Skip to main content
sharethis

'กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง' (KNA) ซึ่งเดิมทีเคยใช้ชื่อว่า 'กองกำลังพิทักษ์ชายแดน' (BGF) รัฐกะเหรี่ยง ที่เมืองเมียวดีติดกับชายแดนไทย ประกาศว่าจะมีการกลับไปร่วมมือกับกองทัพเผด็จการพม่าอีกครั้งในการปกครองเมืองเมียวดี

 

23 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ ‘Burma News International’ (BNI) รายงานเมื่อ 18 พ.ค. 2567 ว่า เมืองเมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามชายแดนไทย อ.แม่สอด จ.ตาก เคยอยู่ใต้อิทธิพลของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) โดยเมื่อต้นปีนี้ (2567) ได้ประกาศลดสัมพันธ์กับกองทัพเผด็จการพม่า (SAC) แล้วและเปลี่ยนชื่อเป็น 'กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง' (KNA) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานนี้ก็เหมือนจะกลับลำ และมีการประกาศว่าจะมีการกลับไปจับมือกับกองทัพเผด็จการพม่าอีกครั้ง

ผู้ที่อาศัยในพื้นที่เมียวดี กล่าวว่า ในเมืองนี้มีการวางกำลังอยู่ประมาณ 1,000 นาย ในการลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องและตรวจตราย่านใจกลางเมืองกับเขตพื้นที่ค้าขายชายแดน

"ในเมียวดี กองกำลัง BGF สาย 'โบ่มตโตน' (Bo Mote Thone) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรกาชาดพม่า (MRCS) และสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ในพื้นที่พะอัน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่พลัดถิ่น เพราะสงครามจำนวนเล็กน้อย ในขณะที่หน่วยทหารของซอชิตตู่ทำการลาดตระเวนรายวันด้วยยานยนต์ประมาณ 30 คัน และมีทหารอีกประมาณ 2-3 ร้อยนาย มีทหารกองทัพเผด็จการพม่ามากกว่า 100 นาย ประจำการอยู่ที่วัดมอญ อีกทั้งยังมีการวางกำลังทหารเพิ่มเติมที่ด่านตรวจร่วมกับหน่วยกองกำลังติดอาวุธด้วย โดยรวมแล้วมีทหาร BGF อยู่ประมาณ 1,000 นาย ที่น่าจะประจำการอยู่ที่เมียวดี" นักธุรกิจในเมืองเมียวดีกล่าว

ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการปะทะกันเกิดขึ้นในเมียวดี ระหว่างกองกำลังพันธมิตรฝ่ายต่อต้านภายใต้การนำของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กับกองกำลังเผด็จการทหาร ฝ่ายเผด็จการทหารสูญเสียฐานที่มั่น 3 แห่งให้กับฝ่ายต่อต้าน และมีทหารจำนวนมากจากกองพัน 257 ยอมแพ้

อย่างไรก็ตาม เผด็จการทหารได้ขู่ว่าจะทิ้งระเบิดใส่เมืองเมียวดี ที่มีประชากรอยู่ราว 200,000 ราย เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ KNLA ทำการล่าถอยในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเน้นทำการสกัดกั้นไม่ให้รถขนส่งลำเลียงกำลังเสริมของเผด็จการทหารเข้าถึงพื้นที่ได้

หลังจากที่ KNLA ล่าถอยแล้ว ทาง BGF/KNA ได้รุกเข้าไปยึดกุมพื้นที่ด้วยการอุดช่องว่างด้านความมั่นคง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทาง BGF/KNA จะเคยประกาศแยกตัวจากกองทัพเผด็จการมาก่อน แต่ในตอนนี้พวกเขาฉวยโอกาสกลับไปทำงานร่วมกับกองทัพเผด็จการอีกครั้ง เพื่อฟื้นคืนการควบคุมสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่มีการกลับมาเปิดอีกครั้งหลังจากที่มีการสู้รบเมื่อเดือน เม.ย.

