Skip to main content
sharethis

ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมรับฟังการเสวนา หัวข้อ “ถอดบทเรียนการอพยพแรงงานไทยในต่างประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

8 ก.ย. 2567 เวลา 10.00 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมรับฟังการเสวนา ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนการอพยพแรงงานไทยในต่างประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน” โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน และนายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าว

โอกาสนี้ นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี ร่วมรับฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย ณ โรงแรมแกรนด์แปซิฟิก ซอฟเฟอริน รีสอร์ทแอนด์สปา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 8/9/2567

เปิด 7 มาตรการช่วยนายจ้าง-ลูกจ้าง หลังขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท

7 ก.ย. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือนายจ้างกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาทในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ว่า กระทรวงแรงงานได้รับข้อหารือจากผู้ประกอบการ และจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่ทางกระทรวงแรงงานตั้งขึ้นมา โดยปลัดกระทรวงแรงงานได้รายงานมา เรายังยืนยันที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่ 400 บาท

“การที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตรงนี้ความรอบคอบของกระทรวงแรงงาน โดยศึกษาถึงผลกระทบว่าเมื่อประกาศค่าแรงขั้นต่ำในสภาวะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ในโลกใบนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยเราคงทราบดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว เพราะฉะนั้นผมให้นโยบายไปกับปลัดกระทรวงแรงงานว่าจะต้องพิจารณาและหาผู้ที่ให้ข้อมูลในเชิงวิเคราะห์ให้ได้มากที่สุด จากการวิเคราะห์และศึกษาร่วมกับทางประกันสังคม มีข้อสรุปออกมาว่าการที่เราจะประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท โดยจะไปดูในเรื่องของไซส์แอล คือจะเอาเกณฑ์ที่มีสถานประกอบการที่มีผู้ใช้แรงงานหรือมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป นี่เป็นบทสรุปซึ่งท่านปลัดฯจะต้องนําเรื่องต่างๆ เหล่านี้เข้าไปหารือกับทางสภาพัฒน์ฯ แล้วไปหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการหารือระหว่างตน ปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการประกันสังคม ได้ข้อสรุปเฉพาะของประกันสังคมว่า จะมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ที่มีแรงงานในบริษัทมากกว่า 200 คนขึ้นไป โดยลดการนําส่งสําหรับนายจ้าง 1% ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 ไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2568 เป็นเวลา 12 เดือน

ในส่วนของ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ซึ่งเมื่อมีลูกจ้างต่ำกว่า 200 คน เราจะไม่ไปกระทบ แต่จะต้องหาวิธีการว่าจะทําอย่างไรให้ SMEs ซึ่งถือครองผู้ใช้แรงงานมากกว่า 90% ให้ยืนต่อไปได้ จนกว่าเราจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปกว่านี้ มั่นใจว่าการที่มีรัฐบาลใหม่ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งในความเป็นคนรุ่นใหม่ เชื่อในความคิดใหม่ๆ ของผู้นําท่านใหม่ว่าสามารถที่จะพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราไปได้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอให้กระทรวงการคลังไปดูมาตรการต่างๆ ว่าเมื่อ พ.ศ.2555 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 300 บาทว่ามีมาตรการทางกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง เราจะหารือกระทรวงคลังและนํามาปฏิบัติอีกครั้ง และจะนําเสนอว่าจากการที่คุณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเอาส่วนที่เกินก่อนหักภาษี 1.5 เท่า มาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการบรรเทาเรื่องการชําระภาษี ส่วนมาตรการอื่นๆ คงจะต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาและประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง

นายพิพัฒน์ กล่าวถึงมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการด้วยว่า ได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณาเอาเงินก้อนหนึ่งเข้าไปเพื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ในการที่จะไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาในสิ่งต่าง ๆ เท่าที่เราคิดว่าเราทําได้ แต่เป็นเงินจํานวนเท่าไหร่ ต้องขอหารือกันอีกครั้งว่าภาพรวมผู้ที่จะเข้ามา และผู้ที่ขาดสภาพคล่องที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นเป็นวงเงินเท่าไหร่ ทางกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมเราพร้อมให้การสนับสนุน เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งกระทรวงแรงงานเราไม่สามารถที่จะให้ทางผู้ประกอบการกู้ยืมเป็นทางตรงได้ แต่เราจะประสานงานกับสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้อีกชั้นหนึ่ง

“เราจะให้ผู้ประกอบการแจ้งความจํานงมาที่กระทรวงแรงงานในเบื้องต้น จากนั้นจะส่งรายละเอียดไปให้กับสถาบันการเงิน พิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันการเงินจะต้องเป็นผู้พิจารณาขั้นตอนสุดท้ายเพราะความรับผิดชอบเป็นของสถาบันการเงิน ทางกระทรวงแรงงานไม่สามารถที่จะไปรับผิดชอบตรงนั้นได้ แต่เราจะสกรีน หรือตรวจสอบในเบื้องต้นไปให้กับสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินเป็นผู้ตรวจสอบขั้นสุดท้ายว่าสถานประกอบการเหล่านั้นเหมาะสมที่จะได้รับการสนับสนุนในวงเงินกู้รายละเท่าไหร่ ผมมั่นใจว่าสิ่งต่างๆ ที่กระทรวงแรงงานส่งไปให้ เราจะกลั่นกรองอย่างดี ซึ่งการนํากิจการที่ไม่สามารถเดินต่อไปได้ ไปให้กับสถาบันการเงิน นั่นหมายความว่าจะไปสร้างภาระให้กับสถาบันการเงิน เราไม่อยากจะเห็นภาพอย่างนั้นเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งปวง การหารือระหว่างกระทรวงแรงงานกับสถานประกอบการ เรามีการสัมผัสผู้ประกอบการต่างๆ เป็นการภายใน ตลอดระยะเวลาเราพอที่จะรู้ว่าสถานประกอบการอันไหน กิจการใด สามารถเดินหน้าได้ แล้วคุณจะปรับ หรือคุณจะต้องการใช้เงินในการปรับปรุงกิจการ หรือปรับปรุงในเครื่องจักรต่างๆ ที่จะมาทําการลดต้นทุน ถ้าในส่วนนี้ผมคิดว่าผู้ประกอบการน่าจะยินดีที่จะไปขอรับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน”

นายพิพัฒน์ กล่าวถึง มาตรการลดภาษีในกรณีที่มีการฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในปี 2567 มีการอบรมสัมมนาผ่านสถานประกอบการใกล้เคียงคือ 4 ล้านตําแหน่ง ตรงนี้เราจะมีมาตรการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสถานประกอบการ สามารถนํามาหักภาษีหรือลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมาตรการต่างๆ คงจะมีหลายรูปแบบ เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกท่านที่มีการจัดอบรมไปพร้อมกับกรมพัฒนาฝีมืองานแรงงานทราบดีอยู่แล้ว

นายพิพัฒน์ เปิดผยว่า ได้เข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอมาตรการช่วยผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือราคาสินค้าก็จะทยอยขยับตัวตามค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปซึ่งเราจะเห็นทุกครั้งที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้ได้หารือว่าเราขอใช้โครงการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ในการที่จะนําสินค้าต่าง ๆ ออกขายตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนในการไปออกโครงการธงฟ้าทุกจังหวัดที่เรานําเสนอไปให้

