Skip to main content
sharethis

โรงงานชุดชั้นในนิคมฯ บางพลี ประกาศปิดกิจการ พนักงานตกงานทันที 1,300 คน

วันที่ 11 มี.ค. 2564 เมื่อเวลา 08.00 น. มีคนงานกว่า 1,000 คน รวมตัวกันด้านหน้าโรงงาน ภายใน ซอย 7 นิคมอุสาหกรรมบางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากโรงงานปิดกิจการ ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ พบว่าเป็น บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด มีพนักงานรวมตัวกันด้านหน้าโรงงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้โดยด้านหน้าของโรงงานได้ล็อกปิดประตูรั้ว และมีการปิดประกาศ ข้อความ ระบุว่า บริษัทจะปิดโรงงาน ตั้งแต่ วันที่ 11 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป อ้างว่าภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับบริษัท คู่ค้าสั่งระงับการผลิต เนื่องจากไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ

นายจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทยอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นใน ส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป มีพนักงานจำนวน 1,300 คน เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. 2564 มีการขนย้ายเครื่องจักรออกจากบริษัท โดยทางบริษัทแจ้งว่า ย้ายเครื่องจักรไปอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ในไทยก็ยังดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ พนักงานยังคงมีการทำงานล่วงเวลากันด้วยซ้ำ บริษัทไม่มีการแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้า พนักงานทราบเรื่อง ก็หลังมีการนำประกาศมาติด ช่วงเย็นวันที่ 10 มี.ค. 2564 ต่อมาเวลา 08.30 น. แรงงานทั้งหมด ได้เคลื่อนย้ายจากด้านหน้าโรงงานไปสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ

นายนายพงศ์เทพ เพชรโสม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในวันนี้ตนเองได้ขอให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดมารวมตัวกัน ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ ซึ่งห่างจากบริษัทประมาณ 2 กม. เนื่องจากด้านหน้าบริษัทนั้น กีดขวางการจราจรทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รับผลกระทบ ซึ่งที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการนั้น ตนเองได้จัดให้ลูกจ้างทั้งหมดเขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตาม พรบ.แรงงาน พ.ศ. 2541

และขอให้ลูกจ้างตั้งตัวแทนจำนวน 15 คน เพื่อที่จะสื่อสารกับพนักงานและเข้าประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ หลังจากนี้จะเร่งติดต่อ นายจ้างมาสอบถามชี้แจงและจะเร่งรัดออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ในวันนี้ยังมีหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้าง ในการประกันการว่างงาน ตำแห่งงานที่ว่างสำหรับคนที่ต้องการหางาน และการฝึกอาชีพเพิ่มเติม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/3/2564

รมว.แรงงาน สรุปยอดลงทะเบียนออนไลน์ ม33เรารักกัน แตะ 8,208,286 คน ขณะ 15 – 28 มี.ค. เปิดทบทวนสิทธิผู้ไม่ผ่านที่ www.ม33เรารักกัน.com

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม33เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ซึ่งได้เปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.- 7 มี.ค. 2564 จากเป้าหมายดำเนินการ 9.27 ล้านคน ปรากฏว่ามีผู้ประกันตนมาตรา 33 ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,208,286 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มี.ค. 2564 เวลา 23.00 น.) คงเหลืออีกประมาณ 1 ล้านกว่าคนในจำนวนนี้ ประกอบไปด้วย ผู้ที่รับเงินในโครงการเราชนะไปแล้ว ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท และผู้ที่มีปัญหาอื่น ๆ ทางเทคนิค เช่น ชื่อ – นามสกุล ไม่ตรงกับฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร หรือไม่ตรงกับฐานข้อมูลผู้ประกันตน ลงทะเบียนช้า ไม่มีสมาร์ทโฟน

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการสำหรับผู้ประกันตนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและยังไม่เคยลงทะเบียนเลย ขอให้เข้ามาติดต่อเพื่อลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศที่ผู้ประกันตนสะดวกในวันที่ 15-28 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาเพื่อลงทะเบียนขอรับสิทธิด้วย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องการลงทะเบียน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่ผ่านสามารถขอทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ในวันที่ 15 – 28 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/3/2564

วันสตรีสากล ‘แรงงาน-ผู้หญิง-พีมูฟ’ ล้อมทำเนียบ จี้ ‘บิ๊กตู่’ สัญญาอะไร ทำไม่ได้ก็ลาออกไป