หลังจากความขัดแย้งในเมียวดีเริ่มสงบลง กองทัพเผด็จการได้ทำการยึดกุมการบริหารราชการและเศรษฐกิจของชายแดน ในขณะที่ BGF/KNA คอยกำกับดูแลด้านความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมาย ผู้อาศัยในพื้นที่กล่าวว่า BGF/KNA ได้วางกำลัง 3 กองพันในเมียวดีเพื่อรักษาการควบคุมพื้นที่อาณาเขตนี้ไว้

ในเรื่องของการที่ BGF/KNA ควบคุมเมียวดีในปัจจุบันนั้น เจ้าหน้าที่ BGF/KNA ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งกล่าวว่า BGF/KNA ปฏิบัติการในฐานะรักษาการเจ้าหน้าที่ราชการของเมืองเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

"พวกเราทำข้อตกลงกับฝ่ายที่สู้รบกันทั้ง 2 ฝ่าย และกองกำลังของพวกเราก็คอยดูแลให้เมืองปลอดภัย แล้วก็ยังมีการวางกำลังอยู่รอบๆ สะพานของเขตชายแดนด้วย ผู้คนยังคงสามารถเดินทางไปที่เขตพื้นที่ค้าขายได้ จุดยืนของพวกเราคือไม่เข้าข้างฝ่ายใด" เจ้าหน้าที่ BGF/KNA กล่าว

มีสมาชิกครอบครัวของกองกำลัง BGF/KNA จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ย้ายไปยังใจกลางเมืองเมียวดี โดยที่คนในพื้นที่บอกว่าทั้งฝ่ายกองทัพเผด็จการและ BGF/KNA ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายอย่างเช่นการบริหารบ่อนการพนันและคาสิโนในเมือง

"เมื่อไม่นานมานี้ ครอบครัว BGF/KNA จำนวนมากได้ย้ายเข้ามาที่เมือง สมาชิกของกองกำลัง BGF/KNA ได้ทำการลาดตระเวนในช่วงกลางคืน บางครั้งก็สั่งหยุดตรวจและลงโทษผู้ต้องสงสัย อ้างว่ามันเป็นเรื่องของระเบียบวินัย นอกจากนี้พวกเรายังคงสังเกตเห็นว่ามีทหาร BGF/KNA จำนวนมากที่บ่อนการพนันและคาสิโนด้วย" ผู้อาศัยในเมียวดี กล่าว

ในตอนนี้ผู้อาศัยในพื้นที่ประมาณ 2,000 ราย รวมถึงผู้สูงอายุ ยังคงเป็นผู้พลัดถิ่นเพราะการสู้รบในหลายหมู่บ้านของเมืองเมียวดี ผู้ลี้ภัยจำนวนมากในกลุ่มนี้กำลังอาศัยในที่พักพิงชั่วคราวอย่างโรงเรียน วัด และตามบ้านญาติ พวกเขากำลังขาดแคลนอาหาร ที่พักอาศัย การสาธารณสุข และในบางพื้นที่ก็เผชิญกับโรคท้องร่วง ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลยจากขบวนลำเลียงความช่วยเหลือของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค. 2567 มีข่าวที่รายงานในหน้าสื่อต่างๆ ระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทยได้จัดให้มีขบวนลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้พม่า เครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) ได้ออกรายงานเกี่ยวกับการริเริ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทยในชื่อรายงานว่า "เรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในความขัดแย้ง"

"รถบรรทุกลำเลียงความช่วยเหลือได้ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมาและได้รับการคุ้มกันโดยรถกระบะ 10 คันที่มีการลำเลียงทหารกองกำลังพิทักษ์ชายแดน นำโดยพันตรี ทินวิน ไปทางตอนเหนือตามแนวชายแดนและหลังจากนั้นก็ไปทางตะวันตกข้ามเทือกเขาดาวนาถึงนาบู จากนั้นรถ 7 คันได้เคลื่อนไปตามถนนทางทิศเหนือมุ่งสู่เมือง ป่ายโจง (Paingkyon)" KPSN รายงาน

กระทรวงการต่างประเทศของไทย และหน่วยงานชายแดนไทย มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ BGF/KNA, กาชาดพม่า และ ข้าราชการบริหารส่วนท้องถิ่นของฝ่ายเผด็จการทหารในเมืองพะอัน

ในตอนที่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทยได้เข้าร่วมประชุมเวิร์ลด์อิโคโนมิคฟอรั่มที่นครดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาได้แถลงว่าเขาหวังว่าความริเริ่มด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพม่าจะนำไปสู่การยุติการสู้รบชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมและการหารือเพื่อมนุษยธรรม และจะช่วยให้เกิดการนำฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนว่าด้วยสันติภาพในพม่ามาปรับใช้

"เป้าหมายทางการเมืองของไทยคือการส่งเสริมการเจรจาหารือและความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกัน (และเป้าหมายที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของไทยเอง) โดยใช้เป็นธงนำการพิจารณาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในช่วงที่มีโครงการริเริ่ม" KSPN สรุป
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net