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 7/9/2567

บุกรวบกลางห้าง ‘นายหน้าตุ๋นแรงงาน’ ขายฝันทำสวนแดนจิงโจ้ ได้เงินเดือนครึ่งแสน

6 ก.ย. 2567 พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. สั่งการ พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.2 บก.ป. นำกำลังเข้าจับกุม น.ส.พัชรีญา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1004/2558 ลงวันที่ 20 พ.ค.2558 ข้อหา “ทุจริตหรือหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อได้ไปซึ่งทรัพย์สิน, ร่วมกันจัดหาคนไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยการหลอกลวงฯ” ได้ที่บริเวณบูธแสดงสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ทราบว่าเมื่อปี’58 มีกลุ่มผู้เสียหายกว่า 30 คน เข้าแจ้งความกองปราบฯ หลังถูกนายหน้าจัดหางานหลอกเก็บค่าดำเนินการ รายละ 120,000 -170,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการพาไปทำงานไร่องุ่นที่ประเทศออสเตรเลีย แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถพาไปทำงานได้ตามที่กล่าวอ้าง หลังจากรับเรื่องพนักงานสอบสวนจึงรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3 ราย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทราบว่า น.ส.พัชรีญา หนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหาที่หลบหนีการจับกุมออกนอกประเทศไปตั้งแต่ปี 2558 ยังไม่มีประวัติการเดินทางกลับเข้ามาในประเทศแต่อย่างใด กระทั่งเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมสืบทราบว่า ผู้ต้องหาเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ ปัจจุบันมาทำงานอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านเขตภาษีเจริญ จึงเข้าจับกุมดังกล่าว

สอบสวน น.ส.พัชรีญายังให้การปฏิเสธ อ้างว่าตนถูกเพื่อนยืมบัญชีธนาคารไปใช้รับเงินจากกลุ่มผู้เสียหาย โดยที่ตนไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป.ดำเนินคดี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/7/2567

ปลัดแรงงาน ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ เฉพาะกิจการใหญ่ก่อน

6 ก.ย. 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยว่า ตามที่บอร์ดค่าจ้างจะต้องมีการประชุมในทุกเดือนนั้น แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ไม่มีการประชุมเนื่องจากอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ยังส่งตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดมาไม่ครบ ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกมา ล่าสุด ในเดือน ก.ย.นี้ อนุจังหวัดฯ ได้ส่งตัวเลขเข้ามาครบแล้ว จึงมีกำหนดการประชุมประจำเดือนออกมาแล้ว

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า โดยในวันที่ 9 ก.ย. จะมีการประชุมของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อนำตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดมาพิจารณาในรายละเอียด ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมของประเทศ ควรจะขึ้นเท่าไหร่

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้สำรวจประเภทกิจการที่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 400 บาทต่อวัน มาเพื่อพิจารณาประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในกิจการประเภทดังกล่าวก่อน แต่ต้องดูมติของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อน ส่วนบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่จะมีการประชุมกันในวันที่ 15 ก.ย.

เมื่อถามว่าในการประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะมีการกำหนดสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำเลยหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ยัง แต่จริงๆ สูตรไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการคิดคำนวณสูตรเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเราต้องพิจารณาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้า ภาวการณ์จ้างงาน ไปจนถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างด้วย ฉะนั้น จะเอาสูตรมาพิจารณาอย่างเดียวไม่ได้ อย่าไปมองว่าสูตรเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง

เมื่อถามว่าในนโยบายการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะเป็นไปในลักษณะใด นายไพโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่หลักการคืออาจจะต้องประกาศเป็นรายประเภทกิจการก่อน เช่น กิจการขนาดใหญ่ ไซซ์ L ที่มีลูกจ้างมากกว่า 200 คนขึ้นไป ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจ SME อาจต้องเอาไว้ทีหลัง หรือธุรกิจขนาดเล็กไซซ์ S หรือไซซ์ M อาจเอาไว้ก่อน ข้อสำคัญคือต้องดูถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างด้วย

เมื่อถามย้ำว่าจะเป็นการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกประเภทกิจการใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ใช่ เพราะต้องดูประเภทกิจการ เป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยเฉพาะ SME ที่ผู้ประกอบการจะเดือดร้อนแน่ๆ เราถึงต้องดูความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างเป็นสำคัญ

“ต้องดูสายป่านนายจ้างที่สามารถจ่ายให้ลูกจ้างได้ พร้อมกับดูองค์ประกอบหลายอย่างด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 6/9/2567

