สุรพศ ทวีศักดิ์: ประเมิน ‘พุทธศาสนาไทย’ ด้วยเกณฑ์คุณค่าสมัยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

พุทธศาสนาไทย คือพุทธศาสนาของรัฐไทยในทางนิตินัยเป็นด้านหลัก ไม่ใช่ในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นด้านหลัก เพราะในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก่อนที่จะเกิดพุทธศาสนาไทยแบบที่เราสัมผัสได้ในปัจจุบัน ไม่เคยมีพุทธศาสนาที่มี “ศาสนจักร” หรือองค์กรปกครองสงฆ์ที่มีอำนาจตามกฎหมายรวบอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศรวมศูนย์ที่ส่วนกลางแบบระบบราชการ

พูดง่ายๆ คือ พุทธศาสนาไทยที่เราสัมผัสได้ในปัจจุบัน คือพุทธศาสนาที่รัฐไทยสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา คือรัฐได้สร้างพุทธศาสนาที่มี 2 นิกายหลัก (ธรรมยุติกนิกายและมหานิกาย) มีศาสนจักรรวมศูนย์อำนาจแบบระบบราชการ และเป็นศาสนาที่เป็น 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติ จนกระทั่งเป็นศาสนาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครอง พร้อมทั้งส่งเสริมการศึกษา การนำหลักธรรมไปพัฒนาจิตใจและปัญญาของประชาชนแบบที่เห็นได้ในปัจจุบัน

อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ถึงอย่างไรพุทธศาสนาไทยปัจจุบันก็คือพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมาจากอดีต เช่นยังรักษาพระไตรปิฎก อรรกถา ประเพณีปฏิบัติต่างๆที่สืบเนื่องมายาวนาน แต่ที่จริงแล้วข้ออ้างเช่นนี้ก็เป็น “นามธรรม” มาก เพราะพุทธศาสนาไทยปัจจุบันแทบจะไม่หลงเหลือความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ความหลากหลายของสายครูอาจารย์ ความมีพลังในมิติทางจิตวิญญาณ ความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ

ดูเหมือนพุทธศาสนาไทยปัจจุบันจะพยายามรักษา “สถานะเดิม” ของตัวเอง(ที่รัฐสร้างให้) และดิ้นรนหาทางเพิ่มความสำคัญทางสถานะ อำนาจของพระสงฆ์ให้มากขึ้น โดยอาศัยรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ขณะที่บทบาทความเป็นผู้นำทางปัญญาและจิตวิญญาณอ่อนแอลงเรื่อยๆ (หากจะพอมีพลังอยู่บ้างก็เกิดจากความสามารถของพระและฆราวาสในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” เท่านั้น)

ถ้าเราตั้งคำถามว่า พุทธศาสนาไทยแบบที่เป็นอยู่มีคุณค่าต่อสังคมไทยสมัยใหม่หรือไม่? เราอาจมีเกณฑ์ในการตอบคำถามนี้ได้หลายเกณฑ์ แต่ผมคิดว่า “เกณฑ์หลัก” หรือเกณฑ์ที่สำคัญสูงสุดคือ เกณฑ์ “คุณค่าพื้นฐาน” ของสังคมสมัยใหม่ ได้แก่เกณฑ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

เมื่อเราใช้เกณฑ์หลักดังกล่าวนี้มาจับ หากลักษณะสำคัญของพุทธศาสนาไทยทั้งไม่ขัดแย้งและทั้งสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่คือสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ก็แปลว่าพุทธศาสนาไทยมีคุณค่าต่อสังคมไทยสมัยใหม่ หากตรงกันข้ามก็ไม่มีคุณค่า และ/หรือเป็นปัญหา เป็นภาระของสังคมมากกว่า

ลักษณะสำคัญของพุทธศาสนาไทยที่เราสามารถนำมาประเมินด้วยเกณฑ์คุณค่าสมัยใหม่ แยกได้ 2 ส่วนหลักๆ คือ ตัวโครงสร้าง กับตัวความคิด

