Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โลกนี้มีผู้ชายสองคน
 

การพัฒนาที่ยั่งยืนมีสองฉบับ ฉบับที่หนึ่ง คือ ฉบับบรันท์แลนด์ (Brundtland) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1987 ซึ่งเน้นการต่อสู้กับการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อต้องการเหลือไว้ให้ลูกหลานใช้ เนื่องจากมนุษย์กำลังเข้าสู่ยุคที่การกระทำของตัวเองมีผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรงมากกว่าสิ่งอื่น หรือศัพท์ทางมานุษยวิทยาเรียกว่ายุคแอนโทรโพซีน (Anthropocene Era) และเกิดจากการเร่งพัฒนาขนานใหญ่ของมนุษย์ (the great acceleration) มนุษย์ดันไปมีความคิดวิตถารว่าเศรษฐกิจยิ่งโตและยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี จึงต้องแลกไปกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมหาศาล 

ส่วนฉบับที่สอง เกิดเมื่อ ค.ศ. 2015 ใช้สำหรับจุดมุ่งหมายการพัฒนาโลก ค.ศ. 2016-2030 หรือเรียกว่า “ฉบับ SDGs” การพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับหลังนี้ เจฟฟรีย์ ดี แซคส์ (Jeffrey D. Sachs) อธิบายว่ามีสามส่วน คือ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจ (2) การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และ (3) การพัฒนาสังคมทุกส่วน และแซคส์อธิบายนี่เป็นครั้งแรกที่การพัฒนาของโลกรวมเป้าหมายสามด้านพร้อมกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับหลัง จึงรวมเอาการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับแรกเข้าไว้ด้วย ถึงกระนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับ SDGs กลับไม่เน้นสิ่งแวดล้อม แต่เน้นที่การพัฒนาสังคมทุกส่วนมากกว่า ธนาคารโลกยืนยันว่าเป้าหมายใหญ่สิบเจ็ดเป้าหมายนั้น ให้เน้นเป้าหมาย 1-10 ก่อน ส่วนเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเป็นเป้าหมายข้อที่สิบ คือ การลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ภายใน ปี 2030 ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 

สำหรับการพัฒนาสังคมทุกส่วน เป็นแนวคิดที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนากลุ่มเนเธอร์แลนด์ ผนวกกับความคิดของอมาตยา เซน ด้านกลุ่มเนเธอร์แลนด์มองการพัฒนาเป็นการเมือง หลักการใหญ่มีสองข้อ ข้อแรก คือ การพัฒนาต้องมีความเสมอภาค ประเทศได้อะไรมาต้องเอาแบ่งปันกันให้ทั่วถึง และข้อสอง มองว่าการพัฒนาเป็นการเมือง เพราะการพัฒนามีทรัพยากร และเมื่อใดที่มีทรัพยากรเข้ามาสู่การพัฒนา การเมืองจะเข้าไปจัดการแบ่งทรัพยากรทันที ความสำคัญของการเมืองอยู่ที่ต้องหาข้อตกลงทางการเมืองที่ชัดเจน เช่น จะแบ่งอะไร ให้ใคร อย่างไร โดยเฉพาะคนเสียเปรียบเขาจะได้อะไรบ้างจากการพัฒนาประเทศ ทางด้านอมาตยา เซน วางหลักว่าการพัฒนาเป็นการสร้างสมรรถนะ หมายความว่า รัฐต้องส่งเสริมให้คนมีความสามารถและทำตามเป้าหมายที่เขาต้องการ เช่น ถ้าเขาอยากเป็นหมอ เมื่อเขามีศักยภาพที่จะเป็นได้ รัฐต้องส่งเสริมให้เขาเป็น หรือคนพิการไม่มีความสามารถทางกาย แต่ไม่ใช่ว่าเขาทำอะไรไม่ได้ คนพิการอาจใช้เท้าวาดรูป ประดิดประดอยสิ่งของหรือเคลื่อนไหวส่วนอื่นที่ทำประโยชน์ได้ เช่น เล่นกีฬาคนพิการ เมื่อคนมีความสามารถมากขึ้น คนก็จะมีทางเลือก ซึ่งที่จริงการพัฒนาเป็นการสร้างอิสรภาพ (development as freedom) ให้กับคน ไม่ใช่มองเฉพาะเป้าหมายเงินทอง แต่ อมาตยา เซน ย้ำว่าไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะโอกาสและเขียนไว้เป็นกฎหมาย เช่น เขียนว่าผู้หญิงเท่าเทียมกันผู้ชาย แล้วไม่ทำอะไรต่อ ซึ่งไม่ถูก ต้องดูความเป็นจริงว่าคนมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงเพราะอะไร และลงมือแก้ไขจริง ๆ การพัฒนาสังคมทุกส่วนจึงมองกว้างกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะมองไปถึงการอยู่ดีมีสุข การลดความเหลื่อมล้ำ การให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและสมรรถนะ ไม่ได้มองเฉพาะเงินทองหรือเป้าหมายของ GDP

ปัญหาที่นักทฤษฎีการพัฒนาอย่างกลุ่มเนเธอร์แลนด์และอมาตยา เซน กังวลมาก เกิดจากคนสองพวก 

พวกที่หนึ่ง เป็นพวก “สายซื่อ” ดูเป็นคนซื่อ ๆ ยิ้มไปกองรวมกันอยู่มุมปากสองข้าง พบมากใน แอฟริกา ร็อตเบิร์ก (Rotberg) บรรยายว่าเป็นพวก “predatory kleptocrats, military-installed autocrats, economic illiterates, and puffed-up posturers” คงแปลว่า “พวกนี้ซื่อไม่จริง เพราะเผลอเป็นจก มีอำนาจเบ็ดเสร็จจากที่เคยเป็นทหาร ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจและหลงตัวผุดๆ” อะไรเทือกนั้น ผู้นำเหล่านี้ทำให้เกิดการขาดทุนในภาวะผู้นำ (leadership deficit) คือ เป็นภาระมากกว่าเป็นประโยชน์ แทนที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรให้บ้านเมืองจนเห็นหน้าเห็นหลัง ดังที่เรียกว่า “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (transformative leadership) กลับเป็นผู้นำแบบที่เป็นแล้วเสียเที่ยว!! ถนัดสื่อสารทางเดียว เถียงไม่ทันก็ให้คนอื่นมาเถียงแทน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อปัญหาคุณภาพการจัดการปกครอง ทำลายบทบาทการพัฒนาของรัฐและมีผลทางลบต่อชีวิตและการดำเนินชีวิตของผู้คน เช่น การจัดการปกครองที่ไม่ดีทำให้การคลังอ่อนแอ จัดหารายได้จำกัดและบิดเบือนการใช้จ่าย มีผลให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น การจัดการปกครองที่ไม่ดีเกิดต้นทุนและความไม่แน่นอนซึ่งทำลายบรรยากาศทางธุรกิจและเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนทั้งภายในและจากต่างประเทศ รวมทั้งโอกาสสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหานี้หากถึงระดับหนึ่ง อาจกลายเป็นความไม่วางใจต่อรัฐ ในที่สุดอาจทำให้รัฐเปราะบาง เกิดความไม่สงบหรือความขัดแย้ง แทนที่รัฐจะเป็นผู้พัฒนาให้เกิดความเป็นทุกส่วน รัฐกลับกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาทุกส่วน ส่วนสาเหตุของการจัดการปกครองไม่ดีมาจากสองสาเหตุใหญ่ ๆ คือ การคอร์รัปชันและการขาดสมรรถนะ ซึ่งมีผลต่อการทำลายความสามารถให้บริการสาธารณะ บิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร ขาดความไว้วางใจ ทำลายบรรยากาศการลงทุน มีปัญหาการแสวงหาค่าเช่าจากพวกธุรกิจ และมีกลุ่มผู้นำเข้าไปยึดครองรัฐ

ปัญหาของพวกแรกนี้เกิดขึ้นมากในแอฟริกา แต่โชคดีที่บ้านเรามี “พี่นุ” และ “พี่คม” ช่วย พี่นุรู้เรื่องทุกอย่างตั้งแต่กฎหมายซื้อขาย จนถึงจัดอาหารให้แขกต่างชาติ ส่วนพี่คมช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานในเมือง แต่น่าจะยังไม่ถึงคิวโครงสร้างพื้นทางสังคมในชนบท เช่น มีเว็บเพจให้ชาวนาขายข้าว มีมอเตอร์ไซค์หรือรถไถราคาถูกขายให้ชาวนาอย่างจีนหรืออินเดีย หรือมีศูนย์สวัสดิการครอบครัวอย่างสแกนดิเนเวีย หรือมีฟาร์มเครดิตอย่างสหรัฐอเมริกา ตอนนี้พี่คมขอช่วยชาวนาไร่ละพันไปก่อน ส่วนในเมืองเราก็มีโปรโมชั่นคนละครึ่ง และคนจนก็เอามาขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ย.ห. อย่าห่วง!! อีกอย่างที่เราโชคดีกว่าอาฟริกา คือ เรามีน้องบ.ช่วยคุยกับพวกที่มาเดินขบวน ถึงตอนนี้น้อง บ.ออกไปแล้ว เราก็ยังโชคดีที่มีน้องของน้อง บ.เข้ามาแทน ส่วนทีมกระบอกเสียงก็หายห่วงเช่นกัน เขาแบ่งงานเป็นตลาดบนกับตลาดล่าง ทีมตลาดบนพูดหล่อ ๆ ส่วนทีมตลาดล่างใช้วิธีเถียงคอเป็นเอ็น ใครเป็นทีมไหนสังเกตได้จากเส้นเอ็นลำคอ ส่วนปัญหาอื่น ๆ บ้านเราก็ไม่มีเลย กลุ่มผู้นำไม่เคยเข้าไปยึดครองทรัพยากรอะไรทั้งนั้น สว.ทั้งหลายก็ล้วนมาตามกฎหมาย เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะนิติธรรมไทยแปลว่าทำตามกฎหมายที่เขียนไว้ ไม่จำเป็นต้องดูว่าใครเขียนและเขียนว่าอะไร!!

พวกที่สอง คือ พวกแสวงหาค่าเช่า (rent seeking) ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นมีบ้านหรือที่ดินให้คนอื่นเช่า เสร็จแล้วคนที่เป็นเจ้าของไปเก็บค่าเช่า แต่หมายถึงธุรกิจเข้าไปแสวงหาอภิสิทธิ์ในเชิงนโยบายจากการเข้าไปควบคุมบงการทางการเมืองและสังคม ซึ่งมีผลให้ธุรกิจมั่งคั่งร่ำรวยเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ลงทุนทางธุรกิจโดยตรง แต่เป็นการลงทุนทางการเมืองและสังคม เช่น การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองหรือนักการเมือง เพื่อหวังผลตอบแทนจากนโยบายหรือสิทธิสัมปทาน หรือการลงทุนสร้างเครือข่ายทางสังคม พวกแสวงหาค่าเช่าจึงเป็นพวก “สายหื่น” ฝันตลอดถึงตัวเลขกำไรอันแสนงาม (lucrative profit) เดิมพวกสายหื่นเข้าไปฝังตัวใกล้คนมีอำนาจ พอได้จังหวะก็คาบคอกั๊บ!! เป็นรัฐบาลเอง และแสวงหาค่าเช่ากันอุตลุต แต่พอเปลี่ยนผู้มีอำนาจเป็นคนอื่น สายหื่นเหล่านี้ก็ปรับตัวใหม่ เพราะขนาดตลาดการเมือง (political market) ของไทยเล็กมาก ประกอบกับพื้นที่สาธารณะและขนาดของประชาสังคมก็เล็ก ไม่มีอะไรมากดดัน การแข่งขันก็น้อย ยิ่งเป็นสายย่อ ดึงอำนาจอธิปไตยจากประชาชนมาอยู่ในมือพวกองค์กรอิสระยิ่งย่อเหลือไม่กี่คน วิ่งได้สบายบรื๋อ อยากให้บริษัทอะไรควบรวมกับบริษัทอะไร อยากให้มีนโยบายขายอะไรหรือไม่ขายอะไร เปิดอะไรเสรี ปิดอะไรถาวร ผลักดันได้ง่าย ๆ สายหื่นดูเหมือนอยู่ยาวกว่าสายซื่อ เพราะดูพลิ้วกว่า ส่วนสายซื่อออกไปทางซื่อบื้อเรื่อย ๆ !!

ถ้าโลกนี้มีผู้ชายสองคน ตกลงวิจะเลือกใคร ห้ามตอบว่า “พี่นุ” ต้องยกเว้นคนนั้นไว้เขาเก่งเหลือเกิ้น!!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net