มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ กับโอกาสรอดของผู้ป่วย '30 บาท' บนความน่าจะเป็น(2)

“งบฯ คงยังไม่พอ” มายาคติว่าด้วย งบประมาณสาธารณสุขไทย

ในภาพกว้างที่ขยายออกมาจากปัญหาว่าด้วยการตรวจคัดกรองฯโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทำให้เห็นว่ามีอย่างน้อย 2 สิ่งที่กลายเป็นอุปสรรค ขัดขวางการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ฯ อย่างแรกชัดเจนว่าคือ ความคิดว่าด้วยความชุกของโรคน้อย ฉะนั้นในการตรวจจะพบผู้เป็นโรคมะเร็งจริงๆ น้อยมาก  ความคิดดังกล่าวนี้ มีส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทำผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หลายต่อหลายรายต้องกลายเป็นผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารอยู่เป็นแรมปี อุปสรรคประการต่อมาที่มีการกล่าวถึงกันบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดความคิดว่าประเทศเราต้องควบคุมงบประมาณด้านบริการสาธารณสุขไว้ เพราะงบประมาณของประเทศไม่พอ และการใช้จ่ายที่มากเกินไปอาจทำให้ประเทศเสียหาย

“การจัดการบริการด้านการตรวจคัดกรองฯโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงยังต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในด้านบวกและด้านลบ รวมทั้งสถานะด้านงบประมาณของประเทศอย่างรอบครอบ”

คำถามที่เกิดขึ้นคือ วิธีคิดในลักษณะนี้ ถูกที่ถูกทางแล้ว จริงหรือ?

เพื่อที่จะตอบคำถามว่างบประมาณอาจไม่พอจริงหรือไม่  หรือหากใช้เงินเยอะเกินไปอาจทำให้ประเทศล้มจมจริงหรือไม่  สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้นั้นก็คือ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีคนอยู่ภายใต้กองทุนนี้มากถึง 48-49 ล้านคน ได้งบประมาณในแต่ละปี ปีละเท่าไหร่ และถูกจัดสรรแบ่งไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันอย่างไร กระนั้นก็ตามนี่ไม่ใช่การมาขุดเจาะเพื่อหาจุดอ่อนของระบบหลักประกันสุขภาพ แล้วนำมากล่าวหาโจมตีแต่อย่างใด แต่พยายามจะเป็นอีกแรงผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง  หรือโครงการสงเคราะห์ แต่ควรจะเป็นสวัสดิการที่ดีพอสำหรับประชาชนทุกคน

“มันมีความเชื่ออันหนึ่งที่ปกคลุมวงการสาธารณสุขของไทยมาอย่างน้อยประมาณ 20 ปี ความเชื่ออันนี้ที่บอกว่า ประเทศเราจะอยู่ไม่ได้ หรือศูนย์เสียความสามารถในการแข่งขัน ถ้าอัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มเร็วกว่าอัตรารายได้ของประเทศ”

มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ กับโอกาสรอดของผู้ป่วย '30 บาท' บนความน่าจะเป็น(1), 4 พ.ย. 2557

มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ กับโอกาสรอดของผู้ป่วย '30 บาท' บนความน่าจะเป็น(2), 11 พ.ย. 2557

วิโรจน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)

นั่นคือคำพูดของ วิโรจน์  ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร จากสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย   ซึ่งได้กล่าวไว้ ในงานเสวนาสาธารณะว่าด้วยเรื่อง “คิดใหม่หลักประกันสุขภาพของไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2556 และยังย้ำอีกว่า “ วิธีคิดว่าด้วยการควบคุมงบประมาณด้านบริการด้านสุขภาพ  เป็นตรรกะที่บกพร่อง และเป็นเพียงมายาคติที่หลอกหลอนวงการสาธารณสุขไทยมานาน”

นักวิจัยผู้สันทัดกรณีได้บอกถึง ความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อที่ผิดอันนี้ กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคุณภาพของบริการด้านสุขภาพในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า เพราะด้วยวิธีคิดในลักษณะนี้เองที่ทำให้ เรื่องของคุณภาพในการรักษาพยาบาล เป็นเรื่องที่ถูกจัดลำดับไว้เป็นเรื่องรองจากการควบคุมงบประมาณ   

