Skip to main content
sharethis

ระดมสมองแก้ กองทุนประกันสังคมล่มสลายใน 30 ปี ไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานในระบบน้อยลง เล็งขยายเพดานเก็บเงินสมทบ ขยายอายุเกษียณไปถึง 65 ปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของกองทุนประกันสังคม ที่จะเกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้า ว่า ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มีการคํานวณและตั้งสมมติฐานว่ากองทุนประกันสังคมในปี 2567 คาดว่าขนาดกองทุนฯ ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท และในอีก 10 ปีข้างหน้า  กองทุนจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท แต่จากการคํานวณ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบการทํางานจะลดน้อยลง มีการคํานวณทางคณิตศาสตร์ว่าไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคม ขนาด 4-5 ล้านล้านบาท จะเหลือเป็นศูนย์ นั่นคือถึงการที่จะล้มละลายของกองทุนของประกันสังคม

หลังจากนี้ในปี 2568 ดอกผลที่กองทุนประกันสังคม มีวงเงินเท่าไหร่ ไปลงทุน ต้องมีค่าเฉลี่ยของดอกผลไม่น้อยกว่า 5% แต่อาจจะมีการยืดชีวิตออกไปได้บ้างสัก 3 ถึง 5 ปี ฉะนั้นจึงต้องหาวิธีการอีกหลายวิธี เพื่อมาสนับสนุน เช่น

1.การที่จะต้องขยายเพดานในการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจากปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท อาจจะต้องขยายไปเป็น 17,500 บาท ซึ่งแน่นอน ฝ่ายลูกจ้างจ่าย 5% นายจ้างจ่าย 5% ภาครัฐจ่าย 2.75% เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนให้เป็น 5% ทั้ง 3 ขาเท่ากัน

2.พิจารณาการขยายอายุของผู้ทํางาน จาก 55 ปีเป็น 60 ปี ในเบื้องต้น หลังจากนั้นเราอาจจะมีความจําเป็นต้องขยายไปทีละ 1 ปี จนครบ 65 ปี

3.เราต้องหาวิธีนําแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ระบบของประกันสังคมให้ได้ ไม่ใช่ว่าอายุ 55 ปีออกไป หรือ 60 ปีเกษียณไปแล้ว แต่ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีมันสมองที่ดี เราควรจะนำแรงงานเหล่านี้กลับมาทำงาน แต่อาจจะทำงานไม่เต็มเวลา จาก 8 ชั่วโมงลดเหลือ 4 ชั่วโมง หรือทํางานพาร์ตไทม์ เป็นบางช่วง

รมว.แรงงาน กล่าวว่า กองทุนประกันสังคม ในปี  2566 เราได้เงินตอบแทนหรือดอกผลจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 2.5 - 2.6% เท่านั้น เป้าหมายในปี 2568 ต้องไม่น้อยกว่า 5% และใน ปี 2569-2570 เป้าหมายต้องมี 7-8 % บริษัทที่จะไปลงทุน ความน่าเชื่อถือต้องไม่น้อยกว่า BBB+ นั่นเป็นหลักประกันอันหนึ่งที่ว่าบริษัทที่จะไปลงทุน ต้องมีความแข็งแรงมาก ๆ

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนตามกฎหมายคือกองทุนประกันสังคม ลงทุน 60% ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง อีก 40% สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้ แต่ในปีที่ผ่านๆ มา ด้วยความที่ทางผู้บริหารกองทุนประกันสังคมพยายามที่จะทํางานแบบฟิตเซฟตี้ หรือว่าอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยคือ 75% อยู่ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง และสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยงแค่ 25% แต่ถ้าเราทําในลักษณะนั้น แน่นอนจะยังคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างในปี 2568 เราคงจะต้องกลับไปใช้ตาม พ.ร.บ. คือลงทุนในสินทรัพย์ไม่เสี่ยงคือ 60% สินทรัพย์เสี่ยงคือ 40% ตาม พรบ.กองทุนประกันสังคม

“แต่ในอนาคต คงจะต้องหารือกับบอร์ดประกันสังคม ว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าในโลกปัจจุบันมีการวิเคราะห์ที่ดีเราสามารถเอาสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงเหลือ 50% และเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง 50% นั่นคือเป็นการระดมเพื่อนําดอกผล กลับเข้ามาสู่ประกันสังคม” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันที่ 24 - 25 ต.ค.67 จะมีการระดมสมองอีกครั้ง จะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะผู้บริหารกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ (เทมาเส็ก) จะมาบรรยายให้ฟังว่าการที่จะทําให้กองทุนประกันสังคม มั่นคงถาวร

