Skip to main content
sharethis
  • ธงชัยอธิบายว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเอง (Autonomous History) คือการศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมมองและคำถามที่มาจากคนในพื้นที่เอง ซึ่งชุดบทความเรื่องกบฏผีบุญของอีสานเรคคอร์ดเป็นการเล่าประวัติศาสตร์อีสานในแง่มุมนี้
  • ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางนี้คือการเปลี่ยนมุมมองต่อประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ออกจากศูนย์กลางหรือการให้คำอธิบายผ่านสายตาของมหาอำนาจ ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเองเริ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมเพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองโดยไม่ต้องอ้างอิงอยู่กับมุมมองจากประเทศเจ้าอาณานิคม
  • การมีประวัติศาสตร์อีสานที่เป็นของตัวเองจึงเป็นการเปลี่ยนย้ายศูนย์กลางในการอธิบายประวัติศาสตร์ออกจากมุมมองของกรุงเทพมาให้อีสานเป็นศูนย์กลางในการอธิบายประวัติศาสตร์พื้นที่ของตัวเอง อีสานจึงไม่ใช่เพียงภูมิภาคที่ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ "สยาม" เท่านั้น แต่อีสานคือพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์และผูกผันกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกับทั้งลาวและกรุงเทพด้วย การมีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมอื่นๆ ด้วยจึงแสดงถึงความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของประเทศด้วย

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน สหรัฐอเมริกา บรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์อีสานที่เป็นของตัวเอง (Autonomous History of Isaan) เป็นไปได้หรือไม่” ในงานเสวนาที่อีสานเรคคอร์ด(The Isaan Record) ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี จัดโครงการเครือข่ายทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภาคอีสานครั้งที่ 1 หัวข้อประวัติศาสตร์อีสานกับการต่อสู้จากอดีตถึงปัจจุบัน

ธงชัย วินิจจะกูล แฟ้มภาพ

ธงชัย เริ่มกล่าวอย่างติดตลกว่าเขาได้ข่าวว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เพิ่งประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ฉะนั้นในเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ จะให้ปีนี้แห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตนคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ทางมหาลัยอุบลราชธานีและอีสานเรคคอร์ด จะมาพูดถึงประวัติศาสตร์อีสาน ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐพอดีและได้ยินมาว่ารัฐมนตรีจะสนับสนุนการศึกษาท้องถิ่นด้วย ซึ่งหัวข้อที่ผมจะบรรยายก็จะเป็นเรื่องเดียวกัน

ธงชัย เริ่มต้นหัวข้อด้วยการพูดถึงชุดบทความเรื่องกบฏผีบุญของอีสานเรคคอร์ดว่าเป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากเอาอีสานเป็นศูนย์กลางในการมองปัญหา แสดงถึงความอึดอัดคับข้องใจที่อีสานต้องเผชิญกับการที่กรุงเทพฯ บังคับกะเกณฑ์หรือต้องยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอยู่เรื่อยในหลาย ๆ เรื่อง และแน่นอนรวมถึงเรื่องอำนาจ ทั้งการกำหนดงบประมาณและการจัดการท้องถิ่นไว้ที่กรุงเทพ ซึ่งกรุงเทพฯ ยังยึดไว้อยู่เยอะแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด

ธงชัยกล่าวว่ายิ่งหลังการรัฐประหารในปี 2549 และ2557 สิ่งที่รัฐทำคือการหมุนเข้มนาฬิกากลับในเรื่องการปกครองท้องถิ่น ทั้งที่อีสานมีอนาคตที่กำลังไปได้สวย เกิดการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 30-40 ปี ที่ผ่านมา แต่ก็ถูกกรุงเทพดึงอำนาจกลับไปจึงเป็นเหตุของความอึดอัดคับข้องใจ

ธงชัย กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งมาจากการที่เกิดขบวนการต่อต้านต่อสู้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และโดยเฉพาะในขบวนการนี้มีกลุ่มจากทางอีสานที่มีรูปร่างชัดเจน ไม่ใช่ทุกอย่างมาจากกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าในขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐบาลยังมีความคล้ายกับระบบในประเทศไทยที่ยังมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอยู่ แต่อย่างน้อยก็มีขบวนการที่เป็นกลุ่มคนอีสาน เช่น ดาวดิน และกลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้นมาและมีบทบาทอย่างชัดเจน การเคลื่อนไหวในอีสานจึงเรียกได้ว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง

ธงชัยกล่าวถึงการทำชุดบทความของอีสานเรคคอร์ดว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ในอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่ใช่มุมมองจากรัฐ และเขาเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีความพยายามอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันเช่นการศึกษา กลุ่มคนเสื้อแดง ขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาฯ หรือแม้กระทั่งการรื้อฟื้นเรื่องของซีอุย เขาเห็นว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้แต่เดิมเป็นมุมมองที่มองมาจากรัฐ คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนบ้าหรือผีห่าซาตานมาตลอด ธงชัย อธิบายถึงคำว่า Autonomous History หมายถึง ประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งมีผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรกคือจอห์น สเมล (John R. W. Smail) ที่เขาเขียนถึงในบทความเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นประเทศใต้อาณานิคมที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองขึ้นในช่วงที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงและเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคม เป็นการพยายามหาจุดยืนมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่ต้องผูกโยงกับมุมมองของเจ้าอาณานิคม และประเทศเหล่านี้ก็มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองอยู่แล้วมาอย่างยาวนาน มีความเป็นชาตินิยมเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคมอีกด้วย

ธงชัยชี้ให้เห็นว่า ช่วงทศวรรษ 1950-1960 แวดวงวิชาการประวัติศาสตร์กระแสหลักในยุโรปและอเมริกาก็เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมมองของเจ้าอาณานิคมที่ดูว่าประเทศใต้อาณานิคมใดเป็นประเทศที่ส่งเสริมความรุ่งเรืองของเจ้าอาณานิคมบ้างและอย่างไร ซึ่งสเมลก็เห็นปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบนี้ว่าถ้าเป็นประเทศอาณานิคมจะบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเองในมุมมองและจุดยืนแบบเดียวกับประเทศเจ้าอาณานิคมหรือไม่ในเมื่อประเทศเหล่านี้ก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเองมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว ซึ่งสเมลเองก็มองว่าการมองจากมุมเจ้าอาณานิคมอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้และวงวิชาการควรจะเกิดความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้สเมลก็เห็นว่าการเขียนประวัติศาสตร์โดยนักต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมก็เป็นการเขียนประวัติศาสตร์แบบหนึ่งและมีความเป็นชาตินิยม เขาเห็นว่าการเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองยังมีความหมายที่กว้างกว่านั้นและไม่ควรปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใต้อาณานิคมกับประเทศเจ้าอาณานิคมที่เกิดขึ้นและมีผลต่อประเทศใต้อาณานิคมไปแล้ว แต่ก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับจุดยืน มุมมองหรือการจัดลำดับว่าเรื่องใดมีความสำคัญของเจ้าอาณานิคมมาใช้อธิบายประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเอง สิ่งที่สเมลเสนอจึงไม่ใช่การลบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นมหาอำนาจหรือเข้ามาครอบงำประเทศใต้อาณานิคมแต่อย่างใด

ธงชัยย้อนกลับมาอธิบายถึงสิ่งที่กลุ่มศึกษาอีสาน(Isaan Study) ทำว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของตนเองและยังมีความชอบธรรมทางวิชาการที่จะทำ มีกรอบคิดรองรับว่าทำไมถึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมของตัวเอง โดยจุดประสงค์ใหญ่คือการตั้งคำถามและขยับศูนย์กลางการมองปัญหาออกจากศูนย์กลางที่กรุงเทพ และเปลี่ยนศูนย์กลางการมองปัญหาใหม่ธงชัยยังได้ยกตัวอย่างคำว่า Eurocentric คือการเอายุโรปเป็นศูนย์กลางในการอธิบายโลกโดยที่ฝรั่งเองก็ไม่รู้ตัวว่าทำเช่นนั้นอยู่ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 แต่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้ว ในกรณีการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเราก็เป็น Bangkok centrism คือใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการทำความเข้าใจต่อภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศโดยที่เราไม่รู้ตัว

ธงชัยตั้งคำถามว่าเราสามารถจะเขียนประวัติศาสตร์ โดยที่ขยับศูนย์กลางออกจากกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ย้ายศูนย์กลางมาให้อีสานเป็นศูนย์กลางหรือ Isaancentric ได้ไหม มีด้านดีมีข้อเสีย ข้อควรระวังอะไรบ้าง เปลี่ยนจุดยืนการมองประวัติศาสตร์ออกจากกรุงเทพฯ กลับมามองในพื้นถิ่นของอีสาน

ภาพของชุดบทความเรื่องกบฏผีบุญในอีสานของอีสานเรคคอร์ด

ธงชัยชี้ให้เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์จะต้องพยายามทำความเข้าใจผ่านมุมมองอื่นด้วย ต้องย้ายศูนย์กลางไปไว้ที่อื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพ มีหัวข้อศึกษาหรือมีลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องราวที่ต่างจากมุมมองของกรุงเทพ ซึ่งในชุดบทความกบฏผีบุญก็เป็นการมองอีสานจากมุมของอีสานเอง เมื่อเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนคำถามก็จะทำให้เกิดความแตกต่างกันไป แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกว่ามุมมองจากกรุงเทพฯ ผิดทั้งหมด แค่ปล่อยให้มีมุมมองประวัติศาสตร์แบบของกรุงเทพไป งานศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมมองอื่นๆ ก็ไมได้หมายความว่าจะเป็นงานที่ออกมาดีแต่มีทั้งงานศึกษาที่ทำออกมาคุณภาพดีหรือแย่ต่างกันไป

แต่ธงชัยก็ตั้งข้อสังเกตว่า “อีสาน” หรือการเรียกภูมิภาคของตัวเองว่าเป็นทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองมาก เพราะอ้างอิงตำแหน่งแห่งที่ ผู้คนและสังคมของตัวเองโดยมองจากศูนย์กลางที่กรุงเทพ เพราะหากจะบอกว่าเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องมีจุดอ้างอิงที่เป็นภาคกลาง เพราะฉะนั้นการบอกประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองของอีสานจึงขัดแย้งในตัวเองไปด้วย ดังนั้นการจะมีประวัติศาสตร์ของตัวเองก็ต้องมีจุดอ้างอิงที่เป็นศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเองด้วย

ธงชัยอธิบายว่าในประวัติศาสตร์ก่อนที่ภูมิภาคที่เราเรียกว่า “อีสาน” ที่หมายถึงตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบันจะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “สยาม” ในช่วงรัชกาลที่ 5 ภูมิภาคนี้เคยมีปฏิสัมพันธ์และผูกผันกันทางเศรษฐฏิจและวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดกับศูนย์กลางที่เวียงจันทร์ที่อยู่ทางทิศเหนือของอีสานมากกว่ากรุงเทพที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้นการศึกษาโดยที่ระบุตัวเองว่าเป็น “อีสาน” จึงเป็นการกำหนดไปแล้วว่ามองจากสายตาของกรุงเทพที่มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพ ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจะมองจากทิศอื่นหรือมองออกไปจากตรงนั้นก็ได้

“อีสานเองก็เคยเป็นทิศใต้ของคนอื่นเคยเป็นทิศตะวันตกของคนอื่น แล้วในตัวมันเองก็มีความหลากหลาย มีทั้งอีสานตอนบน คนตามลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลเป็นคนที่มีระบบนิเวศคนละชุดกัน” ธงชัยพยายามชี้ให้เห็นปัญหาของการระบุตัวเองด้วยคำว่าอีสานที่เป็นการนิยามจากกรุงเทพเป็นศูนย์กลางตลอดเวลา

ธงชัยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกรณี “ล้านนา” ที่หากมองจากกรุงเทพขึ้นก็ไปคือทิศเหนือ แต่ในอดีตล้านนาเองก็เป็นทิศใต้สุดของเส้นทางและศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในยูนนานลงมาตามเส้นทางสิบสองปันนา เชียงตุงจนลงมาถึงล้านนา และหากมองล้านนาเป็นศูนย์กลางก็จะเห็นว่าล้านนาก็ผูกผันอยู่กับ ยูนนานและพม่าด้วย แล้วเส้นทางการค้าทางทะเลของล้านนาก็ไปทางอ่าวเบงกอลหรือฝั่งพม่าไม่ได้ลงมาทางสยาม หรือแม้กระทั่งพุทธศาสนาของทางภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน ก็มีความเกี่ยวโยงกับทางรัฐฉาน หรือทางทิศเหนือขึ้นไปอีกทางลาวหรือพม่าในปัจจุบัน

เขายังชี้ให้เห็นอีกว่างานวิจัยในไทยจำนวนมากทำการค้นคว้าและมีหลักฐานรองรับอย่างดี แต่ยังใช้กรอบมองด้วยกรุงเทพเป็นศูนย์กลางและยังอธิบายว่าอีสานมีความสัมพันธ์กับกรุงเทพอย่างไรเพื่อที่สุดท้ายแล้วจะบอกว่าอีสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพได้อย่างไร ซึ่งเป็นการมองประวัติศาสตร์อย่างเป็นเส้นตรงที่สุดท้ายแล้วอีสานจะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเสมอ กรุงเทพได้ทำให้อีสานเจริญรุ่งเรืองอย่างไร และปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับงานศึกษาประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอื่นๆ ด้วยแม้ว่างานศึกษาวิจัยบางชิ้นจะมีความพยายามออกจากกรอบมุมมองของกรุงเทพแล้วก็ตามแต่มักจะมีข้อสรุปไม่แตกต่างกันมากนัก

“ผมอยากจะเห็นอีสานที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ ขอย้ำว่าศึกษาความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ได้ แต่เป็นความสัมพันธ์ในแง่และจากจุดยืนที่เอาคนพื้นถิ่นเป็นศูนย์กลาง” ธงชัยกล่าว

ธงชัยให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันคนใช้คำว่าอีสานในการระบุตัวตนเป็นอัตลักษณ์แบบหนึ่งในการพูดถึงตัวเองซึ่งไม่ได้กำหนดมาจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด อีสานไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเวียงจันทน์หรือลาวอีกต่อไปแล้วถึงแม้จะเคยมีรากมีจุดร่วมกับทั้งลาวและกรุงเทพฯ ก็ตาม อีกทั้งอีสานได้พัฒนาในความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาพอสมควรจนกระทั่งความหมายของคำว่า “อีสาน” เปลี่ยนแปลงมาเป็นชื่อและเป็นตัวตนของคนมากกว่าที่จะเป็นเพียงชื่อภูมิภาคหนึ่งเมื่อมองจากกรุงเทพฯ อีกต่อไปแล้ว

เขายกตัวอย่างกรณีของประเทศเวียดนามว่า สำหรับคนนอกอาจจะมองว่าประเทศเวียดนามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและถูกแบ่งแยกด้วยจักรวรรดินิยมอเมริกาจนเป็นเวียดนามเหนือเวียดนามใต้ในช่วงสงครามเวียดนาม แต่ในทางประวัติศาสตร์และความรู้สึกของคนในเวียดนามใต้เองก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับเวียดนามเหนือมาก่อนอยู่แล้วและยังมีความต้องการมีความเป็นตัวของตัวเองด้วย จนในช่วงไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมานี้เองในเวียดนามเกิดความพยายามศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็พบว่า คนในเวีดยนามใต้เองก็มีชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจที่วิวัฒนาการแยกกับเวียดนามทางเหนือมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว พวกเขาศึกษาเรื่องนี้โดยไม่ได้ต้องการจะแบ่งแยกประเทศ เพียงแต่ต้องการทำให้เห็นว่าเวียดนามไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด และพวกเขามีความต้องการกำหนดอนาคตของตัวเอง

