Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ แรงงานข้ามชาติ “มีสิทธิ” เข้าถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย ฝ่ายแรงงานเรียกร้องกระทรวงแรงงานทบทวนเพิกถอนแนวปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิทธิมนุษยชน

 

11 พ.ย. 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ 1451 – 1485/2565 ในคดีที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถูกฟ้องเป็นจำเลย เนื่องจากมีคำสั่งไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้แก่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ จำนวน 35 ราย ภายหลังมีคำสั่งดังกล่าว ลูกจ้างได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม โดยขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่ไม่อนุมัติจ่ายเงิน  

ทั้งนี้ ศาลแรงงานภาค 5 ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 ในคดีหมายเลขแดงที่ ร.58-92/2565 ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและมีคำสั่งให้จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ( http://hrdfoundation.org/?p=2718 ) ทั้งนี้จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าวของศาลจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 5 ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกคำอุทธรณ์ของจำเลย มีรายละเอียดสำคัญ ดังต่อไปนี้

            1. ลูกจ้างคนไทยและลูกจ้างต่างด้าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราที่จ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ.2560 ที่จำเลยใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินให้กับแรงงานข้ามชาติทั้ง 35 ราย ไม่มีบทบัญญัติใดจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติต้องเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย

รวมทั้งต้องเป็นกรณีที่นายจ้างได้ค้างจ่ายเงินตามที่กฎหมายกำหนดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานด้วย  ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือ รง 0507/ว006876 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2558 เรื่อง แนวทางการพิจารณาจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างต่างด้าวของคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง แม้มิใช่กฎหมายแต่เป็นการกำหนดแนวทางการใช้ระเบียบ เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าวไม่ปรากฎข้อความใดที่จำกัดการเข้าถึงสิทธิในการรับเงินของลูกจ้างต่างด้าว ศาลชั้นต้นจึงพิเคราะห์ว่าการที่ลูกจ้างต่างด้าวจะเข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นเรื่องที่ลูกจ้างต่างด้าวจะต้องถูกดำเนินคดีอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ใช้สิทธิการเข้าถึงกองทุนเงินเป็นการควบคุม ซึ่งการไม่อนุมัติเงินจากกองทุนให้กับแรงงานข้ามชาติทั้ง 35 รายได้รับเงินสงเคราะห์กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย จึงเป็นการวินิจฉัยเกินเลยไปจากกฎหมายและระเบียบที่บัญญัติไว้ เป็นการลงมติและออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่  

ดังนั้น ที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ยื่นคำอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งในเรื่องดังกล่าว เป็นลักษณะการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง  ซึ่งหากจะอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวได้ต้องเป็นการอุทธรณ์เฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นในทางข้อกฎหมายเท่านั้นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้

            2. การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค 5 เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการมีมติของจำเลยร่วมไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจมีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินสงเคราะห์ในกรณีดังกล่าว ประเด็นนี้จำเลยมิได้มีการโต้แย้งตั้งแต่แรกในศาลชั้นต้น และมิได้เป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ การอุทธรณ์จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ใหม่ ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรค 1 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

            3. การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานภาค 5 มีคำสั่งตัดพยานคือพนักงานตรวจแรงงาน วินิจฉัยว่าการดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 ชอบแล้ว เนื่องจากมีการสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้น ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ทนายจำเลย ได้แถลงหมดพยานเพียงเท่านี้ แสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยไม่ติดใจสอบพยานปากพนักงานตรวจแรงงานอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น

ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

 

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความและผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนี้ถือเป็นการยืนยันว่ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เป็นกองทุนที่คุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย (การเข้าเมือง) ของลูกจ้างตามมาตรฐานแรงงานสากล

อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติในเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล อีกทั้ง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี นอกจากนี้คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติฯได้เผยแพร่ข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานของประเทศไทยว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติฯ  เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ย่อหน้าที่ 32 ระบุ “ให้รัฐภาคีเพิ่มความพยายามในการปรับปรุงสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขา อันได้แก่การสร้างความตระหนักในสิทธิและชี้แจงวิธีร้องทุกข์ให้แก่บรรดาแรงงานข้ามชาติและสมาชิกครอบครัว รวมถึงเสริมความเข้มแข็งในการทำงานของพนักงานตรวจแรงงาน โดยเฉพาะในภาคส่วนที่มีแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก นำนายจ้างที่กดขี่แรงงานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและให้มีการชดเชยแก่ผู้เสียหาย...”

ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงต้องทบทวนและเพิกถอนแนวปฏิบัติต่างๆที่มีลักษณะของการกีดกันการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างและมีการเลือกปฏิบัติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net