Skip to main content
sharethis

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนการส่งออกอาวุธให้ 12 ประเทศซึ่งรวมถึงไทย หลังแก้กฎหมายผ่อนปรนข้อห้ามส่งออกอาวุธ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่าต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงกับประเทศที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับการแผ่อิทธิพลทางทหารจากจีน

28 พ.ค. 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนการอนุญาตให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์จำพวก เครื่องบินรบ, ขีปนาวุธ และอาวุธอื่นๆ ต่อประเทศ 12 ประเทศ ในเอเชียและในยุโรปบางประเทศ ได้แก่อินเดีย, ออสเตรเลีย, เวียดนาม, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย ด้วย ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับเดิมให้มีการอนุญาตส่งออกได้ภายในเดือน มี.ค. ปีหน้า (2566)

สาเหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตเรื่องการส่งออกอาวุธมากขึ้นเป็นเพราะว่า พวกเขาต้องการเสริมสร้างการป้องปรามประเทศจีนด้วยการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ได้ลงนามข้อตกลงความมั่นคงร่วมกันกับรัฐบาลญี่ปุ่น รายชื่อประเทศทั้ง 12 ประเทศจะมีการส่งออกอาวุธเหล่านี้ได้แก่ อินเดีย, ออสเตรเลีย, เวียดนาม, ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี

ในปี 2557 ญี่ปุ่นกำหนดร่างหลักการให้มีการผ่อนปรนเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ทางทหารข้ามประเทศโดยจากเดิมที่มีการห้ามส่งออกอาวุธ ก็ปรับเป็นผ่อนปรนให้มีการส่งออกได้ แต่ยังคงห้ามการส่งออกอาวุธจำพวกอาวุธร้ายแรง นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังระบุว่าการส่งออกอาวุธให้กับประเทศที่ไม่ได้ร่วมพัฒนายุทโธปกรณ์กับญี่ปุ่นนั้นจะมีการจำกัดการใช้งานได้แค่เพียงกับภารกิจจำพวก กู้ภัย, ขนส่งลำเลียง, การเตือน, การตรวจตรา และ การตรวจหา-ทำลายทุ่นระเบิด เท่านั้น

อย่างไรก็ตามการผ่อนปรนดังกล่าวจะมีการนำมาระบุไว้ในนโยบายของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ, การจัดการงบประมาณ และการปฏิรูป ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน มิ.ย. นี้ โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างหลักการอีกครั้งหลังจากที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่จะออกมาภายในสิ้นปีนี้ (2565)

ญี่ปุ่นมีแผนการที่จะพัฒนาเครื่องบินรบไอพ่นและขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานระยะกลางร่วมกับสหรัฐฯ และอังกฤษ การที่ญี่ปุ่นมีลูกค้าให้ส่งออกอาวุธจะช่วยทำให้ผู้ผลิตของญี่ปุ่นลดต้นทุนการผลิต และทำให้เป็นการลดรายจ่ายงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลญี่ปุ่นไปในตัว

นิคเคอิเอเชียระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. เป็นต้นมา บรรยากาศด้านความมั่นคงของเอเชียก็เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น ทำให้ทางการญี่ปุ่นหวังว่าการแพร่กระจายยุทโธปกรณ์ไปยังประเทศต่างๆ จะช่วยเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศกับประเทศที่มีแนวคิดแบบเดียวกันได้ เช่นกลุ่มประเทศที่กังว่าจีนจะแผ่ขยายอิทธิพลทางการทหารไปยังประเทศของพวกเขาอย่างประเทศออสเตรเลีย และอินเดีย ทำให้ญี่ปุ่นมักจะเสนออาวุธยุทโธปกรณ์ให้ประเทศเหล่านี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพวกเขา

สาเหตุที่ญี่ปุ่นวางแผนว่าจะขายอาวุธอย่างเครื่องบินรบกับขีปนาวุธต้านอากาศยานที่ใช้ยิงจากน่านน้ำ เพราะกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็พร้อมจะซื้อเครื่องบินรบราคาถูก และสหรัฐฯ กับยุโรปต่างก็พยายามทำตลาดกับภูมิภาคนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินรบที่ผลิตจากจีนแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีแผนการส่งออกยุทโธปกรณ์อย่างเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกนิรภัยไปยังประเทศที่ไม่ได้ลงนามสัญญาด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่นด้วย โดยที่ญี่ปุ่นได้ส่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไปให้ยูเครนก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังเคยส่งออกระบบเรดาร์ควบคุมและเตือนภัยให้กับฟิลิปปินส์ภายใต้ข้อตกลงการส่งออกเพื่อการภารกิจป้องกันเท่านั้น นับตั้งแต่ที่มีการผ่อนปรนข้อห้ามการส่งออกยุทโธปกรณ์จำพวกนี้ในปี 2557

นิคเคอิเอเชียระบุว่าถ้าหากญี่ปุ่นไม่มีมาตรการส่งเสริมการส่งออกเช่นนี้ พวกเขาก็เสี่ยงต่อการที่จะหาชิ้นส่วนวัตถุดิบมาผลิตอาวุธได้ยากลำบาก เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมการทหารของพวกเขาหดตัวลง

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าอาจจะมีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตโดยญี่ปุ่นมาใช้ในความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะอธิบายแผนการส่งออกอาวุธของพวกเขาว่าเป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


เรียบเรียงจาก
Japan to enable fighter jet and missile exports to 12 nations, Nikkei Asia, 27-05-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net