“วันนี้กองทุนประกันสังคม กําลังเจริญเติบโต แต่เรารู้ว่าอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้าอนาคตเป็นอย่างไร วันนี้เราต้องแก้เพื่ออนาคตข้างหน้า ไม่รอให้เงื่อนกระชับ จนปลดไม่ได้แล้ว หรือปลดไม่ทันแล้ว” นายพิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 1/9/2024

รมว.ต่างประเทศ ช่วยแรงงานหญิงชาวอุดรฯ ไปทำงานต่างแดน-ถูกทำร้าย ก่อนประสานทูตช่วยเหลือกลับมาได้ปลอดภัย

30 ส.ค. 2567 นางเทียบจุฑา ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวขอบคุณนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ ภายหลังรับเรื่องร้องเรียนจากนางเกษร ชาวอุดรธานี กรณีมีแรงงานหญิงไทยชาวอุดรธานี ไปทำงานที่ประเทศบาห์เรน ก่อนขาดการติดต่อกันเกือบ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาทราบภายหลังว่า แรงงานหญิงฯ คนดังกล่าวถูกชายชาวบาห์เรนจับตัวไป และถูกทำร้ายร่างกายจนเสียสติ จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ช่วยดำเนินการติดตามตัวแรงงานไทยดังกล่าวกลับประเทศไทยด้วย

โดยนายมาริษ เร่งประสานกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน ติดตามตัวแรงงานหญิงไทยฯ คนดังกล่าว

ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมานามาฯ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานฯ คนดังกล่าว พร้อมส่งตัวกลับมายังประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ด้วยสายการบิน Indigo Airlines เมื่อวันพุธที่ 22 ส.ค.2567 และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2567

โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานให้ญาติของแรงงานคนดังกล่าว มารับตัวที่สนามบิน และขณะนี้ ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา และพำนักอยู่กับครอบครัวเรียบร้อยแล้ว

นางเทียบจุฑา ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมานามาฯ ที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยฯ คนดังกล่าว ที่ตกทุกข์ได้ยาก จนสามารถกลับมายังประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย

ที่มา: ข่าวสด, 30/8/2567

รมว.แรงงาน หวังคุมเข้มกฎหมายความปลอดภัยฯ เหตุดินถล่มอุโมงค์รถไฟ ส่ง กสร. กำชับนายจ้างป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

30 ส.ค. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังทราบข่าวลูกจ้าง 3 ราย เหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มเสียชีวิตทั้งหมด จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทันที ด้วยห่วงใยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง พร้อมให้กำชับนายจ้างต้องใส่ใจและปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน พ.ศ. 2554 รวมทั้งกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ และต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อว่า วันนี้ (30 สิงหาคม 2567) ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 3 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามูลเหตุของการประสบอันตรายเป็นการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งการขุดเจาะทุก ๆ 3 เมตรจะวางโครงเหล็กอุโมงค์ไปพร้อมกัน และเกิดเหตุดินถล่มในอุโมงค์ห่างจากปลายอุโมงค์ประมาณ 3.2 กิโลเมตร ลูกจ้างทั้ง 3 ราย เข้าไปทำงานโกยดินออกจากอุโมงค์และดินได้ถล่มลงมาอีกเป็นเหตุให้ดินทับลูกจ้างทั้ง 3 คนจนเสียชีวิต สาเหตุคาดว่าดินอุ้มน้ำจากฝนตกและชั้นดินไหล่เขาไม่มีความหนาแน่นของชั้นดินทำให้เกิดการพังทลายและไหลลงบริเวณขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานตรวจความปลอดภัย ได้เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบแล้ว และได้มีการเรียกนายจ้างสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 แต่นายจ้างขอเลื่อนนัดไปในวันที่ 6 กันยายน 2567 เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ประกอบการชี้แจง จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่คุมเข้มการบังคับใช้กฎหมาย เร่งสร้างการรับรู้ มุ่งเป้าคุ้มครองแรงงานให้ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอย้ำเตือนให้สถานประกอบกิจการทุกแห่งให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นอันดับแรก โดยต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ เพื่อป้องกันและลดการประสบอันตรายจากการทำงาน รวมถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของทั้ง 2 ฝ่าย