เมื่อพิจารณาที่ตัวโครงสร้าง คือตัวศาสนจักรและอำนาจทางกฎหมาย จะเห็นว่าการมีศาสนจักรของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมายกำกับการสอนถูก สอนผิด และการปฏิบัติถูก ผิดตามธรรมวินัย ย่อมขัดแย้งกับหลัก “เสรีภาพทางศาสนา” ในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ (เสรีประชาธิปไตย) เพราะเสรีภาพทางศาสนาในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ อำนาจรัฐจะเข้าไปแทรกแซงการตีความและการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาไม่ได้

แต่อำนาจรัฐไทยเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพทางศาสนาได้ ผ่านศาสนจักร เพราะรัฐสร้างศาสนจักรของรัฐขึ้นมาและให้อำนาจทางกฎหมายแก่ศาสนจักร ทำให้เกิดปัญหาสำคัญ 2 ประการคือ

1. ทำให้รัฐไทยไม่สามารถพัฒนาเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยได้ เพราะรัฐเสรีประชาธิปไตยรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา จะแทรกแซงขัดขวางเสรีภาพทางศาสนาไม่ได้ และ

2. ในแง่พุทธศาสนาเอง การมีศาสนจักรที่กำหนดให้พระสงฆ์มีอำนาจทางกฎหมายก็ไม่สอดคล้องกับระบบสังฆะตามธรรมวินัย เนื่องจากระบบสังฆะตามธรรมวินัยเป็นองค์กรเอกชนที่เป็นอิสระจากรัฐ ปกครองกันเองตามธรรมวินัยในสายครูอาจารย์ต่างๆ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายและยศศักดิ์ใดๆ

จะเห็นว่า ตัวโครงสร้างนอกจากจะทำให้ไม่สามารถจะมีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายสมัยใหม่ (เสรีภาพทางศาสนาในกรอบคิดเสรีนิยม)ได้ และทำให้รัฐไทยไม่สามารถจะเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยได้แล้ว ยังทำให้ระบบสงฆ์ไทยปัจจุบันไม่สามารถจะเป็นระบบสังฆะตามธรรมวินัยที่เป็นอิสระจากรัฐได้ด้วย

จากปัญหาตัวโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหา “ตัวความคิด” หรือคำสอนที่ผลิตสร้างขึ้นจากพุทธศาสนาไทย กล่าวคือ ไม่ว่าพระสงฆ์ ปราชญ์ ผู้รู้ทางพุทธศาสนา หรือชาวพุทธทั่วไปจะตีความคำสอน ธรรมวินัย ระบบสังฆะตามธรรมวินัยในพระไตรปิฎกว่ามีความหมายในทางสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ หรือความเป็นประชาธิปไตยอย่างไรก็ตาม การตีความเช่นนั้นก็ไม่ได้มีความหมายในทางปฏิบัติจริงแต่อย่างใด ตราบที่ตัวโครงสร้างยังเป็นระบบเผด็จการ มีความเป็นชนชั้น มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม และเป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม หรือสนับสนุนระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

พูดอีกอย่างว่า การผลิตความคิดหรือคำสอนที่ว่า ระบบสงฆ์ตามธรรมวินัยมีความเป็นประชาธิปไตย คำสอนพุทธศาสนาปฏิเสธชนชั้นหรือระบบวรรณะ สนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ จึงมีความหมายเป็นเพียงการ “โฆษณาชวนเชื่อ” หรือเป็น “มายา” หลอกตัวเองเท่านั้น ในเมื่อตัวโครงสร้างที่เป็นจริงของศาสนจักรมีลักษณะตรงกันข้ามและเป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์และระบบอำนาจที่ตรงกันข้ามกับตัวความคิดและคำสอนที่สร้างขึ้น

ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า พุทธศาสนาไทยมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่หรือไม่ ถ้าใช้เกณฑ์คุณค่าสมัยใหม่มาประเมินดังที่กล่าวมา ก็จะเห็นได้ชัดว่า พุทธศาสนาไทยทั้งบั่นทอนเสรีภาพทางศาสนาเอง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่เสรีประชาธิปไตย และทำให้การตีความคำสอนในพระไตรปิฎกในเชิงก้าวหน้าใดๆ ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง 

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท