีนแล้วหลายสิบล้านคนก็ "มีคนเสียชีวิตประมาณ 20-30 คน โดยหลายสิบคนมีอาการเป็นอัมพาตที่ใบหน้า" แล้วอ้างว่าที่จีนได้ทำการ "ส่งออกวัคซีนมากกว่า 500 ล้านชุดไปยังมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก แต่ก็มีกรณีการเสียชีวิตรายเดียวที่ฮ่องกงซึ่งสงสัยว่าเกี่ยวกับวัคซีนแต่จริงๆ แล้วเป็นอาการจากเบาหวาน ความดันสูง..." และโรคอื่นๆ

โพสต์ดังกล่าวยังอ้างอีกว่ามีคนรวยจากอังกฤษจำนวนมากบินไปรับวัคซีนซีโนฟาร์มของจีนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องจริงอยู่บ้างส่วนหนึ่งในแง่ของ "การท่องเที่ยวเพื่อรับวัคซีน" ของคนเฉพาะกลุ่ม

แต่ข้ออ้างทั้งหมดนี้ทางเอเอฟพีได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วว่าไม่เป็นความจริง จากข้อมูลการเสียชีวิตในที่ต่างๆ ที่มีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ไม่ว่าจะในญี่ปุ่น, เยอรมนี, นอร์เวย์ และสหรัฐฯ นั้น ไม่มีกรณีใดเลยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัคซีน นอกจากนี้ยังเคยมีการหักล้างความเข้าใจผิดที่ว่าคนรับการทดลองวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคแล้วมีอาการอัมพาตที่หน้าซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เป็นการเอารูปเก่าของคนที่เป็นโรคอัมพาตทางใบหน้าอยู่แล้วเอามาประกอบข่าวลวง

ในแง่ของข้อเท็จจริงแล้ว ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) ได้ระบุข้อความเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคไว้ว่า ผู้ที่ไม่ควรจะรับวัคซีนคือผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้แบบรุนแรงที่เรียกว่าอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) ผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือโดยทันทีภายใน 4 ชั่วโมงไม่ควรรับโดสที่สอง

นอกเหนือจากนั้นคือการเกิดผลข้างเคียงแบบทั่วไปเช่นความรู้สึกปวดบวมแดงที่แผลฉีดยา เหนื่อย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น เป็นไข้ คลื่นไส้ จะเกิดขึ้นภายในวันสองวันซึ่งเป็นเรื่องปกติของการที่ร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกันโดยที่อาการเหล่านี้ควรจะหายภายในไม่กี่วัน ถ้าหากอาการเหล่านี้ยังไม่หายไปภายในไม่กี่วันควรจะปรึกษาแพทย์ สำหรับวัคซีนโมเดิร์นนาที่เป็นวัคซีนที่อาศัยเทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกันนั้นก็มีการระบุข้อควรระวังในรูปแบบเดียวกันกับของไฟเซอร์ นอกจากนี้ในหน้าเพจของ CDC ยังระบุอีกว่าวัคซีนต่างๆ ถูกทดสอบให้มีความปลอดภัยและไม่ได้ทำให้ใครป่วยเป็น COVID-19

ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าโพสต์ของ Tai Shing Suen จะอ้างในแบบอ้อมๆ ถึงความปลอดภัยของวัคซีนจากจีนเมื่อเทียบกับวัคซีนตะวันตก แต่ในความเป็นจริงแล้ววัคซีนจากจีนจากซีโนแวคยังไม่ได้ให้ผลข้อมูลการทดลองในระยะที่ 3 เพื่อผ่านกระบวนการพิจารณาโดยผู้รู้เสมอกันหรือ Peer review เลย

นอกจากนี้ข้ออ้างเรื่องที่ว่ามีกรณีคนฮ่องกงเสียชีวิตเพียงรายเดียวและไม่น่าจะเกี่ยวกับวัคซีนซีโนแวคนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีคนฮ่องกงเสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย หลังรับซีโนแวคโดยที่ยังไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรงหรือไม่ และรัฐบาลฮ่องกงเผยแพร่แค่เรื่องการสืบสวนในเบื้องต้นกรณีของเคสผู้เสียชีวิตในวันที่ 28 ก.พ. 2564 เท่านั้น


เรียบเรียงจาก

Misleading posts circulate online claiming that NYT, Deutsche Welle endorsed China’s Covid-19 vaccines, APF Fact Check, 12-03-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวัคซีนจาก CDC (เข้าดูเมื่อ 8 มิ.ย. 2564)

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Pfizer-BioNTech.html 

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Moderna.html

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/vaccine-benefits.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net