รมว.แรงงาน ยืนยัน เตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.นี้แน่นอน แต่จะไม่เท่ากันทั่วประเทศ เป็นเพียงบางอาชีพเท่านั้น พร้อมเดินหน้าทำตามนโยบายที่รัฐบาลชุดใหม่กำหนด

4 ก.ย.2567 ความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท รอบที่ 3 หลังจากปีนี้มีการประกาศปรับค่าจ้างไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. และวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้าง เตรียมเปิดประชุมพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2 ครั้งภายในเดือน ก.ย.นี้ และเตรียมเคาะตัวเลขสรุปให้เสร็จสิ้นทันที

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันยังคงเดินหน้าดำเนินการตามนโยบายที่ทำไว้ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะมีการประกาศปรับขึ้นให้ทันวันที่ 1 ต.ค.นี้ ตามที่เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้แน่นอน แต่จะเป็นการปรับขึ้นบางอาชีพ หรือ บางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งต้องรอผลจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยเชื่อว่า จะได้ผลตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยหลังจากนี้ ตนเองพร้อมเดินหน้าทำตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการปิดกิจการของสถานประกอบการทั้งขนาดใหญ่และ SME นั้น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน พร้อมเชื่อว่า แม้จะมีสถานประกอบการปิดกิจการ แต่จะต้องมีสถานประกอบการใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งกระทรวงแรงงาน พยายามที่จะพัฒนาทักษะอาชีพให้กับแรงงาน ให้ตอบรับกับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามา รวมถึง สนับสนุนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้มีช่องทางทำธุรกิจ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพนี้ คาดว่า กว่า 20 ล้านคน

ที่มา: Thai PBS, 4/9/2024

4 สมาคมสำคัญผนึกกำลัง ยกระดับมาตรฐานสรรหาแรงงานประมงต่างด้าว ลดความเสี่ยงค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของไทย

วันที่ 2 ก.ย. 2567 สมาคมอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมการค้าพัฒนาแรงงาน และสมาคมผู้ประกอบการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย (ประเทศไทย)  ร่วมเสวนาต่างย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในวงการอุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนกระบวนการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรม มุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในวงการสรรหาแรงงาน ลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์

นางอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ลูกค้าต่างประเทศ มีความมั่นใจในมาตรฐานจริยธรรมของบริษัทไทยมากยิ่งขึ้น การสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ ช่วยลดอัตราการลาออกของคนงานอย่างเห็นได้ชัด เราได้จัดเตรียมข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็นให้กับสมาชิก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการตอบสนองความคาดหวังระดับสากลในการสรรหาแรงงานอย่างมีคุณภาพและจริยธรรม

นายวิบูลย์ ศุภกรพงศ์กุล อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผลักดันการใช้โปรแกรม Seafood Good Labour Practices อย่างต่อเนื่อง คุ้มครองตลอดกระบวนการสรรหาแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ค่าจ้าง เงื่อนไขการจ้างงาน หรือสวัสดิการที่เหมาะสม ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผลผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนการสรรหาลดลง ตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้าในด้านมาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.สิริกร วรปัญญา นายกสมาคมการค้าพัฒนาแรงงาน นำเสนอแนวทางการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบที่โปร่งใสผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงของบริษัทในสายตาสาธารณชน และเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้า ส่งผลให้แรงงานมีความภักดีต่อบริษัทมากขึ้นและมีแรงจูงใจในการทำงาน

นายณัฐกฤษ สิริรักษ์วงศา อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า การสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เราวางแผนกำหนดนโยบายและมาตรฐานที่ชัดเจน จัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยและมาตรฐานสากล ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การสรรหาที่เป็นธรรมและยั่งยืนในระยะยาว