ความเชื่อดังกล่าว เห็นผลตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นโครงการหลักประกันฯ เห็นได้จากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ถูกกดให้ต่ำจนเกินไปตั้งแต่เริ่มโครงการ หรือกระทั่งเกิดโครงการ P4P ที่พยายามรีดประสิทธิภาพ คุณภาพในบริการด้านการแพทย์แต่ไม่ยอมเพื่อเงินให้โครงการ

“ทั้งที่ในความควรเป็นจริง ในเรื่องของสุขภาพ เราควรให้น้ำหนักกับเรื่องคุณภาพให้มากกว่าเรื่องการคุมงบประมาณ” วิโรจน์ ได้กล่าวย้ำถึงจุดยืนที่ชัดเจน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความต้องการให้เกิดการใช้งบอย่างสุรุยสุร่ายเลยเสียทีเดียว แต่ต้องถือเรื่องคุณภาพในการรักษาและป้องกันโรคเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นระบบที่ประชาชนจะสามารถไว้วางใจได้ว่าเขาจะได้รับการดูแลอย่างดี

“ในระยะยาว ถ้าประเทศ หรือคนคนหนึ่ง มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มในอัตราที่สูงกว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็จะอยู่ไม่ได้หรือไม่ยั้งยืนจริง แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายค่าใดด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้ถือเป็นเรื่องปกติ….ซ้ำประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งใช้จ่ายด้านสุขภาพจะต้องเพิ่มขึ้น”

นั่นเป็นเหตุผลที่ วิโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรที่จะถูกปรับเพิ่มขึ้นไปให้สมเหตุสมผลไม่ใช่ มุ่งมั่นอยู่กับการลดค่าใช้จ่าย 

เมื่อเราลองเจาะมาที่งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในแต่ล่ะปี พบว่า มีการปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ กระนั้นก็ตามไม่มีหมายความมีการปรับขึ้นมาทุกปี ทว่ายังคงมีความคิดในการควบคุมงบประมาณด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้านี้อยู่ ดังที่เห็นออกมาเป็นรูปธรรมคือ งบประมาณของสปสช. ถูกแช่แข็งอยู่ถึงสองครั้ง ในปี พ.ศ.2545-พ.ศ.2546 และอีกครั้งในปี พ.ศ.2555-พ.ศ.2556   ในขณะที่มีผู้ป่วยเรื้อรังเดิมที่ยังต้องเข้ารับบริการอยู่ และผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆทุกปี

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีที่งบประมาณถูกแช่แข็ง พรรคการเมืองที่ขึ้นเป็นรัฐบาลกลับกลายเป็นพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยเสียเอง  นี่เป็นสัญญาณบอกเราหรือไม่ว่า โครงการที่โดยตัวมันเองเป็นโครงการที่ดี แต่กลับถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมือง กระนั้นก็ตามนี่ยังไม่ใช่เหตุผลที่จะล้างโครงการนี้ทิ้งเป็นเสียเลย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ จะทำอย่างไรให้โครงการนี้เป็นตาข่ายสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในได้อย่างแท้จริง และแน่นอนการจะทำอย่างนั้นคงไม่สามารถทำได้ด้วยการแช่แข็งงบประมาณ ในขณะที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด

นิมิตร์ เทียนอุดม ภาพจาก Hfocus

ขณะเดียวกันทางด้านนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า “’งบประมาณของสปสช. ที่เรียกว่างบเหมาจ่ายรายหัวนั้น เป็นงบที่ทางสปสช.สามารถยื่นเสนอต่อรัฐบาลได้เอง และในส่วนของการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับมานั้น จะมีงบส่วนหนึ่งที่ถูกแบ่งให้อยู่ในกองทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยในปีนี้สปสช.ได้รับงบในด้านนี้อยู่ที่ 383.61 ต่อประชากรหนึ่งคน  โดยเงินในส่วนนี้ก็ได้แบ่งออกไปตามโครงสร้างที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งมีเงินส่วนหนึ่งที่แบ่งไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามจำนวนประชากร โดยมีเงือนไขว่าอปท. จะต้องร่วมสมทบทุนด้วย ซึ่งเงินในส่วนนี้ก็จะมีกรรมการจากส่วนต่างๆ ตามที่กำหนดไว้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไร ซึ่งในกรณีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบบตรวจหาเลือดในอุจาระก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการดำเนินการกันอย่างไร”

นั้นหมายความว่า ถ้าอปท.และชุมชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯในระดับเบื้องต้น ก็สามารถกระทำได้ กระนั้นก็ตามสุดท้ายถ้าตรวจพบเจอเลือดในอุจาระแล้วก็ไม่ได้รับประกันว่า ประชาชนจะได้รับการตรวจคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพทุกคน

ปัญหาหลักจึงอยู่ที่ ด้วยงบประมาณที่มีอยู่เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้หรือประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ได้รับการตรวจคัดกรองโรคเสียก่อนที่ระยะของโรคมะเร็งจะบานปลาย  อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในขณะที่ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ถูกผลักให้เป็นโรคริดสีดวงทวาร แต่ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กลับได้รับความสนใจดูแล และได้รับการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพมากกว่า…

ความเหลื่อมล้ำของสามกองทุนฯ คสช.กล้าแก้ไขหรือเปล่า?

คำถามใหญ่ ต่อหลายเรื่องในด้านการบริการด้านสาธารณสุข คือทำไม ข้าราชการได้รับการตอบสนองจากบริการด้านการแพทย์ดีกว่าใครเพื่อน ทั้งที่ก็เป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน ?

ก่อนจะตออบคำถามนี้ก็คงเป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพใหญ่ๆของประเทศไทย มีอยู่ทั้งหมดสามกองทุนหลัก(ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกองทุนอื่น) อันประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า แน่นอนถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแน่ เพราะทั้งสามกองทุนนี้ครอบคลุมประชาชนชาวไทยทั้งหมดของประเทศ แม้จะมีผู้ตกหลนอยู่บางเช่น คนไทยไร้สัญชาติ แต่เรื่องนี้ก็ได้ทางภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งดำเนินการอยู่ แม้อาจจะใช้เวลามากไปสักนิดก็ตามที แต่ก็ยังได้มองเห็นความพยายามที่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้น

นั้นหมายความว่า ประชาชนชาวไทยทุกคน มีระบบประกันสุขภาพทุกคน ทว่าภายกองทุนทั้งสามกองทุนนี้กลับมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันจนเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด แม้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ในมาตรา 51  ซึ่งได้ถูก คสช. ประกาศยกเลิกไปแล้ว จะเคยระบุว่า

“บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์”

แต่ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่เขียนไว้แล้วถูกฉีก จะกลายเป็นหนังคนละเรื่อง

เดิอนเด่น นิคมบริรักษ์ (แฟ้มภาพ)

ในวาระเดียวกันกับ วิโรจน์ ณ ระนอง   เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย, ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ก็ยังเป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งหลายท่านอาจจะเข้าใจและทราบดีอยู่แล้ว ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองคนไม่เท่ากัน

โดยภาพรวมความเหลื่อมล้ำเกิดจาก สามสิ่งที่แตกต่างกันในกองทุนแต่ละประเภท อันได้แก่ชุดสิทธิ์ประโยชน์ คุณภาพการรักษา และการจ่ายเบี้ยประกัน

เมื่อลองพุ่งประเด็นไปที่การตรวจคัดกรองโรคหรือตรวจสุขภาพนั้นก็เด่นชัดตามที่ได้นำเสนอไว้ในตอนแรก แล้วว่า ถ้าเป็นข้าราชการ ก็จะมีสิทธิ์ตรวจสุขภาพทั้งหมด 16 รายการ ขณะที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเป็นการตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม โรคในกลุ่มอาการเมตาบอลิก และโรคติดเชื้อHIV แต่สำหรับระบบประกันสังคมไม่มีสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจสุขภาพเลย

ในขณะเดียวปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการทำให้ผู้ป่วยในแต่ล่ะระบบได้รับการดูแลที่แตกต่างกัน นั่นก็คือระบบของการจ่ายเงินที่แตกต่างกัน ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยมีวิธีการจ่ายเงินอยู่ 2 ลักษณะ อย่างแรกคือการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งหมายถึง รัฐบาลเป็นคนกำหนดว่างบประมาณในแต่ละปีสำหรับประชากรหนึ่งควรควรจะได้งบเท่าไหร่ซึ่งวางอยู่บนความสมเหตุสมผลของภาระงาน แล้วเอาเงินจำนวนนั้นกระจายลงไปที่หน่วยให้บริการตามจำนวนประชาชนที่มาขึ้นทะเบียนอยู่กับหน่วยนั้นๆ ในขณะที่การจ่ายเงินในอีกลักษณะคือ การจ่ายตามจริง ซึ่งปัจจุบันใช้สำหรับกลุ่มข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยจะเป็นการจ่ายเงินตามค่ารักษาจริงที่เกิดขึ้น

วิธีการจ่ายเงินทั้งสองแบบนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการจ่ายตามจริง ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างหลักประกันสุขภาพของผู้ที่อยู่ภายใต้กองทุนนั้นๆเพียงฝ่ายเดียว  ทว่ากลับกลายเป็นการสร้างหลักประกันทางด้านการเงินให้กับโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยภายใต้กองทุน ที่มีการจ่ายตามจริงด้วยว่า โรงพยาบาลจะไม่ขาดทุน ซึ่งบางครั้งหมายถึงว่าโรงพยาบาลจะได้กำไรด้วย แต่สำหรับการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวไม่ใช้อย่างนั้น โรงพยาบาลต้องพยายามควบคุมงบประมาณให้มากที่สุดเพิ่มไม่ให้เกิดการขาดทุนเกิดขึ้น จนบางครั้งเท่ากับว่าเป็นการลดระดับคุณภาพในการรักษาลงเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น

ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเมื่อเปิดเข้ามาดูที่เรื่องงบประมาณของปี พ.ศ.2554 ของทั้งสามกองทุนแล้วพบว่า ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ซึ่งมีประชาชนอยู่ในความคุ้มครองมากถึง 48.12 ล้านคน ใช้งบประมาณไปทั้งสิน 100,601.90 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วประมาณคนละ 2,091 บาทต่อคน ในขณะเดียวกันภายใต้กองทุนประกันสังคม ซึ่งมีคนอยู่ในระบบ 9.9 ล้านคน มีการใช้งบประมาณที่ 25,361.70 ล้านบาทในปีเดียวกัน เฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 2,562 บาทต่อคน แต่ในขณะที่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งมีคนอยู่เพียง 4.4 ล้านคน แต่มีการใช้งบประมาณมากถึง 61,844.27 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 14,056 บาทต่อคน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกฉีกทิ้ง จะเคยบอกว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

ทว่ายังมีเรื่องที่น่าตกใจมากไปกว่านั้น ภายหลังจากการทำรัฐประหารโดย คสช. ได้มีเอกสารสรุปการประชุมในเรื่อง การเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุขของพลเรือเอก ณรงค์  พิพัฒน์นาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา  ซึ่งในเอกสารส่วนหนึ่งได้ระบุถึงการเสนอให้ คสช. ทบทวนแนวทางของโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าใหม่ โดยมีการเสนอให้ประชาชนมีส่วนในการร่วมจ่ายค่าบริการด้านสาธารณสุขประมาณ 30% - 50% อีกทั้งในเอกสารที่หลุดออกมานั้นยังระบุถึงอนาคตที่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ของโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ถ้ายังไปได้รับการปรับปรุงแก้ไข

กระนั้นก็ตามให้หลังได้เพียงหนึ่งวัน ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ได้ออกมาเผยว่าเอกสารที่หลุดรอดออกมานั้นเป็น เอกสารปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ร้ายกระทรวงสาธารณสุข

เป็นอันว่าความจริงสำหรับเรื่องนี้ ยังคงเป็นที่สงสัยต่อไป ว่าใครกันแน่ที่พยายามใส่ร้ายกระทรวงสาธารณสุข หรือใครกันที่ไม่ยอมพูดความจริง!  

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่นี่เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานพอสมควร  และได้มีการถกเถียงกันมาตลอด แต่ดูทีท่าตอนนี้ต่อปัญหาเรื่องความเหลือมล้ำที่กล่าวมา ยังคงรักษาระยะช่องว่างความเหลือมล้ำอยู่เหมือนเดิม

คำถามคือ คสช. มีความต้องการแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่ และอย่างไร ?

กองทุนเดียว มาตรฐานเดียว แก้ปัญหาได้จริงหรือ ?

“ความเป็นไปได้ของการทำให้กลายเป็นกองทุนเดียวกัน มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศมันก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน เพราะแนวทางของกองทุนหลักประกันสุขภาพในที่อื่นๆมันเป็นไปอย่างนั้น เช่นประเทศญี่ปุ่นที่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพก่อนเรา เขาก็มีหลายกองทุน มากกว่าของเราเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการทำให้เป็นกองทุนเดียว มีมาตรฐานเดียว เพื่อตัดปัญหาของการเลือกปฏิบัติ”

นั่นเป็นความเห็นของนิมิตร์ เทียนอุดม  แต่ขณะเดียวกัน เดือนเด่น กลับมองว่า อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องทำเป็นกองทุนเดียวกันทั้งหมด แต่ประเด็นที่สำคัญคือต้องทำให้มีระบบประกันสุขภาพเดียวกัน และมีชุดสิทธิ์ประโยชน์ชุดเดียวกันไปขั้นพื้นฐาน และหากจะมีสิทธิประโยชน์ที่พิเศษเพิ่มเข้ามา รัฐต้องไม่ใช้ผู้จ่ายเงินเพื่อที่จะได้เป็นการให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตามการยุบรวมเป็นเป็นกองทุนเดียว หรือทำให้มีมาตรฐานชุดสิทธิประโยชน์เดียวกัน อาจจะยังไม่ใช่คำตอบหลักแค่เพียงคำตอบเดียวว่า มาตรฐานด้านบริการสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นหรือไม่ หากยังไม่มีการพูดถึงเรื่องของการจัดสรรงบประมาณที่จะนำเอามาใช้เพื่อดูแลประชาชน เพราะสุดท้ายและการเฉลี่ยงบประมาณที่ใช้ในแต่ละกองทุนให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ห่างไกลกันจนน่าแปลกใจ หรือสงสัยว่าทำไมรัฐถึงอุ้มชูคนบางกลุ่มมากเป็นพิเศษกว่าคนอีกส่วนซึ่งเป็นคนส่วนมาก  อาจจะสร้างทางออก ทั้งในเรื่องคุณภาพในการบริการ และสร้างมาตรฐานในการตรวจคัดกรองโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“มันก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคมะเร็งจะได้รับการตรวจคัดกรองที่มีดีขึ้น ถ้าเรามีมาตรฐานเดียวกันหมด  แต่ตอนนี้ซึ่งเรายังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นกองทุนเดียวกัน สิ่งที่ระบบหลักประกันสุขภาพพอจะทำได้ในตอนนี้คือการทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไร อย่างแรกที่พบต่อกรณีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ซึ่งไม่เฉพาะลำไส้ใหญ่เท่านั้นนะ แต่กับมะเร็งทุกชนิด ก็คือ วิธีการจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งมันเป็นการจ่ายงบแบบปลายปิด มันก็มีปัญหาว่าอาจจะทำให้โรงพยาบาล หรือแพทย์เองต้องรัดกุมค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกัน เราก็มีกองทุนที่ทำไว้เฉพาะโรคที่เรียกว่า DRG ซึ่งพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ต้องพยายามรีบสร้างความเข้าใจกับหน่วยบริการในเรื่องต่างๆ เช่นว่า อยากให้มองที่ผู้ป่วยเป็นหลัก เช่นกรณีคนที่มีความเสี่ยงสูง ก็ควรที่จะได้รับการตรวจคัดกรอง ไม่อยากให้เป็นกังวลเรื่องการขาดทุนหรือไม่ได้กำไร เพราะทางสปสช.ก็มีระบบการจ่ายเงินสำหรับโรคเหล่านี้อยู่ และเรื่องสุดท้ายก็ปัญหาที่เกี่ยวกับความไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างไรบ้าง ก็เลยไม่สามารถพูดคุยกับแพทย์ผู้ให้บริการให้เข้าใจตรงกันได้ ซึ่งทั้งหมดนี่ก็เป็นเรื่องที่พวกพี่ก็พยายามทำกันอยู่”

นั่นเป็นคำพูดทิ้งทายของ นิมิตร์ เทียนอุดม ที่ช่วยยืนยันกับเราได้ว่า หากมีมาตรฐานเดียวกัน มีการจัดสรรงบประมาณร่วมกัน ความน่าจะเป็นในการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคมะเร็งก็จะมีมากขึ้น

และแน่นอนที่สุดในสภาวะที่ประเทศไทยไร้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หาก คสช. สามารถลดความเหลื่อมล้ำในด้านบริการทางด้านสาธารณสุขได้อย่างจริงจัง และออกแบบโครงสร้างระบบประกันสุขภาพใหม่ที่มั่นคงไปในระยะยาว และเป็นหลักประกันว่าเราคนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เท่าเทียม และทันท่วงที  นี่จะเป็นการคืนความสุขให้คนไทยทุกคนของจริง

 

หมายเหตุ : ผู้เขียนได้รับการขอจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วย และภรรยาของผู้ป่วยที่เสียชีวิต ไม่ให้เปิดเผยนามสกุล

ทวีศักดิ์  เกิดโภคา ผู้เขียน เป็นอดีตนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวประชาไท

รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทุนเพื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลุ่มเยาวชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท