Skip to main content
sharethis

มิจฉาชีพอ้างเป็นประกันสังคม หลอกให้กรอกข้อมูลดูดเงินไปเกือบ 4 แสนบาท

เจ้าหน้าที่อัตราจ้างถูกคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นสำนักงานประกันสังคม หลอกให้กรอกข้อมูลผ่านลิงก์ โดยให้ใช้โทรศัพท์ที่เป็นแอนดรอยด์ จึงยืมโทรศัพท์เพื่อนมาทำ สุดท้ายเงินในบัญชีเพื่อนหาย เกือบ 4 แสน ต้องรับผิดชอบ ทำให้ตนเดือดร้อนมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบออกมาดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบกับ น.ส.นฤชา (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี ชาวอำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่อัตราจ้าง โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าสว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีโทรศัพท์โทรเข้ามาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคม ถามชื่อ ถามเลขบัตรประชาชนก็ตรงกับชื่อและเลขบัตรของตนเอง บอกว่าขาดส่งมาตรา 40 เพื่อการรักษาสิทธิทางการรักษาและเงินเยียวยาของรัฐบาลในอนาคตให้กรอกข้อมูล แต่ตอนนั้นตนเองยุ่งอยู่เลยวางสายไป

หลังจากนั้นโทร.มาอีกรอบแต่โทร.มาเป็นไลน์ ขึ้นมาเป็นหน้าประกันสังคม คราวนี้พูดเหมือนตอนแรกและให้เปิดวิดีโอคอล และบอกว่าขอเป็นเครื่องแอนดรอยด์ เพราะระบบดีกว่า จากนั้นส่งลิงก์มาให้ ตนจึงส่งต่อไปที่เครื่องเพื่อนซี่งใช้ระบบแอนดรอยด์ และยืมโทรศัพท์มา จากนั้นวิดีโอคอลและกรอกข้อมูลตามลิงก์ที่ส่งมา

จนเวลาประมาณ 3-4 ทุ่ม เพื่อนที่ทำงานบอกว่าเงินหาย เราจะไปแจ้งความ พอไปสถานีตำรวจ ตำรวจให้ไปแจ้งตอนเช้า เพราะต้องแจ้งออนไลน์

เงินในบัญชีที่หายไปเป็นบัญชีเพื่อนร่วมงาน และไม่มีข้อความบอกว่าเงินเข้าหรือเงินออก มาเห็นอีกทีตอน 4 ทุ่ม เงินในบัญชีหายไปเกือบ 4 แสน มีเวลาแจ้งเงินออกไป ธนาคารแรก ช่วง 16.13 น. จำนวน 192,990 บาท ธนาคารที่ 2 เวลา 16.18 น. จำนวน 190,000 บาท และ 16.21 น. จำนวน 3,160 บาท รวม 386,150 บาท

ส่วนข้อความที่คุยกันในโทรศัพท์ของตนที่เป็นระบบไอโอเอสถูกยกเลิกหมด ซึ่งตนต้องรับผิดชอบ เพราะเราเอาโทรศัพท์เขามาใช้ ทำให้ขณะนี้เดือดร้อนมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/2/2566

กรมชลประทาน จ้างแรงงานต่อเนื่อง ยอดทะลุ 40,000 คนแล้ว

17 ก.พ. 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ว่ากรมชลประทานได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โดยการปฏิบัติงานด้าน งานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ สำหรับหลักเกณฑ์การจ้างแรงงาน จะพิจารณาจ้างแรงงานตามลำดับ ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงตามลำดับ

ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้ว 42,182 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผน โดยจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ คือ จังหวัดอุบลราชธานี 3,725 คน จังหวัดนครพนม 2,314 คน และจังหวัดนครราชสีมา 2,224 คน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้ารับสมัครจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่องให้ได้ตามเป้า 86,000 คน จึงขอเชิญชวนเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือทางสายด่วนกรมชลประทาน 1460

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 17/2/2566

‘เครือข่ายแรงงาน’ แถลง ‘นโยบายเลือกตั้ง’ 4 ด้านที่ ‘พรรคการเมือง’ ต้องฟัง

16 ก.พ. 2566 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จัดเวทีเสวนา “จากเครือข่ายแรงงานฯ ถึงพรรคการเมือง: เวทีนำเสนอนโยบายเลือกตั้ง 2566” ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น หารือร่วมกับตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อนำข้อเสนอไปปรับใช้ในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ว่านโยบายแรงงานที่ดีควรเป็นอย่างไร

