Skip to main content
sharethis

ช่วงปลายเดือนกันยายน สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันประกาศวางขายหนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมของกองทัพไทย” ที่พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแปลงจากงานวิจัยศึกษาของตัวเองมาเป็นหนังสือให้คนอ่านทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมไปกับการประกาศงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้

เนื้อหาหนังสือพยายามอธิบายถึงปฏิบัติการของกองทัพไทยในการเข้ามาทำภารกิจของพลเรือนต่างๆ ตั้งแต่เรื่องที่ดูเหมือนเกี่ยวกับกองทัพอยู่บ้าง เช่น ปัญหายาเสพติดตามชายแดน ไปจนถึงบางเรื่องก็ชวนฉงนว่าใช่งานของกองทัพหรือไม่ อย่างการเข้าไปฝึกอบรมจัดตั้งมวลชนตามชุมชน

แต่อีกประเด็นที่หนังสือพยายามจะตอบคำถามคือกองทัพทำเรื่องที่ไม่น่าจะใช่งานของกองทัพผ่านเครื่องมืออะไรบ้าง และ 1 ในเครื่องมือนั้นก็คือ ‘กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร’ ที่เรียกกันย่อๆ ว่า กอ.รมน.

จากนั้นไม่กี่วัน กอ.รมน.ก็ออกมาแถลง ‘ขอความร่วมมือ’ ไม่ให้ร้านค้าจัดจำหน่ายโดยอ้างว่าหนังสือดังกล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่คำแถลงดังกล่าวกลับไม่ได้พยายามโต้แย้งเนื้อหาในหนังสือเท่ากับการบอกว่าผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ไปจนถึงการโต้แย้งเรื่องกระบวนการเก็บข้อมูลทำวิจัย มีเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาหนังสืออยู่บ้าง คือการยืนยันว่า กอ.รมน.อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลและหน่วยงาน ‘พลเรือน’

ประชาไทจึงถือโอกาสนั่งคุยยาวๆ กับ ‘พล.ต.วินธัย สุวารี’ โฆษก กอ.รมน. ที่ได้พาเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของ กอ.รมน.(ไม่ประสงค์ออกนาม) มาช่วยตอบคำถาม ในฐานะเป็นคนในขององค์กรที่สังคมตั้งคำถามสารพัด และการปรากฏตัวมาแต่ละครั้งของ กอ.รมน.ก็มีแต่คนในชุดทหารบกจนสร้างความสงสัยว่าหน่วยงานนี้กองทัพหรือรัฐบาลคุม และเพื่อทำความเข้าใจว่า พวกเขามองเรื่อง ‘ความมั่นคงภายใน’ อย่างไร อะไรคือความจำเป็นที่หน่วยงานนี้ยังต้องดำรงอยู่ ไปจนถึงมีมุมมองอย่างไรต่อคำวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของกองทัพในการเข้ามาแทรกแซงสังคม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ภารกิจหลักของ กอ.รมน.เปลี่ยนมากี่ระลอกแล้วตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. :  การวิจัยจะข้ามเวลาไม่ได้ ข้ามอันดับไม่ได้ ข้ามอันดับก็คือไปสัมภาษณ์ระดับจังหวัดมาตอบกระทรวงนี่ผิด จะข้ามเวลาคือไปศึกษาสงครามเย็นแล้วมาตอบว่าปฏิบัติตอนนี้ก็ผิด เพราะฉะนั้นเราไม่พูดถึง กอ.รมน.สมัยก่อนมี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 มันไม่มีประโยชน์ นับตั้งแต่วันสถาปนา กอ.รมน.ปีนี้นับเป็นที่ 16

วินธัย: ถามว่าเปลี่ยนมากี่ระลอก จริงๆ แล้ว กอ.รมน.คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจัก ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ปี 2551 ฉบับนี้เป็นที่มาของการจัดระเบียบกฎหมายความมั่นคงเพราะปี 2548 เริ่มมีสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ต้องมีเครื่องมือในการแก้ปัญหา เพราะปัญหามีความต่อเนื่องยาวนาน มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน

ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ปี 2551 จะแบ่งงาน กอ.รมน.ออกเป็น 2 ลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ งานหลักในภาคใต้ที่จะมีฝ่ายอำนวยการด้วยและเป็นผู้ปฏิบัติ กับงานที่ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่เป็นการประสาน เสริม สนับสนุนหน่วยราชการหลายหน่วยที่ทำงานร่วมกัน เช่น ปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะปัญหาค่อนข้างจะมีความสลับซับซ้อน แก้มานานแล้วแต่ยังไม่บรรลุผลสักที

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : งานแบบนี้เราไม่ได้คิดเอง เป็นงานที่ ครม.มอบให้ หรือนายกฯ สั่ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประชุมกับส่วนราชการอื่น แทบไม่มีงานไหนที่เราคิดเองเลย เป็นงานที่เขาประชุมกันระดับกระทรวงแล้วมอบเป็นคำสั่ง ไม่รวมภาคใต้นะ เพราะงานหลักเราจริงๆ คืองานภาคใต้

ส่วนงานภาคใต้ คนที่คิดนโยบายคือ สมช. นายกฯ เป็นประธานประชุมทุกกระทรวง เราอยู่ระดับถัดจาก สมช.

วินธัย : ผมเล่าแบ็คกราวด์อีกอย่างว่า มันค่อนข้างเป็นโครงสร้างสากล อย่างสหรัฐฯ มีเรื่องที่กระทบความมั่นคงก็ต้องเห็นผู้นำเหล่าทัพ ฝ่ายบริหารเป็นคนให้โจทย์มา เพราะฉะนั้น กอ.รมน.จึงเป็นเป็นหน่วยงานที่ตั้งมาเพื่อรองรับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ซึ่งมีลักษณะผสมผสาน เขาเรียก Hybridge Threat

ถ้าเปรียบเทียบต่างประเทศ มันเหมือนกระทรวง Homeland Security ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : เราลอกมาจากสหรัฐฯ เลย แต่ Homeland Security เขามีอยู่ 2 แสนกว่าคน เอาคนมารวมกัน ตชด. ตม. ศุลกากร แต่เราทำไม่ได้ ก็เลยเอามาแค่ฝ่ายอำนวยการให้เป็นระบบเหมือนสากล ประชาชนทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่คือที่มาที่ไปที่เราต้องการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วย จากเดิมเป็นหน่วยเฉพาะกิจคนมาทำงาน พอ 1 ปีก็หายไป

สรุปแล้ว กอ.รมน.มันไม่ได้เปลี่ยนภารกิจ มันแทบจะเลิกองค์กรแบบเดิมเลย เพียงแต่ว่าเขาไปใช้ชื่อเดิม แต่เนื้อหาสาระชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับเดิมเลย สามารถไปอ่านบันทึกกรรมาธิการที่ยกร่างกฎหมายได้

คือจะบอกว่า กอ.รมน.ขาดจากองค์กรรูปแบบเดิม ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ใช่ เพราะฉะนั้นเขาถึงใช้ปีปัจจุบัน นับกันว่าวันสถาปนาครบรอบ 16 ปีเท่านั้น

แต่แม้แต่หน้าเว็บของ กอ.รมน.เองก็พูดถึงภารกิจเชื่อมโยงย้อนไปในอดีต

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : น้อยมาก

วินธัย : มันมีลักษณะงานคล้ายกันเฉยๆ แต่ว่าเมื่อก่อนมีภัยเดียว ไม่ได้ไปมองเรื่องป่าไม้ ยาเสพติด ไม่รู้เลยว่ามันจะสร้างความเสียหายกับชาติเยอะเหมือนปัจจุบัน ก็เลยไปตั้งชื่อ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์โดยตรง แต่พอเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใช้คำรวมๆ และมีความอ่อนตัวกว่าในการโยนภารกิจมาให้ปฏิบัติ ก็เลยไม่ต้องไปออก พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามยาเสพติด พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามทำลายป่าไม้ แต่ใช้เป็น ‘ความมั่นคงรวม’ อีกหน่อยภัยจากไซเบอร์ที่เราเห็นโดนโกงวงเงินสูงๆ กระทบคนเยอะ อาจจะถูกโยนเข้ามาสู่ภารกิจ กอ.รมน.ก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีภารกิจนี้ แสดงว่าหน่วยราชการปกติรองรับได้ ยังไม่ต้องอาศัยกลไกการบูรณาการของกอ.รมน.

มองอย่างไรกับเรื่องที่ กอ.รมน.ถูกเพิ่มภารกิจเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ทั้งที่ก็มีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบทำอยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องไซเบอร์ก็มี สกมช. ?
 

วินธัย : ขอยกตัวอย่างองค์ประกอบของการจัดการปัญหายาเสพติด 1. หน่วยสกัดกั้นมันเป็นกองกำลังป้องกันชายแดนอยู่ตามริมๆ เพราะเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่มีผลิตในนี้ 2. พื้นที่ตอนในคนสกัดกั้นก็คือตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตำรวจท้องที่ 3. พอเป็นเรื่องบำบัดรักษาก็ไปกระทรวงสาธารณสุข 4. หาอาชีพให้คนติดยาก็ไปกระทรวงพัฒนาสังคม 5. ผู้ต้องขังที่อยู่ในคุกในเรือนจำราชทัณฑ์ก็ต้องดูแล

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : มันต้องการบูรณาการ

วินธัย : อย่างที่บอกว่ายาเสพติดอย่างเดียว ทำไมไม่ใช้แค่ ป.ป.ส.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ที่เขาเป็นเจ้าของกฎหมาย มันไม่รอด มีแต่กฎหมายมันจะรอดได้ยังไง ถ้ากองกำลังป้องกันชายแดนไม่ช่วยด้วย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ต้องเข้าใจเรื่องทฤษฎีองค์การและต้องเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์บูรณาการของทหาร คือตัวเรื่องเป็นความมั่นคง แต่เรื่องความมั่นคงเอาวิชาความมั่นคงแบบทหารมาใส่อย่างเดียวมันไม่ได้ แล้วการลดขนาดองค์การต้องอธิบายด้วยทฤษฎีองค์การ

คือหน้าที่ขององค์การเป็นฟังก์ชั่น แล้วงาน กอ.รมน. ก็เป็นงานบูรณาการ เช่น เรื่องยาเสพติดจะประกอบทุกหน่วยเข้ามาร่วมกัน กอ.รมน. จะทำเฉพาะการฝึกในหมู่บ้านตามแนวป้องกันชายแดน ซึ่งจะบอกว่า กอ.รมน.ไปทำเรื่องยาเสพติดซ้ำซ้อน มันไม่ใช่ งานทั้งหมดทุกส่วนราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออย่างงานภาคใต้มี 50 ส่วนราชการ งานทั้งหมดเป็นงานที่วางแผนโดยเจ้าของแผนงานหรือกระทรวงนั้นๆ

คือแต่ละงานก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ ส่วน กอ.รมน.เข้าไปทำงานประสานระหว่างกระทรวงเจ้าของแผนงานกับส่วนปฎิบัติหน้างานหรือหน่วยในพื้นที่ ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการกอ.รมน. : เป็นแผนงานที่วางโดยระดับกระทรวง ระดับ สมช. เลือกเป็นงานๆ ไป อย่างเช่นการฝึก อพป.(หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง) อพป.เป็นของกระทรวงมหาดไทย แต่คนเห็นแล้วมาสรุปว่า อบรม อพป.เป็นการฝึกมวลชนเพื่อควบคุมสังคม มันไม่ใช่

ปีที่แล้วเราทำหนังสือไปกระทรวงมหาดไทยว่าจะเลิกฝึกหรือยัง แต่มหาดไทยบอกว่าต้องการให้ กอ.รมน.ฝึกต่อ เพราะว่ามีความเชี่ยวชาญในการฝึก ดังนั้น มันไม่ใช่แบบที่บอกว่าไปแทรก

จดหมายที่ กอ.รมน.ส่งถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อถามว่าจะให้ดำเนินโครงการจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองต่อหรือไม่ และทางปลัดกระทรวงตอบกลับว่ายังคงมีความจำเป็นอยู่ที่จะต้องให้กอ.รมน.ดำเนินการฝึกอบรมต่อไป เป็นภาพจากสไลด์ของ กอ.รมน.ที่นำมาชี้แจงระหว่างการสัมภาษณ์

อย่างการฝึกหมู่บ้านป้องกันยาเสพติดตามชายแดน ป.ป.ส.เขาไม่มีคน เขาเป็นคนอำนวยการอย่างเดียว เขาก็เลยให้ กอ.รมน.มาช่วยฝึกจัดตั้งตามแนวชายแดน อันนี้เป็นของ ป.ป.ส.ใช้งบบูรณาการ

วินธัย : มันมี 2 ลักษณะงาน หน่วยราชการเดิมยังต้องทำเหมือนเดิม อย่างเวลาเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ไปเห็นเรื่องการทำลายทรัพยกรธรรมชาติ เขาไม่ได้ไปจับเพราะไม่ได้มีกฎหมายแต่เขาจะเป็นคนชี้เป้าเฉยๆ

แล้วถ้าอย่างนั้น กอ.รมน.นิยามเรื่องความมั่นคงไว้อย่างไร ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ความมั่นคงไม่มีนิยามไหนที่ทำให้ทุกคนยอมรับเป็นสากลในโลกนี้ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยเช่นเดียวกับการเมือง สงครามมีนิยาม 30 นิยาม แต่นิยามที่ดีที่สุดในโลกและในทางวิชาการมีคนเห็นร่วมกันมากที่สุดมีข้อโต้แย้งน้อยที่สุด คือ ความมั่นคงรูปแบบใหม่ตามนิยามของสำนักโคเปนเฮเกน (Copenhagen School) ที่ยอมรับมากที่สุด

ทุกประเด็นที่ยกระดับขึ้นมาเข้ากระบวนการทำให้เป็นการเมือง (Politicalization) แปลงมาเป็นความมั่นคง (Securitization) เพื่อใช้กฎหมายพิเศษ ใช้งบประมาณพิเศษ นี่คือความมั่นคง ยกตัวอย่างเช่น ยาเสพติด ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงไปจับอาชญากร แต่เมื่อใดก็ตามเมื่อสังคมนั้น หมู่บ้าน ตำบล จังหวัดนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าต้องใช้กฎหมายพิเศษ ตรงนี้จะเริ่มเป็นความมั่นคงของสังคมนั้นๆ

หรืออีกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือถ้าหลายจังหวัดในภาคเห็นปัญหาร่วมกัน เป็นเรื่องไฟป่าหมอกควัน ก็เป็นความมั่นคงของภาค ถ้าหลายภาคมีปัญหาตรงกันอย่างเรื่องยาเสพติดที่มีในภาคภาคเหนือภาคอีสานนั่นคือความมั่นคงของประเทศ ถ้าหลายประเทศร่วมกันเช่นโควิดก็เป็นความมั่นคงของโลก นี่คือนิยามที่นักวิชาการเขาถือว่าดีที่สุดในปัจจุบัน

แต่เรื่องหนึ่งที่ กอ.รมน.มักถูกวิจารณ์ นอกจากเรื่องการมีคนไปช่วยปฏิบัติ แล้วยังต้องใช้กฎหมายพิเศษด้วย ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : มันใช้กฎหมายพิเศษเมื่อเกิดภาวะที่กระทบกับความมั่นคง มันมีภาวะปกติกับภาวะไม่ปกติ

ภาวะปกติที่เราเห็นทุกวันนี้เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เป็นแค่ระดับงาน พอบอกว่างานมันไม่ดีก็ยกเลิกไปเป็นส่วนๆ อพป.ถ้าจะไม่ฝึกก็เลิกไป เป็นเรื่องระดับงานย่อยๆ ไม่ใช่ว่าพองานไม่ดีปั๊บก็ยุบ กอ.รมน. คือการจะยุบ กอ.รมน.ได้มี 5 ระดับ

ระดับแรก คือ รัฐธรรมนูญผิดไหม ถ้ารัฐธรรมนูญผิดไปแก้รัฐธรรมนูญ

ระดับที่สอง คือ พ.ร.บ. กอ.รมน.ผิดไหม ถ้าบอกว่ามันผิดก็ไปแก้ พ.ร.บ.

ระดับที่สาม คือ ระดับคำสั่งสำนักนายกฯ ผิดไหมถ้ามันผิดก็ไปแก้ตรงนี้

ระดับที่สี่ คืออัตรากำลัง

ระดับที่ห้า คือวิธีการปฏิบัติงาน

มันเหมือนกับไปโรงพยาบาลแล้วโรงพยาบาลบาลรักษาไม่ดีบอกยุบโรงพยาบาล มันไม่ใช่ มันมีระดับตรงนี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติราชการปกติ ตามทฤษฎีองค์การ การปรับปรุงองค์การเป็นแบบนี้ เป็นเรื่องของส่วนราชการนั้นตามพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นักวิชาการอาจทำวิจัยได้ แต่คุณวิจัยไม่ครบ คุณเอาการปฏิบัติแผนงานต่างๆ ไปล้มระดับกฎหมายมันไม่ได้

วินธัย :  เสริมอีกนิดว่า พอบอกว่า กอ.รมน.ทำแล้ว ไม่ใช่ว่าคนอื่นไม่ทำ ยังทำเหมือนเดิม กอ.รมน.เป็นคนประสาน บางเรื่องอาจจะร่วมเป็นงานๆ ไป

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : อย่างเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เขาบอกว่าให้กอ.รมน.เป็นคณะอนุกรรมการ เป็นแผนต้องไปดูแผนยุทธศาสตร์ที่ สมช.เป็นคนทำทั้งหมด แล้ว สมช.ก็ประชุมทุกส่วนราชการเข้า ครม.แล้วนายกฯ ก็เป็นคนสั่ง มันเป็นขั้นตอนปกติราชการ ไม่มีอะไรแอบแฝงเลย

แล้วตอนนี้ กอ.รมน.มีอยู่กี่ภารกิจ ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : หลักๆ คือภาคใต้ ตามกฎหมายเลย ที่เหลือคือภาวะปกติก็คือเตรียมพร้อม งานตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม.สั่ง ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ  ตามนายกฯ สั่ง แทบไม่มงานไหนที่เราคิดเอง

แล้วงานไหนที่ท้าทายที่สุด ?
 

วินธัย: ภาคใต้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ภาคใต้ เป็นภารกิจหลักของ กอ.รมน.ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ปัจจุบันก็พยายามที่จะผ่องถ่าย แต่ผ่องถ่ายไป อส. (กองอาสารักษาดินแดน) ตั้งแต่ปี 2560 แล้วไปไม่รอด ทุกวันนี้ก็ยังไม่ค่อยจะรอด คือเราไม่อยากทำ อยากได้เอาไปเลย แต่เราต้องมาหาคนมานั่งทำ

พวกเรามาจากกองทัพทั้งนั้น คือเราไม่อยากมานั่งทำ 2 หน้าที่ อย่างเช่นตุลาคมนี้ กอ.รมน.ต้องการคน 1,400 คน ถ้ามีมา 500 คน ก็ตัดยอดกลับกองทัพไป 500 คน อันนี้เฉพาะในส่วนกลาง แต่ส่วนในภาคใต้สัดส่วนอัตราเป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็นแบบ 1 ต่อ 1 ต่อ 1

ถ้าบอกว่าเรื่องภาคใต้เป็นเรื่องท้าทายแล้ว สัก 2-3 เดือนก่อนมีข้อเสนอเอาสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมา คิดว่าทดแทนกันได้ไหม?

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ภาคใต้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะเอาเรื่องเก่ามาอธิบายปัจจุบันไม่ได้  กอ.รมน.เป็นคนบอกเองว่าก็พร้อมที่จะให้เป็นไปตามระบบเดิม เดิมภาคใต้กระบวนการต่างๆ ไม่ได้อยู่ในระบบของรัฐ ตั้งแต่สมัยก่อนมี ก.บ.ช.ต.(กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) พอหลังจากนั้นไปก็คือ พ.ร.บ. มาปั๊บก็ดำเนินการกันตามขั้นตอนปกติ เป็น ศอ.บต.มาเป็น กอ.รมน.

ปรากฏว่า ศอ.บต. มาเป็นสภาที่ปรึกษาฯ ไม่มีคนที่เกี่ยวข้องก็เอาคนในพื้นที่ (สามจังหวัดชายแดนใต้) เข้ามา ปัญหาคือโครงการต่างๆ ไม่ผ่านการพิจารณาเพราะงบประมาณบางส่วนมันเข้าไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม

ทางนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ก็เลยบอกว่าเอากลับเข้ามาทำงานร่วมกัน มันมีเหตุผลของมันอยู่ แต่ปัจจุบันมันหมดความจำเป็นแล้ว เพราะแผนงานภาคใต้ทั้งหมดรับผิดชอบโดย สมช. มีคณะกรรมการรับผิดชอบทั้งหมด เพราะฉะนั้นแผนงานทั้งหมดจะมั่วไม่ได้ เขามีตัวชี้วัดละเอียดยิบ มันก็เลยหมดความจำเป็นไป เรียกว่ามีการพัฒนาตามระบบ ตามลำดับเวลา

กอ.รมน.ก็บอกเองว่าก็คืนกลับไปได้ เพราะว่าแผนงานภาคใต้มันถูกกำกับโดย สมช.และคณะกรรมการทั้งระบบแล้ว คุณจะเอางบประมาณไปให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ นั่นคือที่มาที่ไป

กอ.รมน.ตอนนี้มีจำนวนอยู่เท่าไหร่จริงๆ กันแน่ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดไหม หรือมีรูปแบบยืมตัวข้าราชการพลเรือนมาเท่าไหร่ ?
 

วินธัย : เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.มีอยู่ 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีมาตั้งแต่ท่านนายกฯ ,  รอง ผอ.รมน. แล้วก็เลขาธิการ กอ.รมน. เป็น เสธ. แล้วก็ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็น ผอ.รมน.จังหวัดด้วย เป็นข้าราชการพลเรือนตามตำแหน่งที่กฎหมายกำหนด

กลุ่มสอง  ข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานในอัตราประจำมีอยู่ 335 อัตรา ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ที่ กอ.รมน.ส่วนกลาง ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนประจำ กอ.รมน., พนักงานราชการ กอ.รมน. และลูกจ้างชั่วคราว กอ.รมน.

กลุ่มสาม คือ ช่วยราชการมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจ และทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ช่วยราชการแบบปีต่อปี โดยปฏิบัติงานในส่วนกลาง ประมาณ 1,400 อัตรา และกลุ่มในส่วนภูมิภาค ได้แก่ กอ.รมน.ภาค กอ.รมน.จังหวัด และหน่วยระดับพื้นที่ประมาณ 9,000 อัตรา

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ช่วยราชการอยู่ที่ กอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้า (ชายแดนใต้) ประมาณ 40,000 กว่า เป็นตัวเลขประมาณการ เพราะแต่ละปีลดลงมาเรื่อยๆ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : มันลดลงมาเรื่อยๆ จาก 75,000 คน เราไม่ได้กดลงมาเอง แต่เข้าขั้นตอนถึง ครม. แล้วเขาวิจัยมาด้วย ทุกครั้งที่ต่อ เราไปให้มหาวิทยาลัยวิจัยว่าจำเป็นต้องอยู่ต่อไหม 70% บอกให้อยู่ต่อ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็ปรับลดลงไป ปัจจุบันเหลือ 49,000 คน

วินธัย : ช่วยราชการกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่เยอะที่สุด คือ ข้าราชการพลเรือน เพราะว่าจังหวัดหนึ่งมีอยู่ 52 อัตรา จะเป็นทหารอยู่ 10 กว่า นอกนั้นเป็นข้าราชการพลเรือน แล้วก็มันมีศูนย์ยาเสพติดตรงนั้นตรงนี้อีก

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : กอ.รมน.จังหวัดคือ 52 อัตราเป็นทหารแค่ 17 อัตรา ที่เหลือคือพลเรือน

วินธัย : ในหมื่นกว่าอัตรา หลักๆ จะเป็นข้าราชการพลเรือน ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเยอะที่สุดคือ ทหารบก 30,000 กว่า เยอะตามโครงสร้างประเทศ รองลงมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติประมาณ 15,000  รองลงมาอีกเป็นกองทัพเรือจำนวนหลายพัน แล้วก็ อส.

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ทหารบกลดลงแล้ว

เห็นบอกว่ามี กอ.รมน.ระดับจังหวัดด้วย แล้วในระดับจังหวัดก็มีรองผู้ว่าฝ่ายความมั่นคงด้วย ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : กอ.รมน.จังหวัดจะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้ ถ้าไม่ตั้งก็ยุบไป ไม่ใช่เรื่องยากอะไร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คุณไม่อยากตั้ง ก็ไม่ต้องไปตั้งเป็นรายปี แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เกี่ยวกับว่าถ้ายกเลิก กอ.รมน.ภาคหรือจังหวัดแล้วจะไปยุบ พ.ร.บ.มันไม่เกี่ยวกัน อย่างที่บอกมันมีวิธีจัดการอยู่ 5 ระดับ

ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจบภารกิจก็ไม่ต้องไปตั้งรายปี จังหวัดก็เหมือนกัน ถ้าไม่อยากตั้งก็ไม่ต้องตั้ง อันนี้ถามว่ามันซ้ำซ้อนกันมั้ย สมช.เอา กอ.รมน.จังหวัดเข้าไปอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาของประเทศ นักวิจัยต้องไปอ่านในแผนนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ มันเขียนชัดเจนว่า กอ.รมน.ทำอะไร ขั้นตอนเสนองบเป็นอย่างไร มันไม่ซ้ำซ้อน ส่วนที่ซ้ำซ้อนมันเคลียร์กันจนหมดแล้วว่าที่เหลือทำอะไร

วินธัย : เจอภารกิจอะไรสดๆ เข้ามาก็เอาคนมาทำ ถ้าเรื่องไหนมันควรจะเป็นหมอเยอะหน่อยหรือควรจะเป็นอะไร ก็ทำได้หมด มีความอ่อนตัวสูงมาก

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : มันเป็นธรรมชาติของความมั่นคง ความมั่นคงทุกอย่างทุกระดับมันอาจจะเกิดขึ้นแล้วหายไป อย่างเช่นโควิดมันไม่มีในแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่พอเกิดขึ้น เขาตั้งมาแล้วมันก็หายไป ถ้ามันเป็นปัญหามานานอย่างเช่น เรื่องป่าไม้ ยาเสพติด ก็จะมีในแผนชัดเจน แต่ถ้าเกิดเหตุขึ้นปุ๊บปั๊บอย่างน้ำมันรั่ว แก๊สรั่ว ไม่มีคนมาทำ หรืออย่างน้ำท่วมภาคเหนือทุกวันนี้ ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักเพราะว่าหน่วยงานพลเรือนไม่ได้ออกแบบมาให้ทำงานแบบนี้ เขาถูกออกแบบมาว่าคุณต้องมีคนกี่คน ทำงานเท่าไหร่ มีตัวชี้วัด เขาไม่มีกำลังคนเผื่อ แต่กองทัพในโลกล้วนออกแบบมาเพื่อรับงานแบบนี้ สามารถให้หยุดงานตรงนี้แล้วไปรับงานเร่งด่วน ทุ่มเทสรรพกำลังในภารกิจที่มีความสำคัญมากกว่าที่กระทบชีวิตทรัพย์สินคน

กอ.รมน.ระดับจังหวัด ใครจะเป็นคนพิจารณาว่า ควรมีหรือไม่มี ?
 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : มันเป็นเรื่องของคณะกรรมการพิจารณา ไม่ได้คิดกันเอง ผอ.รมน.คือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เอกสารทุกอย่างผ่าน ผอ.รมน.จังหวัดหมด ไม่ใช่ทหารไปนั่งทำเอง ในส่วนของ กอ.รมน.ภาคก็แม่ทัพภาค เพราะแต่ก่อนมันไม่มีพลเรือนมารับผิดชอบระดับภาค 

ถ้าบอกว่าปัจจุบันมี 18 กลุ่มจังหวัด ให้พลเรือนเป็น ผอ.รมน.ภาคก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ไปแก้ตรงนั้น หรือถ้าไม่อยากไม่มีภาค ก็เลิกไป แล้วจากจังหวัดข้ามมาประเทศเลย

ถามว่าใครเป็นคนพิจารณาว่ามีหรือไม่มีระดับจังหวัด ก็คือคณะกรรมการ กอ.รมน.ระดับประเทศ ถ้านายกฯ ที่เป็นประธานบอกว่าไม่ตั้งระดับจังหวัดแล้ว ก็ไม่ตั้งจังหวัด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วก็กรรมการที่เข้ามาร่วมกันเห็นชอบด้วย เพราะ กอ.รมน.จะมีคณะกรรมการอำนวยการคุมอยู่ มีรัฐมนตรีต่างๆ เลขาธิการ กพ. ต่างๆ ถ้าเขาไม่ยอมก็คือจบ

อย่างผมขอคนไป 5 ปี เลขาธิการ กพร.เขาบอกไม่ให้ก็คือจบ คนแบบผมนี่เหรอจะไปควบคุมสังคม ขอเงินก็ถูกตรวจ ขอคนก็ไม่ได้ แล้วจะไปควบคุมใครได้อีก เป็นแค่หน่วยปฏิบัติ เขาสั่งมา

คณะกรรมการอำนวยการที่คุมอยู่ข้างบน นายกฯ เป็นประธาน รองนายกฯ รมว.มหาดไทย เลขาธิการ กพร. ผอ.สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติเต็มไปหมด อย่าง ผอ.สำนักงานข่าวกรอง

ถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วย เราก็ทำอะไรไม่ได้ เอาแค่ทำไมปัญหาเรื่องคน เราขอไปก็ไม่ได้เพราะเลขาธิการ

กพร.บอกไม่ได้ เราแทบไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นหน่วยที่ว่า โอ้โห น่าสงสารมาก เขาก็สั่งงานมา เงินก็แทบไม่มี เงินที่มีก็เงินภาคใต้ เงินเบี้ยเลี้ยง อำนาจก็ไม่มี จะขอคนก็ไม่ให้ เราต้องไปกระเสือกกระสนหาคนมาทำงาน แต่งานมันมี

ถ้าตุลาคมนี้ถ้าใครหาคนมาได้ 500 คน เรากลับไป 500 คน เลยถ้าหามาได้ตามมาตรฐานตำแหน่งนี้นะ แต่หาไม่ได้เราต้องมากระเสือกกระสนทนทำกัน ผมเป็นคนทนนั่งพิมพ์เอกสารเนี่ย มันไม่มีคน

ดูมีภารกิจเข้ามาหลายอย่าง งานไหนที่คิดว่า กอ.รมน.ไม่ถนัดที่สุด ?

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ : แรงงานต่างด้าว สมช.ไม่อยากทำ แต่หาเจ้าภาพไม่ได้ แล้วมันดันมีในยุทธศาสตร์ชาติ เลยโอนมาให้ กอ.รมน.เราไม่อยากรับ เรามีมาตรการว่าถ้าคน (ทำงาน) มาก็เอาคืนไป บิ๊กดาต้าเหมือนกัน ดีอี (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) จะรับมา แต่บอกข้อมูลความมั่นคงไม่เกี่ยว บอกข้อมูลของตัวเองเป็นข้อมูลทั่วๆ ไปเท่านั้น ก็โยนมาให้ กอ.รมน.ทำอีก ก็ต้องไปหาคนดึงคนมานั่งทำ เป็นอย่างนี้ทุกงาน ถามว่าเราอยากรับมั้ย เราไม่อยากรับหรอก

เราอยากรับงานภาคใต้และงานเตรียมการ เพราะงานความมั่นคงไม่ใช่เกิดเรื่องแล้วค่อยมาเตรียม แต่ต้องเตรียมคนไว้ตั้งแต่แรกให้เข้าใจว่าปัญหายาเสพติดคืออะไร แรงงานต่างด้าวคืออะไร การฝึกมวลชนต่างๆ ต้องเตรียมในยามปกติ

เรื่องอบรมมวลชน เวลาเข้าไปฝึกอบรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร ?

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ของมหาดไทยนี่ 44,000 คนนะ ไม่ได้เยอะ เขาไม่มีคนมาฝึกพวกนี้ ถ้าเขามีคนก็มาเอาไป นักวิจัยต้องไปดูเอกสารชั้นต้น ในเว็บมันเป็นแค่งานประชาสัมพันธ์ ไปหยิบเอาตรงนั้นมาแล้วบอกว่าเป็นเอกสารชั้นต้นไม่ได้

ส่วนเรื่องที่อบรมก็แล้วแต่กลุ่ม แล้วแต่งาน ถ้าเป็นงานยาเสพติดก็อบรมให้ทั้งหมู่บ้านเข้าใจว่าต้องสังเกตอย่างนี้ การระวังป้องกันเป็นแบบนี้ ถ้าอบรมเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็ต้องมาดูที่ตัวมวลชนว่าต้องการเรื่องนี้ ไม่ได้มีเรื่องอื่นแอบแฝง ไปเปิดหลักสูตรดูได้เลยเวลาชี้แจงงบประมาณ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถผ่านกรรมาธิการงบประมาณได้หรอก

วินธัย : จริงๆ ไม่รู้ว่าจะกังวลทำไมเรื่องอบรมวลชน เพราะเราเปิดกว้างทุกเวที ไม่ได้ให้เฉพาะฝ่ายนั้นฝ่ายนี้หรือห้ามมาร่วม

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : กอ.รมน.มีทุกฝ่ายทุกสี ไม่สามารถปกปิดได้ เรื่องนี้ตั้งแต่ กอ.รมน.ส่วนกลางไปถึงจังหวัดมีทุกฝ่าย ถ้าอยากจะดูอะไรของ กอ.รมน.พาไปดูได้ทุกที่ ดูเอกสารได้หมด ยกเว้นบัญชีเงินเดือนเพราะเป็นความมั่นคงส่วนตัว เดี๋ยวภรรยารู้

วินธัย : เราไม่ได้เหมือนฝ่ายการเมืองที่เขาลึกลับซับซ้อน เราทำไม่ได้นะ เราส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพิทักษ์เทิดทูนสถาบันหลักของชาติ มันก็เป็นกลไกปกติ ไม่มีอะไรผิดกฎหมายเลย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ตามยุทธศาสตร์ชาติเลย แล้วถ้าไม่อยากให้ทำก็ไปคุยกัน แผนทั้งหมดทุกกระทรวงเขาประชุมรวมกันเข้า ครม.หมดแล้ว เพราะฉะนั้นนายกฯ ทุกคนที่เข้ามาก็เข้าใจว่า มันไม่ใช่อย่างที่กล่าวหา กอ.รมน.ถึงรอดมาได้ทุกวันนี้ ตอนเขาอยู่ข้างนอกเขาไม่เข้าใจ พอเข้ามาก็ เฮ้ย มันไม่ใช่นี่หว่า ขั้นตอนพวกนี้มันไม่สามารถขอเงินได้เอง มันเข้า กมธ.ของสภา สส.เต็มไปหมด มันไม่สามารถแทรกซึม ทำไม่ได้หรอก ตีขลุมไปเอง

กอ.รมน. รับผิดชอบบูรณาการและขับเคลื่อนแผนย่อย 4 เรื่อง เรื่องแรกที่ปรากฏ คือ การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื้อหางานหลักๆ ส่วนนี้ทำอะไรบ้าง?

วินธัย : เนื้องานหลักๆ ส่วนใหญ่ที่ทําอยู่คือพยายามเสริมสร้างให้ประชาชนตามชนบทมีอาชีพที่มั่นคง พยายามที่จะให้แนวทางในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็สอนโดยเอาทฤษฎีทั้งหมดที่เคยได้รับมาตามแนวพระราชดําริมาถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน

ประเด็นหลักๆ เลยคือ ถูกวิจารณ์เรื่องงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ?

วินธัย : อย่างกรณีหนังสือก็ไปวิจารณ์ว่าทำงานซ้ำซ้อนกับหลายหน่วยงาน จริงๆ มันก็ช่วยกันทำ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : เรื่องความซ้ำซ้อนคือข้างบนเขาเป็นคนแบ่งมา เขาประชุมกันหมด ถ้ามหาดไทยบอกว่าไม่ซ้ำก็จบ เจ้าของงานเขาบอกเองว่าไม่ซ้ำ เจ้าของงานก็คือระดับรัฐมนตรีกระทรวง เขาบอกไม่ซ้ำก็จบ คนอื่นบอกซ้ำมันก็ไม่ใช่ แล้วถ้าซ้ำจริงก็เลิก ไม่มีอะไร

วินธัย : ใน 1 ภารกิจแก้ปัญหา มันมีภารกิจย่อย เหมือนยาเสพติด กระทรวงศึกษาก็ต้องไปอบรมความรู้เยาวชน กองกำลังชายแดนก็อยู่ชายแดนอยู่แล้วเป็นเจ้าพนักงาน แล้วประวัติการจับกุมและปริมาณที่กองกำลังป้องกันชายแดนจับก็ปริมาณเยอะที่สุดของประเทศ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ในเมื่อเขากำหนดงานมาให้แล้ว ก็เลยพยายามเอาคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาในอัตราซึ่งแล้วแต่งาน ศูนย์ก็ตั้งขึ้นมาตามหน้าที่ ถ้ามีงานอื่นเข้ามาก็ตั้งอีกศูนย์ขึ้นมา ถ้าไม่มีงานแล้วก็เลิกไป มันเป็นธรรมชาติของความมั่นคง เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไป ถ้าคนอื่นทำเราก็ยินดี เราไม่อยากทำเท่าไหร่นักหรอก แต่บังเอิญว่ามันทำไม่ได้ เพราะหลายงานมันก็เป็นงานเฉพาะของเรา

อย่างเรื่องงานยาเสพติด กอ.รมน.ก็มีศูนย์ที่ทำเรื่องยาเสพติดอีก งานที่เป็นรูปธรรมเข้าไปทำอะไร แล้วคนที่ทำนี่เป็นระดับเจ้าหน้าที่หรืออาสา ?

วินธัย : การจับกุมยังคงเป็นคนที่ทำหน้าที่จับกุมเหมือนเดิม ศูนย์พวกนี้จะมีทั้งฝ่ายจับกุมด้วย ก็คือตำรวจ ป.ป.ส. แล้วก็ตำรวจในพื้นที่นั้นๆ กับฝ่ายปกครอง ส่วนพื้นที่ชายแดนจะเป็นทหาร เพราะฉะนั้นทุกคนจะมาทำงานภายใต้ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำพื้นที่ คนทำงานจะยังคงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักอยู่แล้ว

มันก็จะมีทั้งจับกุมแล้วก็มีงานรณรงค์ด้วย รายละเอียดของศูนย์การประกอบกำลังส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนหน้าใหม่ เป็นคนที่ทำงานในด้านยาเสพติดอยู่แล้วมาหารือพูดคุยวางแนวทางทำงานร่วมกัน ไม่ได้มีการบรรจุคนเข้ามาใหม่

ช่วง คสช. มีภารกิจอะไรต่างไปจากช่วงรัฐบาลพลเรือนบ้างไหม ทำอะไรบ้าง ?

วินธัย : ไม่มีนะ ไม่มีเลย ก็ทำภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ลักษณะงานที่ 1 ก็คือประสาน ลักษณะงานที่ 2 ก็คืองานของจังหวัดชายแดนใต้ เหมือนเดิม ไม่ได้มีการมอบหมายอะไรให้ กอ.รมน.เลย

แต่หลายคนอาจจะสับสนที่เห็นทหารไปเดินรักษาความสงบในช่วงปี 57-58 ในช่วงที่มีอาวุธสงครามเยอะหรือมีคนที่มาชุมนุมเสียชีวิต ตรงนั้นฝ่ายบริหารไม่ได้มอบหมายงานตรงนั้นให้ กอ.รมน. เป็นคำสั่ง คสช.มากกว่า ไม่ได้อาศัยอำนาจอะไรตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เลย

ทหารมาเป็นเจ้าพนักงานตรวจเพิ่มขึ้น นั่นอาศัยคำสั่ง คสช. ไม่ใช่งานตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้วตอนนั้นทหารน่าจะจังหวัดละ 100-200 คนมั้ง ก็หลักพันคนเท่านั้นเองจากทหาร 2 แสนกว่าคน ไม่ได้ออกมทำหน้าที่รักษาความสงบทั้งหมด จะมีเฉพาะคนที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ที่ให้หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งได้

มีงานติดตามควบคุมคนเห็นต่างไหม ? 

วินธัย : หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เอ๊ะ แล้ว กอ.รมน.ไปเฝ้าไปฟังคนที่เห็นต่าง เขาไม่ได้ทำอะไรเลย กอ.รมน.ไม่ได้มีกฎหมายอะไรเลย เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จะทำอะไรได้ก็มีแค่ที่สามจังหวัดขายแดนใต้ นอกนั้นเขายังทำเหมือนเดิม เป็นคนประสาน สังเกตการณ์ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรที่มันผิดกฎหมาย เขาก็คงไม่ต้องไปบอกกล่าวใคร แต่ถ้ามันมีท่าทางจะเกิดการใช้ความรุนแรง กอ.รมน.ก็ไม่ได้ทำเอง เขาต้องไปบอกเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่อยู่ เขาไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ

เหมือนประชาชนคนหนึ่งไปอยู่ร่วมสังเกตการณ์แล้วเห็นอะไรที่ไม่ดีเขาก็ไปร้องทุกข์กับเจ้าพนักงาน ก็เหมือนกันเลย กอ.รมน.ก็เหมือนกับพลเมืองดีมีสังกัดราชการ แต่หน้าที่ก็เหมือนพลเมืองทั่วไปละครับ ยกเว้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วย

เรื่องหนึ่งที่เห็นจากแผนงาน กอ.รมน.มีส่วนงาน ‘พัฒนาการเมือง’ ด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ?

วินธัย : ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สมัยก่อน บางคนอาจจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งแล้วนำไปสู่ความขัดแย้งแล้วเราก็อยากให้เรื่องการเมืองเป็นไปตามระบบและระบอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดมากกว่า ก็คงตรงกับความต้องการกับประชาชนทั่วไป

ปกติไม่เห็น กอ.รมน.ออกมาตอบโต้งานใดๆ ในทางสาธารณะ ทำไมจึงให้ความสำคัญกับหนังสือ รศ.ดร.พวงทอง และกังวลว่าจะถูกกล่าวหาคุกคามเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ ?

วินธัย : ข้อมูลผิดถ้าจะนำไปให้ความรู้กับผู้อื่นและเยาวชนนั้นเหมาะหรือเปล่า เราเองสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องให้ออกไปสู่สังคมเพื่อเสริมให้งานวิชาการมีคุณภาพและมีความสมบูรณ์สูงสุด

ก่อนจะเป็นหนังสือเราเห็นการนำข้อมูลที่มีอยู่ในหนังสือไปสัมมนาเฉยๆ เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรที่จะนำข้อมูลไปให้เขา ครั้งต่อไปจะได้ถูก เราก็เลยจัดสัมมนาทางวิชาการแล้วก็หาทางที่จะเชิญอาจารย์และผู้มีส่วนร่วมทั้งองค์กรและผู้ปฏิบัติงานจริงๆ ของงานความมั่นคงจริงๆ มา แต่ก็ยังไม่ได้ผล แล้วก็ไปเห็นอีกทีหนึ่งก็งานอบรมเยาวชน Common School ปรากฏว่าไปถึงเด็กแล้วก็เลยทำให้เราในฐานะที่เป็นนักวิชาการแม้ว่าเราจะมีชั้นยศในทางทหาร แต่เราเองก็คุณวุฒิทางวิชาการด้วย ต้องแสดงออกในงานวิชาการของเราเองด้วยก็แค่นั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย เพราะระบบการเมืองในปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ทหารด้วย เป็นเรื่องข้อมูลที่เราปราถนาดีอยากให้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดไปสู่สังคม

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : เราแค่อยากให้แก้หนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ แต่ปัญหาคือพิมพ์ออกไปทั้งโลกแล้วสื่อมวลชนกับนักวิชาการในโลกเขาอ้างอิงข้อความไปใช้มา 2 ปี จะทำยังไง

ไม่ใช่แค่เราเสียหาย แต่กองทัพก็เสียหาย สกมช.(สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ) ก็เสียหายที่ไปอ้างว่าเป็นเครื่องมือควบคุมสังคมของกองทัพ ทั้งที่แค่มีพลตรีเข้าไปนั่งเป็นเลขาธิการ ซึ่งเป็นเพราะว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ถูกสรรหามา

วินธัย : ถ้าไปดูในเว็บไซต์วิกิพีเดียจะเห็นว่าใช้ข้อมูลจากหนังสือของอาจารย์พวงทองอย่างเดียวเลย กอ.รมน.คือใคร ทำอะไรก็ผิดหมด

คนมียศทางทหารไม่ได้เป็นผู้ร้าย กอ.รมน.เป็นองค์กรที่มีหลายอาชีพ มีวิศวกร อย่างผู้บริหารของ สกมช.ก็มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ไอที เรามีนักประชาสัมพันธ์ เรามีแพทย์ พยาบาล เรามีพลาธิการ หน่วยงานเราเป็นหน่วยงานที่มีบุคคลหลายอาชีพ

อย่างพี่เป็นทหารก็มีความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ แล้วก็มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์เพราะจบวิศวกรรมไฟฟ้ามาก็ทำงานด้านไฟฟ้าอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นเมื่อมียศทางทหารแล้วจะให้เอาพี่ออกจากอาชีพอื่นก็ไม่ใช่ บางทีพี่ก็ยังเป็นนักแสดงอยู่ด้วยนิดหน่อย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ถ้าจะบอกว่า สกมช.เป็นเครื่องมือควบคุมสังคมของกองทัพ ก็ต้องไปศึกษาว่าระบบไซเบอร์ของประเทศเป็นอย่างไร กฎหมายเป็นอย่างไร แล้วสมมติฐานเบื้องต้นที่ว่า เลขาฯ สกมช.มีการควบคุมอะไรในกองทัพมั้ย ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะรองนายกฯ เป็นคนคุมเขาอีกที แล้วคณะกรรมการก็ต้องเป็นคนเห็นชอบไม่ใช่ผ่านแค่เลขาฯ แล้ว สกมช.ก็คุมทั้งประเทศ คุมกองทัพ คุม กอ.รมน. ถ้าอยากรู้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและ สกมช.ก็ไปดูหนังสือที่โต้ตอบกันระหว่างหน่วยงาน ถึงจะสรุปออกมาได้ว่าเป็นเครื่องมือควบคุมสังคมหรือไม่ ไม่อาจตีขลุมแค่ว่ามีชั้นยศทหารแล้วควบคุมสังคม

ที่บอกว่าเขาไม่เข้ามาสัมภาษณ์ แล้วถ้านักวิจัยจะคุย กอ.รมน.จะคุยเปิดๆ ไหม ?

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : ใน 1 ปีเราต้องทำวิจัย หน่วยงานการศึกษาของกองทัพอย่าง วปอ.(วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) มีนักวิจัยภายนอกเข้ามาสอบถามหลายคนเป็นเรื่องปกติ แล้วเราก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นปกตินะ

กอ.รมน.ผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว ช่วงไหนทำงานยาก ช่วงไหนทำงานง่าย ?

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : อยู่ กอ.รมน.มา 8 ปี งานมันไม่มีอะไรยากหรอก เพราะเราเป็นแค่หน่วยปฏิบัติตามที่ข้างบนเขาวางแผนมาให้เรา คือเราเป็นกองอำนวยการก็จริง แต่จริงๆ แล้วแทบจะเป็นหน่วยปฏิบัติเลย มันมีระดับชั้น(เลเยอร์) ของมัน ก็ต้องถามว่าคุยถึงระดับไหน ถ้า สมช.ประชุมกันทั้งประเทศ เราเป็นหน่วยที่รองลงมา คือเราจะเหมือน ปพ. (ปฏิบัติการพิเศษ) หรือ ป.ป.ส. เสร็จแล้วถัดลงไปถึงเป็นหน่วยปฏิบัติต่างๆ

ถามว่าอะไรที่มันยาก ก็แทบไม่มีอะไรที่ยาก เพราะเป็นเรื่องของประเด็นงาน จะถามรวมไม่ได้ ต้องถามเป็นรายประเด็นว่าป้องกันสาธารณภัยเป็นยังไง ยาเสพติดเป็นยังไง แต่ในภาพรวมก็ไม่มีปัญหาอะไร

ปัญหาที่ยากที่สุดก็คือสิ่งที่เจอทุกวันอยู่นี่แหละ คือ คนไม่เข้าใจ นักการเมืองที่พูดในสภาก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่แกล้งไม่เข้าใจ

เรื่องไหนอีกที่คิดว่าคนยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด ?

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ กอ.รมน. : คิดว่าไม่มีแล้วนะ ทั้งประเทศใครสงสัยเราพาไปดูได้เลย

วินธัย : เรื่องที่ กอ.รมน.เป็นของกองทัพ แต่เราเป็นหน่วยงานสำนักนายกฯ แล้วก็คิดว่าเราไปกำหนดภารกิจขึ้นเอง รวมถึงเรื่องงบประมาณที่คิดว่าเราไปใช้งบประมาณมากมาย แต่จริงๆ แล้วพันกว่าล้านเท่านั้น ที่เหลือคือเอาไปจ่ายทหารตำรวจที่มาช่วยราชการเราในภาคใต้

พอเราพูดถึงความมั่นคง มันเป็นอะไรที่ทีมโฆษกต้องเหนื่อยขึ้น เราจะเห็นว่า สส.บางท่านเห็นอะไรที่ลอยฟ้าได้ ก็บอกไอ้นั่นควรจะเป็นของทหารอากาศ ทำไมเห็นเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกเยอะ พอเห็นอะไรที่ลอยน้ำได้ มันต้องเป็นของกองทัพเรือเท่านั้น

เราอยู่ได้ด้วยภารกิจและภารกิจก็เป็นสากลด้วย เพราะในขณะที่เครื่องบินรบเป็นอาวุธหลักของกองทัพอากาศ เป็นอาวุธสนับสนุนระยะไกลให้กับหน่วยทหารบกหรือทหารเรือ ถ้าบินขึ้นไม่ได้เขาก็สูญเสียศักยภาพและตัวตนของเขาไปเลย เขาจึงต้องมีหน่วยอากาศโยธินเพื่อดูแลเครื่องบินพวกนี้ให้ปลอดภัย แต่การทำงานของอากาศโยธินจะอยู่ตรงฐานบินของเขา ไม่ใช่ว่าเอาทหารบกมาอยู่ที่ฐานบิน มันคนละภารกิจ ทหารบกมีเพื่อที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า และทหารบกเขาก็มีแต่เฮลิคอปเตอร์เช่นกัน ไม่ใช่พอบอกว่ามีอากาศยานแล้วจะเป็นเอฟ-16 เสียเมื่อไหร่ แต่อากาศยานของกองทัพบกจะพานักรบของเขาเข้าไปสู่พื้นที่การรบแล้วก็เดินต่อ มันจึงไม่ใช่เครื่องบินรบ แต่เป็นเครื่องบินเพื่อขนส่งทหารภายใต้สภาพภูมิประเทศที่มันจำกัด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net