Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน (20 ม.ค.) ยังไม่มีผู้ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดีการเมืองคนใดเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และแม้ผ่านพ้นปีใหม่เพียง 20 วัน กลับมีการฝากขังคดีทางการเมืองเพิ่มถึง 5 ราย ส่งผลให้มีประชาชนถูกคุมขังคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 22 ราย จากเดิมเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้วมีจำนวน 17 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีใหม่ปีนี้จนถึง 20 ม.ค. 2566 มีจำนวนผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก จำนวน 22 ราย

โดยเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้วจำนวน 6 คดี แบ่งเป็น คดีมาตรา 112 จำนวน 2 ราย ได้แก่ อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกศาลตัดสินจำคุกนานถึง 29 ปี 174 เดือน และเมธิน อดีตพลทหาร ถูกจำคุก 5 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน และคดีอื่นๆ อีก 4 ราย กฤษณะ และวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท และอั้งยี่) ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี ศุภากร (พ.ร.บ.คอมฯ) จำคุก 4 ปี 6 เดือน และณัฐชนน จำคุก 3 ปี

ขณะที่ผู้ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดีการเมืองและเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการแสดงออก มีทั้งหมด 16 ราย แบ่งเป็นมาตรา 112 จำนวน 8 คน ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย, ก้อง ‘ทะลุราม’, เอก (นามสมมติ), เก็ท โมกหลวงริมน้ำ, ใบปอ ทะลุวัง, แบม ทะลุวัง, ตะวัน ทะลุวัง และสิทธิโชค

สำหรับคดีอื่นๆ 8 ราย แบ่งเป็น คดีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงรถกระบะตำรวจ รวม 4 ราย ได้แก่ วัชรพล, จตุพล, ณัฐพล และพลพล ทั้งหมดเป็นสมาชิกทะลุแก๊ส คดีถูกกล่าวหาปาระเบิดปิงปองกรมทหารราบ 1 คือ พรพจน์ และคดีครอบครองวัตถุระเบิด จำนวน 3 ราย ได้แก่ ทัตพงศ์, คทาธร และคงเพชร

‘เก็ท’-‘ใบปอ’ ถูกถอนประกัน เหตุชุมนุม APEC2022 หวนคืนเรือนจำรอบ 2 

9 ม.ค. 2566 ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิประกันตัวชั่วคราวของ ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมรุ่นใหม่จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และ ‘ใบปอ’ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ จากกลุ่มทะลุวัง คดี มาตรา 112 โดยศาลระบุว่า ‘เก็ท’ และ ‘ใบปอ’ ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จากการออกมาร่วมการชุมนุมระหว่างประชุม APEC 2022 ที่แยกอโศก เมื่อ 17 พ.ย. 2565

(กลาง) 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ (ขวา) 'ใบปอ' ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์

ทั้งนี้ เก็ท ถูกถอนประกันในคดีมาตรา 112 ปราศรัยในกิจกรรม ‘ทัวร์มูล่าผัว’ เมื่อ 22 เม.ย. 2565 ครั้งนี้เป็นการเข้าเรือนจำครั้งที่ 2 ของเก็ท เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยถูกฝากขังนานกว่า 30 วัน ระหว่าง 2 พ.ค.-31 พ.ค. 2565 และอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 20 วัน 

ด้าน ‘ใบปอ’ ถูกถอนประกันจากคดีมาตรา 112 กรณีจากการแชร์โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ “งบสถาบันกษัตริย์” และการโพสต์เฟซบุ๊กข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพลเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในเพจเฟซบุ๊ก "ทะลุวัง" เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 นอกจากนี้ นักกิจกรรมทะลุวังเคยถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 กรณีทำโพลขบวนเสด็จ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ. 2565 เป็นเวลานานกว่า 94 วัน ระหว่างวันที่ 3 พ.ค.-4 ส.ค. 2565 และอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 64 วัน 

ใบปอ และเก็ท ถูกคุมขังระหว่าง 9-20 ม.ค. 2566 รวมระยะเวลา 12 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แบม-ตะวัน’ ขอถอนประกันตัวเอง ดัน 3 ข้อทะลุวัง

16 ม.ค. 2566 ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ มวลชนอิสระ และทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ยื่นคำร้องขอประกันตัวเองในคดี มาตรา 112 เพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มทะลุวัง ประกอบด้วย 