โดยมี ตัวแทนเครือข่ายแรงงานฯ อาทิ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม, นางศรีไพร นนทรีย์, นายเซีย จำปาทอง และพี่น้องแรงงานร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการสร้างสังคมที่อยู่ดีกินดี มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดำเนินรายการโดย วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว

สำหรับ ข้อเสนอนโยบายด้านแรงงาน ที่เสนอถึงพรรคการเมือง แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดแรงงาน หมวดสังคม หมวดรัฐธรรมนูญ และหมวดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตามรายละเอียด ดังนี้

1. หมวดแรงงาน

1.1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว, ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง, ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา และฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรง และการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน รวมถึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับหลักการอนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับ

1.2.ประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 723-789 บาท/วัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำให้กลายเป็น “อัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต” ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า (อ้างอิงจากงานวิจัยของคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปี 2565)

1.3.ปราบปรามการค้ามนุษย์ในการจ้างแรงงานข้ามชาติ ลดขั้นตอนการ-ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากในรอบปี 2563-2565 รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรีในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติกว่า 15 มติ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ ซ้ำยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายราคาสูงให้กับแรงงานข้ามชาติในการมาทำงานด้วย

1.4. คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน มิใช่จากการแต่งตั้งดังเช่นปัจจุบัน และสำนักงานประกันสังคมต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2566 นอกจากนี้ต้องเพิ่มเงินสมทบฝ่ายรัฐบาลให้เท่ากับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตน

1.5.บังคับใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสถานประกอบการ โดยให้นายจ้างและลูกจ้าง ส่งสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน

1.6.จัดให้มีกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง โดยจัดเก็บเงินจากฝ่ายนายจ้างฝ่ายเดียว หรือจัดเก็บเงินจากฝ่ายนายจ้างโดยมีเงินอุดหนุนจากรัฐสมทบเข้ากองทุน เพื่อป้องกันกรณีนายจ้างปิดกิจการหนีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง

1.7. นักศึกษาฝึกงานต้องได้เงินค่าจ้าง และได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ตามมาตรฐานเดียวกันกับลูกจ้างทั่วไป

1.8. ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ตีตราและจำกัดสิทธิผู้ค้าบริการทางเพศ (sex worker) ยกเลิกการรีดส่วย รวมถึงคืนสิทธิแรงงานให้ sex worker

1.9 . แรงงานแพลตฟอร์ม เช่นไรเดอร์ ต้องอยู่ภายใต้ความคุ้มครองสิทธิในฐานะลูกจ้างหรือแรงงานในระบบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริษัทแพลตฟอร์มเป็นนายจ้าง

2. หมวดสังคม

2.1 รัฐต้องเปลี่ยนมาก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำภาษีมาจัดรัฐสวัสดิการ

2.2.จัดรัฐสวัสดิการ “เรียนฟรี” ถึงระดับปริญญาตรีแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคน และ กยศ. สำหรับคนที่ยังมีหนี้คงค้าง เพื่อลดภาระทางการเงินและเป็นการเน้นย้ำหลักการว่า ไม่มีใครควรเป็นหนี้เพื่อเข้าถึงการศึกษา

2.3.จัดรัฐสวัสดิการ “เงินอุดหนุนเด็กเล็ก” และ “เงินบำนาญผู้สูงอายุ” โดยจ่ายแบบถ้วนหน้าทุกคน ไม่ต้องพิสูจนฺความยากจน 3,000 บาท/เดือน

2.4.เพิ่มสิทธิลาคลอดโดยมีเงินอุดหนุนเป็น 180 วันถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นต้องผูกสิทธิลาคลอดเอาไว้กับกฎหมายแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่ทุกอาชีพมีโอกาสลาคลอด และพ่อแม่สามารถแบ่งวันลากันได้ รวมถึงต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน

3. หมวดรัฐธรรมนูญ

3.1.เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 2560 เป็นฉบับ “ผลพวงการทำรัฐประหาร” ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ ทุกมาตรา

3.2.เปิดโอกาสให้คนงานและประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับในเขตพื้นที่ที่อาศัยหรือทำงานในปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องกลับไปเลือกตั้งตามเขตภูมิลำเนาเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างที่ย้ายถิ่นมาทำงานได้มีโอกาสเลือกตั้งมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเลือกตั้ง ไม่ต้องต้องลางานหรือขาดรายได้ นอกจากนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนงานได้สะท้อนปัญหาในสถานที่ทำงานและพื้นที่ใกล้เคียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับทราบและนำไปกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเมื่อได้รับเลือกตั้ง

