Skip to main content
sharethis

ชงตั้ง กก.สอบ 33 จนท.รัฐเอี่ยวขบวนการขนแรงงานเถื่อน ตร.ร่วมก๊วน 20 นาย ใหญ่สุดระดับ รอง ผบก.

14 ม.ค. 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศในพื้นที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ว่าจากการตรวจสอบพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริงจำนวน 33 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 คน ตั้งแต่ระดับประทวนและสัญญาบัตร สูงสุดระดับรอง ผบก.ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ทั้งหมดมีพฤติการณ์ทั้งปล่อยปละละเลย และบางคนก็มีส่วนร่วมในขบวนการลำเลียงแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้ จะเสนอให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 18 ม.ค. 2564 รวมถึงพิจารณาว่ารายใดจะเข้าข่ายความผิดอาญา ซึ่งจะดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากยังไม่เข้าข่ายความผิดอาญาก็จะพิจารณาลงโทษทางวินัยและทางปกครอง

“นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์หน้าตำรวจเตรียมออกหมายจับขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐอีก 8 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทยที่ร่วมมือกับขบวนการที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านลำเลียงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายส่งไปยังจ.สมุทรสาคร” รอง ผบ.ตร.ระบุ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีช่วงวันที่ 15 ม.ค.- 13 ก.พ.นี้ ที่จะมีผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจตระเวนชายแดน ให้เข้มงวดตามแนวชายแดนป้องกันการทะลักเข้ามาของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง ผบ.ตร.อยู่ระหว่างการลงนามให้ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ลงไปกำกับดูแลการปฎิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนเพื่อสกัดกั้นแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมาย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 14/1/2564

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุนรัฐบาลไฟเขียวมาตรการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนตรวจโควิด-19 จัดทำพื้นที่กักกันผู้ติดเชื้อ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ตามที่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ต่อนายกรัฐมนตรีถึงมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเด็นดังนี้

1. จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกัน และสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single message

2. บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร เช่น ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพร่วมมือให้มีการตรวจพนักงานผู้มีเชื้อทั้งรูปแบบการตรวจแบบ rapid test และ PCR กักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัว เพื่อสังเกตอาการ ลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ โดยภาครัฐ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเอง และสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่เหมาะสม

3. มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวร ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้ง ควรขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น กระทรวงแรงงาน โดยดำริของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมได้ทำงานเชิงรุกร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้มีมาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในสถานประกอบการโดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามค่าใช้จ่ายจริง

โดย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้ทำการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวเชิงรุกในสถานประกอบการ ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งได้ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน

“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกภาคส่วน เพื่อทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนและเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และยั่งยืนต่อไป”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/1/2564

เปิดขั้นตอน ขึ้นทะเบียนแรงงาน 3 สัญชาติ ตามการผ่อนผันของ ก.แรงงาน

วันที่ 14 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้รับการผ่อนผัน ตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 63 เริ่มวันแรก 15 ม.ค. 64 ถึง 13 ก.พ.64 หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไป

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ

ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง

และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นขั้นตอนแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติครม.29 ธ.ค. 63 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

4.จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พ.ย. 64 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท

กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th – ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 ก.พ.64

2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เม.ย. 64

3.จัดทำทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิ.ย.64 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)

4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11

หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 ก.ย.64

5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พ.ย. 64

สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/1/2564

ทีเอ็มบี คาดโควิดพ่นพิษแรงงานท่องเที่ยว 6.9 ล้านคน รายได้สูญอีก 1.4 แสนล้านบาท

จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่ที่กระจายไปทุกภูมิภาคอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุม แม้ยังไม่ยกระดับเป็นมาตรการล็อกดาวน์เหมือนการระบาดเมื่อเดือนเมษายน 2563 แต่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร สถานบันเทิง สะท้อนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายและท่องเที่ยวแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิดต่อภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกปี 2564 จาก 3 ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ 1 ) ระดับความรุนแรงตามพื้นที่การระบาด 2) การพึ่งพิงภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยว และ 3) รายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัด (GPP) พบว่าในภาพรวม ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 22% ต่อ GPP รวมทั้งประเทศ และมีการจ้างงานรวมกัน 6.9 ล้านคน ซึ่งคาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจะทำให้รายได้จากภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท

โดยกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการผลิต แหล่งการกระจายสินค้า และขายสินค้าที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 23% การจ้างงานในพื้นที่ 4.1 ล้านคน คาดผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 91% ของรายได้ที่ถูกกระทบทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่เหลือซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมและเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 20% มีการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 ล้านคน ผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวคาดรวมกันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 13/1/2564

