Skip to main content
sharethis

เวทีปฏิรูปตำรวจ ชูนโยบาย 'ก้าวไกล' 'กำจัดระบบตั๋ว-ส่งเสริมตำรวจชั้นประทวน-ตำรวจหญิงทุกโรงพัก-คืนทรงผมตำรวจ' เชื่อถ้าตำรวจมีสภาพการทำงานดี จะอำนวยความยุติธรรมประชาชนได้

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมงานสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และตำรวจของประเทศไทย” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญตัวแทนตำรวจจากทุก สน. ในกรุงเทพมหานคร และมีวิทยากรที่น่าสนใจหลายคนร่วมอภิปราย เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักสิทธิมนุษยชน ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

รังสิมันต์ อภิปรายช่วงหนึ่งว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องตำรวจ เพราะเราเชื่อว่าถ้าตำรวจมีสภาพการทำงานที่ดี จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าวงการตำรวจมีหลายปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข แม้หลายคนมีคำถามอยู่ในใจว่าแล้วจะแก้ได้ยังไง ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองก็พูดแบบนี้ แต่ตนคิดว่าการปฏิรูปตำรวจจำเป็นต้องมีอิฐก้อนแรก

รังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องแรกที่จะทำ คือกำจัดระบบตั๋ว ถ้าทุกคนมีระบบการเติบโตที่เป็นไปตามความสามารถ ก็จะขจัดการหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องได้ ถ้าเราจัดการระบบตั๋วและเส้นสายได้ ทำให้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ เป็นไปตามความสามารถ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ต้องมาจากการไม่กลัวว่าทำแล้วจะไปเหยียบเท้าใคร ถ้าทำผลงานดี ต้องได้ดี นอกจากนี้ เมื่อมีการเปิดตำแหน่งใหม่ของชั้นสัญญาบัตร ต้องส่งเสริมให้ตำรวจชั้นประทวนมีการศึกษาที่สูงขึ้น และตำรวจชั้นประทวนที่จบปริญญาตรีต้องมีสิทธิ์ได้รับเลือกก่อนในตำแหน่งสัญญาบัตรที่เปิดใหม่ และต้องทำให้ตำรวจทุกสายงานมีโอกาสเติบโตได้อย่างเท่าเทียมกัน

รังสิมันต์ กล่าวว่า ต่อมาสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดงานที่ดี คือการเพิ่มงบประมาณและสนับสนุนทรัพยากรให้ตำรวจ เปลี่ยนงานที่ต้องใช้กระดาษเป็นดิจิทัล อาวุธปืนและเครื่องแบบไม่ควรต้องตัดและออกเงินซื้อเอง อีกทั้งต้องยึดแนวทางว่า ภาระงานที่สำคัญที่สุดคือตำรวจต้องอยู่ใกล้ชิดประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่เอาเวลาไปรับใช้ระดับวีไอพี

โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ควรมีตำรวจหญิงประจำทุกโรงพัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศ และต้องส่งเสริมให้มีการติดกล้องเกิดขึ้น จะช่วยแยกระหว่างตำรวจดีและตำรวจไม่ดี เป็นประโยชน์กับคนทุกฝ่าย และสุดท้ายที่อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำคัญต่อสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตำรวจ คือการคืนทรงผมให้พี่น้องตำรวจ

“ผมเชื่อว่าเรื่องการคืนทรงผม มันคือการคืนศักดิ์ศรีให้พวกท่านเอง ถ้าพวกท่านมีศักดิ์ศรี ประเทศนี้ก็มีศักดิ์ศรี ผมหวังว่าปี 2566 นี้จะเป็นปีที่ดีในการเริ่มต้นใหม่ของพวกท่าน” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวตอนหนึ่งว่า กระบวนการยุติธรรมตำรวจเป็นต้นทาง เรื่องที่จะต้องแก้ไขมีมากเหลือเกิน แต่เรื่องที่สำคัญคือต้องมีหลักการที่จะคุ้มครองเราทุกคน หลักการที่สำคัญที่สุดคือ “หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” แต่ในทางปฏิบัติ ประเทศไทยใช้ “หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” เห็นได้จากระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดให้ผู้ต้องหาทุกคนต้องลงทะเบียนประวัติอาชญากร ตอนตั้งข้อหาทุกคนเป็นอาชญากรหมดแต่พอศาลยกฟ้องหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ในหลายกรณีกลับไม่มีการลบประวัติอาชญากร ส่งผลเป็นการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนจำนวนมาก

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขังระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีควรเป็นเรื่องยกเว้น กฎหมายจึงใช้คำว่า “ปล่อยตัวชั่วคราว” ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วตามหลักการที่ถูกต้องต้องใช้คำว่า “ขังชั่วคราว” ทุกคนไม่ควรมีใครติดคุกก่อนการพิพากษายกเว้นมีเหตุจำเป็น ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ยึดข้อหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการพิจารณาปล่อยชั่วคราว ดังนั้นจึงมักไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว

ส่วนชูวิทย์ กล่าวว่า องค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัยจ้องที่จะเข้าหา เพราะตำรวจเป็นแหล่งขุมอำนาจ ตำรวจอยู่ใกล้ชิดประชาชน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นถ้าเอาความจริงมาพูด ถึงบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงนู่นเปลี่ยนแปลงนี่ แต่ถ้าไม่กล้าพูดความจริงปัญหาก็อยู่ที่เดิม ความจริงเท่านั้นที่จะปกป้ององค์กร ความจริงเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบที่ไม่ดีในประเทศนี้ได้ การทำความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ เป็นกระบวนการที่ยากมาก

ระหว่างการสัมมนา สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้ที่ถูกตำรวจจับผิดตัวและถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นถึงตำรวจว่า ตำรวจผู้ที่เอาถุงคลุมหัวลูกเพื่อให้รับสารภาพ ถูกศาลพิพากษาจำคุกแต่รอลงอาญา ปัจจุบันยังมีหน้าที่การงาน เป็นถึงรองผู้กำกับการประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ภายหลังกิจกรรมสัมมนาในช่วงเช้า ช่วงบ่ายจะเป็นวงย่อยรับฟังตำรวจผู้มาร่วมงานในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การแต่งตั้งโยกย้าย การสร้างความไว้วางใจกับประชาชน การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตตำรวจ เพื่อเป็นเวทีที่เป็นกระบอกเสียงให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงาน นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net