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มี.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มพีมูฟ หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ ภาคีเซฟบางกลอย ได้เดินขบวนไปทำกิจกรรมที่หน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้หัวข้อ ‘สู่สิทธิมนุษยชนคนจนและชนเผ่าไทย’ โดยได้มีการปราศรัยผ่านเครื่องกระจายเสียงระบุถึงการบริหารราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถือว่ามีความล้มเหลว ไม่ว่าจะออกโครงการอะไรมาเยียวยาชาวบ้านแต่ในข้อเท็จจริงแล้ว

ทั้งราคาสินค้า ค่าครองชีพ ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ของกินของใช้ต่างแพงขึ้น อีกทั้งประชาชนยังเป็นหนี้จากเงินกู้ที่รัฐบาลไปกู้จากต่างประเทศมา ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลรับปากกับประชาชนก็ไม่มีความคืบหน้าโดยเฉพาะกรณีปัญหาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี การแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่รัฐบาลรับปากจะแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง และยังมีปัญหาที่ดินที่ทำกินที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปีแต่การแก้ไขไม่มีความคืบหน้า ปัญหาทั้งหมดนี้ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารไม่ได้ก็ลาออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันได้มีสหพันธ์แรงงาน อุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และองค์กรเครือข่ายต่างๆ ก็ได้มายื่นหนังสือ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม เพื่อทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่เคยยื่นรัฐบาลไปแล้ว 7 ข้อ อาทิ ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ, แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, รัฐบาลต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400-425 บาท, ผลักดันกฎหมายให้สตรีมีสิทธิ์ทำแท้งได้อย่างปลอกภัย หากไม่พร้อมมีบุตร และต้องผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลประตู 5 ถนนราชดำเนิน กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล โดยตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ก่อนที่จะเดินขบวนมายังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งเวทีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล และข้อเรียกร้องที่มีต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 8 ข้อ อาทิ ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ที่ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน รวมถึงการให้ความคุ้มครองแรงงานหญิงที่เป็นธรรม ขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ มีมาตรการปกป้องคุ้มครองและเยียวยาสร้างความมั่นคงในการทำงาน เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม รัฐบาลต้องกำหนดสัดส่วนของผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 และกำหนดวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดตามประเพณีของทุกปี เพื่อเรียกร้องสิทธิและบทบาทของสตรี และขอให้รัฐบาลแสดงออกถึงความจริงใจในการยกระดับสิทธิและสวัสดีภาพของผู้หญิงในการทำงาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/3/2564

แนะแรงงานไทยในซาอุดิอาระเบียใช้ "นาญิซ (Najiz)" บริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ บริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ หรือ “นาญิซ (Najiz)” ซึ่งเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอนในการดำเนินเรื่อง โดยรับเรื่องร้องเรียน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ข้อร้องเรียนที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานซาอุดีอาระเบีย2) ข้อร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัว 3) ข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม(GOSI) เช่น การลงทะเบียน เงินชดเชยต่างๆ ทั้งฝั่งนายจ้างและแรงงาน

สำหรับการใช้บริการแจ้งเรื่องร้องเรียน ทั้ง 3 ประเภทมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

1.กรณีร้องเรียนภายใต้กฎหมายแรงงานนั้น แรงงานหรือนายจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานแรงงานในเขตมณฑลที่ตั้งเพื่อดำเนินการเพื่อไกล่เกลี่ยในชั้นต้นก่อน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ภายในระยะเวลา 21 วัน จึงสามารถจะร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

2.กรณีร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัวและอื่นๆ นั้นให้แรงงานหรือนายจ้างยื่นข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับแรงงานภายในบ้าน ซึ่งการไกล่เกลี่ยเบื้องต้นมีระยะเวลา 5 วัน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้คณะกรรมการฯ มีเวลา 10 วันในการออกคำตัดสิน หากคำตัดสินเป็นที่ไม่พอใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ฝ่ายนั้นๆ มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสินโดยยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

3.สำหรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม (GOSI) นั้นมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้ 1) แรงงานหรือนายจ้างยื่นคำร้องไปยังองค์การประกันสังคม 2) หากผลการตัดสินไม่เป็นที่พอใจให้อุทธรณ์ไปยังหน่วยรับเรื่องอุทธรณ์เฉพาะขององค์การประกันสังคม 3) หากผลการอุทธรณ์ยังคงเป็นที่ไม่น่าพอใจจึงยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ในต่างประเทศ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสมแล้ว ยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถเดินทางได้ 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานในต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง โดยแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ทุกประเทศและทุกวิธีการเดินทางในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต้องลงนามในหนังสือรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และจัดทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“สำหรับผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 “อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/3/2564

