Skip to main content
sharethis

แม้อาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ในจีน จะมีอิทธิพลคล้ายกับผู้นำลัทธิ แต่ลักษณะงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการทำงานซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่องเพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ เป็นงานที่ต้องใช้พลังงานสูง หนำซ้ำไม่มีสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นทางการ บ่อยครั้งต้องเผชิญกับปัญหาถูกเบี้ยวค่าแรง

แม้อาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' จะมีอิทธิพลคล้ายกับผู้นำลัทธิ แต่ลักษณะงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก | ที่มาภาพ: ดัดแปลงจาก baidu (อ้างใน china.org.cn)

ในประเทศจีนอาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' (Live Streamer) เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับแรงงานแพลตฟอร์มประเภทอื่นๆ คนทำงานไลฟ์สตรีมเมอร์เหล่านี้มักไม่มีสัญญาจ้างงาน เสี่ยงต่อการทำงานระยะเวลายาวนาน สภาพการทำงานที่เลวร้าย ค่าจ้างต่ำ หรือหนำซ้ำอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเลย

ผู้บริโภคจำนวนมากในจีนชอบดูไลฟ์สตรีมเมอร์ที่พวกเขาชื่นชอบสาธิตผลิตภัณฑ์แก่ผู้ชมแบบสดๆ แม้พวกเขาจะมีอิทธิพลคล้ายกับผู้นำลัทธิ แต่ลักษณะงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยทั่วไปแล้วไลฟ์สตรีมเมอร์เหล่านี้จะได้รับการว่าจ้างจากบริษัทตัวกลางให้โปรโมตผลิตภัณฑ์และแบรนด์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Taobao โดยเฉพาะช่วงเทศกาลช้อปปิ้งต่างๆ ในจีน ที่แต่ละบริษัทจะกระหน่ำเสนอส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดขาย

เทศกาลวันคนโสดครั้งล่าสุด (11 พ.ย. 2565) ย้ำถึงการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในจีน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การปลดพนักงานด้านเทคโนโลยี และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การชะลอตัวเห็นได้จากการที่บริษัทอีคอมเมิร์ซพยายามปกปิดรายได้ที่ตกต่ำในฤดูกาลนี้ พยายามเพิ่มระยะเวลากระตุ้นการจับจ่ายที่ยาวนานกว่าที่เคย และการเปิดเผยปริมาณธุรกรรมที่น้อยลง

ยักษ์ใหญ่ในวงการทั้ง Alibaba และ JD ไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายวันคนโสดในปีนี้ แต่มีการคาดการณ์ว่ารายรับจะอยู่ที่ 965.12 พันล้านหยวน อัตราการเพิ่มขึ้นต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายปี เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

สภาพแวดล้อมเช่นนี้กลับเพิ่มการแข่งขันในการจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์เพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัท ประกอบกับในเวลาที่พนักงานประจำในจีนก็กำลังมองหางานพาร์ทไทม์มากขึ้นโดยเฉพาะงานแพลตฟอร์มเพื่อหารายได้ อย่างไรก็ตาม คนทำงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการยืนยันสิทธิแรงงานของพวกเขา และเรื่องราวของพวกเขาก็เผยให้เห็นถึงความเปราะบางจากการถูกแสวงประโยชน์ ในระบบเศรษฐกิจแบบ Gig Economy

สภาพการทำงานและค่าจ้างของไลฟ์สตรีมเมอร์


งานของ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ต้องไลฟ์สดต่อเนื่องครั้งละหลายชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก ทำกะยาวหลายครั้งต่อวัน หรือดึกในคืนหนึ่งและเช้าตรู่ของวันถัดไป | ที่มาภาพประกอบ: 遊戲大亂鬥

อาชีพไลฟ์สตรีมเมอร์สามารถสร้างรายได้มากกว่า 10,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในเขตเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพวกเขาต้องไลฟ์สดต่อเนื่องครั้งละหลายชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก ทำกะยาวหลายครั้งต่อวัน หรือดึกในคืนหนึ่งและเช้าตรู่ของวันถัดไป เป็นต้น

โฆษณารับสมัครไลฟ์สตรีมเมอร์ในบทความใน Jiemian ระบุว่า:

"เงินเดือนสูงสำหรับงานไลฟ์สดจายเสื้อผ้าสตรี, ไลฟ์สด 5-6 ชั่วโมง, ทำงานจากระยะไกล, เงินเดือนเต็มเวลา 15,000-40,000 หยวนต่อเดือน พาร์ทไทม์ 150-300 หยวนต่อชั่วโมง"

บทความนี้ยังอธิบายว่าในช่วงวันคนโสด ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 หยวนต่อชั่วโมง รวมทั้งเวลาที่ไลฟ์สดก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ไลฟ์สตรีมเมอร์รายหนึ่งสัมภาษณ์กับ Jiemian ยืนยันว่า:

"โดยทั่วไปแล้วการไลฟ์สดจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ มี 2-3 กะต่อวัน และมีห้องไลฟ์สดที่แตกต่างกันในช่วงเช้าและบ่าย ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

เอเจนซีประสบปัญหาในการว่าจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการของแพลตฟอร์มในฤดูกาลชอปปิ้งนี้ บริษัทแห่งหนึ่งจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์พาร์ทไทม์ 50 คน โดยติดต่อสมาคมอุตสาหกรรม โรงเรียน และที่อื่นๆ

ผู้จัดการการไลฟ์สดอธิบายการตั้งทีมสำหรับการไลฟ์ขายสินค้าในช่วงวันคนโสดว่าสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางต้องใช้ไลฟ์สตรีมเมอร์หนึ่งหรือสองคนพร้อมผู้ช่วยด้านเทคนิค ซึ่งหมายถึงค่าแรงประมาณ 10,000 หยวน และค่าใช้จ่ายในการไลฟ์สดทั้งหมดอาจสูงถึง 100,000 หยวน

สำหรับทีมไลฟ์สดรูปแบบนี้ การทำงานของไลฟ์สตรีมเมอร์เปรียบเสมือน “การทำซ้ำ” เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ การทำงานซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่อง เป็นงานที่ต้องใช้พลังงานสูงนี้ เป็นการยากสำหรับคนทำงานเหล่านี้ที่จะทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังนั้นการหมุนเวียนเข้าออกของไลฟ์สตรีมเมอร์ในอุตสาหกรรมจึงมีสูง

ความท้าทายด้านสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีม

มีความท้าทายด้านสิทธิแรงงานพบได้ทั่วไปในหมู่คนทำงานในอุตสาหกรรมแพลตฟอร์ม เช่น ไม่มีสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นทางการ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนระหว่างคนทำงาน เอเจนซี่ แบรนด์ และแพลตฟอร์ม ดังนั้น คนทำงานจึงเผชิญกับปัญหาการค้างชำระค่าจ้าง ซึ่งบ่อยครั้งยากที่ระบุว่าใครต้องมีหน้าที่รับผิดชอบจ่ายเงินค่าจ้างให้พวกเขา

และหากไม่มีการคุ้มครองแรงงานตามปกติ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจะนำไปสู่ความเหน็ดเหนื่อยและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น ไลฟ์สตรีมเมอร์วัย 22 ปีในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เสียชีวิตกะทันหันในเดือน ส.ค. 2565 หลังจากทำงานล่วงเวลาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในอีกกรณีหนึ่ง ไลฟ์สตรีมเมอร์ในเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน บอกกับสื่อเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอที่ถูกผู้ว่าจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง เธอบอกว่าแม้จะไม่ได้รับเงินเดือน แต่เธอก็ยังต้องติดตามหัวหน้างานเพื่อไปพบลูกค้าใหม่ เนื่องจากไม่มีการเซ็นสัญญาจ้างงาน เธอจึงไม่ทราบชื่อบริษัทต้นสังกัดที่แท้จริงที่เธอทำงานให้

ในเดือน ก.ย. 2565 มีการรายงานบริษัทสื่อแห่งหนึ่งไปยังกระดานข้อความของเลขาธิการพรรคประจำมณฑลส่านซี โพสต์ออนไลน์ระบุถึงเรื่องการค้างค่าจ้างและคำเตือนแก่คนอื่นๆ :

"บริษัทนี้รับผู้หญิงสาวทุกประเภท แม้แต่ผู้เยาว์ที่มีประสบการณ์ทางโลกเพียงเล็กน้อย และล่อลวงให้พวกเธอทำงาน แต่บริษัทกลับไม่จ่ายค่าจ้าง หัก ณ ที่จ่ายโดยไม่มีเหตุผล"

เนื่องจากบริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนยังคงเติบโตและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากขึ้น ภาคส่วนใหม่ของเศรษฐกิจจึงถูกสร้างขึ้น นอกเหนือจากพนักงานส่งของที่มักให้ความสำคัญกับวันคนโสดแล้ว ไลฟ์สตรีมเมอร์ นายแบบ นางแบบ ผู้ดูแลระบบ และทีมขายยังได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ด้านสิทธิแรงงานในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอีกด้วย

ชะตากรรมของคนทำงานดังกล่าวที่มา ขาดการคุ้มครองแรงงานตามสมควร และได้รับความสนใจมากขึ้นจากหน่วยงานแรงงานในท้องถิ่นและสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการของจีน รวมถึงจากประชาชนทั่วไปที่บริโภคเนื้อหาสตรีมสดและซื้อของจากแพลตฟอร์มและแบรนด์ต่างๆ


ที่มา
China’s livestream hosts are vulnerable to labour rights violations as workers in the gig economy (China Labour Bulletin, 18 November 2022)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net