ธงชัยยกตัวอย่างอีกกรณีคือ อินโดนีเซียแต่เดิมก็มีความแตกต่างหลากหลายของคนอย่างมากก่อนที่จะมารวมกัน แต่ภายหลังพวกเขาก็ยอมเข้ามารวมกันโดยยังคงอัตลักษณ์มีอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง เช่น อาเจะห์ เป็นต้น

ธงชัยเห็นว่ากรณีของอีสานก็เช่นเดียวกันคือการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางนี้ไม่ได้เป็นเพราะมีใครต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดน แต่แค่ไม่ต้องการให้ทุกอย่างถูกกำหนดมาจากกรุงเทพ ที่แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ก็ถูกกำหนดมาให้ว่าคนอีสานต้องคิดถึงอดีตของตัวเองอย่างไร เพราะอีสานได้กลายเป็นอัตลักษณ์แบบหนึ่งไปแล้วแม้ว่าแต่เดิมจะเคยมีความผูกพันกับเวียงจันทร์หรือกรุงเทพก็ตาม ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเองก็คือการศึกษาความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ ทั้งระดับเล็กและใหญ่ที่ไม่ใช่เพียงแค่อีสานไปขึ้นต่อใครแต่อาจจะมีความเป็นอิสระของตัวเองก็ได้ หรือจะศึกษาลงไปในระดับย่อยลงไปอีกก็ได้เพราะอีสานเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพเป็นเนื้อเดียวกันเสมอไป และการศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่มุมใดก็ตามที่ย้ายศูนย์กลางออกจากกรุงเทพที่เป็นเชิงพื้นที่หรือในทางชนชั้นล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น

ธงชัยชี้ลงไปในรายละเอียดในกรณีของงานศึกษากบฏผีบุญว่าอาจจะมีปัญหาภาพใหญ่ว่าเกิดจากกรุงเทพพยายามเข้าไปริดรอนสิทธิของคนในภาคอีสานแต่ก็อาจจะยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกเพราะกบฎผีบุญก็อาจจะไม่ได้มีความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือจะศึกษาลงไปตามอดีตหัวเมืองต่างๆ ในอีสานก็ได้เช่นกันเพราะหัวเมืองต่างๆ ในอดีตก็มีความสัมพันธ์กับกรุงเทพแตกต่างกันหรือมีความร่วมมือหรือขัดแย้งกันเองระหว่างหัวเมืองก็มี และการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางนี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องศึกษาจากคนเบื้องล่างอย่างกบฏผีบุญเท่านั้น แต่อาจจะศึกษาจากมุมมองของเจ้าในอีสานก็ได้และอาจจะได้เห็นปัญหาที่เจ้าในหัวเมืองเล็กๆ ต้องเผชิญในความขัดแย้งระหว่างเจ้าอนุวงศ์ในเวียงจันทร์กับทางกรุงเทพ เป็นต้น

“ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตนเองของอีสานเป็นไปได้ พวกคุณได้เริ่มทำแล้วและเอาเข้าจริงที่ผมพยายามทำเพียงแค่ขยายว่ามันสามารถมีแง่มุมอื่นได้อีก แล้วทำให้เราเข้าใจหลักคิดของเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในทางคอนเซ็ปต์ในทางทฤษฎีในทางปรัชญา มันสามารถที่จะเกิดประวัติศาสตร์แบบนี้ได้ แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศไทย กระแสเหล่านี้เป็นของคนพื้นถิ่น ของคนท้องถิ่น ของคนในภูมิภาคต่าง ๆ แม้กระทั่งในจีนก็เริ่มมีกระแสพวกนี้ เขาอยากจะมองปัญหาที่ไม่ต้องถูกกำหนดให้ศูนย์กลางมาจากจักรวรรดิจีนเสมอได้ไหม จึงเริ่มมีกระแสพวกนี้มากขึ้นแล้วมันไม่ได้ทำลายรัฐประชาชาติ ในทางกลับกันทำให้รัฐประชาชาติรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอย่างมากขึ้นด้วยซ้ำไป ฉะนั้นรัฐไทยหวังว่าคงจะไม่คิดสั้น หรือมองในแง่ร้ายอยู่เรื่อย ควรจะส่งเสริม ควรจะให้คนในพื้นถิ่นทำเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net