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ทั้งสองคนประกาศด้วยว่า ทางภายใน 3 วัน ศาลและพรรคการเมืองยังไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง จะมีการยกระดับการประท้วงทั้งในและนอกเรือนจำ วันที่ 19 ม.ค. 2566 

(ซ้าย) 'แบม' อรวรรณ ภู่พงษ์ และ (ขวา) ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

อย่างไรก็ตาม เวลาล่วงเลยจนกระทั่งกลางคืนวันที่ 18 ม.ค. 2566 ยังไม่มีการขานรับจากฝากฝั่งศาล และพรรคการเมืองต่างๆ จึงมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ปรากฏภาพ ตะวัน และแบม จะยกระดับการชุมนุมโดยการอดอาหารและน้ำ (Dry Fasting) ในเรือนจำจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบรับ ปัจจุบัน หากนับจากวันที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ แบม และตะวัน ทำการอดข้าวและน้ำเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันแล้ว 

ทั้งนี้ แบม ขอถอนประกันตัวเองคดีมาตรา 112 จากเข้าร่วมทำโพลขบวนเสด็จที่ศูนย์การค้า สยามพารากอน เมื่อ ก.พ. 2565 ขณะที่ ตะวัน ขอถอนประกันตัวคดีมาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดหน้าสำนักงานสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน

ใบปอ และเก็ท ถูกคุมขังระหว่าง 16-20 ม.ค. 2566 รวมระยะเวลา 5 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สิทธิโชค’ ไรเดอร์วัย 26 ปี ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

17 ม.ค. 2566 ก่อนที่จะมีคลิปวิดีโอ แบม และตะวัน ประกาศอดข้าวและน้ำ เพียง 1 วัน สิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์อายุ 26 ปี ถูกศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน ข้อหามาตรา 112 217 และ 358 และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่า นำของเหลวคล้ายเชื้อเพลิงฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564 แม้ไรเดอร์วัย 26 ปี เคยยืนยันว่าต้องการช่วยดับเพลิงไม่ได้มีเจตนาเผารูปดังกล่าว 

สิทธิโชค เศรษฐเศวต (ถ่ายโดย iLaw)

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญา สั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของสิทธิโชค ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งภายใน 2-3 วันหลังจากนี้ ส่วนระหว่างนี้ สิทธิโชค จะถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อน

ต่อมาวันที่ 19 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสิทธิโชค ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยอุกอาจ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีร้านแรง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

สิทธิโชค ถูกคุมขังระหว่าง 17-20 ม.ค. 2566 รวมระยะเวลา 4 วัน 

4 ทะลุแก๊ส 2 อาชีวะพิทักษ์ ปชช.ฯ 1 มวลชนอิสระ ถูกศาลยกคำร้องขอประกันตัว 

ศูนย์ทนายฯ รายงานข่าวด้วยว่า เมื่อ 18 ม.ค. 2566 ศาลอาญาปฏิเสธการประกันตัวของ 4 สมาชิกทะลุแก๊ส ได้แก่ วัชรพล พลพล ณัฐพล และจตุพล ในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุรถกระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ระหว่างการชุมนุม 'ราษฎรเดินไล่ลุงตู่' เมื่อ มิ.ย. 2565 โดยศาลระบุว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 จนถึง 20 ม.ค. 2566 ทั้ง 4 คนถูกคุมขังเป็นเวลามากกว่า 200 วันแล้ว

เช่นเดียวกับคทาธร และคงเพชร สองสมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกศาลปฏิเสธปล่อยตัวชั่วคราวคดีครอบครองวัตถุระเบิด โดยศาลให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า คทาธร และคงเพชร เป็นผู้ถูกฝากขังยาวนานที่สุดในปี 2565 รวม 285 วัน ตั้งแต่ 11 เม.ย. 2565 จนถึง 20 ม.ค. 2566 

ทัตพงศ์ เขียวขาว มวลชนอิสระ ถูกศาลยกคำร้องถอนประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด เมื่อ พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงการประชุม APEC 2022 โดยศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเช่นกัน ส่งผลให้ทัตพงษ์ ถูกฝากขังเป็นเวลา 66 วัน ระหว่าง 17 พ.ย. 2565 จนถึง 20 ม.ค. 2566 

อ่านรายละเอียด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net