Skip to main content
sharethis

‘พริษฐ์’ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบฯ ปี 2568 เกี่ยวกับการศึกษาและยกระดับทักษะทุกช่วงวัย พบ 3 ปัญหาร่วมกัน คือรัฐคิดแทนทุกอย่าง พร้อมเสนอโครงการ 3 ตัวเปลี่ยนเกมยกระดับการศึกษาของคนทุกช่วงวัย รับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

20 มิ.ย. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในด้านการศึกษา

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเสนอหลักการ ตัวเปลี่ยนเกม 3 ตัว บนหลักการที่ไม่ใช่รัฐคิดแทนประชาชน แต่ผู้เรียน โรงเรียน และอาจารย์ ต้องมีสิทธิเลือกวิชา หรือการเรียน ที่พวกเขาต้องการ โดยที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน

เบื้องต้น พริษฐ์ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพของแรงงาน โดยอ้างอิงจากข้อความจาก "Chat GPT" เขียนอ้างข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า มีแรงงานจำนวนมากถึง 50% ของพนักงานทั่วโลก ต้องการการฝึกอบรมใหม่ภายในปี 2025 และในประเทศไทย กระทรวงแรงงานระบุว่า 60% ของแรงงานไทยยังขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับงานยุคดิจิทัล การยกระดับทักษะไม่เพียงแค่แก้ไขปัญหาการว่างงาน แต่ยังเพิ่มผลิตภาพและความสามารถการแข่งขันในระดับประเทศ 

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก 'แมคคินซี แอนด์ คอมปานี' (Mckinsey and Company) ระบุว่า 80% ของผู้บริหารเชื่อว่าการขาดแคลนทักษะจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนั้น การสนับสนุนการพัฒนาทักษะเป็นเรื่องจำเป็น

พริษฐ์ กล่าวว่า การเข้ามาของ AI ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องตกงาน แต่เรื่องนี้กำลังตอกย้ำเรื่องการยกระดับพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาเพื่อแข่งขันกับโลก

อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ เผยว่า เขามีความเป็นกังวลเนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทักษะตั้งแต่เกิดจนแก่ เด็กเรา 1 ใน 4 มีพัฒนาล่าช้าไม่สมวัย เด็กเรา 2 ใน 3 คนไม่สามารถความรู้จากในห้องเรียนมาใช้ได้จริง และแรงงาน 3 ใน 4 ไม่สามารถทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เช่น การใช้เมาส์ คีย์บอร์ด และอื่นๆ

เมื่อดูงบประมาณในโครงการของรัฐบาลจำนวน 5631 โครงการในปี 2568 รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการเรียนรู้ และยกระดับทักษะในทุกช่วงวัย อยู่ที่ 510,000 ล้านบาทโดยประมาณ กระจายไปยัง 175 หน่วยรับงบประมาณ และ 14 กระทรวง

ปัญหางบเรียนรู้ ไม่เรียนรู้

พริษฐ์ กล่าวว่า ในภาพรวม ไม่ว่าจะงบประมาณเด็กเล็ก งบประมาณการศึกษา งบประมาณผู้สูงอายุ และงบประมาณยกระดับทักษะแรงงาน มีปัญหาร่วม 3 ประเด็น

เมื่อมองภาพรวมปัญหาที่เขาพบงบประมาณการเรียนรู้ในโครงการต่างๆ ไม่ได้ลงทุนกับการเรียนรู้แต่ไปลงกับการสร้างอาคาร ยกตัวอย่าง เช่นโครงการพลิกโฉมผลิตภาพแรงงานไทย ที่เป็นโครงการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้งบประมาณสูงสุดในปีนี้ อยู่ 381 ล้านบาท แต่เกือบ 20 % ถูกใช้ไปกับการพลิกโฉมอาคาร ไม่ใช่พลิกโฉมแรงงาน

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า อีกตัวอย่างคือโครงการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถการทำงาน และการเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active Aging) ของกรมกิจการผู้สูงอายุ งบประมาณเดิมได้ 8 ล้านบาท ก็ขึ้นเป็น 20 ล้านบาท เกือบๆ ครึ่งหนึ่งของส่วนที่เพิ่มขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่กลับใช้ไปกับการปรับปรุงอาคาร

