Skip to main content
sharethis

เก็บตกเวที “ความมั่นคงภายใน : อำนาจของทหารภารกิจของประชาชน” "วีระยุทธ" 
เสนอจะปฏิรูป กอ.รมน.ต้องปฏิรูประบบราชการไทยด้วย "พวงทอง" ตั้งคำถามตกลงแล้วฝ่ายพลเรือนควบคุม กอ.รมน.ได้จริงแค่ไหน?

เมื่อ 27 ก.ย.2567 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเสวนา “ความมั่นคงภายใน : อำนาจของทหารภารกิจของประชาชน” เปิดตัวหนังสือของพวงทอง ภวัครพันธุ์ ในชื่อ “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการขยายบทบาทของกองทัพไทยในการเข้ามาแทรกซึมควบคุมสังคมผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  หรือ กอ.รมน.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จะปฏิรูป กอ.รมน.ต้องทำทั้งระบบราชการไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) และยังเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ชวนคิดต่อจากงานของพวงทองถึงทั้งประเด็นทางทฤษฎี ความสัมพันธ์ของกองทัพกับระบบการเมือง และระบบราชการของไทยด้วย

วีระยุทธเริ่มจากกล่าวถึงในเชิงอุดมการณ์ของกองทัพ โดยตัวเขาเองมีคำถามว่าจริงๆ กองทัพทำงานด้วยอุดมการณ์หรือด้วยผลประโยชน์ของกองทัพเองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับส่วนงานต่างๆ โดยนิยาม “ภัยคุกคาม” ให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องภัยคอมมิวนิสต์, 3 จังหวัดชายแดนใต้, ความแตกแยกในสังคมไปสู่เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ เขามองว่าสามารถดูจากพฤติกรรมหรือการออกนโยบายว่าสุดท้ายแล้วใครได้ประโยชน์จากการกระทำนั้น

เขาบอกว่าแนวทางหนึ่งในการพิสูจน์ว่ากองทัพทำงานไปด้วยอุดมการณ์หรือผลประโยชน์กันแน่ ให้ดูว่าผู้ออกนโยบายนั้นได้ประโยชน์จากนโยบายที่ออกมาหรือออกนโยบายมาแล้วขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ถ้ากองทัพยอมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมไทย ในสภาวะที่เศรษฐกิจแย่จีดีพีลดแล้วต้องลดงบประมาณโดยรวมลง ถ้ากองทัพยอมลดงบประมาณตัวเองด้วยเรื่องนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่ากองทัพเดินด้วยอุดมการณ์ แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่แต่งบกองทัพยังเพิ่มขึ้นอันนี้ก็สะท้อนว่าอุดมการณ์เป็นแค่เรื่องที่มีไว้พูดเท่านั้นเอง 

ประเด็นต่อมาก็คือ สถาบันต่างๆ ในการเมืองไทยมักถูกมองว่าไม่มีกลไกที่เป็นในเชิงสถาบัน ทุกอย่างถูกสร้างมาชั่วคราวไม่มีอะไรเป็นระบบเลย แต่เขากลับเห็นว่าความเป็นสถาบันที่มีอยู่ในไทยมีแรงจูงใจที่จะเซาะกร่อนระบบซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดการทำให้เป็นสถาบันที่ต้องการทำให้ทุกอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น

วีระยุทธเห็นว่า กองทัพไทยเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นสถาบันสูงที่สุดในสังคมไทย เนื่องจากตัวองค์กรทั้งสืบเนื่อง ต่อยอด เปลี่ยนตัวหัวของหน่วยงานแล้วแต่กลไกก็ยังดำรงอยู่ต่อมาได้ในระยะยาวเป็นเวลา 50-60 ปี ถ้ามองจากมุมเศรษฐศาสตร์สถาบันเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญมากว่า หน่วยงานนั้นๆ เปลี่ยนแปลงปรับตัวอย่างไร เพราะไม่มีกลไกเชิงสถาบันไหนที่อยู่ได้ในระยะยาวโดยไม่ปรับตัว และดูได้จากการเปลี่ยนพันธมิตรไปเรื่อยๆ เพื่อให้กลไกยังดำรงอยู่ได้

วีระยุทธยกตัวอย่างช่วงรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มีทีมของสมคิด สุวิทย์ เมษินทรีย์มาเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อทำงานเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไม่สำเร็จก็หมดค่าไป จากนั้นนโยบายคนละครึ่งก็มาพร้อมกับพันธมิตรทางเศรษฐกิจชุดใหม่ท่ในข่าวเรียกกันว่า “วิศวะจุฬาฯ คอนเนคชั่น” ที่มีไอเดียในทางเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง

“กองทัพมีความสามารถปรับเปลี่ยนพันธมิตร เพื่อทำให้กลไกตัวเองดำรงอยู่ต่อไปได้” 

เขายกอีกตัวอย่าง ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของมนุษย์มันผสมปนเปกันไปในสังคมไทย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นที่อื่นในโลกที่แยกเรื่องมนุษย์ออกมาจากความมั่นคงของรัฐบาลแล้วตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น แต่ในสังคมไทยกลายเป็นเรื่องเดียวกันเสมอทั้งเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของระบบไซเบอร์กลายเป็นเรื่องเดียวกันเสมอ 

วีระยุทธกล่าวถึงประเด็นรูปแบบทางการเมืองที่ยังทำให้การทำให้การทหารยังครองอำนาจอยู่ได้ จะต้องดูว่า นักการเมือง ทหาร และผู้เชี่ยวชาญที่ดูเหมือนเป็นคนละขั้วกันมีอะไรร่วมกันทำให้ยังรักษาสัมพันธ์นี้ไว้ได้แม้ว่าระบอบการเมืองจะเปลี่ยนไปมาไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบมีการผสมกันระหว่างพรรคการเมือง แต่ภายใต้ความวุ่นวายนี้มีเรื่องที่ชนชั้นนำมีร่วมกันอยู่คือ

หนึ่ง เชื่อว่าเสถียรภาพสำคัญกว่าการแข่งขัน เช่นการเป็นฐานการลุงทุนของต่างชาติก็จะสอดรับกับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพมากกว่าการแข่งขัน เพราะคำสำคัญที่ปรากฏในสื่อคือ “ความเชื่อมั่นนักลงทุน” เพราะไทยเป็นแค่ฐานการลงทุน และทำให้เรื่องเงินเฟ้อกลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นที่กังวลมากกว่าเรื่องอื่น แค่เรื่องค่าเงินผันผวนก็กังวลแล้วเพราะเราดำเนินเศรษฐกิจการเมืองแบบเน้นการเป็นฐานการลงทุน และเมื่อให้ความสำคัญแต่เรื่องเสถียรภาพมากก็ทำให้ไม่มองถึงเรื่องการแข่งขันเลย 

เขายกตัวอย่างว่า พรรคเพื่อไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันในเรื่องอื่นนอกจากเรื่องดอกเบี้ย เช่น เรื่อง Virtual Bank ที่รัฐบาลและ ธปท.ก็มีแนวคิดเหมือนกันไปกำหนดให้เงินทุนจดทะเบียนที่ 5,000 ล้านบาทแล้วภายใน 5 ปีต้องมีหมื่นล้าน ทำให้มีแต่ผู้เล่นรายเดิมและเป็นรายใหญ่ในตลาดอื่นเข้ามาในตลาดการเงินดิจิทัลอีกทอดหนึ่ง

“นี่เป็นเรื่องที่เหมือนกันเพราะเขากังวลเรื่องความผันผวน เขากังวลเรื่องการแข่งขันที่มาเขย่าผธนาคารเดิม เลยโปรเสถียรภาพ และเป็นเหมือนกันทั้งทหาร เทคโนแครต นักการเมือง ซึ่งไม่แปลกที่มันจะต่อยอดมายังการจัดการรัฐราชการ”

นอกจากนั้นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญและทหารมีเหมือนกันอีกคือเชื่อในตัวบุคคลเหนือระบบ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารเข้ามาต่างก็อยากใช้ กอ.รมน. เพราะเชื่อว่าตัวเองจะสามารถส่งคนเข้าไปคุมแล้วใช้เป็นแขนขาของตัวเองได้ไม่ได้เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบใดๆ เลย และเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงคำถามที่ว่าสังคมไทยเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่หรือยัง เพราะถ้าสังคมไทยเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่แล้วก็จะต้องคิดในเชิงระบบมากขึ้นแต่ไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น