นายวันชัย สาครมณีรัตน์ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมักเผชิญกับความท้าทายในกระบวนการสรรหาและสภาพการทำงานที่ยากลำบากในประเทศปลายทาง การที่บริษัทแปรรูปอาหารทะเล และบริษัทจัดหางานของไทยได้ยกระดับการสรรหาแรงงานให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบ และโปร่งใสเพื่อป้องกันการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรได้รับการชื่นชมและสนับสนุนอย่างยิ่ง

สำหรับโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลการจ้างงานในธุรกิจอาหารทะเล (Fostering Accountability in Recruitment for Fishery Workers (FAIR Fish)) เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2562 และมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2567 โดย องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล มีเป้าหมายสำคัญในการลดการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกระบวนการสรรหาแรงงานข้ามชาติในภาคการแปรรูปอาหารทะเลของไทย พร้อมมอบรางวัลและประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความชื่นชมบริษัทแปรรูปอาหารทะเล และบริษัทจัดหางานของไทยที่มีความมุ่งมั่นในการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใสและยุติธรรม ด้วย

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 3/9/2567

เรือขนแรงงานเครื่องดับล่มกลางน้ำโขง โดดหนีตายสูญหาย 30 ราย

เกิดอุบัติเหตุเรือล่มในแม่น้ำโขง ใกล้กับท่าเรือของเขตปกครองพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

โดยสมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ “นอยคำนวน อินทะวง” โพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์เรือล่มดังกล่าวไว้ได้ โดยในคลิปมีคนลอยคอกลางแม่น้ำโขงที่กำลังไหลเชี่ยว โดยมีรายงานว่าเป็นเรือสัญชาติลาว ซึ่งไม่ใช่เรือกาบที่ขนสิ่งของทั่วไป และไม่ได้เป็นเรือรับจ้างข้ามแดน แต่เป็นเรือรับจ้างชาวเมียนมาที่หนีกลับประเทศ ประมาณ 40 คน เดินทางจากฝั่งสปป.ลาวจะไปขึ้นฝั่งแม่น้ำรวก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

ระหว่างที่ออกมาจาก สปป.ลาว เครื่องยนต์เรือดับลงกลางลำน้ำ ทำให้คนขับไม่สามารถควบคุมเรือได้ ประกอบกับแม่น้ำโขงไหลเชี่ยว โดยคนในเรือเห็นว่าคนขับไม่สามารถควบคุมเรือได้แล้ว จึงกระโดดลงจากเรือเพื่อเอาชีวิตรอด เรือเสียการทรงตัวพลิกคว่ำ ทำให้ผู้โดยสารและคนขับเรือทั้งหมดตกลงไปในแม่น้ำโขง

โดยจุดที่เรือล่มอยู่ใกล้กับบริเวณท่ามังกรของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ เรือโดยสารที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงเห็นเหตุการณ์จึงพากันออกช่วยเหลือผู้ที่ลอยคออยู่ โดยสามารถช่วยเหลือได้ประมาณ 10 คน โดยนำไปขึ้นฝั่งที่เมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ประมาณ 10 คน ส่วนที่เหลือยังคงสูญหายในแม่น้ำโขง คาดว่าเจ้าหน้าที่จะระดมช่วยเหลือผู้ที่สูญหาย

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว คาดว่าเป็นกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ที่ลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เจ้าหน้าที่ออกกวดขันผู้กระทำผิด ที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งคาดว่ากลุ่มคนดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตผ่านแดนและใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง จึงพากันหลบหนีออกมาและว่าจ้างเรือดังกล่าว เพื่อข้ามพรมแดนกลับไปยังประเทศเมียนมา จนทำให้เกิดเหตุเรือล่มดังกล่าวขึ้น

ที่มา: ข่าวสด, 3/8/2567

กอช.เพิ่มกลุ่ม 61-70 ปี ซื้อ “หวยเกษียณ” ได้ คาดเสร็จเร็วสุดไตรมาศ 1 ปี 2568

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ) ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้กฎหมายของกอช. ได้จบขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นแล้ว โดยกอช.จะนำข้อมูลความคิดเห็นทุกเรื่องพิจารณาและนำความคิดเห็นเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกอช.เพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง เพื่อนำเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะต้องส่งไปที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะต้องมีการแก้ไขกฏหมายของ กอช. หลังจากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าเร็วที่สุดจะสามรถออกหวยเกษียณได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2568

