Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์จาก 112 WATCH ชวนนักวิชาการมองสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคต การเคลื่อนไหวทางสังคมโดยคนรุ่นใหม่จะสำเร็จหรือไม่ ตลอดจนแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีต่อประเด็นอ่อนไหวและการละเมิดสิทธิในประเทศไทยให้ผลลัพธ์อะไรบ้างหรือไม่ 

112 WATCH สนทนากับวิลเลียม โจนส์ (William Jones) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะให้แง่มุมการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางด้านการเมืองไทยและสถานะของสถาบันกษัตริย์

112 watch : จากมุมมองของคุณ คุณมีความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างไร ?

จากภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ผมคิดว่าสิ่งที่อธิบายการเมืองไทยได้ดีที่สุดคือ ระบอบการเมืองที่กำลังเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง ภายในระบบมีการปะทะกันระหว่างสองพลังทางการเมืองได้แก่

1) พลังที่ต้องการความก้าวหน้าทางการเมือง ซึ่งต้องการให้การเมืองไทยเปิดเสรีมากขึ้นและรับใช้ประชาชนมากขึ้น

2) พลังที่ต้องการฉุดรั้งประเทศให้การเมืองถอยหลัง ไม่ให้เดินไปข้างหน้า ณ ปัจจุบัน เครือข่ายที่กำลังอยู่ในอำนาจทั้งที่เป็นกลุ่มและปัจเจกบุคคลต่างร่วมมือกันโจมตีและโดดเดี่ยวสิ่งใดก็ตามที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคาม ระบบการเมืองนี้อยู่เหนือระบบราชการที่ยังแข็งแกร่งและภาคประชาสังคมที่ยังมีความยึดโยงกับพวกเขา เขาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ผ่านหลายทางทั้งจากสังคม, ตระกูลการเมือง, และองค์กรศาสนา ผลจากการเชื่อมโยงนี้ทำให้เครือข่ายของพวกเขายังคงแข็งแกร่ง

ผมคิดว่าตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการอธิบายเรื่องนี้คือความสำเร็จของการจัดการโควิดขึ้นอยู่กับระดับความร่วมมือของประชาชนกับรัฐที่จะร่วมมือกันจัดการกับโควิด แน่นอนว่าความร่วมมือเช่นนี้ภายหลังได้สิ้นสุดลง ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็ตาม แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสังคมไทย

ในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบันที่ยาวนานราว 8 ปี มองเห็นอะไรบ้าง? 

ในแง่ความสัมพันธ์เชิงสถาบันกับประชาชนไทยเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงของการครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 ผมคิดว่าสิ่งนี้เข้าใจได้ทั้งในแง่ระยะห่างและความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกับประชาชน

ระยะห่างหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด 19 มักจะสัมพันธ์กันในแง่เชิงสัญลักษณ์มากกว่าการปฏิสัมพันธ์เชิงกายภาพ ที่สำคัญผมจำได้ว่าในช่วงศตวรรษที่แล้ว ข่าวช่วงค่ำของราชสำนักทั้งในทีวีและวิทยุเคยเป็นเรื่องที่สำคัญมากจนทำให้มีข่าวยาวถึง 10-15 นาที ทว่าในปัจจุบันข่าวราชสำนักกลับสั้นลง มีข่าวแค่ประมาณ 1 ชิ้นต่อวันและการออกอากาศก็ทำเพียง 2 นาทีเท่านั้น

เหตุที่คุณได้ติดตามการเคลื่อนไหวของเยาวชนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2020-2021 คิดว่าพวกเขาได้สร้างผลกระทบพอที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยหรือไม่?

ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาทำให้จุดสนใจทางการเมืองขึ้นไปสู่จุดพีค ซึ่งคนที่สนใจก็มากกว่าแค่กลุ่มของเยาวชน ส่วนผลกระทบจะมีผลอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ทำได้แค่รอเวลาว่าในอนาคต การเคลื่อนไหวจะหมดกระแสและหายไปจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์หรือไม่ คำถามว่าพวกเขาทำได้สำเร็จพอหรือไม่ ผมคิดว่ายังไม่ชัดเจนว่าจะตอบแบบไหน เพราะการชุมนุมก็เกิดขึ้นในบริบทเฉพาะ ทั้งจากความตึงเครียดจากการระบาดของโควิด-19 และนายกที่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน

ชุมชนระหว่างประเทศสามารถดำเนินการอะไรเพื่อช่วยให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีขึ้นได้หรือไม่ เช่น รายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีของสหรัฐอเมริกา มีผลต่อสถานาการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยหรือไม่ ?

