Skip to main content
sharethis

องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นด้วยสาเหตุเรื่องการสู้รบในพม่าเพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่สงครามกลางเมืองในพม่าทวีความหนักหน่วงขึ้น จนทำให้ตัวเลขในตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3 ล้านรายแล้ว


แฟ้มภาพมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน Friends Without Borders Foundation

22 พ.ค. 2567 องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เปิดเผยตัวเลขผู้พลัดถิ่นในพม่าในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าการสู้รบในพม่าได้บีบให้ประชาชนชาวพม่าต้องหนีออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเองเป็นจำนวนมากกว่า 3 ล้านรายแล้ว ซึ่งทางยูเอ็นเรียกว่าเป็น "หมุดหมายที่น่าสิ้นหวัง" สำหรับประเทศพม่า

ยูเอ็นระบุว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการยกระดับการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มติดอาวุธที่พยายามที่ต่อสู้เพื่อโค่นล้มเหล่านายพลผู้ยึดอำนาจของประเทศผ่านการรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564

สำนักงานผู้ประสานงานของยูเอ็นด้านที่อยู่อาศัยและด้านมนุษยธรรมสำหรับพม่า (UN Resident and Humanitarian Coordinator for Myanmar) แถลงเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า "ในช่วงสัปดาห์นี้ประเทศพม่ามีหมุดหมายที่น่าสิ้นหวัง จากการที่มีประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนในตอนนี้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นทั่วประเทศ ท่ามกลางการสู้รบที่หนักหน่วงขึ้น"

สำนักงานของยูเอ็นระบุอีกว่า "พม่าในปี 2567 อยู่ในภาวะที่ล่อแหลม มีวิกฤตด้านมนุษยธรรมรุนแรงขึ้นซึ่งสถานการณ์ได้แย่ลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564 และทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาจำนวนมากในหลายส่วนของประเทศ ทำให้มีผู้คนที่ทิ้งบ้านตัวเองเพื่อลี้ภัยเป็นจำนวนสูงมากเป็นประวัติการณ์"

ยูเอ็นระบุว่า ในจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 3 ล้านคน มีมากกว่าร้อยละ 90 ในจำนวนนี้ที่ลี้ภัยเพราะการสู้รบที่มีการรัฐประหารเป็นตัวจุดชนวน

ครึ่งหนึ่งของผู้พลัดถิ่นจำนวนนี้เป็นผู้ที่อยู่ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐชีน, ภาคมะกเว และ ซะไกง์ โดยมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 900,000 รายในทางตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้พลัดถิ่นอยู่ราว 356,000 รายที่อยู่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า เป็นรัฐเดียวกับที่เคยเกิดกรณีกองทัพใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงในปี 2560 ซึ่งในตอนนั้นมีประชากรมากกว่า 750,000 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือบังกลาเทศ

นับตั้งแต่ที่ผู้นำระดับสูงของกองทัพพม่า มินอ่องหล่าย ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของอองซานซูจีที่มาจากการเลือกตั้ง พม่าก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤต มีการประท้วงใหญ่ตามมา แต่พอหลังจากที่กองทัพพม่าโต้ตอบการประท้วงด้วยการใช้กำลังอย่างเหี้ยมโหด ทำให้ฝ่ายต่อต้านพัฒนากลายเป็นการลุกฮือจับอาวุธขึ้นต่อต้าน

มีการสู้รบหนักขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2566 ในตอนนั้นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แล้วเปิดฉากปฏิบัติการรุกคืบครั้งใหญ่ในทางตอนเหนือของรัฐฉานและทางตะวันตกของรัฐยะไข่ กองกำลังแนวร่วมฝ่ายต่อต้านสามารถบุกตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าได้หลายสิบฐานและยึดครองเมืองสำคัญได้หลายเมืองที่มีพรมแดนติดกับจีน

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้สู้รบกับกลุ่มติดอาวุธกะเหรี่ยงเพื่อแย่งชิงการควบคุมเมียวดี ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมการค้าแหล่งใหญ่ติดชายแดนไทย

ยูเอ็นกล่าวว่าความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมากขึ้นหมายความว่าประชาชนราว 18.6 ล้านคนในพม่าตอนนี้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2566 ถึง 1 ล้านคน

แต่ความพยายามเข้าถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือก็ถูกทำให้หยุดชะงักโดย "การขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก" พวกเขาบอกว่าจนถึงตอนนี้พวกเขาได้รับเงินทุนที่ต้องใช้ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน้อยกว่าร้อยละ 5

แถลงการณ์ของยูเอ็นระบุอีกว่า "ด้วยความที่ฤดูพายุไซโคลนกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ ทำให้ตอนนี้มีความต้องการทรัพยากรเพิ่มเติม เพื่อปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดและเพื่อช่วยชีวิตคน"

ปีที่แล้ว (2566) โฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามการที่กองทัพพม่าปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จะช่วยชีวิตผู้คนได้ ไม่ให้เข้าถึงผู้คนเหล่านี้ด้วยวิธีการสร้างอุปสรรคทางกฎหมาย, ทางระบบราชการ และทางการเงิน

เหล่านายพลกองทัพพม่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนและเผาบ้านเรือนประชาชนราบเป็นหน้ากลองนั้น เมินเฉยต่อแผนการสันติภาพ 5 ข้อที่พวกเขาเคยเห็นชอบร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆ เมื่อเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งควรจะเป็นแผนการที่นำมาใช้ในการยุติความรุนแรง

สมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าที่ทำการติดตามสถานการณ์ในพม่าระบุว่า มีประชาชนเกือบ 5,000 ราย ที่ถูกสังหารโดยกองทัพพม่านับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร มีประชาชนถูกคุมขังอยู่มากกว่า 20,000 ราย ในขณะที่อองซานซูจีกำลังต้องรับโทษจำคุกรวมแล้ว 27 ปี หลังจากที่มีการดำเนินคดีแบบปิดลับในศาลทหาร


เรียบเรียงจาก
‘Bleak milestone’: UN says 3 million forced to flee in Myanmar conflict, Aljazeera, 08-05-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net