สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 ก.พ. 2564

จ้างงานคนพิการไม่ถึงเป้า เอกชนร้องปรับสูตรส่งเงินเข้ากองทุน

สื่อประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าภาคแรงงานยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผู้ประกอบการภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ในประเด็นการ “ขาดแคลน” แรงงานคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 คือ “ต้องจ้าง” จำนวนคนพิการที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายกำหนดที่ 1 : 100 นั้น แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถิติจำนวนคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือคนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 39,878 คน คิดเป็น 45.79% ของจำนวนแรงงานคนพิการที่ต้องถูกจ้างทั้งหมดทั่วประเทศที่ 86,757 คน

ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ส่วนการจ้างงานตามมาตรา 34 คิดเป็นจำนวนคนพิการ 13,103 คน คิดเป็น 15.10% และการจ้างงานตามมาตรา 35 เป็นจำนวนคนพิการ 13,951 คน คิดเป็น 16.08% เท่ากับว่ายังมีจำนวนคนพิการเหลืออีกราว 19,825 คน คิดเป็น 22.85% ที่ควรจะต้องมีการจ้างแรงงานต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าภายใต้เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในขณะนี้ ส.อ.ท.ยังได้เสนอให้มีการปรับสูตรการคำนวณจำนวนคนพิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ว่าหากนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานให้ส่งเงินเข้ากองทุน โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานตามมาตรา 33

อีกทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการได้นั้น ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่มีคนพิการ” ที่เพียงพอกับความต้องการจ้างงานได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องรับภาระส่งเงินเข้ากองทุน “เพิ่มขึ้นกว่าต้นทุนจริง” ถึง 16.61% จากการนำจำนวนเต็มปีที่ 365 วัน มาคำนวณแทน 313 วัน ที่เป็นวันที่แรงงานคนพิการได้ทำงานจริงนั้นเป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ และไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“สถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคเอกชนที่ยังพอเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องการแบกภาระเพิ่มขึ้นในเชิงธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อีกทั้งในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาบังคับใช้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างกรณีของ ส.อ.ท.ถือว่าสะท้อนภาพปัญหาที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหา ก.แรงงานคงต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยระบุว่า เห็นด้วยในการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณใหม่ของ ส.อ.ท. ขณะที่สภาหอการค้าไทยบอกว่า เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสมาคมธนาคารเพื่อให้ได้มุมมองภาคเอกชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เสนอให้พิจารณากลับไปเก็บเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมฯ ตามมาตรา 34 ที่ 365 วันเช่นเดิม

ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสรรหาคนพิการมาทำงาน ทั้งนี้ สมาคมยังระบุอีกว่า ไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีการขาดแคลนแรงงานคนพิการแต่อย่างใด ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กล่าวถึงมาตรา 34 ว่า เป็นมาตรการเชิงลงโทษในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ ทั้งนี้ตามที่หลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดี-ข้อเสีย ก่อนจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป อีกทั้งจะต้องเพิ่มความเห็นจากนักวิชาการด้านนี้โดยเฉพาะด้วย

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างร่างแผนปฏิบัติการคนพิการด้านแรงงาน (Action Plan) สำหรับปีงบประมาณ 2564 ในรายละเอียดระบุว่า ภายใต้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) รวม 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งรวม 18 โครงการ วางเป้าหมายว่าจะมีคนพิการเข้าร่วม 19,340 คน ใช้งบประมาณอยู่ที่ 110 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง รวม 50 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 79,407 คน งบประมาณรวม 678 ล้านบาท ตามมาด้วยยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการจำนวน 13 โครงการ คาดว่าคนพิการเข้าร่วม 21,870 คน งบประมาณรวม 78 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมการบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 4 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 350 คน งบประมาณรวม 11 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน 7 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 2,845 คน งบประมาณรวม 10 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2564 นี้ มีแผนงานโครงการรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 123,812 คน งบประมาณรวม 890 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ)

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาได้มีการนำเสนอกระทรวงแรงงานให้ปรับลดสัดส่วน การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐอยู่ที่ 2% โดยลูกจ้างที่ 100 คน ให้จ้างคนพิการ 2 คน (100 : 2) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือส่งไปถามความเห็นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว ปรากฏว่าเห็นด้วยอยู่ที่ 44% และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 56% ภายหลังจากการถามความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือนำเข้าหารือเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป

ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานคือมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ที่คงการจ้างงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

โดยหักรายจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน-กรกฎาคม ได้ 3 เท่า มาตรการขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ แบ่งเป็นลดอัตราภาษีเงินได้ระยะที่ 1 จาก 3% ปรับลดเหลือ 1.5% ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จาก 3% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2% ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพคืนภาษีให้รวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเร่งคืนภาษีให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว ในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดอัตราเงินสมทบจาก 5% เหลือ 0.5% ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยขยายเวลาไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคมของทุกปี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/2/2564

ตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เปิดตัว 18 ก.พ. 2564 นี้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) เห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย กำหนดเป้าหมายและวางแผนการพัฒนกำลังคนด้านดิจิทัล รวมถึงจัดทำหลักสูตรการจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากร วิทยากรและกำลังคนในด้านดิจิทัล พร้อมทั้งดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลด้วย การดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งล่าสุดบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาทักษะฝีมือ สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นต่อการจัดฝึกอบรม เพื่อใช้ประจำที่สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล พร้อมจัดส่งวิทยากรให้ความรู้แก่บุคลากรหรือครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลถ่ายทอดไปยังกำลังแรงงานทั่วประเทศต่อไป

สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ตั้งอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจะมีพิธีรับมอบอุปกรณ์และเครื่องมือ เพื่อใช้ประจำที่สถาบันดังกล่าว ในวันที่ 18 ก.พ. 2564 โดยในวันดังกล่าวจะมีการจัดงานสัมมนา การพัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จำนวน 3 หัวข้อ 5G สำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 การจัดการองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และการบริการระบบคลาวด์ของหัวเว่ยสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

"การจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบกิจการในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ได้เกิดความเข้าใจ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงประชาสัมพันธ์การให้บริการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ รวมถึงพี่น้องแรงงานทุกคนที่มีความสนใจ เกิดการรับรู้และสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐต่อไป" รมช.แรงงาน กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 12/2/2564

ก.แรงงาน หวังเร่งแก้ปัญหาแรงงานเด็ก หวังถอดสินค้าออกจากบัญชี Blacklist สหรัฐฯ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจเด็กทำงานในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีเด็กอายุ 5-17 ปี ทั้งหมด 10.47 ล้านคน เป็นแรงงานเด็ก จำนวน 1.77 แสนคน โดยมีการทำงานที่เข้าข่ายงานอันตราย จำนวน 1.3 แสนคน

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สินค้าไทยถูกขึ้นบัญชีจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและกุ้ง (แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ) อ้อยและสื่อลามก (แรงงานเด็ก) และปลา (แรงงานบังคับ) จึงมีนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินการ หามาตรการถอดถอนรายการสินค้าดังกล่าวออกจากการถูกขึ้นบัญชี

โดยมีเป้าหมายที่จะถอดรายการสินค้า ออกจากบัญชีอย่างน้อย 1 รายการ ให้ได้ภายในปี 2565 เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกอันเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ โดยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งให้ได้รับการยอมรับในประชาคมโลก

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานของกรมที่จะแสดงให้สหรัฐอเมริกาประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมจะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

กรมจึงได้เชิญผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ในสินค้ากุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้มาร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับในสินค้าดังกล่าว และสรุปให้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาในการถอดรายการสินค้าออกจากการถูกขึ้นบัญชี ที่ประเทศไทยได้พยายามดำเนินการอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ให้ปรากฏผลเห็นอย่างก้าวหน้า ชัดเจน และตรวจสอบได้ อันจะนำไปสู่การ รักษาตลาด และรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยได้ในที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/2/2564

เสนอลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.40 40% นาน 6 เดือน

10 ก.พ. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ว่า การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบในการเยียวยาผลกระทบกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยมีมติเห็นชอบลดเงินสมทบร้อยละ 40 ของเงินที่จ่ายสมทบในแต่ละทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท ลดเหลือ 42 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้ ทุพลภาพ และเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 จ่ายสมทบ 100 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 60 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เหมือนทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มกรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 จ่ายสมทบ 300 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 180 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เหมือนทางเลือกที่ 2แต่เพิ่มกรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนเช่นเดิม

นอกจากนี้ ในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 โครงการ ม.33เรารักกันที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงิน 4,000 บาทระยะเวลา 1 เดือนจากเงินกู้ของรัฐบาลนั้น ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้โดยการลงทะเบียน WWW.ม33เรารักกัน.com ถือเป็นสิทธิที่จะได้รับโดยไม่ต้องเร่งรีบลงทะเบียนถือเป็นสิทธิที่จะได้รับกันทุกคน โดยมีเงื่อนไขต้องไม่มีเงินในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาท

ทั้งนี้ ในการประชุมครม.ในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ.นี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะได้นำเสนอต่อการประชุม ครม.ใน 2 เรื่อง คือ การลดเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 และการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโครงการ ม.33เรารักกัน เชื่อว่า ครม.จะเห็นชอบ

ด้าน นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในฐานะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลที่ดูแลที่จะลดเงินสมทบให้กับแรงงานนอกระบบ แต่เรื่องนี้ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด กลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบอย่างหนักจนถึงวันนี้ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาขาดส่งเงินสมทบเพราะไม่มีเงิน เช่น กรณีวินมอเตอร์ไซต์ออกทำงานตั้งแต่ตี 5 วิ่งรถจนถึงบ่ายโมงได้เงิน 70 บาท ทำให้ขาดส่งเงินสมทบประกันสังคมแม้จะไม่หลุดจากการเป็นผู้ประกันตนที่ยังคงสามารถจ่ายได้ตลอด แต่ปัญหาการส่งเงินสมทบที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ เช่น กรณีเสียชีวิตก็ไม่สามารถขอรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ จึงขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตน ม.40 จำนวน 3.5 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 2 พันล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 10/2/2564

ผู้ช่วย รมว.แรงงาน-ผู้แทนสมาคมกีฬาคนพิการ หารือแก้ปมการจ้างงาน นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย 46 คนของ บ.เอส แอนด์ พีฯ

9 ก.พ. 2564 นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เข้าประชุมหารือผู้แทนสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ เพื่อขอคำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับการจ้างงาน นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ของบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่มีการจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ที่อยู่ในสังกัดของสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี แต่เนื่องจากในปี 2564 ทางบริษัทฯ ได้รับผลกระทบตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จึงมีความประสงค์ขอปรับลดการจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย จากเดิมในปี 2563 มีการจ้างงานอยู่ที่ จำนวน 63 คน เหลือเพียง จำนวน 46 คน แต่ได้รับการคัดค้านจาก สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 3 ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยวินิจฉัยว่าการจ้างงานนักกีฬาคนพิการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ว่าด้วยเรื่องของนิยามการจ้างงาน ส่งผลทั้ง 46 คน ต้องตกงานและได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีความประสงค์ที่จะจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ทั้ง 46 คน และการที่สมาคมกีฬาฯ เข้าพบในครั้งนี้ก็เพื่อขอความช่วยเหลือและหาทางออก ให้มีการจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย โดยไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ว่าด้วยเรื่องของนิยามการจ้างงาน และเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับนักกีฬาคนพิการ ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี 2 ชั้น 5 กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 9/2/2564

กทม.ค้นหาเชิงรุกโรงงาน 123 แห่ง แรงงาน 13,480 คน พบติดเชื้อ 54 คน

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ มีการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 6 เขต โดยแบ่งเป็นการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 123 แห่ง แรงงาน 13,480 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 54 คน หรือร้อยละ 0.40 ของการค้นหาเชิงรุก ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้สอบสวนโรคหาผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ

ที่มา: Thai PBS, 8/2/2564

ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ศบค. ชี้หากพ้น 13 ก.พ. ถือว่าผิดกฎหมาย

หลังกระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ตามการผ่อนผันจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่

ล่าสุด แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.เมื่อช่วงเช้า ได้รับรายงานจากกระทรวงแรงงานเรื่องการขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติ ระบุว่าวันที่ 13 ก.พ. 2564 จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ขึ้นทะเบียน หากวันที่ 14 ก.พ. 2564 พบว่ายังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเป้าหมายการขึ้นทะเบียน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.แรงงานที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2.แรงงานที่ไม่ได้ทำงาน และ 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อรายงานที่ต้องการจ้างและแรงงานที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 ม.ค.-13 ก.พ. 2564

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/2/2564

รมว.แรงงานเปิดไทม์ไลน์ "ม.33 เรารักกัน" เริ่มลงทะเบียน 21 ก.พ.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ "ม.33 เรารักกัน" ว่า ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ยืนยันระยะเวลาการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ แล้ว โดยกำหนดไทม์ไลน์ ดังนี้

ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ -7 มีนาคม 2564

ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 8-14 มีนาคม 2564

กดใช้งานและกดยืนยันตัวผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง วันที่ 15-21 มีนาคม 2564

ได้วงเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังครั้งละ 1,000 บาท ในวันที่ 22, 29 มีนาคม และวันที่ 5, 12 เมษายน 2564

เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายในโครงการเราชนะ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,100 ล้านบาท

ที่มา: ผู้จัดออนไลน์, 6/2/2564

เปิดผลสำรวจ แนวโน้มอัตราเงินเดือนและการจ้างงานปี 2564

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก รวบรวมผลสำรวจ และแนวโน้มอัตราเงินเดือน และการจ้างงานในปี 2564 จัดทำโดยฝ่ายวิจัยของบริษัท โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 22 ด้วยการเจาะกลุ่มพนักงานระดับอาวุโสขึ้นไปในองค์กรกว่า 570 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

สำหรับการสำรวจในประเทศไทยจัดทำในเดือน ต.ค. 2563 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 420 คน ใน 8 สายงาน ได้แก่ บัญชีและการเงิน, การเงินและการธนาคาร, วิศวกรรมและการผลิต, ทรัพยากรบุคคล, กฎหมาย, การขายและการตลาด, ซัพพลายเชนและจัดซื้อ และไอที จาก 130 บริษัทในกรุงเทพฯ และอีสเทิร์นซีบอร์ด ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม

“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563 ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดการจ้างงานเจอกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยไตรมาสแรกของปีเริ่มต้นด้วยทิศทางสดใส แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 และตามด้วยการล็อกดาวน์ จึงส่งผลให้การจ้างงานทั่วทุกอุตสาหกรรมเกิดภาวะหยุดนิ่ง

“อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 อัตราการจ้างงานในไทยมีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยในภาคธุรกิจประเภทอุปโภคบริโภค (FMCG), เภสัชกรรม, การประกัน, การลงทุนส่วนบุคคล (private wealth), เทคโนโลยี, อีคอมเมิร์ซ, ซัพพลายเชน และอุตสาหกรรมการให้บริการขนส่ง”

“ทั้งนี้ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยที่สุด ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด และพนักงานมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนงานใหม่เพื่อลดความเสี่ยง”

“สถานการณ์การจ้างงานในปี 2564 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง โดยนายจ้างส่วนใหญ่ยังคงเฝ้ารอดูสถานการณ์ และการจ้างงานมักเป็นไปในรูปแบบของการทดแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง หรือโยกย้ายคนในองค์กรไปตำแหน่งที่มีความจำเป็นมากกว่า และคาดว่าบริษัทในประเทศจะมีการจ้างงานมากกว่าบริษัทต่างชาติ เพราะบริษัทต่างชาติมีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศมีสถานการณ์โควิด-19 แย่กว่าไทย ทั้งยังจ้างคนในประเทศมากกว่าชาวต่างประเทศ”

“ปุณยนุช” บอกว่า เศรษฐกิจในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัว และอุปสงค์การจ้างงานจะฟื้นตัวตามไปด้วย หลังจากประสบกับภาวะการจ้างงานที่หยุดนิ่งมาระยะหนึ่ง เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้างแล้ว

“สำหรับผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร ซึ่งมีบทบาทในการสรรหาและรักษาพนักงาน ต้องคำนึงว่าพนักงานยังคงมีโอกาสที่จะย้ายงานในปี 2564 แม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน โดย 72% ของพนักงานใน 8 สายงานที่เราทำการสำรวจเริ่มมองหางานใหม่ในปี 2564 ซึ่งผู้สมัครอาจให้ความสนใจไปยังอุตสาหกรรมที่มีผลการดำเนินการดีในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมเภสัชกรรม, การประกัน และทรัพยากรบุคคล”

“ดังนั้น บริษัทจึงควรที่จะสร้างความผูกพัน และแสดงให้เห็นว่าบริษัทเห็นคุณค่าของพนักงานทุกคน นอกจากนี้ ควรที่จะเปิดใจ และเปิดโอกาสในการจ้างพนักงานที่มีอายุน้อย และไม่มีประสบการณ์ โดยให้การฝึกอบรมที่จำเป็นต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ควรเริ่มมองหาคนเก่งที่ต้องการตั้งแต่ตอนนี้ และให้ความเชื่อมั่นแก่พวกเขาก่อนที่จะถูกชิงตัวโดยบริษัทคู่แข่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว”

“สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญในองค์กรมากที่สุดในปี 2564 คือการมีเพื่อนร่วมงานที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน ตามด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีและชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น นอกจากนั้น พนักงานต้องการให้บริษัทปรับปรุงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำงานในโลกปัจจุบันด้วย”

สำหรับเรื่องค่าจ้าง “ปุณยนุช” กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การปรับขึ้นของอัตราเงินเดือนในประเทศไทยลดลง ซึ่งในปี 2563 พนักงานส่วนใหญ่ย้ายงานโดยเงินเดือนไม่ได้ถูกปรับขึ้น และหากได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% เท่านั้น ส่วนปี 2564 อัตราเงินเดือนจะปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย

“สำหรับแนวโน้มเงินค่าจ้างต่อปีของพนักงานตำแหน่งอาวุโสไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงในปี 2564 มีดังนี้ ในสายบัญชีและการเงินมีอัตราเงินค่าจ้างอยู่ที่ 9.3 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, การธนาคาร 7 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, วิศวกรรมและการผลิต 1 ล้าน-5.8 ล้านบาท/ปี, ทรัพยากรบุคคล 7 แสน-4.2 ล้านบาท/ปี, กฎหมาย 6 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, การขาย และการตลาด 6 แสน-9 ล้านบาท/ปี, ซัพพลายเชนและจัดซื้อ 8.4 แสน-5.8 ล้านบาท/ปี และไอที 7.5 แสน-7.2 ล้านบาท/ปี”

“ทั้งนี้ 3 อันดับสูงสุดของตำแหน่งงานในฝ่ายบัญชี และการเงินเป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2564 คือ หัวหน้าฝ่ายการเงิน, หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนข้อมูลและวิเคราะห์การจัดทำงบประมาณขององค์กร (FP&A) และฝ่ายควบคุมต้นทุน”

“ส่วนในสายการธนาคาร ได้แก่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ, ผู้ให้คำแนะนำและปรึกษาด้านการลงทุนเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนสำคัญ หรือลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (private banker) และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์, สายวิศวกรรมและการผลิต ได้แก่ ผู้จัดการด้านปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง/การบริหารจัดการแบบลีน, ผู้จัดการระบบคุณภาพ และผู้จัดการวิศวกรรม/โปรแกรม”

“ในสายทรัพยากรบุคคลคือ ฝ่ายการเรียนรู้และพัฒนา, ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปในงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์และเอชอาร์ที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจ (HR business partner) ขณะที่สายงานกฎหมาย ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมายระดับภูมิภาค, ทนาย นิติกร หรือที่ปรึกษากฎหมายประจำบริษัท และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ (M&A specialist)”

“นอกจากนั้น ในสายการขายและการตลาด ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายช่องทางจัดจำหน่าย, ผู้จัดการแบรนด์ และ performance marketing manager สำหรับสายซัพพลายเชนและจัดซื้อ ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายจัดหา, ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ และผู้จัดการฝ่ายวางแผนวัตถุดิบ 3 อันดับสูงสุดของตำแหน่งงานในสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity), ฝ่าย product owner และสถาปนิกที่หาทางออกของปัญหาต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยี (solution architect)”

ในปี 2564 พนักงานจะต้องเร่งพัฒนาทักษะทั้งในเชิงเทคนิค และการบริหารจัดการ (soft skills) ขณะเดียวกันทางฝั่งนายจ้างจะต้องเริ่มมองหาคนเก่งตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะเสียเปรียบคู่แข่งในช่วงที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

“ปุณยนุช” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทักษะเป็นที่ต้องการอย่างสูงในปีนี้ คือ ทักษะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งบุคลากรในสายงานเทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนทักษะ และความรู้ทางเทคนิคในกลุ่มบุคลากรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และดิจิทัลแบงกิ้งกำลังเฟื่องฟู

“ความรู้เชิงเทคนิคยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและบริษัทจะยังคงพิจารณาทักษะด้านการจัดการ (soft skills) อีกด้วย เช่น ความสามารถทางภาษาอังกฤษ, ความรู้ในเชิงธุรกิจ, ความสามารถด้านการบริหารคนและทีมงาน รวมถึงความสามารถในการโน้มน้าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาบุคลากรที่มีความสามารถในการวางกลยุทธ์ และการคิดนอกกรอบอีกด้วย”

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้การประเมินผลงานพนักงานมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่น พนักงานที่ปรับตัวเก่ง มีความสามารถคิดนอกกรอบ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ และมีทักษะการสื่อสารที่ดีทั้งแบบตัวต่อตัว และสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (virtual environments) จะมีความโดดเด่นขึ้นมา

จึงนับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อภาพรวมตลาดในปี 2563 และ 2564 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัว แต่กระนั้น กลับทำให้ “มนุษย์เงินเดือน” บางส่วนกลายเป็น “มนุษย์ทองคำ” จนทำให้เกิดการจ้างงานในอัตราเงินเดือนสูงที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/2/2564

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท