Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานว่าคูคำ แก้วมะนีวงษ์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวลาวที่ถูกจับกุมเมื่อเสาร์ที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้รับการประกันตัวด้วยความช่วยเหลือของทนายความ โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางอย่างเข้มงวด

2 ก.พ. 2565 คูคำ แก้วมะนีวงษ์ ผู้ลี้ภัยที่มีบัตรรับรองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ว่าเขาถูกตำรวจจับกุมจากการทำงานเชิงรณรงค์ในอดีต และถูกไต่สวนลับในศาลไทยในความผิดฐานอยู่อาศัยเกินกว่าที่วีซ่ากำหนดและถูกคุมขังเพื่อรอการส่งกลับไปยัง สปป. ลาว ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวด้วยความช่วยเหลือของทนายความและองค์การสหประชาชาติ โดยศาลให้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางข้ามจังหวัดและสถานที่อื่นๆ ตามที่ศาลกำหนด

คูคำกล่าวว่าเขาหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองมานานเกินสองปีแล้วหลังจากได้รับบัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR เนื่องจากเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการรับบัตร แต่อาจจะเป็นเพราะมีคนไปเห็นภาพการเคลื่อนไหวของเขาในอดีตแล้วไปร้องเรียน จึงเกิดการจับกุมขึ้น

“ถ้าผมจะต้องเดินทางไปประเทศที่สามตอนนี้ ผมก็จะไป แต่ถ้ามีตัวเลือกให้ผมเลือก และมีความปลอดภัยมากกว่านี้กับผมในประเทศไทย ผมก็อยากจะอยู่ที่นี่มากกว่า” คูคำกล่าว

คูคำเป็นสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มลาวเสรี (Free Lao) เป็นการรวมกลุ่มของแรงงานและชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศบ้านเกิด โดยเบนาร์นิวส์ระบุอีกว่ามีกรณีที่ผู้ที่เรียกร้องสิทธิและประชาธิปไตยในลาวถูกลงโทษอย่างหนักเมื่อถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ในปี 2559 แรงงานชาวลาวที่ทำงานในไทยจำนวนสามคนหายตัวไปหลังกลับประเทศไปต่อวีซ่า โดยทั้งสามมีประวัติวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวในเฟซบุ๊ค 

ในเวลาต่อมา มีชาวลาวสามราย สมพอน พิมมะสอน อายุ 29 ปี กับแฟนสาวของเขา ลอดคำ ทำมะวง อายุ 30 ปี และชายอีกคนหนึ่งชื่อ สุกาน ชัยทัด อายุ 32 ปี สารภาพควาผิดผ่านทางโทรทัศน์ของลาวในช่วงเดือน พ.ค. 2559 ในกรณีที่พวกเขาโพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์รัฐบาลลาวและร่วมชุมนุมที่หน้าสถานทูตฯ ลาวประจำประเทศไทย สมพอนถูกศาลสั่งจำคุก 20 ปี สุกานถูกสั่งจำคุก 16 ปี และลอดคำถูกสั่งจำคุก 12 ปี

เมื่อปี 2562 อ๊อด ไชยะวง ผู้ลี้ภัยชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR หายสาบสูยไปขณะอยู่อาศัยในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบข่าวคราว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64 ที่วัดแพรกษา จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่รัฐเคยบุกจับและบังคับสึก ‘พระบอรบอท’ นักกิจกรรมการเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งลี้ภัยและมาบวชเป็นพระสงฆ์ในไทย ข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่าพระรูปดังกล่าวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ก่อนที่เมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา พระบอรบอท เดินทางถึงสวิตเซอร์แลนด์โดยสวัสดิภาพ ด้วยความช่วยเหลือจาก UNHCR, ฮิวแมนไรท์วอตช์ (Human Rights Watch), และสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติฯ ได้เปิดเผยกรณีที่ได้รับรายงานว่า นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยกว่า 6 คน ถูกบังคับให้สูญหายนอกพรมแดนประเทศไทย ได้แก่ 

1. วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถูกลักพาตัวและสูญหายไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่กรุงพนมเปญ 

2. สยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม ถูกจับกุมโดยตำรวจเวียดนามในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ก่อนสูญหายไป

3-5. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ), ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง)  นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ใน สปป.ลาว สูญหายไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนถูกพบศพของชัชชาญและไกรเดชลอยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนสุรชัยยังคงสูญหาย 

6. อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ)   นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยพักพิงอยู่ในประเทศลาว  สูญหายไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ซึ่งมีรายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัวไป ก่อนมีการปฏิเสธต่อการจับกุมดังกล่าว

ทั้งนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงรายงานกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ แถบภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ได้แก่ 

7. อ็อด ไชยะวง อดีตสมาชิกของกลุ่ม “ฟรีลาว” นักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สูญหายไปในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 หลังเข้าพบปะกับผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ

8. เจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) นักคุ้มครองสิทธิฯ และนักข่าวชาวเวียดนาม ที่ถูกจับกุมโดยทางการไทย ก่อนถูกส่งตัวกลับให้ทางการเวียดนามในปี 2562 ปัจจุบันยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในประเทศเวียดนาม

9. ออสมาน คารากา (Osman Karaca) นักธุรกิจผู้ถือสัญชาติเม็กซิกันและตุรกี ถูกจับกุมโดยทางการกัมพูชาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนถูกบังคับให้สูญหายเป็นระยะเวลาหลายวัน ก่อนพบว่าถูกส่งตัวกลับไปที่ประเทศตุรกี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net