ประเด็นที่สาม สังคมไทยเคยชินกับความย้อนแย้ง เขายกตัวอย่างกรณีประเด็นที่นำมาใช้ขัดขวางการเลือกตั้งโดยอ้างว่าทำเพื่อให้เกิด “ธรรมาภิบาล”  องค์กรที่แต่งตั้งมาจากทหารพูดเรื่องจริยธรรม มาจนถึง กอ.รมน.ที่เข้ามาทำงานพลเรือน และความเคยชินกับความย้อนแย้งแบบนี้ของสังคมไทยทำให้ไม่เคยมีเส้นแบ่งว่าเรื่องไหนควรจะเป็นเรื่องของเอกชนหรือหน่วยงานสาธารณะทำ กอ.รมน.เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้

วีระยุทธชวนคิดว่าถ้าจะแก้เรื่องบทบาทของ กอ.รมน.หรือทหาร จะต้องแก้ทั้งระบบราชการไทยทั้งระบบ เพราะก็ต้องคิดด้วยว่าถ้าไม่มี กอ.รมน.แล้วคนทำงานในนั้นจะไปทำตรงไหนต่อเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐเหมือนกันว่าเมื่อปฏิรูปแล้วก็ต้องมีจัดสรรกำลังคนใหม่ด้วย

วีระยุทธเสนอประเด็นแรกในการปฏิรูปว่า ตัวชี้วัดหรือ KPI ของหน่วยงานราชการเวลามของบจากราชการจะตั้งไว้เล็กมาก อย่างเช่น ตั้ง KPI เป็นจำนวนคนเข้าร่วมอบรมเพื่อเสริมทักษะการทำงานแต่ไม่ได้กำหนดว่าอบรมแล้วสร้างผลกระทบอย่างไรตามมา หรือตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว ความคุ้มค่าจากการฝึกอบรม มูลค่าที่จะเกิดจากการซื้อขาย จำนวนคนที่มางาน Job Expo เพื่อช่วยคนหางาน เวลานำตัวเลขจำนวนเหล่านี้จะเป็นตัวเลขใหญ่ที่คูณแบบเยอะเกินความเป็นจริงและเป็นเพียงตัวเลขบนสมมติฐานเท่านั้น เช่นนำตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงเวลานั้นมาคูณต่อหัวไปเลยโดยไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมาบอกเลยว่ามีเงินไหลเวียนกี่หมื่นล้านแต่ไม่ได้ไปตรวจสอบว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า แล้วโครงการของ กอ.รมน.ก็วางโครงการอยู่บน KPI แบบนี้

สอง หน่วยราชการต่างๆ อยากมาทำเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับงานของตัวเองอยากช่วย SMEs อยากแก้ปัญหายาเสพติดทุกหน่วยงาน เรื่องนี้สะท้อนความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งที่แต่ละหน่วยงานควรจะต้องมีภารกิจเฉพาะตัวของตัวเอง อย่างเช่นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนอย่าง BOI ที่ปีล่าสุดมีทั้งส่งเสริมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยแล้วก็ยังมีเรื่อง PM2.5 ด้วย หรืออย่างเช่นการพัฒนาทักษะกำลังคนก็จะพบว่าเงินอุดหนุนเพื่อป้องกันยาเสพติดก็มาอยู่ในส่วนของการพัฒนาทักษะด้วย แล้วความไม่ชัดเจนแบบนี้ก็ทำให้งบประมาณบานออกไปเรื่อยๆ แล้วเรื่องแบบนี้ก็ไม่ได้มีแค่ กอ.รมน.ที่เป็น

วีระยุทธกล่าวถึงประเด็นที่หน่วยราชการทุกหน่วยต่างก็อยากเพิ่มกำลังคน  เขายกตัวอย่างถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่ตอนนี้ก็จำนวนถึง 1,088,000 คนแล้ว หน่วยงานอื่นก็อยากทำตามอย่าง เช่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม.อีก 300,000 คนและยังตั้งเป้าจะมีคนถึง 550,000 คน และเราก็ยังมีอาสาสมัครดิจิทัลที่เพิ่งเริ่มแต่ก็คนแล้ว 33,000 คน

