Skip to main content
sharethis

บุกช่วยเด็กหญิง ถูกอนาจารและใช้แรงงาน

เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง และตำรวจ สน.ประชาชื่น บุกเข้าไปช่วยเหลือเด็กหญิง 3 คน ภายในทาวน์เฮาส์ ย่านงามวงศ์วาน 32 ที่งเปิดเป็นร้านหม่าล่าส่งแบบออนไลน์ ที่ถูกบังคับให้ใช้แรงงาน และยังถูกล่วงละเมิดทางเพศ

บ้านหลังนี้มีนายกอล์ฟ อายุ 34 ปี และภรรยาเป็นเจ้าของบ้านร่วม มีลูกจ้าง 6 คน จำนวนนี้ 3 คน ที่ผู้ปกครองแจ้งความคนหายไว้ เป็นเด็กหญิง อายุ 12 ขวบ 1 คน อายุ 13 ปี 1 คน และอายุ 17 ปี อีก 1 คน โดย 2 คนแรกเป็นชาวไทใหญ่

นอกจากนี้ ยังพบปืนเถื่อน 1 กระบอก, ปืนบีบีกัน 3 กระบอก และเชือกล่ามสุนัข1 เส้น เด็กทั้งหมดจะถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน และทำงานตั้งแต่เย็นจนถึง 04.00 น.ของอีกวัน หากขัดขืนก็จะทุบตี ใช้ปืนข่มขู่ หรือไม่ก็ใช้เชือกล่ามสุนัขฟาดตามร่างกาย หลายครั้งที่นายกอล์ฟบังคับเด็กไปขืนใจ

ส่วนค่าจ้าง ตกลงกับพ่อแม่เด็กเดือนละ 7,000 บาท แต่โอนจริงแค่ 5,000 บาท และเป็นการโอนให้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ก่อนตีมึน

นายกอล์ฟ เคยก่อคดีพรากผู้เยาว์ และเคยซื้อบริการเด็ก เคสนี้ให้การปฏิเสธว่า ขืนใจแต่ทุกอย่าง เจ้าหน้าที่มีหลักฐานในมือหมดแล้ว จึงคุมตัวทั้ง 2 คน ไปแจ้งข้อหา บังคับใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต, ข่มขืนใจ กักขังหน่วงเหนี่ยว, พรากผู้เยาว์ และครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนเด็กทั้ง 3 คน ถูกส่งไปที่บ้านพักเด็กและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 14/9/2567

สส.พรรคประชาชน จวก "อุ๊งอิ๊ง" ไร้นโยบายแรงงาน ทวงสโลแกนรดน้ำที่ราก 1 ปีผ่านไม่รู้แกล้งลืมหรือเกรงใจนายทุน

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระการแถลงนดยบายรัฐบาล นายเซีย จำปาทอง ส.สพรรคประชาชน อภิปรายถึงนโยบายของรัฐบาลว่าไม่มีเรื่องแรงงาน ใน 10 นโยบายเร่งด่วน แต่ตอนที่หาเสียงนโยบายแรงงานเป็นนโยบายเรือธง ตนขอเตือนความทรงจำ และตรวจสอบนโยบายขายฝันที่ พรรคเพื่อไทยเคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนเอาไว้ พร้อมยกสโลแกนที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้คือ“รดน้ำที่ราก ”เคยเสนอ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท 1 ครอบครัว 1 ซอฟเพาเวอร์ สร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น ยังจำได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเทคนิคที่มาหลอกให้ผู้ใช้แรงงานลงคะแนนให้เท่านั้น

“นอกจากเงินดิจิตอล 10,000 บาทแล้วยังไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรที่ ได้ทำตามสัญญาให้กับชาวแรงงานเลย ไม่รู้ว่าลืม แกล้งลืม หรือเกรงใจกลุ่มนายทุนเจ้าสัว และสาเหตุที่ไม่เลือกกระทรวงแรงงานไว้ในกับกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่สามารถทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ใชหรือไม่ หรือคนมีอำนาจ ยิ่งใหญ่จากสวรรค์ชั้นไหนมาสั่ง หน้าตาคณะรัฐมนตรี ถึงออกมาเป็นเช่นนี้ แบบนี้มีแต่เจ็บ เจ๊า และเจ๊ง แต่สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือเราได้รัฐมนตรีคนเดิมที่มาจากพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายแรงงาน แม้แต่นโยบายเดียว 1 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับพี่น้องแรงงาน”