กยศ. ชี้แจงกรณีการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินคืนผ่านองค์กรนายจ้าง

5 มี.ค. 2564 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงว่า จากการที่กองทุนได้มีหนังสือถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคเอกชนในการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินคืนกองทุนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 นั้น การดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 เริ่มจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กตามลำดับ

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่กองทุนต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดประมาณ 107,000 แห่ง และมีผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานของหน่วยงานเหล่านี้ที่อยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนทั้งหมด 1,735,000 ราย ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนได้แจ้งหักเงินเดือนไปยังนายจ้างแล้ว 14,813 แห่ง เป็นจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 1,268,000 ราย และอยู่ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนในเดือน มี.ค. อีก 92,935 แห่ง ซึ่งมีผู้กู้ยืมจะอยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนจำนวน 466,000 ราย ทั้งนี้กองทุนได้จัดประชุมชี้แจงให้นายจ้างได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับขั้นตอนการหักเงินเดือนของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้ยืมเงิน กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้างนั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของผู้กู้ยืมเงินได้รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้นกองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเงินรวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน นายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) โดยเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ซึ่งกองทุนจะมีการปรับข้อมูลผู้กู้ยืมให้เป็นปัจจุบันและจะแจ้งข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งให้นายจ้างได้ทราบผ่านระบบดังกล่าวในทุกวันที่ 5 ของเดือน ทั้งนี้ กองทุนขอชี้แจงรายละเอียดการหักเงินเดือนเพื่อความชัดเจน ดังนี้

1. เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินเดือนกองทุนอยู่ในลำดับ 3 โดยลำดับแรกเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลำดับที่ 2 หักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม และลำดับที่ 3 หักเงินกองทุน กยศ.

2. หากนายจ้างไม่ดำเนินการหัก ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้ระบุให้ นายจ้างจะต้องชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาหากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้องหรือความจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ผ่านขั้นตอนในระบบให้กองทุนรับทราบก็ไม่ต้องชดใช้เงินให้กับกองทุน และหากไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนได้ กองทุนยินดีที่จะอนุโลมและผ่อนผันให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนยังไม่เคยเรียกให้นายจ้างชดใช้เงินหรือเรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด

3. การคำนวณยอดหักเงินเดือน กองทุนจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 ก.ค.ของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอปรับลดจำนวนเงินได้โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน "กยศ. Connect" โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตั้งต้นมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่หมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กองทุนขอเรียนว่า ปัจจุบัน กองทุนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 และในปีการศึกษา 2563 มีผู้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท

สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อยแล้ว กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลานและนักเรียน นักศึกษารุ่นหลังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคนอย่างแน่นอน โดยไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมแต่อย่างใด

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 5/3/2564

เปิด 10 อันดับงานว่าง กระทรวงแรงงาน เตรียมตำแหน่ง 5 หมื่นอัตรา รอสมัคร

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันมาโดยตลอด ทั้งมอบหมายกรมการจัดหางานทำงานเชิงรุก ติดตามตำแหน่งงานว่าง เพื่อรองรับปัญหาการว่างงาน ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างทั้งงานประจำและงานพาร์ทไทม์ จากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน แบ่งเป็นตำแหน่งงานว่างแบบเต็มเวลาจำนวน 56,138 อัตรา

โดยตำแหน่งงานว่าง 10 อันดับแรกที่นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ , แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่น ๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6. ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ 7.พนักงานบริการลูกค้า 8.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน 9.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 10.เจ้าหน้าที่คลังสินค้าอื่นๆ

และเป็นตำแหน่งงานว่าง Part time จำนวน 1,255 อัตรา โดยตำแหน่งงานว่าง Part time ทั่วประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผู้ขนส่งสินค้าอื่นๆ 2.ผู้ช่วยพ่อครัว 3.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 4.พนักงานบริการลูกค้า 5.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน ซึ่งมีตำแหน่งงานว่างรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ล่าสุดได้สั่งการเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ลงพื้นที่พบปะนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีกำลังการจ้างงาน เพื่อขอข้อมูลตำแหน่งงานว่าง เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ที่ว่างงานและประสงค์หางานทำ

