Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยและตลาดการเงินฟื้นตัวแรงหลังจัดตั้งรัฐบาล การปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทเป็นผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มอาจมีการย้ายฐานการผลิตบ้างในส่วนของสินค้าใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนสินค้าใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นอาจเติบโตเพิ่มหากมีมาตรการส่งเสริมที่เหมาะสม จะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตครั้งใหญ่ในไทย 

28 พ.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวถึงการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย การเทขายหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และ การอ่อนค่าของเงินบาท ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคหลายตัว และ ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การเทขายทำกำไรทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติเป็นผลจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความวิตกกังวลว่าอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้หากไม่สามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาได้ภายใน 3 มิ.ย. ศกนี้ ปัจจัยการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯที่กดดันตลาดการเงินโลกและไทยจะคลี่คลายลงทันทีเมื่อรัฐสภาสหรัฐฯอนุมัติให้ขยายเพดานหนี้ได้ ล่าสุด มีความคืบหน้าเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐน่าจะตกลงกันได้แล้ว ทำให้ตลาดการเงินโลกคลายกังวลผิดนัดชำระหนี้ ตลาดการเงินโลกและไทยน่าจะมีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สาธารณะและปัญหาความเสี่ยงฐานะการคลังของรัฐบาลยังไม่จบ และอาจต้องใช้เวลานับทศวรรษในการแก้ไข แม้นขยายเพดานหนี้ได้แล้ว สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อลดรายจ่ายบางด้านลงมาเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะได้ในอนาคต 

หากไม่ได้มีมาตรการแก้ไขจนเกิดสถานการณ์ไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ อีก หรือ ข้อผูกพันทางการเงินไม่สามารถปฏิบัติได้จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯจากปัญหาสภาพคล่อง อาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่นักลงทุนทั่วโลก และ ธนาคารกลางทั่วโลกถืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธสัญญาได้ ไม่สามารถจ่ายเงินต้นคืนหรือดอกเบี้ยได้เป็นการชั่วคราวจากปัญหาสภาพคล่อง ย่อมทำให้ความเสี่ยงในการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯสูงขึ้น ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอาจพุ่งสูง เกิดภาวะเงินตึงตัวได้ แน่นอนว่าทำให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น หากไม่เกิดปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะด้วยการขยายเพดานหรืองดเว้นการบังคับใช้เพดานชั่วคราว จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มได้อย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีหน้า ในระยะสิบปีข้างหน้า รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะได้ถึง 750,000 ล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น ได้มีการบรรลุข้อตกลงอย่างมีเงื่อนไข หรือ Tentative Deal ในการขยายเพดานหนี้สาธารณะ ระหว่าง รัฐบาลสหรัฐอเมริกา กับ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. Kevin McCarthy ได้ยืนยันให้รัฐบาลโจ ไบเดน ปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้ง โครงการสวัสดิการทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และ การลงทุนทางด้านพลังงานสะอาด เป็นต้น และ ต้องการให้การจัดสรรงบประมาณให้อยู่ในระดับเดียวกับค่าใช้จ่ายภาครัฐในปี พ.ศ. 2566 เป็นเวลา 2 ปีเพื่อกำกับไม่ให้ก่อหนี้เพิ่มโดยจำกัดค่าใช้จ่ายตามดุลยพินิจของสภา  

การที่สหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ ทำให้ ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ในปีนี้ ลดความผันผวนและความตื่นตระหนักเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่ขยายตัวมากพอจนสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ความจำเป็นในการก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในรายการที่ไม่สามารถปรับลดได้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป และ ความเสี่ยงของวิกฤตการณ์หนี้สินภาครัฐยังมีอยู่จนกว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถดำเนินนโยบายงบประมาณแบบสมดุลได้ในอนาคต 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าส่วนความไม่แน่นอนและความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของไทย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการลงทุน แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญมากนัก เนื่องจาก พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายขวาจัดสุดโต่งด้วยเสียงของวุฒิสมาชิกมีความเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นพรรคการเมืองลำดับหนึ่ง (พรรคก้าวไกล) หรือ พรรคการเมืองลำดับสอง (พรรคเพื่อไทย) ก็ตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลยังอยู่ภายใต้การกำกับของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสียงข้างมากย่อมเป็นผลดีต่อระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ 

ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ มีผลกระทบทางลบต่อการลงทุน ก็ต่อเมื่อ ผู้มีอำนาจใช้เครื่องมือทางกฎหมายอันไม่ชอบธรรม หรือ ใช้ตุลาการภิวัฒน์ ใช้ปาฏิหาริย์ทางกฎหมายอันขัดหลักนิติธรรม ตัดสิทธิทางการเมือง หรือ ยุบพรรคการเมือง หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย และ เกิดความไม่แน่นอนในทางการเมืองกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้  
   
กกต. ควรต้องเร่งรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อให้จัดประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โดยเร็ว หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างยิ่ง โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสสอง น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นมากจากระดับ 2.7% ในไตรมาสแรก ขณะนี้ อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4-4.5% หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดปี พ.ศ. 2566 จะอยู่ที่ 3.9-4.3% จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยว ภาคการลงทุน และ การบริโภคเอกชนจากการปรับขึ้นค่าแรง รวมทั้งอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าที่คาดและทยอยปรับตัวในทิศทางดีขึ้นส่งผลบวกต่อภาคส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้แรงกดดันเงินเฟ้อและราคาพลังงงานยังลดลงอีกด้วย การปรับฐานลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จากความวิตกกังวลว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะมีผลกำไรลดลงจากนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นความวิตกกังวลเกินเหตุ เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าแรง จะทำให้กำลังซื้อในเศรษฐกิจมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ยอดขายสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับกำไรของกิจการต่างๆไม่ได้ลดลงมากแต่อย่างใด และกำไรจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากในธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้น ส่วนกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น รัฐบาลใหม่ต้องออกมาตรการสนับสนุนให้กิจการเหล่านี้ปรับตัวให้ได้ ปรับโครงสร้างกิจการให้มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 

ตลาดส่งออก 3 แห่งที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง อาเซียนและละตินอเมริกา รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าเปิดการเจรจาทางการค้า การลงทุน และ การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากไทยสามารถขยายตลาดใหม่ได้เพิ่มเติม คาดว่า ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 1.4% บาทอ่อนค่าขณะนี้จะพลิกกลับมาเป็นแนวโน้มบาทแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปี โดยค่าเงินบาทอาจกลับมาเคลื่อนไหวในช่วง 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีหลังจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติรอบใหม่ ภาวะการเงินไทยอาจมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ การสิ้นสุดมาตรการต่ออายุการลดอัตรานำส่งเงินสบทบเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF fee) ขณะนี้ เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเล็กน้อย คือ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 3.1-3.2% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีอาจแตะระดับ 2.7% ได้ หากไม่ปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมทำให้ครอบครัวรายได้น้อยมีรายจ่ายและค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ อันนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนระลอกใหม่ได้ ประกอบกับดอกเบี้ยขาขึ้น จะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ไขปัญหาขึ้นอีก โดยประเมินว่า ไตรมาสสองภาคส่งออกของไทยน่าจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้น โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆจึงไม่เกิดขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้จึงเป็นปรากฎการณ์ระยะสั้น บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์มีผลกำไรชะลอตัวลงบ้าง เมื่อบวกเข้ากลับแรงกดดันจากอุตสาหกรรมการเงินที่กระตุ้นผลลัพธ์ระยะสั้น ทำให้เกิดความไม่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่แท้จริงเท่าไหร่นัก หมายความว่า เงินบาทที่อ่อนค่าและดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับฐานลงมาแรงไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคตมากนัก โดยเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ภาคการบริโภค และการขยายตัวของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ส่วนความเสี่ยงสำคัญ คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเทียบกับจีดีพีที่ยังทรงตัวในระดับสูงกว่า 80% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 60% สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ปัจจัยเสี่ยงนี้ยิ่งมีความอ่อนไหวเพิ่มขึ้นด้วย

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การปรับขึ้นค่าจ้าง การปรับเพิ่มเงินเดือนแรงงานแรกเข้าระดับปริญญาตรี จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อาจมีการย้ายฐานการผลิตบ้างในส่วนของสินค้าใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนสินค้าใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นอาจเติบโตเพิ่มหากมีมาตรการส่งเสริมที่เหมาะสม ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตครั้งใหญ่ในไทย การทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวไม่ได้ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในหลายอุตสาหกรรมยังประสบภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานและต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือ ภาคการผลิตหันไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ชะลออัตราการเติบโตของการจ้างงานแรงงานต่างด้าวจากเพื่อนบ้าน หรือ อุปสงค์แรงงานต่างด้าวลดลงนั่นเอง ส่วนอุปทานแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะแรงงานต้องการเข้ามาทำงานเมืองไทยมากขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจะสูงสุดเป็นอันดับสองในอาเซียนหลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท 

สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดภาระหนี้ของภาคเอกชน ครัวเรือนและหนี้สาธารณะได้อย่างไรด้วยการขยายฐานรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ความมั่งคั่ง ควรใส่ใจต่อ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitiveness Index) มากขึ้น สนใจ ดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development Index) มากขึ้น เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของภาคการผลิตและภาคบริการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้เกิดการบ่มเพาะให้เกิดเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมในประเทศนี้ การบริหารเศรษฐกิจต้องไปให้ไกลกว่าจีดีพีและผลกำไรของบริษัทขนาดใหญ่ การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมผ่านการกำหนดค่าจ้างให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net