นายเซีย ได้เปิดข้อมูลโรงงานปิดตัวไป 1,519 แห่ง และถูกเลิกจ้าง จากการปิดโรงงานไปทั้งสิ้น 41,103 คน นี่ไม่ใช่การบริหารงานที่ควรเป็น รัฐบาลแบบไหนที่หาเสียงว่าจะสร้างงานเพิ่มขึ้น แต่บริหารงานจนมีโรงงานปิดตัวมากมาย มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมากขึ้นและถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลอยแพ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่คุ้มครองสิทธิ์ของแรงงาน ทำเหมือนสมรู้ร่วมคิดเอาเปรียบลูกจ้าง

ดังนั้น จึงอยากถามนายกรัฐมนตรีว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำตกลงจะเอาอย่างไร เพราะนอกจากไม่มีในคำแถลงนโยบายแล้ว ซึ่งในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการชี้แจงว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจึงไม่แน่ใจว่าโดยเร็วนี่เมื่อไหร่ ชาตินี้หรือชาติหน้า หรือชาติไหน ต่อมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแต่ปรับเฉพาะบางจังหวัด เฉพาะโรงแรม 4 ดาวและมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป และ ล่าสุดรัฐมนตรีได้ออกมาบอกว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแค่บางกลุ่มอาชีพ บางไซส์ของสถานประกอบการ แต่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะปรับเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ บริหารแบบนี้บอกได้เลยว่า 3 ปีไม่มีเจ๊ามีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

"ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้าง หากมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลในทางลบ ก็จะอ้างว่าเป็นมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง แต่พอปรับขึ้น กับเคลมว่าเป็นผลงานของตนเอง ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่เป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน หรือเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี หากเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี คือจริงท่านอย่าได้เสนอหน้าให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก่อน ที่จะมีการประชุมและได้ข้อสรุปร่วมกัน ถ้า พวกท่านไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ควรพิจารณาตนเองด้วย ก่อนที่ประเทศจะเจ๊งไปมากกว่านี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทจะขึ้นได้ไหม ขึ้นได้กี่โมง ค่าครองชีพขึ้นไปไกลแล้ว 1 ปีที่ผ่านมาศูนย์เปล่าไปกับคำพูดขายฝัน ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข หนำซ้ำยังปล่อยให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีกต่อเนื่องและอีก 3 ปีที่เหลือ เราจะหวังอะไรจากรัฐบาล

ส่วนเรื่องกฎหมายลาคลอดตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญจริงๆ ก็ขอให้บอกลูกค้าของพรรคฝั่งรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายด้วย ดังนั้นหวังว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำตอบที่ชัดเจน พี่น้อง แรงงานจะได้รู้ว่าจริงใจ กับแรงงานอย่างที่เคยสัญญาไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูก พี่น้องแรงงานสาปแช่ง และเป็นตราบาปติดตัวไปตลอด หลอกลวงให้พี่น้องแรงงานลงคะแนนให้ แต่กลับไม่สนใจเมื่อมีอำนาจ หากไม่ทำตามที่สัญญาไว้พี่น้องแรงงานจะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้อย่างไร

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/9/2024

อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดส่งข้อมูลค่าแรง 3 จังหวัดขึ้น 400 บาท “ภูเก็ต-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” อีก 23 จังหวัด ไม่ขอปรับ

นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียง โดยในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ทยอยปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ในบางธุรกิจท่องเที่ยว 10 จังหวัด และได้ประกาศเมื่อเดือนพ.ค.2567 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.2567

จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจต่างออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ได้หารือเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กกร.ได้ประสานกับ กกร.กลุ่มจังหวัด พร้อมคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพื่อทำหนังสือเสนอผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด ในการแสดงจุดยืนของ กกร.ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการครบ 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ขั้นตอนการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดให้เสร็จภายในเดือนก.ย.2567 โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัด ได้ส่งข้อมูลค่าจ้างของแต่ละจังหวัดเข้ามาที่ส่วนกลาง ซึ่งขณะนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่กำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ก.ย.2567

หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง และข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดมีอย่างน้อย 23 จังหวัดที่ไม่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทำให้คงระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 330-345 บาท เช่น หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ หนองคาย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี

นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดมีการเสนอขั้นค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันระหว่าง 2-42 บาท รวมทั้งส่วนใหญ่เสนอให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2568 เช่น อ่างทองเสนอปรับเพิ่มขึ้น 29 บาท, เลยเสนอปรับขึ้น 26 บาท

สมุทรปราการเสนอปรับขึ้นมากที่สุด 42 บาท ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 405 บาท แต่ข้อเสนอไม่ระบุวันที่มีผลบังคับใช้ ส่วนภูเก็ตเสนอปรับขึ้น 30 บาท เป็นวันละ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้เดือนม.ค.2568 ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวทำให้มี 3 จังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ

ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์การพิจารณาได้อาศัยกฎหมายมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในคณะกรรมการค่าจ้างศึกษา และพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น

โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า และบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการ งาน หรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/9/2567

สหรัฐฯ ปลด 'กุ้งไทย' ออกบัญชีดำใช้แรงงานเด็ก แต่เพิ่ม 'ปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์' ใช้แรงงานบังคับ

นายบัญชา  สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า  ได้รับรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน.ดี.ซี. ว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกาได้ออกรายงาน Findings on the Worst Forms of Child Labor (TDA Report) ได้ถอดถอนรายการสินค้ากุ้งจากประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือ TVPRA และ EO Lists แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2566 ประเทศไทยมีความพยายามในการดำเนินการตรวจสอบกิจการประมงและกุ้งเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจแรงงานเชิงรุกและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตกุ้งและกิจการที่เป็นห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ มีการกำกับดูแลการใช้แรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และนำมาตรฐานแรงงานไทยและแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ในการบริหารกิจการ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับร่วมกับ 12 องค์กรภาคเอกชน เพื่อกำกับดูแลแรงงานข้ามชาติและขจัดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน และได้จัดทำรายงานสถานการณ์แรงงานเด็กและแรงงานภาพบังคับในสินค้ากุ้ง และปลา เพื่อเสนอปลดรายการสินค้าไทยจากบัญชี Blacklist ของสหรัฐอเมริกา

ด้วยความพยายามดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอดถอนสินค้ากุ้งของไทยออกจาก TDA Report เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกายังคงจัดลำดับให้ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศผู้ผลิตสินค้ากุ้งโดยใช้แรงงานบังคับที่เป็นผู้ใหญ่ และมีการเพิ่มรายการสินค้าไทยซึ่งมีการผลิตโดยใช้แรงงานบังคับอีก 3 รายการ ได้แก่ ปลาป่น (Thailand Fishmeal)  น้ำมันปลา (Thailand Fish Oil) และอาหารสัตว์ (Thailand Animal Feed) ก็ตาม ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่า การจัดทำบัญชี TDA Report เป็นความพยายามของสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้ามีการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ไม่ได้ส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางการค้า แต่เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการดำเนินการด้านแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมงอย่างเข้มแข็ง กรมประมงจะบูรณาการในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ประกอบการด้านการผลิตปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารกุ้ง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและอุดช่องว่างที่สหรัฐยังมีข้อกังวลในการใช้แรงงานบังคับกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า 3 รายการดังกล่าวต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 11/9/2567

รมว.แรงงาน สั่งการให้ช่วยลูกจ้าง “ตั้งฮั่วเส็ง” หลังถูกเลิกจ้างงาน ให้ได้รับเงินตามสิทธิ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มอบหมายให้ นายมนัส โกศล เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือ พร้อมรับหนังสือจากตัวแทนลูกจ้างบริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด จำนวนประมาณ 30 คน ที่รวมตัวเพื่อขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือกรณีนายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคารกระทรวงแรงงาน และห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1

นายพิพัฒน์ เปิดเผยถึงกรณีที่ตั้งฮั่วเส็งปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 104 คน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ว่า ได้มอบหมายให้นายมนัส โกศล เป็นผู้แทนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม หารือร่วมกับตัวแทนลูกจ้างที่มายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ เนื่องจากนายจ้างยังคงค้างจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย

"กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือลูกจ้างในการรับคำร้อง (คร.7) พร้อมเร่งดำเนินการให้ได้รับเงินตามกฎหมายทั้งค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม และเร่งอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อให้มีเงินดำรงชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างในเบื้องต้น" นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร. ได้รับทราบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของตั้งฮั่วเส็งมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากเคยมีการค้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่ง กสร. ได้ช่วยเหลือลูกจ้างมาโดยตลอด จนกระทั่งพบว่ามีการปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง

"เบื้องต้นได้ช่วยเหลือลูกจ้างโดยการรับคำร้องของลูกจ้างบางส่วนแล้ว และมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมทั้งเงินอื่น ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของกฎหมาย" นางโสภา กล่าว

ที่มา: PPTV Online, 11/9/2567

ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

จากกรณีที่รัฐบาล นางแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 โดยใช้เกณฑ์สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังปรับค่าแรงครั้งนี้

นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้ากลุ่มภาคอีสานตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ) เจ้าของธุรกิจก่อสร้างและห้างบิ๊กโฮม จ.เลย ระบุว่า ในมุมมองของภาคของเอกชนเราเห็นด้วยให้ขึ้นค่าแรง แต่อยากให้มีการพิจารณาเรื่องของปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาทให้ดูตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากสาธารณูปโภค หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของในแต่ละจังหวัดมันไม่เท่ากัน อย่างเช่น ใน กทม. ภูเก็ต ในปัจจุบันค่าแรงได้เกิน 400 บาทไปแล้ว ในขณะจังหวัดเล็กๆ อย่างกลุ่มจังหวัดที่ตนดูแล คือกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไกลปืนเที่ยง บางจังหวัดรถไฟก็ไปไม่ถึง เครื่องบินก็ไม่มี ถามว่าโรงงานเขาจะมาตั้งทำไม ในเมื่อมีค่าแรงเท่ากัน เขาก็ไปตั้งใน กทม.ไม่ดีกว่าหรือ

หากถ้าจะมาตั้งโรงงานในภาคอีสานตอนบน เขาควรที่จะได้รับการสนับสนุนค่าแรงที่มีความแตกต่างกันบ้าง ถ้าถามค่าแรงควรปรับขึ้นมั้ย ควรปรับขึ้นแต่ควรจะทยอยปรับขึ้น ตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

โดยเฉพาะในแต่ละจังหวัดเขามีคณะกรรมการไตรภาคีประกอบไปด้วยตัวแทนของลูกจ้าง 5 คน ตัวแทนของนายจ้าง 5 คน และตัวแทนของภาครัฐ 5 คน ซึ่งในการประชุม 5 จังหวัดอีสานตอนบน ต่างมีความคิดเห็นออกมาแล้วการปรับขึ้นค่าแรงในปลายปีนี้ และข้อตกลงจะมีการขึ้นค่าแรงเพิ่มอีก 5 บาท ต่อวัน ซึ่งตัวแทนลูกจ้างก็เห็นด้วย

“แต่หากขึ้นทีเดียว ก็จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการ และสินค้าทุกอย่างก็เรียงหน้าปรับราคาขึ้น ผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ หากมองในมุมของทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อของขึ้นราคา เงินก็เฟ้อ เมื่อรัฐประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สินค้าทุกอย่างปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน” นายณัฐพลกล่าวและว่าในส่วนของนายจ้างเองก็อาจมีการปรับตัว และได้มีการพูดคุยกันอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการ หากปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้ ผู้ประกอบการจะเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ และหันมาใช้เครื่องจักรแทนคนมากขึ้น ลดการใช้แรงงาน เพราะทนแบกภาระต้นทุนสูงไม่ไหว