“ตอนนี้มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งจะต้องมีการรอให้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้ก่อน ซึ่งในส่วนของ กอช.ได้ทำการรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว มีการรวบรวมข้อมูลความเห็น เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง ถึงจะส่งไปไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติและออกกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขกฏหมาย เข้าสู่สภา ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้เวลานานเท่าใดไม่สามารถตอบได้ มีปัจจัยต่างๆอีกหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างเร็วที่สุดแบบไม่ติดขัดอะไรน่าจะออกหวยได้ไตรมาศ 1 ปี 68 “เลาขา กอช.กล่าว

นอกจากนี้มีข้อเสนอ ที่มีสมาชิกของกอช.ผู้มีอายุเกิน 61-70 ปี ต้องการที่จะมีสิทธ์ในการซื้อหวยเกษียณบ้าง ซึ่ง กอช.ก็เห็นควรด้วย จึงได้เพิ่มเติมเงื่อนไขสำหรับสมาชิกที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปสามารถซื้อหวยได้ต่อไปอีก 10 ปี หรือจนถึงอายุ 70 ปี จากเดิมที่กำหนดอายุไว้ที่ 15-60 ปี จากโครงการหวยเกษียณดังกล่าว คาดว่าจะสามารถดึงแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. เพิ่มได้อีก 5 ล้านคน จากปัจจุบันที่ สมาชิกมี 2.6 ล้านคน โดยยังไม่รวมกลุ่มที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

“มีข้อเสนอเข้าสู่คณะกรรมการด้วยว่าให้คนอายุ 61-70 ปี สามารถซื้อหวยเกษียณได้ด้วย แต่ต้องถือเงินส่วนนี้ไว้อีก 10 ปี เช่น ซื้อตอนอายุ 61 ปี ต้องถือไว้จนอายุ 71 ปี แต่เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่จะเข้าบอร์ด และ ต้องนำเข้าครม. อีกครั้ง ซึ่งต้องรอการแต่งตั้ง ครม. ใหม่ก่อน”

โครงการหวยเกษียณเป็นการแยกบัญชีออกจากบัญชีของสมาชิกกอช. เดิม โดยโครงการหวยเกษียณเป็นการสร้างแรงจูงใจการออมผ่านการถูกรางวัลและผลตอบแทนของการลงทุน โดยไม่ได้มีการได้รับเงินสมทบ ค้ำประกันผลตอบแทน และไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับบัญชีของสมาชิกกอช. โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกอช. อยู่แล้ว สามารถซื้อหวยเกษียณได้ โดยจะแยกเป็นอีก 1 บัญชี

“เงินที่ประชาชนซื้อหวยเกษียณเราก็จะนำไปลงทุนตามประเภทที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการฯ ซึ่งตอนนี้ก็คงดูที่เป็นความเสี่ยงต่ำไปก่อน โดยประชาชนที่ซื้อหวยเกษียณจะได้ผลตอบแทนตอนอายุ 60 ปี แต่เงินรางวัลสามารถอนออกได้เลย ซึ่งเป็นการซื้อหวยแล้วเงินไม่หาย แต่กอช.ไม่ได้การันตรีผลตอบแทนจากการลงทุนให้ว่าเท่าไร แต่คณะกรรมการจะลงทุนอย่างระมักระวัง มีความเสี่ยงน้อยที่สุด”

ส่วนรูปแบบของหวยเกษียณและการออกรางวัลอยู่ระหว่างการศึกษากับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่ารูปแบบใดจะเหมาะสมที่สุด สำหรับรางวัลของหวยเกษียณจะมีการออกรางวัลทุกวันศุกร์ โดยรางวัลแบ่งเป็น รางวัลที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล ·และ รางวัลที่ 2 จำนวนเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/9/2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net