ที่มา: บ้านเมือง, 30/8/2567

คาดแรงงานติดอุโมงค์ถล่มคนแรกตายมาแล้ว 3-5 วัน เร่งช่วยอีก 2 คน

29 ส.ค. 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้เดินทางลงพื้นที่มาติดตามเหตุอุโมงค์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงถล่ม จ.นครราชสีมา มีผู้ประสบภัยติดอยู่ภายใน 3 คน

โดยนายอนุทินระบุว่าการพบร่างผู้เสียชีวิต 1 คน ทางทีมแพทย์รายงานให้ทราบว่า ผู้เสียชีวิตคนแรกที่นำร่างออกมาเมื่อเช้านี้ ขาดอากาศหายใจมาประมาณ 3 - 5 วันแล้ว แต่ส่วนจะมีปัจจัยใดเพิ่มเติม ขอให้รอผลชันสูตรที่เป็นทางการอย่างชัดเจน รวมถึงรายละเอียดเรื่องเนื้อเยื่อและผลต่างๆ ที่เกิดในร่างกายขณะเสียชีวิต ภายหลังจากนี้จะนำร่างของผู้เสียชีวิตส่งไปชันสูตร โดยแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

สำหรับสัญญาณชีพที่มีการตรวจก่อนหน้านี้ อาจเป็นการเคลื่อนไหวของวัตถุหรือก้อนหินภายในอุโมงค์ ล่าสุดแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้คำว่าจับชีพจร แต่ให้ใช้คำว่าจับความเคลื่อนไหวได้

อย่างไรก็ตาม ยังเหลืออีก 2 คนที่ยังรอคอยการช่วยเหลือ ทางทีมเร่งช่วยเหลือเต็มที่สุดความสามารถ ไม่ถอดใจแน่นอน

สำหรับร่างของผู้ประสบภัยที่พบเป็นคนขับรถบรรทุกชาวเมียนมา เจ้าหน้าที่พบอยู่ห่างจากจุดที่ดินถล่ม 3 เมตร โดยเจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวผู้ประสบภัยด้วยการเจาะดินเป็นแนวดิ่งลงไปตามพิกัด 1.50 เมตร ก่อนจะพบด้านหน้าของรถบรรทุกแต่ไม่พบตัวผู้ประสบภัย จึงทำการค้นหาและพบผู้ประสบภัยอยู่ข้างรถลักษณะนั่งข้างล้อรถบรรทุกเมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบว่าเสียชีวิตแล้วใกล้กับเครื่องสแกนที่ทีมกู้ภัยได้สแกนพบ ส่วนเวลาการเสียชีวิตหลังไม่สามารถยืนยันได้

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 2 คน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่าหลังจากนี้ ทางวิศวกรโครงสร้าง จะเพิ่มความแข็งแรงของอุโมงค์เหล็กยื่นเข้าไปในจุดผู้ประสบภัยทั้ง 2 คนอยู่ เพื่อความปลอดภัยของชุดกู้ภัยและงานต่อการลำเลียง

พร้อมระบุว่าคารวะจิตใจของนักกู้ภัยเนื่องจากดินยังไม่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่แต่ทุกคน มุ่งมั่นที่จะเข้าไปให้ถึงตัวผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานกับทางสุนัขดมกลิ่น เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในภารกิจการกู้ภัย ซึ่งหากโครงสร้างด้านในแข็งแรงก็จะเริ่มคนหาผู้ประสบภัยทั้ง 2 คนต่อทันที ซึ่งคนที่ 2 ห่างจากจุดที่พบผู้เสียชีวิตคนแรก 5 เมตร ส่วนคนสุดท้ายอยู่ห่างออกไปกว่า 10 เมตร

ขณะที่ตอนนี้เจ้าอยู่ระหว่างการทำอุโมงค์เหล็กเพื่อสร้างความแข็งแรง ก่อนจะให้ทีมกู้ภัยพร้อมสุนัขดมกลิ่นสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อค้นหาผู้ประสบภัยอีก 2 คนเพราะขณะนี้อุปสรรคใหญ่คือหินและดินที่ทับถมอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังมีความหวังเพราะตอนนี้ยังไม่พบตัวผู้ประสบภัย

ที่มา: Thai PBS, 29/8/2567

รมว. กำชับ กสร. เร่งช่วยลูกจ้างแพนการ์ดทวงสิทธิค่าจ้างเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท รักษาความปลอดภัย แพน การ์ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง หลังกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมขอเข้าพบเพื่อติดตามความคืบหน้า พร้อมสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งรัดการดำเนินการตามกรอบกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิโดยเร็วที่สุด

นายพิพัฒน์ เปิดเผยหลังการหารือว่า กลุ่มแรงงานเพื่อสังคมได้พาลูกจ้างบริษัท รักษาความปลอดภัย แพน การ์ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 15 คน มายังกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือ กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่งได้มีพูดคุยร่วมกันโดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้แทนกองคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนกองนิติการ ร่วมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง

โดยได้ข้อสรุปว่า พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับคำร้อง (คร.7) และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย จำนวน 3 คำสั่งตามรอบการจ่ายค่าจ้างแล้ว เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,390,897 บาท ซึ่งคำสั่งแรก ลงวันที่ 16 ก.พ. 2567 นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานครบถ้วนแล้ว เป็นเงิน 487,918 บาท คำสั่งที่สอง ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2567 นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่นำคำสั่งไปสู่ศาล

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีอาญานายจ้าง เป็นเงินจำนวน 619,183 บาท ส่วนคำสั่งที่สาม ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2567 เป็นเงินจำนวน 283,796 บาท นายจ้างนำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปฟ้องเพิกถอนที่ศาลแรงงานภาค 1 (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลาการวางเงินต่อศาล

ซึ่งวันนี้ยังได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง เพื่อเขียนคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พร้อมทั้งประสานเรื่องไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้านนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร.กล่าวว่า หลังจากนี้จะได้กำชับให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเร่งรัดการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิโดยเร็วที่สุด โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานให้ลูกจ้างได้รับความช่วยเหลือในทุกมิติ ได้แก่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในการขึ้นทะเบียนว่างงาน และจัดหางานที่เหมาะสมให้กับลูกจ้าง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ในการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิกรณีว่างงาน รวมถึงสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา ในการสำรวจความต้องการฝึกอาชีพของลูกจ้างตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/8/2567

สภาพัฒน์ฯ ชี้ "สังคมศาสตร์" เสี่ยงตกงานสูง แนะเพิ่มทักษะ AI

28 ส.ค. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การว่างงานในตลาดแรงไทยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งรกหลังจากการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 430,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 1.07% เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 2 ผู้ที่มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่1.5% แต่สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าปรับตัวดีขึ้น 9% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9%

โดยมีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย ส่วนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลงร้อยละ 19.8 และ 8.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 1.07 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน

ทั้งนี้สภาพัฒน์ ระบุว่า ผู้ที่ว่างงานส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา สูงสุดถึง 158,700 คน จากจำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เฉลี่ยระหว่างปี 2560-2566 หรือประมาณ 302,360 คน ซึ่งแบ่งเป็น คนที่เคยทำงานมาก่อนแล้วว่างงาน พบว่าไตรมาส 2/67 มีผู้ว่างงาน 37,400 คน ลดลงถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไม่เคยทำงานมาก่อน พบว่า มีการว่างงานถึง 129,300 คน

โดยพบว่า 63% จบ ด้านสังคมศาสตร์ และถ้ารวมกับสาขาธุรกิจ และกฎหมาย จะมีผู้ว่างงานถึง 66,600 คน ขณะที่สาขาการศึกษา มีผู้ว่างงาน 24,700 คน สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ผลิต และก่อสร้าง ว่างงาน 18,300 คน สาขาวิทยาศาสตร์ ว่างงาน 17,400 คน ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง

ดังนั้นการปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย WEF ระบุว่า ภายในปี 2027 งานในภาคธุรกิจกว่า  42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทยร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI  แต่ 90% เลือกจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะด้านการใช้AI

ทักษะที่สำคัญในอนาคต คือ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และมีความรู้เทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญมากในตลาดแรงงาน

ที่มา: Thai PBS, 28/8/2567

บอร์ดประกันสังคมเคาะเพิ่มเงินอุดหนุนบุตร อายุ 0-6 ปี จาก 800 บาท/เดือน เป็น 1,000 บาท/เดือน โดยจะเริ่มประกาศใช้ภายในเดือน ม.ค.2568

27 ส.ค.2567 การประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ครั้งที่ 11/2567 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งนายจ้าง ผู้ประกันตน และหน่วยงานรัฐ ให้ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร อายุ 0-6 ปี ของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จาก เดิม 800 บาทต่อเดือน เป็น 1,000 ต่อเดือน

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า มติดังกล่าวเตรียมประกาศใช้ในช่วงเดือน ม.ค.2568 โดยหลังจากนี้ จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบ ก่อนจะประกาศขอกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขในประกาศกระทรวงแรงงาน โดยจะมีเด็กที่เข้าเกณฑ์ได้รับเงินดังกล่าวประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน เป็นบุตรแรงงานไทยประมาณร้อยละ 98 และบุตรแรงงานข้ามชาติประมาณร้อยละ 2

สำหรับการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรของประกันสังคม มีการปรับเพิ่มไปเมื่อเดือน เม.ย.2564 จาก 600 บาท เพิ่มเป็น 800 บาท ซึ่งการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์ครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากหลายภาคส่วน พร้อมกับการศึกษาวิจัย ซึ่งจะไม่กระทบกับเงินกองทุนประกันสังคม

"ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ จะสามารถเพิ่มเงินจาก 800 บาทต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อเดือนได้ทันที"

สำหรับการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรครั้งนี้ กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า อาจยังไม่สามารถกระตุ้นความต้องการมีบุตรของประชาชนได้อย่างชัดเจน เนื่องจากการศึกษา พบว่า ประเทศที่มีสวัสดิการดี ก็ยังมีจำนวนการเกิดของเด็กลดลง แต่คาดหวังว่า จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรของแรงงานที่มีคุณภาพเพิ่มยิ่งขึ้น

ที่มา: Thai PBS, 27/8/2567

สศช. เผยไตรมาส 2 อัตราคนว่างงานเพิ่ม แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย แนะแรงงานพัฒนาทักษะ AI สอดคล้องความต้องการนายจ้าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/67 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5%

ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวที่ 1.5% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้น 9% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9% มีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย

ส่วนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 2.5% ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลง 19.8% และ 8.7% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1.07% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.01% ในไตรมาส 1/67

สภาพัฒน์ คาดว่าตัวเลขการว่างงานในช่วงถัดไป ถ้าดูตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มองว่าในไตรมาสถัดไป จะมีส่วนทำให้การว่างงานปรับตัวดีขึ้น ส่วนการว่างงานในไตรมาสนี้ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.07% ยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่ช่วงถัดไปมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ต้องติดตามคือ การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI

ขณะที่ การขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม 7.2% ในไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้งดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้

ที่มา: TNN, 27/8/2567

รมว.แรงงานตั้งเป้าลดประสบอันตรายจากการทำงานร้อยละ 1 ห่วงแรงงานไทยเป็นออฟฟิศซินโดรม เร่งหาทางสกัด

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานเสวนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้ร่วมงานเสวนา และสื่อมวลชน ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การจัดงานเสวนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เกิดความตระหนักรู้ในการป้องกันและลดการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ตลอดจนการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์และการให้บริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน รวมถึงให้การบำบัดรักษา และส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพให้ลูกจ้างสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามภารกิจของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการร่วมผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งต่อคนทำงานและผู้ประกอบการ

โดยตั้งเป้าลดการประสบอันตรายในการทำงานจากเดิมในปี 2566 จำนวน 81,536 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.8 ในปี 2567 ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ทุพพลภาพ ผู้สูญเสียอวัยวะบางส่วน

นายพิพัฒน์ ยังได้กล่าวถึง อันตรายจากโรคออฟฟิศซินโดรม ที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่นั่งทำงานในท่านั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งโรคนี้อาจทำให้พิการได้ในระยะยาว เป็นภัยที่มองไม่เห็นและอาจจะรุนแรงกว่าการประสบความอันตรายจากการทำงานในสถานประกอบการ จึงได้ให้สำนักงานประกันสังคมนายจ้าง ลูกจ้างตระหนักถึงอันตรายจากตรงนี้ด้วย

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานเสวนาฯ ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ถอดบทเรียนการบูรณาการงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน การนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับฟังความคิดเห็นในการพัฒนางานประกันสังคม การพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ให้สังคมแรงงานเข้าถึงข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเสวนาฯ ในวันนี้มีผู้เข้าร่วม จำนวน 600 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะอนุกรรมการพัฒนาส่งเสริมและป้องกันด้านความปลอดภัยในการทำงาน ผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมควบคุมโรค สมาคมส่งเสริมความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในการทำงาน โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ผู้แทนสถานประกอบการและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม โดยกิจกรรมในงานประชุมประกอบด้วยการมอบโล่และประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการต้นแบบการลดการประสบอันตรายและคลินิกโรคจากการทำงาน การเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ภายในงานได้จัดนิทรรศการ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้งานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน รวมถึงการนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนอีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/8/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net