ซี่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ออกจากงานมายื่นขอรับสิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน จำนวน 114,101 คน รายงานตัวผ่านระบบ 487,143 คน ลดลงจากเดือนมกราคม ที่มีผู้ยื่นขอรับสิทธิกรณีว่างงาน 128,079 คน รายงานตัวผ่านระบบ 511,726 คน ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ว่างงานที่ประสงค์จะหางานทำ สามารถเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีhttp://xn--72c6af3hc5n.com/ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ได้ สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/3/2564

ผลกระทบ COVID-19 ดันอัตราว่างงานพุ่ง 6.51 แสนราย ชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าปกติ ขณะที่หนี้ครัวเรือนพุ่ง 13.77 ล้านล้านบาท

5 มี.ค. 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุ วิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราการว่างงานในปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% หรือมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคน และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ ขณะที่ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวน 38.5 ล้านคน หรือขยายตัว 1.0% การจ้างงาน ขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.3% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 0.1%

ส่วนหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อน มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/3/2564

สมาคมมัคคุเทศก์ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม หลังไกด์ตกงานเกือบ 10,000 คน เข้าไม่ถึงการอบรมเปลี่ยนไปถือบัตรรูปแบบใหม่

นายทิพากร จันทร์แถม นายกสมาคมมัคคุเทศก์ไทย นำตัวแทนมัคคุเทศก์ เข้ายื่นหนังสือร้องความเป็นธรรม ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 กรณีถูกรอนสิทธิของผู้ถือบัตรอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ โดยกรมการท่องเที่ยวกำหนดให้ยกเลิกบัตรอนุญาตมัคคุเทศก์สีทอง ซึ่งเป็นบัตรอนุญาตสำหรับปฏิบัติหน้าที่กับนักท่องเที่ยวคนไทยภายในประเทศ แล้วให้โอนไปอยู่รวมกับบัตรอนุญาตสีบรอนซ์ ซึ่งเป็นบัตรอนุญาตสำหรับมัคคุเทศก์ที่ปฏิบัติหน้าที่กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี2559 แต่กรมการท่องเที่ยวไม่ประกาศแจ้งการเปลี่ยนการถือประเภทบัตรมัคคุเทศก์ให้เจ้าตัวรับทราบ และไม่จัดอบรมเพิ่มเติมให้อย่างทั่วถึงเพื่อเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ บัตรสีทอง ประเภท (นักท่องเที่ยวคนไทย) และบัตรสีชมพู ประเภททัวร์เฉพาะท้องที่ ไม่สามารถต่อบัตรอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ได้ ทำให้หมดสภาพการเป็นมัคคุเทศก์ทันที และหากต้องได้บัตร ต้องทำการอบรมใหม่ เสียค่าอบรมเป็นมัคคุเทศก์ราคากว่า 40,000 บาทต่อคน ทั้งที่ 1 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับความลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมอีก ซึ่งตอนนี้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำไร่ และขายของเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ น.ส.นันท์นภัส น้อยวิเศษ ตัวแทนกลุ่มมัคคุเทศก์ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากใบอนุญาตมัคคุเทศก์สำหรับนักท่องเที่ยวคนไทย ให้ไปถือบัตร สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และต้องผ่านเกณฑ์ด้านภาษา ถือว่า ไม่เป็นธรรม เพราะ มัคคุเทศก์ถือบัตรสีทอง รับนักท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว เป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึง การจัดอบรมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังบัตรรูปแบบใหม่ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพียงแค่5 วัน เป็นเวลาที่รวดเร็วเกินไป ไม่มีการส่งใบแจ้ง วันหรือเวลาไปให้มัคคุเทศก์ แต่ให้ติดตามเองทางเว็ปไซต์ของกรมการท่องเที่ยว ทำให้มีมัคคุเทศก์เข้าไม่ถึง กว่า 10,000 คน จากจำนวนมัคคุเทศก์ที่ถือบัตรสีทองและชมพู 18,000 คน จึงอยากเรียกร้องให้ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ช่วยเป็นตัวกลางเพื่อคุยกับกรมการท่องเที่ยวในการช่วยเหลือให้มัคคุเทศก์เข้าถึงการอบรมได้ทัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/3/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net