ก.แรงงาน เตรียมตรวจเชิงรุก COVID-19 ฟรี ในโรงงานพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงแรงงาน ได้รับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้แนวทางลงช่วยเหลือเชิงรุก นายจ้างและลูกจ้าง โดยให้โรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมได้บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการเพื่อตรวจคัดกรองเชื้อ COVID-19 ให้ผู้ใช้แรงงานในรูปแบบทางเดินหายใจ (PCR) ที่ จ.สมุทรสาคร ไปเบื้องต้นแล้ว

ล่าสุด กระทรวงแรงงานจะทำงานตรวจเชิงรุกต่อไปใน 28 จังหวัด ที่มีการคำสั่งควบคุมสูงสุด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป โดยขณะนี้มีโรงงานและสถานประกอบการได้ยื่นเข้ามาจำนวนมาก โดยรอพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ ที่ผ่านการอนุมัติจะสามารถตรวจคัดกรอง COVID-19 ได้ฟรี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ให้ภาคการผลิตเดินต่อ และ ด้านสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ให้ปลอดภัยจาก COVID-19

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการใน28 จังหวัดที่จะเข้ารับการตรวจนั้นจะต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาต่างๆ โดยประการแรก ต้องยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมตรวจคัดกรอง จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เห็นชอบขั้นตอนสุดท้าย

เงื่อนไขหลัก สถานการประกอบการจะต้องมีสถานกักกันในโรงงานที่มีความพร้อม Factory Quarantine (FQ) ในกรณีตรวจไม่ผ่านก็ให้โรงงานไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ และเมื่อผ่านการอนุมัติ แล้วโรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจตามขั้นตอนการรักษาต่อไป

รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานคาดหวังจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเชิงรุกและป้องกัน COVID-19 โดยสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง COVID-19 จากเดิมที่นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการตรวจคัดกรองลูกจ้างและที่สำคัญนโยบายรัฐบาลนี้ และยังเป็นการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งชาวไทย และแรงงานข้ามชาติไม่ต้องหยุดกิจการ ภาคการผลิต และลูกจ้างไม่ต้องหยุดงาน และการผลิตส่งออกเดินหน้าต่อไปเพื่อท่าจะมีเงินไปเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว

“กระทรวงแรงงานถือว่าเป็นกองหนุนเปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยการทำงานทุกภาคส่วนของภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ที่เราเข้าไปลุยตรวจถึงโรงนั้นๆ ถือว่าเป็นการดูแล และ ห่วงใยผู้ประกอบการและลูกจ้างเพื่อให้ผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปด้วยกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องทำทุกมิติ เพื่อชาติ บ้านเมือง พี่น้องประชาชน ต้องผ่านวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 ไปด้วยกัน”

ที่มา: Thai PBS, 13/1/2564

ประชาชนยื่นขอใช้สิทธิ์กรณีว่างงานออนไลน์เดือน ธ.ค. 2563 จำนวน 82,238 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือว่ามีผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิ์ และรายงานตัวกรณีว่างงานจำนวนน้อยที่สุด โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เดือนธันวาคม มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 82,238 คน รายงานตัว 539,474 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ที่มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 93,190 คน รายงานตัว 598,076 คน เดือนตุลาคม ขึ้นทะเบียนว่างงาน 116,160 คน รายงานตัว 643,148 คน และเดือนกันยายนขึ้นทะเบียน 121,023 คน รายงานตัว 680,825 คน

“แต่อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานคาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน จำนวน 58,151 อัตรา ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ ,แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่นๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 7.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน ,แคชเชียร์ 8.พนักงานบริการอื่นๆ 9.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน และ 10.ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์

กรมการจัดหางานยังมีช่องทางการให้บริการจัดหางานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.ไทยมีงานทํา.com ซึ่งสามารถค้นหาตำแหน่งงาน สถานที่ทำงานในพื้นที่ที่ต้องการ และมีการประมวลความเหมาะสมกับตำแหน่ง หรือเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ที่เพิ่มโอกาสได้งานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือการจัดงานนัดพบแรงงาน โครงการนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ และโครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และการฝึกอาชีพอิสระ โดยเน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือน เพื่อคนไทยทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และตำแหน่งงานอย่างทั่วถึง” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับผู้ว่างงานที่ประสงค์มีงานทำ สามารถเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ https://www.ไทยมีงานทํา.com เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ได้ สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 12/1/2564

รมว.แรงงานแนะใช้แรงงานสัมพันธ์ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปในวงกว้างส่งผลกระทบต่อนายจ้าง สถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง อาจเกิดวิกฤติด้านแรงงานที่รุนแรงได้ จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องลดทุนการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนชั่วคราวโดยใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลดพนักงาน หรือเลิกกิจการในท้ายสุด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุขในวงการแรงงาน จึงขอวอนให้นายจ้าง-ลูกจ้างควรเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกันก่อนหยุดกิจการตามมาตรา 75 หรือเลิกจ้าง โดยนำมาตรการและแนวปฏิบัติที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พยายามมุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ แนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ และมาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง

ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างควรนำแนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติมาปรับใช้ในสถานประกอบกิจการก่อน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ นายจ้างควรเปิดเผยผลประกอบการตามสภาพความเป็นจริงแก่ฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างลูกจ้างหารือร่วมกันในการประหยัดค่าใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการชุมนุมเผชิญหน้าด้วยความรุนแรง

หากดำเนินการแล้วสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จึงค่อยใช้มาตรการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว หรือทั้งหมด ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่และลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเริ่มวันหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานและหากจำเป็น ต้องเลิกจ้างให้นำมาตรการและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้

ซึ่งมี 3 มาตรการ ดังนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมาตรการลดจำนวนลูกจ้าง โดยขอให้การเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ หากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย การผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือ และเสียสละของนายจ้างลูกจ้างพูดคุยกันด้วยหลักสุจริตใจ และหากมี ข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 12/1/2564

ขยายเวลานายจ้าง-ลูกจ้างเลื่อนนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สามารถหยุด หรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือน ม.ค. 2564 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือน มิ.ย. 2564 โดยนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ต่อเนื่อง และคงสมาชิกภาพไว้ จากเดิมที่ผ่อนผันให้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือน ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ภายใต้หลักการและแนวปฏิบัติเดิม

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบยังคงสถานะการเป็นสมาชิกกองทุนฯ และสามารถออมผ่านกองทุนฯ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลาย เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ และนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินเมื่อแรงงานในระบบเหล่านั้นผ่านพ้นวัยทำงาน

น.ส.กุลยา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11/1/2564

ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ยื่นคำร้องให้กรมบังคับคดี สั่ง ธนาคารออมสิน-KTB คืนเงินบำเหน็จพนักงานการบินไทย

รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้มีหนังสือส่งไปยังธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ให้คืนเงินเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย คืนแก่บริษัท หลังธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงาน ไปก่อนหน้านี้

โดยหนังสือที่ส่งให้ธนาคารออมสิน แจ้งให้ธนาคารดำเนินการชำระหนี้คืนเงินให้บริษัท กรณีที่ธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) เป็นเงินจำนวนกว่า 2,279 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 63 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหรือส่งมอบเสร็จ โดยเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา90/39 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย

ส่วนหนังสือที่ส่งให้ KTB แจ้งให้ธนาคารดำเนินการชำระหนี้คืนบริษัท เนื่องจากธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย เป็นเงินจำนวนกว่า 55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีจากเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 63 จนกว่าจะชำระเสร็จ

สำหรับสาเหตุที่กรมบังคับคดีออกหนังสือทวงหนี้ไปยังธนาคารทั้งสองแห่ง เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ THAI ได้ยื่นคำร้อง ต่อเจ้าหนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้มีสิทธเรียกร้องให้ธนาคารรับผิดชำระเงินหรือส่งมอบเงินที่ธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย

ที่มา: efinancethai, 11/1/2564

ดีเดย์ เริ่มตรวจเชิงรุก COVID-19 "แรงงาน" พื้นที่ควบคุมสูงสุด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีการระบาดใหม่ในขณะนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม ได้มีการสั่งการ และให้ดำเนินการตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 หรือ ศบค.

และในวันนี้ จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อทำงานเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ คณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จึงได้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อ COVID-19 ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์เชิงรุก

ทั้งนี้ เพื่อการค้นหาผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจไปต่อโดยไม่ต้องหยุดการผลิต ค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมออกให้ทั้งหมด สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามระดับความรุนแรงที่ ศบค.มีคำสั่ง

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ เป็นวันแรกในการดำเนินการเชิงรุก เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปยังสถานประกอบการตรวจคัดกรองแบบ PCR ให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ COVID-19 ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อให้แก่แรงงานในสถานประกอบการพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดที่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยลูกจ้างที่เข้ารับการตรวจจะทราบผลภายใน 6-8 ชั่วโมง ซึ่งพบเชื้อจะต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 9/1/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net