นายณัฐพลกล่าวอีกว่ากรณีของลูกจ้างหรือแรงงานไร้ฝีมือเองก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทั้งที่แรงงานพวกนี้ประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มโดยใช่เหตุ นายจ้างก็ต้องผลักภาระให้กับผู้บริโภคอยู่ดี รัฐบาลควรจะต้องหันมามองว่า ทำยังไงที่จะเพิ่มขีดความสามารถ หรือเพิ่มศักยภาพแรงงาน ไม่ใช่ไปทำมติเดียวคือเพิ่มค่าแรงอย่างเดียว ถ้ายังทำแบบนี้ชาวบ้านเดือนร้อนอย่างแน่นอน ทั้งผลกระทบกับผู้ประกอบ และลูกจ้างเองด้วยเช่นกัน ผลกระทบจะเกิดโดยต่อธุรกิจ

เมื่อบริษัทจ้างงานไม่ไหว ก็ต้องเลิกจ้าง ลดการลงทุน นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ของรัฐบาล แรงงานไม่มีฝีมือที่ได้อนิสงค์มากสุด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานมีฝีมือค่าแรงส่วนใหญ่เกินค่าแรงขั้นต่ำกันอยู่แล้ว และรัฐควรจะมอง การปรับค่าแรงต้องปรับตามแต่เศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ ไม่ใช่ว่าปรับขึ้นค่าแรงเท่ากัน และพร้อมกันทั้งประเทศแบบนี้ สถานการณ์มีแต่จะแย่ลง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/9/2567

กรมการจัดหางาน ชี้แจงประเด็น แรงงานข้ามชาติเชิญชวนทำบัตรต่างด้าวปลอม ตรวจสอบพบกระทำผิด ดำเนินคดีตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีมีสื่อออนไลน์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทำผิดของแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอ เชิญชวนทำเอกสารปลอม หรือบัตรกลุ่มแรงงานต่างด้าว หรือทำบัตรชมพู อย่างโจ่งแจ้งไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ โดยหญิงสาวในคลิปได้กล่าวถึงขั้นตอนการทำบัตรปลอม และเชิญชวนให้ทำบัตรต่างด้าวปลอมเป็นภาษาเมียนมา ในประเด็นนี้กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าคลิปดังกล่าวเป็นการเชิญชวนคนต่างด้าวทำบัตรชมพู ซึ่งหากเป็นบัตรที่ถูกต้องจะออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จากการตรวจสอบทราบตัวบุคคลต่างด้าวรายดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานเจ้าของบัตรเพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหามิให้มีการปลอมแปลงต่อไป ซึ่งการโพสต์เชิญชวนทำบัตรปลอมของแรงงานต่างด้าวรายดังกล่าวเข้าข่ายกระทำความผิด “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามิให้มีการปลอมแปลงต่อไป และกรมการจัดหางานยังใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสร้องทุกข์จากประชาชน

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้แก่คนต่างด้าว ของกรมการจัดหางานมีการตรวจสอบข้อมูลกับประเทศต้นทาง อาทิ รายชื่อ หนังสือเดินทาง รูปถ่ายของคนต่างด้าว ซึ่งผ่านการรับรองจากสถานทูตประเทศต้นทางนั้นๆ เป็นกระบวนการที่มีความรัดกุม กรณีมีข้อสงสัยว่าบัตรอนุญาตทำงานของกรมการจัดหางานเป็นบัตรจริงหรือไม่ ยังสามารถตรวจสอบได้ทันที ผ่าน QR CODE ในบัตร ว่ามีข้อมูลตรงตามที่ระบุไว้หรือไม่ ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบพบการปลอมแปลงจริง กรมการจัดหางานจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ปลอมแปลงและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด พร้อมสืบหาข้อเท็จจริงว่าเป็นการปลอมแปลงในลักษณะใด เพื่อแก้ไขปัญหามิให้มีการปลอมแปลงต่อไป

ทั้งนี้ หากท่านใดพบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย หรือพบคนต่างชาติลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย แจ้งมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 02-354-1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน

ที่มา: FM91 Trafficpro, 10/9/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net