Skip to main content
sharethis
ประชุมเพื่อประเมินและระบุคุณค่าของพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ นักวิชาการแนะในการประเมินคุณค่าไม่ได้พิจารณาแค่ตัวบ้าน แต่ต้องรวมถึงความหมายของ ‘พื้นที่’ ไม่เช่นนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง ‘รื้อ หรือ ไม่รื้อ’ เท่านั้น
 
20 พ.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการประชุมเพื่อประเมินและระบุคุณค่าของพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ อันสืบเนื่องจากกรณีไล่รื้อชุมชนที่ยืดเยื้อมานานถึง 25 ปี โดยมีกลุ่มนักวิชาการหลากหลายสาขา ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)และกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เข้าร่วมประชุมรวมเกือบ 20 ราย โดยในครั้งนี้เน้นการวางหลักเกณฑ์และกรอบประเมินคุณค่าใน 5 ด้าน ได้แก่ คุณค่าด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และผังเมือง,ด้านสังคม วิถีชีวิต, ด้านโบราณคดีและด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเกือบทั้งหมดได้มีการเชื่อมโยงกับกรณีชุมชนป้อมมหากาฬไปพร้อมๆกันด้วย
 
รศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า ในการประเมินคุณค่า ไม่ได้พิจารณาแค่ตัวบ้าน แต่ต้องรวมถึงความหมายของ ‘พื้นที่’ ไม่เช่นนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง ‘รื้อ หรือ ไม่รื้อ’ เท่านั้น
 
“ตรงนี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์อยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อไปจะต้องผ่านกระบวนการดังนี้ คือ 1. พิจารณาคุณค่าความสำคัญด้านต่างๆซึ่งกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ กำลังอยู่ในขั้นตอนนี้ 2. เลือกวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ทำลาย นอกนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ จากนั้นมาถึงข้อ 3 คือ จะบริหารจัดการอย่างไร สำหรับการประเมินคุณค่าต้องมีประเด็นชัดเจน อย่าไหลไปเรื่อยๆ” รศ.ยงธนิศร์กล่าว
 
จากนั้น ที่ประชุมได้นำเอกสารเกี่ยวกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ทำโดย รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มานำเสนอ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ และการเป็นที่ตั้งของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของกรุงเทพฯ และพัฒนาการของเมืองหลังยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
 
ผศ. สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมือง และนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงคุณค่าด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมืองว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีคุณค่าโดยที่ตั้ง,อายุ ความครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งป้อม คลอง ชุมชน ต้นไม้ ลำคลอง อีกทั้งมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมากว่า 100 ปี
 
“เรือนแต่ละหลังในป้อมสะท้อนภูมิปัญญาตามอายุสมัยถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคที่สร้างเรือนไม้ ใต้ถุนสูง ต่อมาเป็นยุครัชกาลที่ 5-7 อย่างพวกเรือนขนมปังขิงซึ่งรับอิทธิพลตะวันตก และยุครัชกาลที่ 8-9 ที่มีความร่วมสมัย เป็นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ชุมชนพยายามบำรุงรักษาและซ่อมแซมโดยคำนึงถึงวัสดุดั้งเดิม ทำให้ยังคงไว้ซึ่งความชุมชนบ้านไม้โบราณ ชุมชนอื่นรักษาไว้ไม่ได้เท่าที่นี่” ผศ.สุดจิต กล่าว
 
นางภารนี สวีสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬ มีคุณค่าในด้านแบบแผนการตั้งถิ่นฐานชุมชนดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับการวางผังเมืองสมัยโบราณซึ่งแบ่งกลุ่มพื้นที่การใช้งานเป็นส่วนต่างๆ เช่น วัด-วัง และบ้านเรือน มีระบบการสัญจรโบราณ คือคูคลอง อีกทั้งเป็นหลักฐานยุทธศาสตร์ การป้องกันพระนครโดยชุมชนสัมพันธ์กับแนวกำแพงเมืองและป้อม
 
ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการฝ่ายอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวถึงคุณค่าด้านสังคมและวิถีชีวิต ว่าเป็นชุมชนชานพระนครแห่งเดียวที่เหลืออยู่ และยังมีชีวิต มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับชุมชนเก่าแก่โดยรอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านยังสามารถเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ (มุขปาฐะ)
 
ผศ.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คุณค่าในด้านโบราณคดี คือการเป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังมีชีวิต เป็นหลักฐานในการตั้งถิ่นฐานที่สืบเนื่องจากชุมชนโบราณไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังมีชีวิต หลงเหลือหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมชุมชนในพื้นเดิมหลายชั่วอายุคน
 
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ สถาปนิกและสมาชิกกลุ่ม ‘มหากาฬโมเดล’ กล่าวว่า ขอให้กทม. หยุดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหรือสื่อสารกับสังคมในสิ่งที่ยังไม่ได้เป็นข้อตกลงของ 3 ฝ่าย คือ กทม. ทหาร และชุมชน เนื่องจากขณะนี้อยูในระหว่างการเจรจาระบุคุณค่า
 
นายณัฐนันท์ กัลยศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของกทม. ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ หากที่ผ่านมามีการให้ข่าวที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่ชุมชน สำหรับการประชุมวันนี้ มีบรรยากาศที่ดี มีความร่วมมือกันอย่างดีในการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคุณค่าเพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆต่อไป หลังจากนี้ทุกคนจะนำหลักเกณฑ์นี้กลับไปหาหลักฐานสนับสนุนว่าบ้านหลังนั้นๆควรจะคงอยู่ ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกวิธีการดำเนินการซึ่งยังเป็นเรื่องของอนาคต ต้องขอหารือร่วมกันก่อนจึงจะเปิดเผยอีกครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม กลุ่มนักวิชาการ ยังนั่งหารือร่วมกับชาวบ้านอีกเป็นเวลานาน ทั้งนี้ จะมีการนัดหมายประชุมทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอหลักฐานที่สนับสนุนคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬตามกรอบหลักเกณฑ์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net