Skip to main content
sharethis

กมธ.การแรงงาน สผ. กำหนดกรอบการทำงาน ปี 68 เน้นตรวจสอบการบริหารงานของกระทรวงแรงงาน

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณา เรื่อง กรอบการพิจารณาศึกษาของคณะ กมธ. การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ ที่ประชุม กมธ. เห็นควรให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของกระทรวงแรงงานทั้งในด้านกฎหมายและแนวนโยบายด้านแรงงาน โดยในไตรมาสที่ 1 พิจารณาการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม และการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไตรรมาสที่ 2 การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปและการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการบริหารจัดการแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ไตรมาสที่ 3 การส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ รวมถึงการให้สัตยาบันและการเข้าเป็นรัฐภาคี (State Party) ในอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) 87 และ 98 และไตรมาสที่ 4 การติดตามนโยบายแรงงาน และประเด็นปัญหาแรงงานในภาพรวม

นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กมธ. เห็นควรให้กำหนดรายละเอียดผู้รับผิดชอบในการพิจารณาศึกษาและกรอบระยะเวลาในแต่ละไตรมาส และในกรณีมีประเด็นปัญหาแรงงานที่เร่งด่วนต้องสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. ได้ รวมทั้งให้มีการเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงาน การศึกษาดูงานและสัมมนาของ กมธ. ผ่านเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก รวมทั้งมีช่องทางติดตามความคืบหน้าเรื่องร้องเรียนที่ส่งมายังคณะ กมธ. การแรงงานฯ ด้วย

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, 29/9/2567

PwC เผย แรงงานไทย 90% ปรับตัวดีเบอร์ต้นเอเชียแปซิฟิก ชี้ 84% ให้ความสำคัญค่าจ้างสุด

PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจล่าสุดพบแรงงานไทยมีความพึงพอใจต่อสถานที่ทำงานของตนลดลงในปีนี้หลังเผชิญแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกจ้างมากกว่าครึ่งชี้ว่าโอกาสในการเรียนรู้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอยู่หรือลาออกจากงานในอนาคต

รายงานผลสำรวจความหวังและความกังวลของกำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2567 ฉบับประเทศไทย ของ PwC ระบุว่า 65% ของกำลังแรงงานชาวไทยที่ถูกสำรวจจากจำนวนทั้งหมด 1,000 คน แสดงความพึงพอใจต่องานที่พวกเขาทำอยู่ในปีนี้ หรือลดลง 14% จากการสำรวจปีก่อนที่ 79% ขณะที่ 45% ต้องการขอเพิ่มเงินเดือน 35% ต้องการเลื่อนตำแหน่ง และ 28% ต้องการที่จะเปลี่ยนนายจ้าง

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันซึ่งส่งผลให้แรงงานรู้สึกทั้งตื่นเต้นและกังวล โดย 79% กล่าวว่าตนเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานในปีที่ผ่านมาสูงกว่าเมื่อช่วง 12 เดือนก่อนหน้า เปรียบเทียบกับแรงงานในเอเชียแปซิฟิกที่ 68% และ 60% ยอมรับว่าภาระงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ จะช่วยให้แรงงานมีความมั่นใจต่อความสามารถในการทำงานของตนมากขึ้นและคลายความกังวลต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่

"ในปัจจุบันมีหลาย ๆ งานหรือหลาย ๆ กิจกรรมที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทำแทนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ งานประเภท tracking หรืองาน data entry และ processing ซึ่งหากแรงงานมีการอัปสกิลตัวเอง ก็ไม่ต้องกังวลว่างานของตนจะถูกแทนที่หรือไม่" ดร. ภิรตา กล่าว

ทั้งนี้ ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) และระบบออโตเมชัน ถือเป็นทักษะที่สำคัญอันดับต้น ๆ ที่ควรพัฒนา รวมไปถึงทักษะทางด้านอารมณ์ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการปรับตัว เธอ กล่าว

ผลจากการสำรวจยังพบว่า แรงงานชาวไทย 73% กล่าวว่าตนใช้ GenAI ในการทำงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 70% ขณะที่ 17% ใช้ GenAI เป็นประจำทุกวัน นำโดยแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและยานยนต์ (18%) ตามมาด้วยธุรกิจบริการทางการเงิน (16%) และตลาดผู้บริโภค (15%) ตามลำดับ

นอกจากนี้ พนักงานไทยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการใช้งาน GenAI โดย 75% คาดว่า GenAI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งสูงกว่าการสำรวจของปีที่แล้วที่ 47% ขณะที่ 67% เชื่อว่า GenAI จะเพิ่มความมั่นคงในการทำงาน และช่วยให้พวกเขาได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น (65%) แต่นั่นก็อาจทำให้ปริมาณงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (66%)

ทั้งนี้ แรงงานไทยมากถึง 90% ยังรู้สึกพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับวิธีการทำงานใหม่และเติบโตในหน้าที่การงานของตน ขณะที่ 56% กล่าวว่าโอกาสในการเรียนรู้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอยู่หรือลาออกจากงาน

"คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับ opportunity to learn มากขึ้นและยังส่งผลต่อการเติบโตขององค์กรในท้ายที่สุดด้วย ดังนั้น นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่นายจ้างจะต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับพนักงานโดยเน้นไปที่การพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและ self-learning และต้องอย่าลืมที่จะปลูกฝังเรื่อง soft skill ไปพร้อม ๆ กันโดยควรกำหนดตัวชี้วัดเพื่อติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลควบคู่ไปด้วย" ดร. ภิรตา กล่าวแนะนายจ้างตื่นตัวแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศนอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่า แรงงานชาวไทยหันมาให้ความสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดย 60% แสดงความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และ 42% กล่าวว่าการหยุดชะงักจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานของพวกเขา

"สิ่งหนึ่งที่ทั้งผู้นำองค์กรและพนักงานคงเห็นไม่แตกต่างกันในวันนี้ คือ change is constant ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น และอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการพลิกโฉมรูปแบบการทำงาน และส่งผลต่อความคาดหวังและความกังวลของพนักงานที่มีต่อองค์กร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการ evolve ตัวเองทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลให้ไม่ใช่เพียงแค่อยู่รอด แต่เติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" ดร. ภิรตา กล่าว

ที่มา: RYT9, 27/9/2567

ประกันสังคม ลดการส่งเงินสมทบของฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง จาก 5% เหลือ 3% พื้นที่น้ำท่วม เริ่มงวด ต.ค.67 -มี.ค.68

26 ก.ย.2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการดูแล เยียวยา ผู้ประกอบการและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมดินโคลนถล่ม ว่าในเรื่องของ การเยียวยาดูแลผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ น้ำท่วมดินโคลนถล่มโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือนั้น ขณะนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีมติเห็นชอบ ให้ลดการส่งเงินสมทบ ของฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง จาก 5% เหลือ 3% เริ่ม งวดเดือน ต.ค.2567 ถึงเดือน มี.ค.2568

ทั้งนี้ จะยึดตามประกาศพื้นที่ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก โดยจากนี้จะมีการนำ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตามจะมีการแถลงมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบอีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัด กระทรวงแรงงานได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งการมอบถุงยังชีพมอบอุปกรณ์ เพื่อให้การช่วยเหลือรวมถึงการจัดส่งทีมช่างฝีมือเข้าไปช่วยในพื้นที่ในการซ่อมแซม ระบบไฟฟ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดจนยานพาหนะ เป็นต้น

ที่มา: Thai PBS, 26/9/2567

ว่าที่ปลัดฯ แรงงาน ไม่หนักใจถก ‘บอร์ดค่าจ้าง’ เตรียมนัดไตรภาคีหลัง 1 ต.ค.

26 ก.ย. 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะว่าที่ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงกรณีความคืบหน้าการนัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการ ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 3 ในรอบปี 2567 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากนัดประชุม 3 ครั้ง องค์ประชุมไตรภาคีไม่ครบ จนทำให้การประกาศขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ไม่เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล ว่า แนวนโยบายเรื่องค่าจ้าง คงจะมีการดำเนินการหลังจากวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยตนไม่ได้มีความหนักใจ

“เมื่อดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน และต้องทำหน้าที่ประธานบอร์ดค่าจ้าง ผมไม่ได้หนักใจ แต่มีความสบายใจ เนื่องจากจะมีการหารือร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล มานั่งคุยกันด้วยเหตุและผล ผมเชื่อมั่นว่า พวกเราทุกคนมองอนาคตประเทศ มองถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานและนายจ้าง คงจะต้องมานั่งหารือและคุยกันก่อนการประชุมบอร์ดครั้งถัดไป” นายบุญสงค์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/9/2567

รมว.แรงงานชี้ประชุมไตรภาคีล่มเป็นเชิงเทคนิค แนะ ธปท.ลดดอกเบี้ยให้สถานประกอบการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามสด ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงความจริงใจในการขึ้นค่าแรง 400 บาท โดยยืนยันว่า ส่วนตัวมีความตั้งใจที่จะพยายามผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 เชื่อว่า สส.และผู้ใช้แรงงาน คงทราบดีว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาล มีการตั้งเป็นนโยบายในรัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทในปี 2570 ซึ่งส่วนตัวยึดถือนโยบายมาโดยตลอด และถึงแม้นว่ารัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี เป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และไม่ได้กําหนดในนโยบายถึงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ถือว่าสิ่งที่รับโจทย์มาจากรัฐบาลนายเศรษฐา ตนมั่นใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป

นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า ส่วนที่ถามว่า เราเล่นละครกันหรือเปล่าในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้าง 5 ท่าน ไม่เข้าที่ประชุม การที่จะประชุมไตรภาคี หากว่าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 ไม่สามารถที่จะเปิดประชุมแล้วลงมติได้ เพราะฉะนั้นในวันที่ 16 ก.ย. ฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 ท่าน เสร็จแล้วหลังจากวันที่ 20 ก.ย. มีการเชิญประชุมอีกครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีที่กํากับดูแลกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซง และเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ เพราะฉะนั้นตนเองไม่สามารถที่จะเข้าไปทําการเจรจา เพราะเป็นข้อห้ามว่า รัฐมนตรีไม่สามารถแทรกแซง ในเรื่องของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ

“เพราะฉะนั้นวันที่ 20 ก.ย. เลยมีเหตุการณ์ว่าฝ่ายนายจ้าง เข้ามาครบทั้ง 5 ท่าน แต่ฝ่ายลูกจ้าง ขาด 2 ท่าน ตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย 1 ท่าน แล้วท่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ขอลา ซึ่งตรงนี้จะถามว่าเป็นเทคนิคก็ได้ ถ้าหากว่ามีการประชุมในวันนั้นผมก็เชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะโหวตได้ แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้นถามว่า ฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน ของเราถ้ามีครบ นอกเหนือจากกรรมการจากธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งมาเป็นตัวแทนไม่เข้าหนึ่งท่าน ผมจะขอถามท่าน ถ้ามีการประชุมในวันนั้นผู้ที่จะเสียหายคือกลุ่มใด ซึ่งผมก็ไม่อยากที่จะพูดในที่นี้” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างยังไม่อยากขึ้น เพราะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้พวกเราทุกคนทราบ และที่สําคัญไปกว่านั้น สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างคือ ดอกเบี้ยที่อาจจะสูงเกินความจริง นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคิดว่าในรัฐบาลมีหลายๆ ฝ่ายที่พยายามที่จะเจรจากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถลดดอกเบี้ย เพื่อเป็นการช่วยเหลือกับฝ่ายนายจ้าง ซึ่งตลอดเวลาธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างถึงว่าหนี้สินครัวเรือนเราสูงมาก ก็ไม่ได้เถียง แต่หนี้สินครัวเรือน ถามว่าวันนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่เป็นของภาครัฐมีปล่อยกู้ให้ใครได้บ้าง เต็นท์รถมือสอง พวกเราเห็นอยู่แล้ว ทยอยปิดตัวเองไปตลอดเวลา และมีการยึดรถมาจนล้นลานจอดรถสําหรับการประมูล เพราะฉะนั้นตนไม่ขอที่จะถกเถียง

ส่วนที่ให้สัมภาษณ์ ว่าจะมีการขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นการแทรกแทรงหรือไม่นั้น นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า การให้สัมภาษณ์ ถือว่าให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงาน ในการที่จะนําเข้าไปหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าแทรกแซงนั่นหมายความว่าต้องเข้าไปแทรกแซง หรือไปพูด หรือขอเวลาพูด ก่อนที่จะมีการประชุมในคณะกรรมการไตรภาคี

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนคงทราบดีถึงสภาวะถดถอยของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เราพยายามจะคัดว่าไม่ไปกระทบธุรกิจขนาด S และ M ทําไมเราถึงเลือกที่จะประกาศ L อย่างเดียว แน่นอนการประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท เราใช้เกณฑ์ที่มีพนักงานลูกจ้างมากกว่า 200 คน ส่วนที่มีพนักงานน้อยกว่าถือว่าอยู่ในไซส์ S หรือการตีว่าไซส์เล็ก หรือไซส์กลาง เราไม่พยายาม

“ผมถือว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถือครองแรงงานถึงประมาณ 90% ของประเทศไทย วันนี้ SMEs แทบจะอยู่ไม่ได้ เพราะการต่อสู้ทางการค้าค่อนข้างรุนแรงมาก และที่สําคัญไปกว่านั้น ทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน หาแนวทางว่าเราไม่กระทบไปที่ SMEs แล้วจะหาวิธีอย่างไรในการที่จะไปช่วยกู้สถานะทางการเงินให้กับ SMEs ให้เขาเกิดความแข็งแรง และเดินหน้าไปได้สําหรับรองรับการปรับค่าแรงในละครั้งต่อๆไป แต่ถ้าเราทําแล้วเราประกาศในเวลานี้ขณะนี้ แน่นอนว่าคงจะมีเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานอีกเป็นแสน หรือหลายๆ แสน ที่จะไม่มีงานทํา ผมคงจะไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบมากมายขนาดนั้น ผมขอความกรุณาพวกท่านที่อยู่ในภาคแรงงาน ทํางานกับเรื่องของแรงงาน ทราบดีดีกว่าผมเสียด้วยซ้ำ ว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดคือจุดไหน”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การที่ปรับค่าแรง ที่ไซส์ 200 คน ผู้ที่ได้ประโยชน์สําหรับการที่เราปรับตรงนี้ ผลกระทบไซส์ L ผู้ใช้แรงงาน ประมาณ 2,290,281 คน เป็นแรงงานไทยประมาณ 1,746,983 คนเป็นแรงงานต่างด้าว ประมาณ 543,298 คน ต้นทุนทางนี้ฝ่ายนายจ้างได้รับผลกระทบต่อคน คือประมาณ 72.78 บาท กระทบค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว ถ้าถามว่าเราผลักภาระตรงไปให้กับSMEs ล้มแน่นอน ความรับผิดชอบต้องอยู่ที่กระทรวงแรงงาน เพราะเล่นประกาศแบบปูพรม แต่ถ้าเราประกาศ ไซส์ L ไปก่อน หลังจากนั้นเรามากู้สถานะให้กับ SMEs เมื่อ เดินหน้าต่อไปได้แล้ว เรามาว่าของ SMEs ต่อไป ไม่ได้หมายความว่า SMEs ปีนี้จะไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เรามีนโยบายต่อไปว่าในช่วงของสิ้นปี ต่อเนื่องปี 2568 เราจะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะ SMEs อีกครั้ง ตามที่อนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้

นายพิพัฒน์ ชี้แจงด้วยว่า มีความมุ่งมั่น ก้าวแรกให้จบไปให้ได้ก่อน คือค่าแรงขั้นต่ำ ของเดือนตุลาคมนี้ให้จบที่ 400 บาทเมื่อจบแล้ว จะขอชี้แจงให้ว่าเราจะมีไทม์ไลน์ในการที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ํานอกเหนือไปจากนี้อีกเมื่อไหร่ ถ้าผมจะพูดอย่างเดียว ว่ามีไทม์ไลน์ แล้วผมไม่ดูถึงสถานะของผู้ประกอบการ หรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เราประกาศไปเป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทําให้สําเร็จจริง อาจจะไม่ถึง 600 ได้แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ําที่ชาวแรงงาน ต้องอยู่ให้ได้ เป็นเหตุผลที่สําคัญมากกว่า

นายพิพัฒน์ ยังได้ฝากต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจจะเป็นการก้าวก่าย ธปท. ที่ถือว่าเป็นเอกเทศ ในเรื่องของการลดต้นทุน ของค่าดอกเบี้ย ของสถานประกอบการ ถ้าหากมีต้นทุนดอกเบี้ยที่เหมาะสม เชื่อว่าเมื่อลดต้นทุนได้ การที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมันจะเป็นสมการที่เราสามารถเดินไปได้ เมื่อนายทุนหรือผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เขาสามารถขยับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/9/2567

บอร์ดค่าจ้างไขก๊อกอีก 1 ปลัดฯแรงงาน ยันไม่พร้อมประชุม 30 ก.ย. วอน ‘เมธี’ แสดงสปิริต

25 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เปิดเผยความคืบหน้าการนัดประชุมบอร์ดค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการเพิ่มเติม ที่รัฐบาลตั้งเป้าจะให้ประกาศพร้อมกันทั่วประเทศไทย ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ว่า กรณีคุณสมบัติของ นายเมธี สุภาพงษ์ ที่เกษียณอายุจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปี 2566 นั้น ขณะนี้ได้หนังสือยืนยันจาก ธปท. กรณีนายเมธีมาแล้ว ซึ่งระบุว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ดำเนินวาระในการเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 จำนวน 2 ปี ตามมติของคณะรัฐในตรี (ครม.) เป็นตัวแทนของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน ธปท.

“ดังนั้น การประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งถัดไป คงเป็นเรื่องของปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ คือ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เพราะผมก็จะหมดวาระวันที่ 30 กันยายนนี้ ขณะนี้ คงเรียกประชุมไม่ได้ องค์ประชุมไม่ครบไตรภาคี จำนวน 15 คน เนื่องจาก นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22 เรียบร้อยแล้ว เพราะจะเกษียนราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้เช่นเดียวกัน และจะให้ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่แต่งตั้งตำแหน่งเพิ่มเติม และดำเนินการต่อ ส่วนผมก็สิ้นสุดการเป็นประธานบอร์ดค่าจ้างโดยตำแหน่งอยู่แล้ว” นายไพโรจน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายเมธีที่เกษียณจาก ธปท.แล้ว แต่ไม่ลาออกจากบอร์ดค่าจ้าง จะทำอย่างไรต่อไป และจะมีการเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22 ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ ตามที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คาดการณ์ไว้ได้หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า การเป็นบอร์ดค่าจ้าง หรือไตรภาคี ต้องมีความเป็นอิสระ ในการที่จะดำเนินการประชุม

“เราจะเรียกประชุมเมื่อข้อมูลหรือคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐบาล มีความพร้อม อย่าง อธิบดี กสร. ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกแล้ว เนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้ อันนี้เป็นเหมือนตัวอย่าง เป็นสปิริตของข้าราชการ เมื่อเราหมดสถานภาพความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ควรจะต้องลาออก” นายไพโรจน์ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม หากไปดูหนังสือต้นทางที่มาจาก ธปท. ทาง ธปท. ยังมอบหมายให้นายเมธีเป็นตัวแทนโดยชื่อและตำแหน่ง

“แล้วจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับ ธปท.ได้อย่างไร ในเมื่อ ธปท. มีเอกสารยืนยันว่าเป็นตัวแทนของ ธปท. โดยตำแหน่ง แต่ถ้า ธปท.เสนอแค่ชื่อนายเมธีเฉยๆ ก็โอเค แต่พอมาในตำแหน่งของ ธปท. เมื่อพ้นสภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นแล้ว ก็ควรแสดงสปิริต ลาออก ความสง่างามสำคัญมาก ดูจากหน่วยงานอื่นที่มาเป็นบอร์ด เมื่อบุคคลนั้นเกษียณแล้ว ก็จะไม่อยู่ต่อ เนื่องจากมาในนามของหน่วยงาน” นายไพโรจน์ กล่าว

เมื่อถามถึงในช่วง 3-4 วันที่เหลือ ซึ่งถือว่านายไพโรจน์ยังดำรงตำปลัดกระทรวงแรงงานอยู่น้้น จะมีการเสนอชื่ออธิบดี กสร. ที่ว่างเลย หรือให้เป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่เสนอ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ต้องเป็นปลัดฯ คนใหม่ หากจะมีการเสนอตำแหน่งที่ว่าง ที่จะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจรับผิดชอบของตน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/9/2567

กรมการจัดหางาน แจงผลปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” 106 วัน ตรวจสอบสถานประกอบการกว่า 18,815 แห่ง ดำเนินคดี 718 แห่ง ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติ 256,213 คน ดำเนินคดี 1,830 คน

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน รับข้อสั่งการของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการมีแรงงานเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการ และไม่กระทบต่อการมีงานทำของคนไทย รวมทั้งแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี โดยส่งชุดปฏิบัติการพิเศษ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวดเป็นระยะเวลา 120 วัน ล่าสุด ได้รายงานผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน - 19 กันยายน 2567 รวม 106 วัน ตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 18,815 แห่ง ดำเนินคดี 718 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 256,213 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 193,430 คน กัมพูชา 39,736 คน ลาว 15,281 คน เวียดนาม 162 คน และสัญชาติอื่น ๆ 7,604 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,830 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 1,149 คน กัมพูชา 259 คน ลาว 257 คน เวียดนาม 31 คน และสัญชาติอื่น ๆ 134 คน

นายสมชาย กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดังกล่าว จะตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หรือพบเห็นคนต่างชาติทำงานนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 0 2354 1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 23/9/2567

ปลัดแรงงาน รับปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจไม่ทัน 1 ต.ค.นี้

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง การประชุมบอร์ดค่าจ้าง เพื่อพิจารณาค่าแรงขี้นต่ำ 400 บาท หลังการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน ล่มมา 2 ครั้ง ว่า ได้รับการแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. นายเมธี สุภาพงษ์ ไม่ได้เป็นตัวแทน ธปท.แล้ว จึงต้องรอให้ ธปท. ยืนยันกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ส่งผู้แทนคนใหม่มา ส่วนนายเมธี ต้องลาออก เพราะการแต่งตั้งทำโดยมติ ครม. เป็นการตั้งโดยชื่อ ซึ่วการจะแต่งตั้งคนอื่นได้ ต้องลาออกก่อน

เมื่อถามว่าขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องชื่อคนใหม่ที่จะมาแทน นายเมธี เสนอชื่อ ครม. หรือไม่ นายไพโรจน์ ระบุว่า ใช่ และประเด็นคือในวันที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ยังคิดว่านายเมธียังเป็นตัวแทน ธปท.อยู่ เมื่อตรวจสอบส่วนราชการที่ไม่มาประชุมรวมถึง ธปท. ระบุไม่รับผิดชอบการกระทำของนายเมธี ตนเองจึงได้ทำหนังสือไปยัง ธปท.ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานว่านายเมธีไม่เกี่ยวข้องแล้ว

ส่วนระยะเวลาการทำงานของตนเองที่เหลือเพียง 6 วัน ก่อนเกษียณอายุราชการ ไม่ทันกับการรับผิดชอบในส่วนนี้หรือไม่ นายไพโรจน์ ย้ำว่าต้องรอหนังสือจาก ธปท.ตอบกลับมา

เมื่อถามว่าจะไม่ทัน ประกาศขึ้นค่าแรง 1 ตุลาคมนี้ และต้องเลื่อนไปก่อนใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ ยอมรับว่า น่าจะไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้ แต่หาก นายเมธี ลาออกภายในสัปดาห์นี้ และเราสามารถหาคนแทนนายเมธีได้ และเสนอเข้า ครม. ก็อาจจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทัน ล่าช้าไป 1-2 สัปดาห์

นายไพโรจน์ ยังระบุอีกว่า หลังจากตนเองเกษียณอายุราชการแล้วก็เป็นหน้าที่ของปลัดไตรภาคี นั่นคือ ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ยืนยันว่า ตนเองทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและทำเต็มที่

ทั้งนี้ จะไปรอดหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เรื่องค่าแรงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่อยู่ในห้องประชุมก็ไม่รู้ว่าการพิจารณาแต่ละประเด็น ฝ่ายนายจ้างก็มีมุมมองหนึ่ง นายจ้างทุกคนมีเหตุผล ส่วนลูกจ้างก็มีเหตุผล ภาครัฐก็ต้องเป็นคนประสานเอามิติความคิดทั้งสองฝ่าย รวมถึงฝ่ายราชการมารวมในรูปแบบว่าจะขึ้นเท่าไหร่ ตนเองรู้ว่าสื่อมวลชนก็รอคำตอบอยู่

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/9/2567 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net