ปัญหาที่ 2 ต่างคนต่างทำ

พริษฐ์ ระบุว่าปัญหาต่างคนต่างทำ สะท้อนผ่านโครงการของแต่ละกระทรวงที่มีความซ้ำซ้อนด้านบทบาทหน้าที่ ยกตัวอย่าง เมื่อๆไปดูตัวอย่าง on-site training เช่น โครงการยกระดับทักษะดิจิทัลระดับสูง ให้กับบุคลากรด้านดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ มีงบประมาณ 16 ล้านบาท กลับไม่ใช่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กลับเป็นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน แต่กระทรวงที่มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน กลับไม่ใช่กระทรวงแรงงานที่รู้ดีที่สุด ที่ทราบแผนทรัพยากรแรงงานในตลาดแรงงาน แต่เป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ของกระทรวง DE

หรือกรณีแพลตฟอร์ม ศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันดิจิทัลลิ (Digital Literacy) มีแพลตฟอร์มของรัฐให้เรียนรู่ 5 แพลตฟอร์ม หรือถ้าอยากเรียน Design Thinking ก็มีให้เรียนถึง 4 แพลตฟอร์ม ซึ่งมีหลายแพลตฟอร์มดูแล้วไม่น่าเสียหาย แต่ปัญหาคือต้องลงทะเบียนไม่รู้กี่ครั้งเพื่อดูคลิปๆ เดียว เพราะระบบหลังบ้านไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ (ที่มา TP Channel)

ปัญหาที่ 3 ผู้เรียนไม่ได้เลือก ผู้เลือกไม่ได้เรียน “กระทรวงคิดแทน”

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ถ้าไปดูเรื่องงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษา แม้ว่างบประมาณก้อนนี้จะถูกส่งไปที่โรงเรียนก็จริง แต่ถูกส่งงบประมาณไปจำนวน 5 ก้อน หรือ 5 เสา ซึ่งสร้างข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นให้กับโรงเรียน ยกตัวอย่างว่า ถ้าโรงเรียนอยากโยกงบฯ อุดหนุนค่าเครื่องแบบ ไปใช้ในส่วนอื่นๆ ในโรงเรียน ก็ทำไม่ได้ และทำได้ยาก

สส.พรรคก้าวไกลระบุว่า งบประมาณส่วนใหญ่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ยกตัวอย่าง โรงเรียนภาคเหนือที่ได้ไปลงสำรวจ ทางโรงเรียนมีความพยายามของบประมาณซ่อมอาคารมานานมากแล้ว แต่กลับได้งบประมาณไม่ตรงจุด เพราะได้งบประมาณซ่อมส้วมมาแทน ซึ่งส้วมของโรงเรียนไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่โรงเรียนก็ต้องรับไว้ก่อน เพราะว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้ แต่พริษฐ์ ตั้งคำถามว่ามันจะดีกว่าไหม ถ้าโรงเรียนได้งบประมาณตรงกับที่ต้องการจริงๆ

พริษฐ์ ระบุต่อว่า เขาพบปัญหาด้วยว่าการอัปสกิลและรีสกิลของแรงงานของทุกหน่วยงานของรัฐ เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการจริงๆ หรือไม่ เมื่อตัวชี้วัดของหลายโครงการเน้นปริมาณว่ามีคนมาอบรมกี่คนและเสร็จสิ้นหรือไม่ มากกว่าอบรมสำเร็จหรือไม่ มาเรียนแล้วได้งานเพิ่มขึ้นกี่คน และได้รายได้เพิ่มกี่บาท ซึ่งพบปัญหาว่าหลายครั้งไม่ค่อยมีคนมาอบรมจนต้องเกณฑ์คนมาเข้าร่วม ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ผู้สอนหรือเจ้าหน้าที่ และข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบจัดการโครงการ

'งบบูรณาการการเรียนรู้และการยกระดับทักษะตลอดชีวิต เพื่อติดอาวุธทักษะให้กับทุกคน จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน'

พริษฐ์ เสนอแนวคิดการบริหารจัดการโครงการที่เปลี่ยนใหญ่ โดยใช้ตัวเปลี่ยนเกม 3 ตัว ประกอบด้วย เปลี่ยนเกมที่ 1 กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นช่วยดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือ 1,000 วันแรก

พริษฐ์ เสนอว่า ถ้าสมองของเด็กเล็กจะได้รับการพัฒนาช่วง 3 ปีแรก แต่พวกเราเด็กอายุ 3 เดือน-2 ปี เป็นช่วงอายุที่ถูกหลงลืมโดยรัฐมากที่สุด เพราะว่าเด็กอายุ 3 เดือน สิทธิลาคลอดของพ่อ-แม่จะสิ้นสุดลงและต้องกลับไปทำงาน แต่สมมติว่าพ่อ-แม่ จะฝากลูกไว้ที่ศูนย์เด็กเล็ก แต่ก็ต้องรออีก 21 เดือน เพราะว่าศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ รับเด็กตั้งแต่ 2 ขวบเป็นต้นไป

สส.พรรคก้าวไกล เสนอว่า รัฐต้องช่วยสนับสนุนท้องถิ่น โดยให้สามารถรับเลี้ยงเด็ก 2 ขวบลงไปได้อย่างสบายใจ และได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ในการช่วยขยายเวลาเปิด-ปิดศูนย์รับเด็กเล็กให้ผู้ปกครองสามารถมารับลูกหลังทำงาน และเปิดได้ตลอดปี

ที่มา: TP Channel

เปลี่ยนเกมที่ 2 ระเบิดงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อกระจายให้ถึงมือโรงเรียน ครู และนักเรียน

พริษฐ์ ระบุว่า เขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง หากแก้ไขเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรและการใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้งบประมาณถึงมือโรงเรียน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณใน 2 ส่วนด้วยกัน โดย 1. ส่วนของเงินอุดหนุนการจัดการศึกษา กระทรวงควรเปลี่ยนการส่งงบประมาณไปที่โรงเรียน จากเดิมส่งเป็น 5 ก้อนแยกออกจากกัน แต่ให้ส่งเป็นก้อนเดียว โดยไม่กำหนดวัตถุประสงค์ และให้โรงเรียนไปตัดสินใจเองว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

2. เพื่อให้งบประมาณถึงอาจารย์ พริษฐ์ เสนอว่าควรจะระเบิดงบประมาณที่ใช้กับโครงการอบรมครูจากส่วนกลาง ซึ่งคาดว่ามีหลักหลายร้อยหลายพันบาทมาเป็นคูปองให้ครูไปเลือกกันเองว่าจะใช้พัฒนาทักษะด้านไหนที่ตอบโจทย์ความต้องการของห้องเรียน และเพื่อให้ถึงมือนักเรียน ควรส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยทำเป็นคูปอง เพื่อให้ นร.เลือกได้ด้วยตัวเองว่าจะใช้กับกิจกรรมนอกห้องเรียนกิจกรรมใด

ที่มา: TP Channel

ตัวเปลี่ยนเกมตัวสุดท้าย ลงทุนในเมกะโปรเจกต์เพิ่มทักษะ

พริษฐ์ เสนอว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจาก ซัปพลายไซด์ สู่ ‘ดีมานด์ไซด์’ ว่าผู้เรียนอยากจะเรียน หรือครูอยากจะสอนอะไรมีสิทธิเลือกตามกลไกตลาด

เมื่อเปลี่ยนมุมมองจุดนี้แล้ว เขาเชื่อว่าเราจะสามารถลงทุนโดยใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สู่การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และสร้างแพลตฟอร์มระดับชาติ ชื่อว่า “National Skill Mega Project”  หรือแพลตฟอร์ม 3 in 1 ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แอปพลิเคชันออกกำลังกาย 'การ์มิน' (Garmin) และแอปพลิเคชันจับคู่ 'ทินเดอร์' (Tinder) กล่าวคือแพลตฟอร์มสำหรับแนะนำคอร์สอบรมที่ประชาชนต้องการเรียน (3 รูปแบบ) บันทึกวัดผล และประเมินผล เพื่อสร้างฐานข้อมูลต่อยอด และแนะนำคอร์สอบรมต่างๆ ไปแปลงเป็นหน่วยกิจทางการศึกษา และจับคู่หางาน ที่ไม่ใช่งานในตลอด แต่รวมถึงนักศึกษาฝึกงานที่ต้องการหาสถานที่ฝึกงาน และผู้พิการที่ต้องการหางานอีกด้วย

ที่มา: TP Channel

โครงการ ‘คูปองฝึกทักษะ 3 ประเภท’

พริษฐ์ ขยายเรื่องคอร์สที่ประชาชนสามารถมาเรียนระบุว่า รัฐจำเป็นต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อให้มีผู้มาเรียนผ่านงบประมาณอุดหนุนคูปองเสริมทักษะ รูปแบบที่สอดรับกับทักษะ 3 ประเภท 1. Foudation skill หรือทักษะที่เป็นประโยชน์กับทุกอาชีพ เช่น ภาษา การอ่านจับใจความ หรือการทำงานเป็นทีม ซึ่งสามารถจัดสรรเป็นคูปองอุดหนุนด้านการการเรียนให้ผู้เรียนจำนวน 1,500 บาทต่อคนต่อปี ไปเลือกเรียนทุกคอร์สที่ถูกรับรองโดยโครงการ

2. ทักษะประเภท 2 คือทักษะเชิงลึก (advance skill) เป็นทักษะที่เฉพาะเจาะจงงานหรืออาชีพที่รัฐต้องการจะส่งเสริม ยกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านจากโรงงานรถยนต์สันดาบ มาเป็นรถยนต์ EV ซึ่งมีทักษะความต้องการที่แตกต่างกัน โดยรัฐจะต้องเข้าไปอุดหนุนแรงงาน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะสามารถไปทำงานรถยนต์ EV ต่อได้เลย สิ่งที่เขาต้องการคือการยกระดับทำงานใหม่ ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลุ่มที่ 2 การยกระดับทักษะเพื่อการเปลี่ยนอาชีพจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ได้ โดยรัฐอาจต้องหาวิธีอุดหนุนใหม่ที่ไม่ใช่แบบคูปอง และรองรับต่อสถานประกอบการ และแรงงาน/ผู้เรียน

3. ทักษะชีวิตหรือ Life skill เช่น ทักษะสังเกตอาการสุขภาพจิต หรือสุขภาพกาย การเลี้ยงดูลูก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยรัฐอาจจะจำเป็นต้องอุดหนุน หรือทำงานร่วมกับประชาสังคมในการร่วมกันผลิตคอร์ส และเชิญคนมาเข้าร่วม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยรัฐอาจสร้างแรงจูงใจด้านภาษี ด้านการสมทบเงินออม หรือส่วนลดการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ

"รัฐต้องรวบรวมแพลตฟอร์มเป็นแพลตฟอร์มเดียว” แต่ดูเหมือนแนวทางที่รัฐเดิน คือคิดแทนผู้เรียนไม่ได้ให้ตลาดนำ หรือให้ผู้เรียนเริ่ม ผมยืนยันว่า เมกะโปรเจกต์เราสามารถเริ่มทำได้เลย โดยอาจจะเริ่มจากทักษะบางประเภท ที่มีคอร์สอบรมในตลาดเยอะอยู่แล้ว และมีวิธีสากลในการประเมิน" พริษฐ์ กล่าว

รัฐต้องไม่แค่แจกปลา แต่ต้องแจกเบ็ดตกปลาที่มีประสิทธิภาพ

พริษฐ์ ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังคงเลือกลงทุนอย่างเดิมในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง หรืออาคารสำนักงาน ในขณะที่สิ่งที่เพิ่มเติมในปีนี้คือการลงทุนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาเหมือนเดิม ทั้งในเชิงของปริมาณ และคุณภาพในการจัดสรรงบประมาณคือ การลงทุนยกระดับทักษะของคนในประเทศเรา

"ถ้าเปรียบดั่งภาพ เปรียบเหมือนเราเร่งซ่อมเรือ สร้างเรือ ส่งคนออกไปตกปลา แถมปลา แจกปลาให้เขามีติดไม้ติดมือไปบ้าง แต่สิ่งที่เรายังไม่เคยให้พวกเขาเลยคือ 'เบ็ดตกปลา' ที่มีประสิทธิภาพในการตกปลา เบ็ดตกปลาที่ทันยุคทันสมัยต่อสภาพแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไป

"การลงทุนในเบ็ดที่มีชื่อว่า “งบบูรณาการการเรียนรู้และการยกระดับทักษะตลอดชีวิต เพื่อติดอาวุธทักษะให้กับทุกคน จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ให้ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็กใน 1,000 วันแรก ระเบิดงบประมาณการศึกษาให้ถึงมือครู โรงเรียน และนักเรียน และลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ด้านทักษะ โดยใช้คูปองอุดหนุนทักษะให้กับคนทุกช่วงวัย เปรียบเสมือนตัวเปลี่ยนเกม หรือบิ๊กแบงทั้ง 3 อย่างที่ปลดล็อกศักยภาพไทยในเวทีโลก” พริษฐ์ ทิ้งท้าย 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net