นอกจากนั้นเขายังระบุอีกว่า อสม.ที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุขกับ อพม.ที่เป็นของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มีอาสาที่เป็นทั้ง อสม.และ อพม.ซ้อนทับกันอยู่ถึง 26% แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามจัดการกำลังคนเพื่อให้สามารถทำงานได้ทั้งสองงาน

“หน่วยงานรัฐไทยเขาเรียนรู้ข้ามกัน เขาเห็น กอ.รมน.มีความสามารถในการระดมคนสรรพกำลัง หน่วยงานต่างๆ ก็พยายามจะมีอาสาสมัครข้อดีคือเขาไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง แต่ก็มาของบอยู่ดีแล้วก็เป็นเงินต่อหัวไม่ใช่เงินเดือน แต่สุดท้ายแล้วงบตรงนี้ก็บานออกไปเรื่อยๆ”

วีระยุทธบอกตัวเลขของกำลังคนภาครัฐที่รวมข้าราชการ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 3,190,000 คนที่ได้เงินเดือน ไทยมีรัฐราชการที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ราว 60 กว่าล้านคน เท่ากับประชาชน 20 คนจะมีเจ้าหน้าที่รัฐดูแล 1 คน (20:1) และกำลังจะขยายเพิ่มอีก เมื่อเทียบสัดส่วนที่ข้าราชการต้องดูแลประชากรแล้วก็ยังน้อยกว่าครูที่ต้องดูแลนักเรียน 1 ห้องในโรงเรียนไทย แต่ก็มีคำถามว่าคนไทยรู้สึกว่าได้รับการดูแลหรือรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นหรือไม่? เพราะการขยายตัวของอาสาสมัครทำให้ตอนนี้รัฐไทยมีทั้งโครงสร้างของข้าราชการประจำและอาสาสมัครที่เกาะเกี่ยวกับรัฐอยู่เต็มไปหมด

“เมื่อฝั่งการเมือง ฝั่งเทคโนแครต และทหาร ทุกคนคิดว่าถ้าตัวเองเข้ามากุมอำนาจแล้วจะส่งคนเข้าไปดูแลได้ก็เลยไม่มีใครอยากแก้ปัญหาเหล่านี้ในเชิงระบบ แล้วก็รู้สึกว่ามีแขนขาที่มีอยู่ถ้าเข้าสู่อำนาจได้ก็เข้ามาใช้แขนขาตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ได้มันก็เลยดำรงอยู่มาถึงทุกวันนี้”

วีระยุทธย้อนกลับมากล่าวถึงกรอบอัตรากำลังคนของ กอ.รมน. 49,000 คนเป็นจำนวนล่าสุดปี 67 แต่ กอ.รมน.บอกว่าตอนนี้ยังใช้กำลังคนไม่เต็มอัตราจึงมีอยู่ที่ 46,000 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการประจำและพนักงานลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้มีอัตรากำลังคนใหญ่กว่ากระทรวงแล้ว

ในภาพใหญ่หากต้องการปฏิรูปก็เกี่ยวกับข้าราชการส่วนอื่นๆ ไม่สามารถมอง กอ.รมน.แยกจากปัญหาหรือปมของรัฐราชการไทยทั้งระบบที่มีลักษณะขยายตัวหรือมีหน้าที่ทับซ้อนกันแล้วก็ไม่ได้ตอบโจทย์ที่เน้นการสร้างผลกระทบเท่ากับการปริมาณจำนวนคน จึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนหลักที่จะปฏิรูปรัฐราชการทั้งระบบ

วีระยุทธยกตัวอย่างทิ้งท้ายถึงระบบราชการเยอรมันที่สามารถปรับเปลี่ยนภารกิจให้สอดรับกับบริบทสังคมได้ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมันไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ 40 กว่าปีจนกระทั่งปีค.ศ.1997 กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมันมีความเปลี่ยนแปลงทุก 5 ปีตามภารกิจของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง

ในปี 2002 พรรคแรงงานชนะเป็นรัฐบาลกระทรวงเศรษฐกิจก็ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อสอดรับกับประเด็นแรงงานแล้วก็เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงเศรษฐกิจและแรงงาน หลังจากนั้นพอมีเลือกตั้งใหม่ในปี 2005 พรรคที่ชนะเข้ามามีโจทย์เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาก็เปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เอาหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาแล้วก็ลดทอนงานบางส่วนไปให้หน่วยงานอื่นทำแทน ล่าสุดเมื่อมีโจทย์เรื่องความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเข้ามาตอนนี้ก็กลายเป็นกระทรวงเพื่อเศรษฐกิจและไคลเมทแอคชั่น 

“ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบราชการเราก็ต้องปรับทัศนคติของราชการให้อย่ามองว่าหน่วยงานนี้จะดำรงอยู่ถาวรภายใต้ภารกิจเดิม อย่างเรื่องเศรษฐกิจอาจจะเป็นแกนได้แต่ฐานเรื่องอื่นๆ ต้องมาเสริม เมื่อคุณอยากให้เรื่องเศรษฐกิจไปสู่เรื่องสภาพภูมิอากาศแล้วหน่วยงานก็ต้องยืดหยุ่นพอรับ แต่ของเราแต่ละหน่วยงานมันแข็งเกร็งขนาดนี้ทำให้ภารกิจมันเกิดความทับซ้อนกันโดยเอาหน่วยงานหนึ่งมาอยู่ใต้อีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อภารกิจเฉพาะ”

วีระยุทธได้ทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ยังต้องสอดรับกับการเลือกตั้งด้วยเพราะการเลือกตั้งจะสะท้อนถึงฉันทามติของสังคมว่าอยากเห็นการใช้เงินเพื่อเศรษฐกิจไปกับเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือแรงงาน หรือภัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถ้าทั้งสังคม ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย ไปจนถึงสื่อมวลชน อยากให้มองว่าราชการยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้การปฏิรูปราชการในภาพใหญ่เป็นไปได้มากขึ้นและถ้าไม่ปฏิรูปภาพใหญ่ กอ.รมน.เองก็จะอยู่ภายใต้แนวโน้มการจัดการระบบราชการไทยทั้งระบบที่สะเปะสะปะ ต่อให้ปฏิรูป กอ.รมน.ได้กำลังคนก็อาจจะไปกระจุกอยู่ที่จุดอื่นในระบบราชการของไทยอยู่ดี

การคุกคามที่เกิดขึ้นกำลังจะทำให้เรื่องกองทัพกลายเป็นเรื่องต้องห้าม

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เขียน เริ่มจากกล่าวถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ กอ.รมน.และกองทัพไทยที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาทั้งการเสนอให้ยุบหน่วยงานหรือ กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างไรในรัฐสภาและสังคม แต่คิดว่าน่าจะไม่มีใครได้เจอกับการพูดของทางฝ่าย กอ.รมน.ที่ทำให้หวาดกลัวอย่างเช่น การยกเรื่องที่อาจมีหน่วยงานอื่นที่เห็นหนังสือเล่มนี้ไปดำเนินคดีแม้ว่าทางตัวแทนจาก กอ.รมน.จะพูดเองในที่ประชุมกรรมาธิการของรัฐสภาอยู่ว่าไม่ได้มองว่าหนังสือเล่มนี้กระทบกับความมั่นคงก็ตาม

พวงทองยกประเด็น แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ก็คือการพัฒนาให้มนุษย์ปลอดจากความกลัวและความต้องการขั้นพื้นฐาน ทำให้เรื่องการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้  แต่เธอก็ตั้งคำถามว่าสำหรับสังคมไทยมีช่วงการเมืองใดบ้างที่เราจะอยู่ได้โดยปราศจากความกลัวจริงๆ เพราะเมื่อพูดเรื่องกองทัพก็มีคนเตือนหลายครั้งแล้วแต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรสังคมไทยก้าวหน้ามาไกลแล้วจนเราไม่น่าจะต้องกลัวจากภัยคุกคามเพราะเขียนหนังสือ แต่ช่วงที่เธอเจอมาก็ทำให้ต้องกลับมาคิดกับเรื่องนี้ใหม่ว่าเราอาจไม่เคยอยู่โดยปราศจากความกลัวได้จริงๆ

พวงทองได้เล่าถึงการทำงานในกรรมาธิการวิสามัญธุรกิจกองทัพว่าทำให้ได้เห็นว่าเรื่องที่ปรากฏในที่ประชุมเชื่อมโยงกับหนังสือที่เขียน เพราะการของบประมาณต่างๆ เป็นเรื่องยากมากแต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมหลายเรื่องกองทัพอ้างว่าเป็นเรื่องความมั่นคงภายในได้เช่น การตั้งโรงงานเภสัชกรรมทหารขึ้นมาทั้งที่ยาส่วนใหญ่ที่ผลิตก็เป็นยาสมุนไพรแบบขมิ้นชันแก้ท้องอืด ผงโรยเท้าดับกลิ่น แล้วก็มาของบอีก 900 ล้านบาทเพื่อไปขยายโรงงานทั้งที่เราก็มีองค์การเภสัชกรรมอยู่แล้วและมีคำถามว่าจะทำแข่งบริษัทเอกชนทำไม ไปจนถึงเรื่องอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงแรม สนามกอล์ฟ ซึ่งคิดว่าเรื่องเหล่านี้ก็สามารถเพิ่มเติมเข้ามาในงานศึกษาได้อีก

ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงประเด็นที่วีระยุทธ นำเสนอด้วยว่าสิ่งที่สถาบันการเมืองอย่างกองทัพทำนั้นทำไปด้วยอุดมการณ์หรือเรื่องผลประโยชน์กันแน่และการจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้ก็ต้องทำในทางปฏิบัติคือกองทัพต้องจะยินดีตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นของตัวเองออกไปจนถึงตัดงานที่ไม่จำเป็นหรือทำได้ไม่มีประสิทธิภาพออกไปให้เอกชนหรือหน่วยงานอื่นที่ทำได้ดีกว่าแทน

พวงทองกล่าวถึงปัญหาของระบบราชการไทยที่มีอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้นแล้วเงินชดเชยที่ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. รวมไปถึงอาสารักษาดินแดน อาสาป้องกันชาติ ที่ได้เงินเพิ่มขึ้นมากและกลายเป็นภาระภาษี เวลาหน่วยงานเหล่านี้เข้าไปสร้างอาสาสมัครเพิ่มขึ้นก็จะถูกอธิบายว่าไม่ได้เป็นภาระทางงบประมาณประจำปีเพราะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายถาวรแบบการจ้างข้าราชการประจำและใช้เงินน้อยกว่า แต่งบส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นจำนวนมากและเร็วมากและยังเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่ายมากเพราะเวลาไปรับสมัครคนเข้ามาก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าสมัครเข้ามาอย่างไรและทำงานจริงๆ หรือไม่ การตรวจสอบก็ทำได้ยาก

นอกจากนั้น พวงทองได้ชี้แจงเรื่องที่ กอ.รมน.กล่าวหาว่างานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ใช้เอกสารราชการทั้งที่ในส่วนบรรณานุกรมของหนังสือก็ระบุว่าเป็นเอกสารของ กอ.รมน.เองรวมถึงของกองทัพที่ได้มาจากเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของกองทัพเอง เอกสารจากหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับ กอ.รมน.อย่าง สมช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมป่าไม้ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงข่าวคำแถลงต่างๆ ของกองทัพและกอ.รมน.ร่วมแล้วมากกว่าร้อยชิ้นด้วยรวมถึงคลิปวิดีโอของกองทัพเองโดยตรง อีกทั้งยังมีข่าวคราวที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ กอ.รมน.เข้าไปจัดตั้ง ซึ่งรวมแล้วก็มากกว่าครึ่งหนึ่งของเอกสารที่ใช้ในการทำงานทั้งหมด แต่ กอ.รมน.กลับหาว่าลำเอียงเพียงเพราะใช้ข่าวที่วิโรจน์ ลักขนาอดิศร เพียงชิ้นเดียว

พวงทองกล่าวถึงเรื่องสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. รับรู้หรือเกี่ยวข้องกับโครงการ กอ.รมน.แค่ไหน ทาง สมช.ก็ชี้แจงว่าไม่ได้รับรู้ กอ.รมน.มีอิสระในการทำโครงการของตัวเอง และ กอ.รมน.ก็เป็นหน่วยงานของกองทัพมากกว่าพลเรือนเพราะบุคลากรต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพบกอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งสิ้นแม้แต่ช่วงที่เป็นรัฐบาลพลเรือนก็มีแค่นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นพลเรือนนั่งอยู่หัวโต๊ะเท่านั้น และเชื่อว่านายกฯ ที่นั่งอยู่หัวโต๊ะก็ไม่ได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้ว กอ.รมน.กำลังทำอะไร

พวงทองกล่าวว่า เมื่อ กอ.รมน.มีทหารนั่งตามโต๊ะต่างๆ ทำให้แผนงานและการกำหนดว่าอะไรเป็นความมั่นคงของชาติและใครเป็นภัยคุกคามต่อชาติก็จะเป็นวิธีคิดแบบทหาร และไม่พยายามเข้าใจว่ามันมีคนคิดต่างได้ในสังคมประชาธิปไตย และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องปกติไม่ใช่ด้วยวิธีฟ้องดำเนินคดีหรือคุกคาม แม้ว่าเธอจะพยายามบอกแล้วว่าพร้อมยอมรับคำอธิบายการโต้แย้งอย่างเป็นเหตุผลในทางวิชาการ แต่เวลาที่กองทัพจะชี้แจงก็ต้องระวังท่าทีที่ใช้ด้วยเพราะไม่ใช่คนทั่วไปที่เวลาคุยกันแล้วเท่าเทียมกันแต่เป็นหน่วยงาน ทำให้น่ากังวลต่อว่าแม้ กอ.รมน.จะไม่ฟ้องดำเนินคดีเองแต่ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นการปลุกปั่นมวลชนฝ่ายที่นิยมทหารมาฟ้องแทนหรือไม่

พวงทองยกตัวอย่าง กรณีสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินที่ถูกฟ้องดำเนินคดีถึงจังหวัดในภาคใต้ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นเพียงเพราะการแชร์โพสต์ขององค์กร iLaw ไปจนถึงคนที่ทำงานประเด็นเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีคนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเหมือนกัน การฟ้องดำเนินคดีแบบนี้ทำให้เกิดความหวาดกลัวมากขึ้น และมีกลุ่มคนในสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความพยายามทำให้เรื่องนี้เกี่ยวกับมาตรา 112 อีก ทั้งที่ผ่านมาคนที่ได้อ่านวิทยานิพนธ์อย่างผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาฯ เองก็ไม่เคยเห็นประเด็นนี้ แม้กระทั่งพล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน.หรือคนของ กอ.รมน.ที่มาชี้แจงก็ไม่มีใครพูดเรื่องนี้

“เป็นเรื่องเลวร้ายมากที่พยายามสร้างความกลัวและพยายามที่จะทำร้ายกันด้วยวิธีการแบบนี้ ภาวะแบบนี้มันเกิดขึ้นมาเกินสิบปีแล้วยังมีความพยายามทำแบบนี้ต่อไป” พวงทองวิจารณ์ถึงความพยายามในการใช้กระบวนการทางกฎหมายและการคุกคามกับคนเห็นต่าง

พวงทองยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า สำหรับหนังสือที่ขายได้อย่างมากแค่ราวสองพันเล่มมีคนอ่านก็คงไม่เกินสองหมื่นคนทั่วประเทศ ไม่มีทางที่จะเท่ากับจำนวนคนที่ กอ.รมน.ลงไปจัดตั้งที่มีถึงหกล้านคนและกลไกสื่อของกองทัพที่มีทั้งวิทยุโทรทัศน์สื่อสังคมออนไลน์ของ กอ.รมน.ที่มีทุกจังหวัดและของมวลชนต่างๆ อีก ไม่มีเหตุผลที่กองทัพต้องกลัวหนังสือเล่มนี้เลย แต่ความกลัวที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นจากสิ่งที่ผู้ร่วมเวทีเสวนาพูดหรือเพราะเนื้อหาในหนังสือไปแตะถูกกล่องดวงใจของกองทัพใช่หรือไม่

“แม้ว่าท่านจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ภัยคุกคามแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตัวดิฉันหรือหนังสือเล่มนี้ แต่มันเกิดขึ้นกับเสรีภาพซึ่งมันแย่ลงเรื่อยๆ และมันแย่มานานแล้วเป็นสิบปีแล้ว มันกระทบกับทุกคน มันทำให้พื้นที่การวิจัยมันชัดเจนมากขึ้นว่าใครที่จะทำวิจัยเรื่องนี้ต้องถามตัวเองว่าจะเสี่ยงดีมั้ย มันชัดเจนว่าการวิจัยเรื่องทหารมันเป็นพื้นที่ต้องห้าม” ผู้เขียนกล่าวปิดท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net