Skip to main content
sharethis

การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันของ ILO และ WHO พบการจ้างงานใน 'ภาคสาธารณสุขและการดูแล' ที่มี 'ผู้หญิง' เป็นกำลังแรงงานสำคัญ แต่พวกเธอกลับต้องเผชิญกับ 'ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ' ที่เหลื่อมล้ำมากกว่าในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยผู้หญิงมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าชายถึง 24%


ที่มาภาพ: ILO

29 ก.ค. 2565 ผู้หญิงในภาคสาธารณสุขและการดูแลต้องเผชิญกับช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่เหลื่อมล้ำมากกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยผู้หญิงมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าชายถึง 24% ตามรายงานร่วมฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และโลกองค์การอนามัย (WHO) ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา

รายงาน 'The gender pay gap in the health and care sector: A global analysis in the time of COVID-19' พบว่าแม้จะมีการระบาดของ COVID-19 และบทบาทสำคัญของคนทำงานด้านสาธารณสุขและการดูแลจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศกลับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นระหว่างปี 2562 ถึง 2563

รายงานฉบับดังกล่าวเป็นบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุมที่สุดในประเด็นช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 54 ประเทศ พบว่ามีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศอยู่ที่ประมาณระหว่าง ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 24 โดยขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ การศึกษา และเวลาทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้การจ้างงานในภาคสาธารณสุขและการดูแล คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 3.4 ของการจ้างงานทั่วโลกทั้งหมด, เป็นสัดส่วน ร้อยละ 10 ของการจ้างงานโดยรวมในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง, แต่น้อยกว่า ร้อยละ 1 ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ในรายงานยังระบุว่าแม้ช่องว่างค่าจ้างส่วนใหญ่ไม่สามารถอธิบายได้ อาจเป็นเพราะมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ซึ่งคิดเป็นกำลังแรงงานถึง ร้อยละ 67 ในภาคสาธารณสุขและการดูแลทั่วโลก รายงานยังพบว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ค่าจ้างในภาคสาธารณสุขและการดูแลมีแนวโน้มลดลงโดยรวมเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบที่ว่าค่าจ้างมักจะต่ำกว่าในภาคเศรษฐกิจที่ผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานหลัก

"โดยทั่วไปแล้วคนทำงานภาคสาธารณสุขและการดูแลมักจะได้รับค่าจ้างต่ำ ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยิ่งได้เปิดเผยสถานการณ์นี้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ภาคส่วนนี้และคนทำงานมีความสำคัญในการดูแลปกป้องครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป" มานูเอลา โทเมอิ ผู้อำนวยการฝ่ายสภาพการจ้างานและความเท่าเทียมกันของ ILO กล่าว "จะไม่มีการฟื้นฟูที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน หากไม่มีภาคสาธารณสุขและการดูแลที่เข้มแข็ง เราไม่สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขและการดูแลที่มีคุณภาพดีขึ้นได้หากปราศจากสภาพการทำงานที่ดีและยุติธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงค่าแรงที่ยุติธรรมสำหรับคนทำงานสาธารณสุขและผู้ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ถึงเวลาแล้วสำหรับการดำเนินการตามนโยบายที่จำเป็นและมีความเด็ดขาด เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นในการสร้างสิ่งเหล่านี้"

"คนทำงานส่วนใหญ่ในภาคสาธารณสุขและการดูแลคือผู้หญิง แต่ในหลายประเทศเราพบความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างระหว่างเพศอย่างเป็นระบบ ซึ่งส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อพวกเธอ" จิม แคมป์เบลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขของ WHO กล่าว "หลักฐานและการวิเคราะห์ในรายงานนี้ต้องส่งไปถึงรัฐบาล นายจ้าง และคนทำงาน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจานี้ยังมีเรื่องราวตัวอย่างความสำเร็จในหลายประเทศ ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองในการกำจัดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ"

 

ที่มา
Women in the health and care sector earn 24 per cent less than men (ILO, 13 July 2022)
The gender pay gap in the health and care sector: A global analysis in the time of COVID-19 (ILO and WHO, July 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net