Skip to main content
sharethis

ปลัด มท.สั่งอำนวยความสะดวกทำ “บัตรชมพู” สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ประมง

25 มี.ค. 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้หารือกรณีปัญหาเรื่อง การออกบัตรชมพู ให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในคราวประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากกรณีดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาต ให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 มีผลทำให้ คนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นแรงงานในกิจการประมงทะเลอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อดำเนินการรับหนังสือคนประจำเรือ ซึ่งสามารถไปดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ได้ที่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนดได้ ในวันและเวลาราชการเป็นการปกติ โดยไม่ได้มีการกำหนดห้วงเวลาดำเนินการ และไม่ได้ส่งผลกระทบในเรื่องการดำเนินการออกบัตรชมพูล่าช้าแต่อย่างใด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมงเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือ ขอให้มีการใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล จำนวน 30,000 – 50,000 ราย ประกอบกับคนต่างด้าวที่ได้รับการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,818 คน จะทยอยหมดอายุเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2565 จึงได้เสนอเพื่อเปิดใช้อำนาจ ม.83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย สามารถทำงานในเรือประมงได้อย่างถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันเสนอเข้าที่ประชุมครม.กระทั่ง ครม. ได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติในหลักการ “ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. … และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สามารถมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือ คนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 โดยเจ้าของเรือสามารถนำแรงงานต่างด้าวไปยื่นคำขอ หนังสือคนประจำเรือได้ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 เดือน คือในระหว่างวันที่ 1  เมษายน - 30 มิถุนายน และระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 30 พฤศจิกายนนั้น โดยที่ประชุมมีมติให้ประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทาง ให้มีการเปิดทำบัตรชมพูได้ปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือ ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาต ให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 และได้แจ้ง ให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วยแล้ว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ วัตถุประสงค์เพื่อให้ คนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นแรงงานในกิจการประมงทะเลอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อดำเนินการรับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว โดย แรงงานกลุ่มดังกล่าวสามารถไปดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครอง กำหนดได้ในวันและเวลาราชการเป็นการปกติ ไม่ได้มีการกำหนดห้วงเวลาดำเนินการแต่อย่างใด

“เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเรือประมงอย่างเร่งด่วนและอำนวยความสะดวก ในการขอรับหนังสือคนประจำเรือของแรงงานต่างด้าว ขอให้แรงงานต่างด้าวที่จะมาขอหนังสือคนประจำเรือจะต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพรวมถึงการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมการประกันสุขภาพ หนังสือสัญญาจ้างในงานประมงทะเลครอบคลุมการสัมภาษณ์คนต่างด้าวโดยมีเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบความถูกต้องและลงลายมือชื่อกำกับ พร้อมรูปถ่ายสี ครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวกและแว่นดำ ขนาด 1.5 x 2 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 3 รูป และเมื่อยื่นคำขอแล้วจะได้รับใบรับคำขอ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการยื่นขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ภายใน 15 วัน พร้อมทั้งขอจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกับกรมการปกครอง ซึ่งใบรับคำขอนี้ไม่อนุญาตให้ใช้แทนหนังสือคนประจำเรือ และเมื่อจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้วให้นำหลักฐานมารับหนังสือคนประจำเรือพร้อมชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท จึงจะสามารถนำแรงงานออกทำการประมงได้” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า การผ่อนผันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน และการที่ กรมการปกครอง จัดทำบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ให้นั้น จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง ทั้งยังใช้เป็นเอกสารประจำตัวที่ประกอบการขอรับบริการสาธารณะต่าง ๆ อาทิ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม เป็นการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในภาคประมง รวมถึงการมีเอกสารประจำตัว ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ การเปิดให้แรงงานต่างด้าวขอหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย สอดรับกับตัวชี้วัด SDGs ข้อที่ 16 ข้อย่อยที่ 16.9 จัดให้มีอัตลักษณ์ทางกฎหมาย (Legal Identity) สำหรับทุกคน ทำให้เกิดการส่งเสริมการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการภาคประมงสามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากการติดขัดปัญหาในด้านการดำเนินการที่ไม่คล่องตัว ก่อให้เกิดความมั่นคง และความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการประมงในระยะยาวต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/3/2566

กรมการจัดหางาน กวาดล้าง “ไกด์เถื่อน” แย่งงานคนไทย พบทำความผิด มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทยได้รับความเดือดร้อน กรณีพบชาวต่างชาติซึ่งไม่มีบัตรมัคคุเทศก์เข้ามาแย่งงานไกด์คนไทย  ส่งผลให้มัคคุเทศก์ไทยที่ทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ได้งานไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย นั้น

จึงให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมี นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน พ.ต.อ. นิมิตร นูโพนทอง ผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาล ลุมพินี เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายฯ พื้นที่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามเบาะแสที่มีผู้แจ้งเข้ามาว่าพบไกด์เถื่อน และชาวต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย จากการตรวจสอบพบชาวจีน จำนวน 1 คน และเวียดนาม จำนวน 1 คน กำลังทำหน้าที่มัคคุเทศก์ยืนบรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว เมื่อสอบถามทั้งหมดให้การว่าตนมากับทัวร์กลุ่มดังกล่าวจริงและทำหน้าที่บรรยายสถานที่ท่องเที่ยวจุดดังกล่าวให้แก่นักท่องเที่ยวจริง จึงได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ดำเนินคดีข้อหาเป็นคนต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้

คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 24/3/2566

ก.แรงงาน เปิดเวทีทบทวนมาตรฐานตรวจคัดกรองแรงงาน คุ้มครองผู้เสียหาย ขันน็อตค้ามนุษย์

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565 โดยมี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน น.ส.อภิรดี เทียนทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร

นายบุญชอบ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดนโยบายกระทรวงแรงงาน “MOL พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” ได้กำหนดให้ “เร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Tier 1” และได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

นายบุญชอบ กล่าวว่า ในปี 2566 กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) และแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) ดังกล่าว และการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการปฏิบัติงานมากขึ้น

“ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป” นายบุญชอบ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/3/2566

บอร์ดอุทธรณ์สำนักงานประกันสังคม เผยวินิจฉัยคำร้องคืนสิทธิผู้ประกันตนแล้วเกือบหมื่นราย

นายอาทิตย์ อิสโม ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอุทธรณ์ ชุดที่ 14 ของ สปส.ได้แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของนายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใด ที่ยังไม่พอใจในคำสั่งของเลขาธิการ หรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบคณะกรรมการ

มีผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง ในลักษณะไตรภาคี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นั้น และในช่วงวิกฤตโควิด-19 สถานประกอบการหลายแห่งถูกปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกจ้างได้รับผลกระทบ เกิดความขัดสนเรื่องการเงิน ทำให้ผู้ประกันตนหลายรายขาดส่งเงินสมทบ จึงเป็นสาเหตุให้ต้องหลุดออกจากระบบประกันสังคม ทั้งนี้ มีผู้ประกันตนได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์เข้ามาให้ สปส.พิจารณาสูงถึง จำนวน 7,786 ราย และคณะกรรมการอุทธรณ์ชุดนี้ได้มีคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นไปแล้ว จำนวน 6,610 ราย

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือน หรือภายใน 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ทำให้ผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนนั้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2566 พบว่า มีผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบและสิ้นสภาพผู้ประกันตนจำนวน 888 ราย คณะกรรมการอุทธรณ์ได้เห็นความสำคัญ จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิพึงมีพึงได้ โดยกำหนดให้เลขาธิการ สปส.สามารถให้อำนาจประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา ใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติคืนสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาใช้สิทธิของ สปส.ได้เหมือนเดิม

“นอกเหนือจากคืนสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้ว การปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายของคณะกรรมการอุทธรณ์ สปส.ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในการช่วยเหลือและสร้างหลักประกันให้แก่สมาชิกของกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนและบุคคลในครอบครัวได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีอื่นๆ ทั้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร พิการหรือทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ หรือ เสียชีวิต เป็นต้น รวมทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป” นายอาทิตย์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/3/2566

เผยปี 2566 โควตางานภาคเกษตรรัฐอิสราเอล 6,500 คน จัดส่งแล้ว 1,513 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2566 กระทรวงแรงงานมีโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรรัฐอิสราเอล จำนวน 6,500 คน โดยตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.-20 มี.ค. 2566 จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานฯ จำนวน 1,513 คน แบ่งเป็นเพศชาย 1,480 คน เพศหญิง 33 คน ซึ่งในวันนี้จะมีแรงงานไทย 225 คน เดินทางไปทำงานภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) ด้วยเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ EY084 ของสายการบินแอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยแรงงานทั้งหมดได้ผ่านการอบรมคนหางานก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศแล้ว เมื่อไปทำงานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) หากทำงานจนครบสัญญาจ้างงานสูงสุด 5 ปี 3 เดือน จะมีรายได้มากกว่า 3 ล้านบาทต่อคน และเมื่อกลับมายังสามารถนำประสบการณ์ทางเกษตรที่ได้รับจากการทำงานกลับมาพัฒนาประเทศและประกอบอาชีพของตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้ไปทำงานในต่างประเทศอย่างยิ่ง โดยสั่งการให้กระทรวงแรงงานดูแลคนไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับสวัสดิการและคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี เมื่อกลับมาจะได้นำประสบการณ์และความรู้ มาต่อยอด ยกระดับคุณภาพชีวิต” รมว.สุชาติ กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประเทศไทยและอิสราเอล ดำเนินการตามข้อตกลงด้านแรงงานเรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) มาอย่างต่อเนื่อง และมีการหารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดส่งให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตลอดเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทย ตลอดจนมีการหารือถึงการขยายตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อให้แรงงานไทยได้วีซ่าอุตสาหกรรม (Industrial Visa) นอกเหนือจากภาคเกษตรที่ทำอยู่ เนื่องจากนายจ้างอิสราเอลมีความต้องการช่างเชื่อมเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของช่างเชื่อมชาวไทย เพราะมีฝีมือเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ

ที่มา: เดลินิวส์, 21/3/2566

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 เพิ่มข้อกำหนดการจ้างงานแบบทำงานที่บ้าน ไม่ตอบแชตนอกเวลางานได้

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 โดยเพิ่มข้อความมาตราเดียว คือมาตรา 23/1 ระบุถึงแนวทางการจ้างงานที่ลูกทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากสถานที่อื่นๆ โดยเพิ่มรูปแบบการจ้างที่ชัดเจนขึ้น ระบุชัดเจนว่าสามารถทำข้อตกลงจ้างงานเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้

นอกจากรูปแบบการจ้างแล้ว มาตรานี้ยังระบุให้ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสารจากนายจ้างไม่ว่าทางใดๆ เมื่ออยู่นอกเวลางาน ยกเว้นได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือล่วงหน้าไว้ก่อน และมาตรานี้ยังยืนยันว่าลูกจ้างที่ทำงานจากที่บ้านมีสิทธิเท่ากับลูกจ้างที่ทำงานในสำนักงาน

โดยกฏหมายใหม่นี้มีผลบังคับจริง 30 วันหลังประกาศ

ที่มา: Blognone, 21/3/2566

ก.แรงงาน ชวนหางานผ่านแอป “ไทยมีงานทำ” สะดวก ใช้งานง่าย ได้งานทำ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล การบริการและสวัสดิการของภาครัฐสำหรับประชาชน เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วโปร่งใส ตามข้อสั่งการพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในภารกิจที่กระทรวงให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่คนไทย เพราะปัญหาการว่างงาน การขาดรายได้ ไม่เพียงกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือน อาจนำมาซึ่งปัญหาครอบครัว อาชญากรรม ตลอดจนเศรษฐกิจในระดับประเทศอย่างเป็นลูกโซ่

ทั้งนี้นอกจากการให้บริการจัดหางานผ่านเว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ” ที่นำปัญญาประดิษฐ์ AI เข้ามาช่วยในการจับคู่ตำแหน่งงานว่างให้ตรงต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการมีงานทำแล้ว กระทรวงแรงงานยังพัฒนาช่องทางการให้บริการประชาชนผ่าน Mobile Application “ไทยมีงานทำ” ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งการจ้างงานได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่างสะดวกรวดเร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชั่นก็จะมีตำแหน่งงานให้เลือกหลากหลายตามที่ต้องการผ่านโทรศัพท์มือถือ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการหางาน หรือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการประกาศตำแหน่งงาน ผ่านแอปพลิเคชั่น “ไทยมีงานทำ” มีขั้นตอนในการใช้บริการ ดังนี้

1.ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “ไทยมีงานทำ” ผ่าน App Store สำหรับ ระบบปฏิบัติการ IOS หรือผ่าน Google Play สำหรับ ระบบปฏิบัติการ Android

2.สามารถค้นหาดูตำแหน่งงานตรงกับความรู้ ความสามารถของตนเอง รวมทั้งสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการทำงานได้ โดยที่ยังไม่ต้องลงทะเบียนเข้าใช้งาน

3. เมื่อเลือกตำแหน่งงานที่ตรงต่อความต้องการแล้ว คลิก “สมัครงานนี้”

4.ระบบจะแนะนำให้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน ผ่านระบบของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เพื่อยืนยันตัวตนก่อน

5.เมื่อลงทะเบียนยืนยันตัวตนแล้ว ระบบจะนำไปสู่ตำแหน่งงานที่เลือกไว้ และสามารถเลือก “สมัครงานตำแหน่งงานที่เลือก” ไว้ได้  กรณีที่เคยลงทะเบียนผ่านระบบของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เพื่อยืนยันตัวตนแล้ว สามารถเข้าค้นหาตำแหน่งงานว่างที่ตรงต่อความต้องการแล้วเลือกสมัครงานได้ทันที

6.เมื่อเลือกตำแหน่งงานที่สมัครไว้ ข้อมูลของผู้ต้องการมีงานทำจะถูกส่งไปยังสถานประกอบการ โดยสถานประกอบการจะดำเนินการคัดเลือก และเรียกสัมภาษณ์ (ตามความสะดวกทั้งสองฝ่าย) ในรูปแบบออนไลน์ หรือ ณ สถานประกอบการ เพื่อพิจารณาบรรจุงานต่อไป

สำหรับทุกคนที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th และ Mobile Application หรือหากไม่สะดวกใช้งานผ่านระบบออนไลน์สามารถใช้บริการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือศึกษาวีดิโอและคู่มือการใช้งานได้ที่ เว็บไซต์ e-service.doe.go.th เมนู แนะนำการลงทะเบียน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ที่มา: สยามรัฐ, 20/3/2566

ชี้นโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝัน-การตลาดชวนเชื่อ หวั่นกระทบห่วงโซ่เศรษฐกิจ

18 มี.ค. 2566 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นำโดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการหลักสูตร จัดการสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “ค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝันแรงงานไทย?” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนได้รับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งจากมุมมองของภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และนักวิชาการ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ในฐานะนายจ้าง เข้าใจว่าลูกจ้างต้องการค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่ขอให้ลูกจ้างเข้าใจบริบทของประเทศไทย ที่การขายสินค้าบางกลุ่มยังขายได้ในมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก ยืนยันว่าการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างที่จะจ่าย และความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายตามหลักสากล

“ค่าจ้างขั้นต่ำเสมือนเป็นค่าจ้างแรกเข้าเป็นค่าจ้างตามกฎหมาย ที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างอย่างเท่าเทียม การจ้างงานของไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะตึงตัว ตลาดเป็นของลูกจ้าง หรืออยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานไปอีกอย่างน้อย 5 ปี โดยเฉพาะแรงงานในระดับกลางและระดับสูง เนื่องจากแรงงานยังไม่กลับเข้าสู่ระบบ หลังจากการระบาดของโควิด 19” นายธนิต กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียง ด้วยการชูประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายธนิต กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งทำได้จริง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรืองบประมาณจากภาครัฐแต่อย่างใด หากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ และต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง

“เป้าหมายคือ นายจ้างลูกจ้างต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้าง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ องค์กรไตรภาคี ที่ทำกันมาแล้วกว่า 30 ปี การเมืองอย่างเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติและประชาชน ประชาชนก็ต้องรู้เท่าทันว่า พรรคการเมืองต่างๆ ใช้การตลาด 100% เพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ” นายธนิต กล่าว

นอกจากนี้ นายธนิต ยังกล่าวว่า ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ เจนแซด (GEN Z) ที่กำลังหางานทำ สิ่งที่ต้องมี คือทักษะด้านภาษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน บุคลิกภาพที่ดี แต่งกายที่เหมาะสม มีการเตรียมข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ และสุดท้ายอย่าเลือกงาน เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะน้อยในตอนต้น แต่ประสบการทำงานจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าตอบแทนในอนาคตได้

ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 308-330 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ต้องบอกว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งการใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง และควรครอบคลุมถึงการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย

ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าจ้างเริ่มต้นของแรงงานมีฝีมือในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจทำให้เกิดปัญหาการปลดแรงงาน ดังนั้น การเพิ่มค่าจ้างแรงงานควรเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน คือ ต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากการรับภาระค่าแรง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า หากเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้มากขึ้น ต้นทุนค่าแรงอาจไม่เพิ่มขึ้น 30-40% เท่ากับค่าแรงที่ปรับขึ้นและด้านการใช้จ่ายของประชาชน การเพิ่มค่าแรงอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจไม่สูงมาก

“การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานได้มากพอสมควร และไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อสัดส่วนการจ้างงาน และสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของแรงงานทักษะต่ำ แต่เป็นภาพลวงตาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต ผลกระทบการเคลื่อนย้ายที่น่ากังวลที่สุด อยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในวัยหนุ่มสาวอายุ 15-24 มากกว่า” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงพบว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เหมาะสม เช่น ไม่ทันกับค่าครองชีพ ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี เช่น แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้แรงงานได้ประโยชน์ประมาณ 3.2 ล้านคน หรือประมาณ 30% ช่วยลดช่องว่างความเหลือมล้ำให้กับแรงงาน

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ตนพยายามเสนอค่าจ้างที่เป็นธรรม แต่สถานการณ์วันนี้ ค่าจ้างปัจจุบันตั้งแต่ 333-354 บาท ถือว่าอยู่ได้หรือไม่ ปัญหาคือคนส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่หลักประกันในการทำงานไม่มี เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะสอดรับหรือไม่ จึงไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ สิ่งที่ทำได้วันนี้คือต้องกู้เงิน ต้องเป็นหนี้ จึงต้องทำงานใช้หนี้ คนงานส่วนใหญ่อยู่ได้ต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ และประกันสังคมก็ไม่ตอบสนองด้านแรงงาน เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมด้านแรงงานอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เมื่อคนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชีวิตเช่นนี้ อนาคตของประเทศจะไปอย่างไร

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าให้เลิกพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เสนอให้เป็นระบบโครงสร้างค่าจ้าง ทุกปีจะต้องมีเงินเดือนขึ้น ซึ่งต้องดูที่ดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ อีกประการหนึ่ง คือ สิทธิในการรวมกลุ่มรวมตัว เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง ที่เข้าไปแทรกแซงกลไกเจรจาต่อรอง แต่คนงานไม่มีสิทธิ์ในการรวมตัว วันนี้มีผู้ใช้แรงงานราว 40 ล้านคน แต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีเพียง 6 แสนคน กลไกในการเจรจาต่อรองจึงไม่เกิดขึ้น จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องหาทางออกว่า ระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแรงงานควรจะเป็นเท่าไหร่

นายสาวิทย์ กล่าวว่า มีงานวิจัยว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิต อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานออกมาดี แต่สำหรับประเทศไทยพบว่าแม้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับปรับขึ้นเพียง 5-8% เท่านั้น คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร การชูนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ ย้อนกลับไปในอดีต สิ่งที่พรรคการเมืองหาเสียงนั้นความเป็นจริงไปถึงหรือไม่ ตนเสนอให้จัดทำโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ และมีโครงสร้างการจ้าง เพื่อให้แรงงานมองเห็นอนาคต เพราะทุกคนอยู่อย่างหวาดระแวง อีกทั้งยังติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่ไม่เคยแก้ไขปัญหานั้น และไม่คิดถึงเรื่องการบริโภคภายในประเทศ

ตัวเลขค่าจ้างให้เก็บเอาไว้ก่อน แต่ให้เริ่มจากความเป็นจริงว่า ค่าแรง 354 บาทอยู่ได้หรือไม่ แรงงานทั้งในและนอกระบบทุกคนต้องเท่าเทียมกัน และแรงงานนอกระบบต้องมีหลักประกันอย่างชัดเจน คนส่วนใหญ่หลุดจากการเจรจาต่อรองเพราะกฎหมายไม่คุ้มครอง ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างศักยภาพต่อรอง จะเป็นการต่อรองเรื่องค่าจ้างโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การเมืองที่จะมากำหนดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องทบทวนและคิดใหม่ โดยทำลักษณะโครงสร้างค่าจ้างให้ชัด คำถามที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การเลือกตั้งเราต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำได้จริงหรือเป็นแค่เพียงฝันไปเรื่อย ตนเห็นว่าขายฝัน เพราะตัวเลขไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงต้องถกเถียงเรื่องภาวะเศรษฐกิจและสังคมให้จบ และกำหนดตัวเลขออกมาให้ครอบคลุมทั้งแรงงานในและนอกระบบ

ส่วนนางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบ คือ แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการ ปี 2565 คนมีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำไม่คุ้มครอง ที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ ไม่สามารถที่จะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้ อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาก็ยากที่จะฟื้น แม้สถานการณ์โควิด 19 จะคลี่คลาย แต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด

“คำถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ เราอยู่นอกระบบของการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะประกาศอะไร จะเป็นฝันของใครไม่รู้ แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องประกันรายได้กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้ให้เท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ” นางสุนทรี กล่าว

นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายที่จะพลิกโฉมตลาดแรงงานไทยในปีนี้ (2566) เช่น พัฒนาภาคแรงงานต้องสอดรับกับโลกยุคดิจิทัล สนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานนอกระบบ คำนึงถึงความต้องการของสถานประกอบการในประเทศและแรงงาน ได้รับการส่งเสริมด้านรายได้ แรงงานได้รับความคุ้มครองได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขอย่างยั่งยืน

“หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ แน่นอนว่าส่งผลให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในเขตปริมณฑล เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะกระจายการผลิตไปยังจังหวัดที่อยู่ห่างออกไป หากมีปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ก้าวกระโดดสูงเกินไป นอกจากนี้ ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และผู้ประกอบการอาจต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดและปรับแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญ อาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจท้องถิ่นหรือกิจการขนาดเล็ก ส่งผลให้ต้องลดจำนวนคนงานลงหรือปิดกิจการ ส่วนแรงงานจะมีรายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น มีอำนาจซื้อน้อยลง และมีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ” นางนภสร กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/3/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net