เมื่อพูดถึงชุมชนระหว่างประเทศ เรามักจะไปเชื่อมโยงประเด็นนี้เข้ากับอิทธิพลหรือแรงกดดันจากประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป ผมกล่าวอย่างจริงใจว่า ผมไม่เห็นว่าประเทศฝั่งตะวันตกจะมีความพยายามผลักดันในเรื่องนี้สักเท่าไร สาเหตุสำคัญของปัญหานี้ก็มาจากเหตุผลเบื้องหลังด้านภูมิรัฐศาสตร์และการที่สหรัฐอเมริกาขาดความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

การที่สหรัฐทุ่มเทความสนใจไปที่การสู้กับรัสเซียและจีนทำให้ประเด็นเหล่านี้ไปกลบความสนใจในหลายพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกรณีของเมียนมา ก็ได้ผลักภาระให้อาเซียนจัดการกันเอง เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 2000 ประเทศตะวันตกก็ไม่ได้สนใจสถานการณเมียนมาร์ แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่ไปร่วมประชุม ASEAN Summit ก็ยิ่งสะท้อนว่าสหรัฐไม่ได้สนใจอะไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าอย่างน้อยก็ยังพอมีบางอย่างที่ประเทศตะวันตกช่วยได้ เช่น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อ NGOs และนักกิจกรรมทางการเมืองผ่านความช่วยเหลือที่เป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐ

การกดดันต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยก็มักจะเป็นเพียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นล่าสุดคือกรณีของอียู ซึ่งถือได้ว่าเป็นแรงกดดันได้เป็นอย่างมาก การเจรจา กรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและไทย (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งเป็นการเจรจาก่อนที่จะมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ตัวแทนฝ่ายไทยที่ไปเจรจามีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนต่อการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเด็นนี้ถูกใส่เข้าไปในข้อตกลงระหว่างไทยกับอียู เพราะการรับรู้และความกลัวว่าไทยอาจจะมีการรัฐประหารอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากพูดในประเด็นนี้ให้กว้างขึ้น ข้อตกลงนี้ก็จะสิ้นสุดอยู่ดี หากว่าสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยแย่ลงจนถึงขั้นเลวร้ายแบบเมียนมา หากไม่เป็นเช่นนั้นไทยกับอียูก็ยังเหลือช่องทางทางการทูตและการเจรจา เพราะอย่างไรอียูยังต้องการขยายการค้าให้มากขึ้น

หากมองประเทศไทยในบริบทระดับภูมิภาค ยังมีความหวังต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ?

ผมคิดว่ายังมีโอกาส ประชาธิปไตยที่เป็นความคิดของคนและกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นในเชิงกระบวนการเป็นสิ่งที่ฝังในใจคน ผู้คนเคยชินกับมัน และเข้าใจว่าพวกเขาสามารถหาประโยชน์ให้ตัวเองได้จากกระบวนการนี้ ดังนั้น ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกทำลายไปได้อย่างง่ายดาย

ภูมิภาคนี้ในระยะหลังดูเหมือนว่าประชาธิปไตยจะเริ่มกลับมา หลังจากที่อยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่แข็งแกร่งอย่างยาวนาน ส่วนประชาธิปไตยของไทย แม้ว่าตัวระบบจะถดถอยอย่างรุนแรง แต่ก็ยังเกิดพรรคและขบวนการเคลื่อนไหวที่มีชีวิตชีวาและสามารถปรับตามสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี พลังแบบนี้ได้ให้กำเนิดพรรคอนาคตใหม่ และดูเหมือนว่าพลังความโกรธแค้นนี้จะคงอยู่ต่อไปจากการยุบพรรคก้าวไกล

สุดท้ายนี้ ประเด็นที่ถูกเปิดเผยออกมาแล้วก็ยากที่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม การเคลื่อนไหวของเยาวชนและพรรคก้าวไกลได้ทำให้แกนกลางเรื่องเล่าทางปัญหาการเมืองไทย เช่น ทุนนิยมผูกขาด ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและสิทธิแรงงานรวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่าการตอบโต้จากฝ่ายอำนาจเก่าทำให้เห็นว่าพวกเขากลัวว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกนำขึ้นมาพูดอีกครั้ง แต่เมื่อประชาชนได้เริ่มที่จะข้ามเส้นนั้นมาแล้วและเลือกจะตอบโต้ฝ่ายอำนาจเก่าด้วยการเลือกตั้ง มันก็สะท้อนชัดเจนว่าประเด็นนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ที่มา : Scholar William J. Jones Talks about the Current State of Thai Monarchy 

===
 

112 WATCH เป็นการรวมตัวของผู้คนและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย โครงการนี้ริเริ่มโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อราวปลายปี 2564 โดยจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรในการทำงานสื่อสารเพื่อหยุดยั้งการใช้มาตรา 112 ผ่านช่องทางหลักคือ https://112watch.org/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net