3.3.ยกเลิกระบบสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากระบบแต่งตั้งและไม่ยึดโยงกับประชาชน

4. หมวดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชน

4.1. ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นด้านกลาโหม รวมถึงลดงบประมาณสำหรับสถาบันฯ

4.2. ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมฯ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้ง กำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง

4.3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ให้มีความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ลดขั้นตอนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มาติดต่อ โดยเฉพาะศาลแรงงานซึ่งคนที่มาติดต่อส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย

4.4.ปฏิรูปตำรวจและกองทัพให้มีความโปร่งใส และกลับมารับใช้ประชาชน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/2/2566

สมาคมรับสร้างบ้านประกาศ 2 วาระเร่งด่วน สู้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน-ยื้อต้นทุนบ้าน

นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า หลังได้รับตำแหน่งนายกสมาคมคนใหม่ จะเร่งเดินหน้านโยบายเร่งด่วน รับมือต้นทุนราคาก่อสร้างพุ่ง ชง 2 วาระด่วน ประกอบด้วย 1.ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน 2.การขออนุญาตก่อสร้างบ้านออนไลน์ ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณา หวังลดข้อจำกัดและเพิ่มความสามารถในการทำธุรกิจ พร้อมจะจัดงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023 : สร้างบ้านที่ใช่ ในสไตล์ที่ชอบ” ในวันที่ 8-12 มี.ค.นี้ ที่อิมแพค ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี ตอบโจทย์คนต้องการมีบ้าน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม

นายโอฬารกล่าวว่า ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ในวาระ 3 ปี (2566-2568) มีความพร้อมเต็มที่จะนำพาสมาคมฯ เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้ 1.การยกระดับมาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในระดับประเทศ มุ่งตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นอย่างสูงสุด เพื่อให้สมาคมเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค รวมทั้งมุ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพสมาชิกให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนสมาคมสู่การเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ 2.กลยุทธ์เดินหน้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ให้ครบทุกมิติและทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดของสมาชิก และกระตุ้นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสมาคมให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น และ 3.การขยายฐานความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน และการขยายฐานบริษัทสมาชิกให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสมาคมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยในปี 2565 ธุรกิจรับสร้างบ้าน มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 9% สะท้อนถึงความต้องการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยของผู้บริโภคในตลาดยังคงมีจำนวนมาก ซึ่งมั่นใจว่าตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 ยังมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภครับรู้และเชื่อมั่นในบริการของบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น โดยคาดมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะแตะระดับ 13,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2565

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่ท้าทายรอบด้านในปัจจุบันทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภาวะดอกเบี้ยและต้นทุนขาขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้าน ส่งผลค่อนข้างมากต่อราคาบ้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยทางสมาคมได้รวบรวมข้อจำกัด พร้อมวางแนวทางรับมือและกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านไว้ ดังนี้

ปัญหาของต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ยังแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนี้อยู่ หากปัญหานี้ยังไม่คลี่คลายอาจจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาบ้านในที่สุด โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคาบ้านในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประมาณ 5-10%

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างอย่างหนัก เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้านี้บางส่วนเปลี่ยนอาชีพ และบางส่วนเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซึ่งทางสมาคมมีข้อมูลว่า แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่หนังสือเดินทาง (Passport) หมดอายุ และวีซ่า (VISA) สิ้นสุด มีแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ทำให้แรงงานเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางสมาคมขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศอีกรอบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รวมถึงข้อจำกัดของการทำธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มาจากขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐยังคงมีความซับซ้อน นายโอฬารกล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การหาแนวทางรับมือให้ก้าวข้ามภาวะวิกฤตต่างๆ ไปให้ได้ โดยสมาคมได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการขออนุญาตก่อสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน รวมถึงเป็นการสร้างความโปร่งใสในการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน

“ในเบื้องต้นทาง กทม. จะอนุญาตให้บ้านไม่เกิน 3 ชั้น และขนาดไม่เกิน 300 ตรม. สามารถยื่นก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์ หากผลตอบรับดีเตรียมขยายพื้นที่การก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมยังได้เรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม. เปิดสายตรง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างด้วย” นายโอฬารกล่าว และว่า ในส่วนของกลยุทธ์เพื่อเร่งขยายการเติบโตของธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้ นายโอฬารกล่าวว่า ยังคงเดินหน้ากระตุ้นกำลังซื้อผ่านการจัดงานใหญ่ รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023″ ที่ยังคงมีส่วนลดและสิทธิพิเศษดีๆ มากมาย เตรียมมอบให้ผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ไม่ควรพลาดงานในครั้งนี้

นายปริญญา เอี่ยมประดิษฐ์ภัณ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า ทางสมาคมได้เตรียมกระตุ้นกำลังซื้อผ่านการจัดงานแสดงสินค้า “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สร้างบ้านที่ใช่ ในสไตล์ที่ชอบ” ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ ที่จะมานำเสนอบริการแบบครบวงจร พร้อมนำเสนอแบบบ้านมากกว่า 1,000 แบบ พร้อมทั้งโปรโมชั่นสุดพิเศษมากมาย โดยในปีนี้มั่นใจว่ายอดจองบ้านภายในงานจะใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ประมาณ 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 12,000 ราย

สำหรับงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8-12 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 เป็นการจัดงานปีที่ 19 ซึ่งในทุกๆ ปี จะได้รับการตอบรับจากผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านที่จะเข้ามาชมงาน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่สนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแบบบ้านและวัสดุก่อสร้างมาร่วมชมงาน โดยในงานนี้มีบริษัทรับสร้างบ้านและบริษัทวัสดุก่อสร้างเข้าร่วมออกงานกว่า 40 บริษัท นอกจากโปรโมชั่นสุดพิเศษจากบริษัทที่มาร่วมออกงาน ยังมีสินเชื่อพิเศษจากสถาบันการเงิน หากลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้า ยังได้รับแบบบ้านใหม่พร้อมแปลนในรูปแบบ e-book, คูปองส่วนลดสูงสุด 10,000 บาท และเมื่อจองปลูกสร้างบ้านภายในงานลุ้นรับรางวัลทองคำแท่งมูลค่ารวมกว่า 150,000 บาท ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://hba-th.org/home_focus2023

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/2/2566

ห่วงคนไทยถูกต่างชาติแย่งงาน นายกฯ กำชับ ก.แรงงาน ตรวจสอบ เจอจับดำเนินคดี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงคนไทยถูกแรงงานต่างชาติแย่งงาน แย่งอาชีพ จึงสั่งการให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในประเทศไทยอย่างรอบคอบ เป็นระบบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กรมการจัดหางานติดตามตรวจสอบและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมายหรือแย่งอาชีพคนไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 14,104 แห่ง ดำเนินคดี 500 แห่งและตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 196,402 คน

แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 145,764 คน

กัมพูชา 32,916 คน

ลาว 10,181 คน

เวียดนาม 103 คน

และสัญชาติอื่น ๆ 7,438 คน

มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,143 คน แยกเป็น

สัญชาติเมียนมา 629 คน

กัมพูชา 175 คน

ลาว 187 คน

เวียดนาม 49 คน

และสัญชาติอื่น ๆ 103 คน

ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 600 คน แยกเป็น

สัญชาติเมียนมา 264 คน

กัมพูชา 121 คน

ลาว 97 คน

เวียดนาม 39 คน

อินเดีย 51 คน

และสัญชาติอื่น ๆ 28 คน

โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด

ทั้งนี้ “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยไม่มีข้อยกเว้น”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่

งานแกะสลักไม้

งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift)

งานขายทอดตลาด

งานเจียระไนเพชร/พลอย

งานตัดผม/เสริมสวย

งานทอผ้าด้วยมือ

งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ

งานทำกระดาษสาด้วยมือ

งานทำเครื่องเขิน

งานทำเครื่องดนตรีไทย

งานทำเครื่องถม

งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก

งานทำเครื่องลงหิน

งานทำตุ๊กตาไทย

งานทำบาตร

งานทำผ้าไหมด้วยมือ

งานทำพระพุทธรูป

ทำร่มกระดาษ/ผ้า

งานนายหน้า/ตัวแทน

งานนวดไทย

งานมวนบุหรี่

งานมัคคุเทศก์

งานเร่ขายสินค้า

งานเรียงอักษร

งานสาวบิดเกลียวไหม

งานเลขานุการ

งานบริการทางกฎหมาย

ส่วนงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ตามบัญชีที่ 2 ได้แก่

วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม

โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย

ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้  ตามบัญชี 3 ได้แก่

งานกสิกรรม

งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร

งานทำที่นอน

งานทำมีด

งานทำรองเท้า

งานทำหมวก

งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

งานปั้นเครื่องดินเผา

โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และตามบัญชีที่ 4 ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU)

“ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงานชั้น 4 โทร. 02 354 1729 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน”

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/2/2566

ไอร์แลนด์ เตรียมรับคนไทยเข้าประเทศ ทำงานเกษตร-บริการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายแพทริก เบิร์น (Mr. Patrick Bourne) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับหน้าที่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอานาจเต็มแห่งไอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุรชัยกล่าวว่า ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 48 ปี นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2518 รวมถึงความสัมพันธ์ทั้งในด้านการศึกษา การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

โดยกระทรวงแรงงานพร้อมทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งกระทรวงแรงงานต้องการส่งเสริมโอกาสของแรงงานไทยในไอร์แลนด์ในการประกอบอาชีพ คนงานเกษตร พ่อครัว และบริการรับจ้าง รวมถึงสาขาอาชีพที่อาศัยความรู้และความชำนาญชั้นสูงตามความต้องการของไอร์แลนด์ และต้องการทราบสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการในไอร์แลนด์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาทักษะและเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในไอร์แลนด์ประมาณ 342 คน ส่วนใหญ่ทำงานในตำแหน่ง คนงานเกษตร คนงานทั่วไป และพ่อครัว และมีชาวไอร์แลนด์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยมีจำนวน 558 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการสอน ผู้จัดการฝ่าย กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/2/2566

ไรเดอร์กำแพงเพชรฮือร้องจังหวัดประสานแรงงานเคลียร์ปัญหา “ไลน์แมน” ลดค่าตอบแทนสวนทางค่าครองชีพ

ตัวแทนกลุ่มไลน์แมนไรเดอร์ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รวมตัวเข้ายื่นหนังสือผ่านนายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้ช่วยประสานบริษัท ไลน์แมน ประเทศไทย จำกัด ที่ปรับลดค่าตอบแทนในการรับ-ส่งอาหาร ทำให้ได้รับความเดือดร้อน และต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายรับลดลง

โดยกลุ่มไลน์แมนไรเดอร์ได้ระบุในหนังสือขอให้ทางบริษัทพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด 4 ข้อ คือ อัตราค่าตอบแทนออเดอร์ 21 บาท ไม่หักภาษี, ค่าบริการส่งสินค้าให้บวกเพิ่มตั้งแต่ กม.ที่ 3 เป็นต้นไป, ควรเพิ่มค่าตอบแทนในการสั่งซื้ออาหารตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป และ เบี้ยขยันรายสัปดาห์ไม่ควรต่ำกว่า 500 บาท

นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชรยินดี และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแด่กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับรับหนังสือเรียกร้องจากตัวแทนของกลุ่มไลน์แมนไรเดอร์จังหวัดกำแพงเพชร และมอบหมายให้นายโสภณ ปราบณรงค์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการพิจารณาจัดทำหนังสือส่งข้อเรียกร้องดังกล่าว นำส่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/2/2566

อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือน ระวังผู้แอบอ้างใช้ LOGO กรมการจัดหางาน รับสมัครงานผ่านสื่อโซเชียล

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า  ปัจจุบันมีผู้นำตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ กรมการจัดหางาน ไปใช้ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ โดยใช้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง เพื่อประกาศรับสมัครงาน เช่น  รับสมัครงานพนักงานเสริมแพ็คสินค้า รับสมัครคุณแม่ทำงาน WFH รับสมัครทำงานอิสระระยะยาว เป็นต้น  ซึ่งหากพบเห็นการชักชวนให้สมัครงานในตำแหน่งต่าง ๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์  (เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ยูทูบ เป็นต้น)  ในลักษณะดังกล่าว โปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจถูกหลอกให้เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครงานแต่ไม่มีงานรองรับ หรือหลอกลวงขอข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งนำไปหลอกลวงผู้อื่นต่อ

โดย กรมการจัดหางาน จะแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุด โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม  หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือทาง Mobile Application "ไทยมีงานทำ" หรือติดตามข่าวสารของกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 12/2/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net