Skip to main content
sharethis

คำสั่งศาลชี้ จนท.ราชทัณฑ์คุมตัว 3 เเกนนำคณะราษฎรกลางดึก อ้างตรวจโควิด ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง อันกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องขัง และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความคุ้มครองสิทธิที่กฎหมายรับรอง 

30 มี.ค.2564 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณา 81 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งกรณีของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และแกนนำม็อบราษฎร ยื่นคำร้องต่อศาลขอคุ้มครองความปลอดภัยชีวิต ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ศาลเบิกตัว อานนท์มาฟังคำสั่ง ซึ่งศาลเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง อันกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องกับพวกเท่าที่ควร และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวัง เพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับความคุ้มครองสิทธิที่กฎหมายรับรอง

ซึ่งวอยซ์ออนไลน์และคมชัดลึกออนไลน์รายงานคำสั่งศาลไว้ดังนี้ 

ศาลพิเคราะห์ ประการเเรกว่า ศาลมีอำนาจรับไว้ไต่สวนหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา28  บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคลไว้ และมีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่าการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล การดำเนินการของรัฐจึงต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมหรือขังเป็นสำคัญ

เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการรับคำร้องและดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวได้ และศาลสามารถพิจารณาเหตุในการคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนการคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างสมบูรณ์สมเจตนารมย์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวนอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ยังบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างในศาลได้ 

จึงเห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลตรวจสอบคุ้มครองให้การคุมขังเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เมื่อผู้ร้องอยู่ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาซึ่งถูกคุมขัง โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

เห็นว่าแม้ผู้ร้องกับพวกจะอยู่ภายใต้การคุมขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ฯกำหนดให้เรือนจำเป็นสถานที่ใช้ในการควบคุมขังหรือจำคุกผู้ต้องขังเมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยขังตามหมายของศาลเจ้าพนักงานเรือนจำสามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ต้องขังได้เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับพฤติการณ์เพื่อจัดการบังคับให้เป็นไปตามหมายขัง

ศาลจึงมีหน้าที่ดูเเลผู้ต้องขังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หากศาลละทิ้งหน้าที่นี้ย่อมจะทำให้ขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม ดังนั้นเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้อง อ้างว่าผู้ร้องอาจจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาจึงสามารถรับคำร้องและดำเนินการไต่สวนรวมทั้งมีอำนาจเบิกตัวผู้ร้องและหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องอื่นมาดำเนินการไต่สวนให้ทราบถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามคำร้องได้

ปัญหาที่ต้องพิจารณาประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องถูกข่มขู่คุกคามอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายตามร้องหรือไม่

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนประกอบการเปิดภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขังได้ความว่า เมื่อเวลา 21.30 น.มีแจ้งให้ผู้ร้องกับพวกทราบว่าจะนำจำเลยทั้ง 3 ไปแยกคุมขังไว้ที่เรือนพยาบาล แต่ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอม

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีความเห็นให้นำวิธีทางการแพทย์มาใช้เป็นมาตรการในการดำเนินการ จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ตรวจหาสารคัดหลั่งเพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรน่า มายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพและสั่งการให้เจ้าพนักงานเรือนจำในกลุ่มเรือนจำลาดยาวจัดทีมมาสนธิกำลังร่วมปฏิบัติการ

ต่อมาเวลาประมาณ 23.35 น.เจ้าพนักงานเรือนจำบุคลากรทางการแพทย์เดินทางถึง แต่ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอมจึงกลับออกไป จนกระทั่งเวลา 00.05 นาฬิกาของวันที่ 16 มี.ค.64 เจ้าพนักงานเรือนจำและบุคลากรทางการแพทย์ชุดเดิมกลับมายังห้องขังอีกครั้งพร้อมชุดตรวจหาเชื้อพร้อมแจ้งว่าให้ผู้ต้องขังภายในห้องขังทุกคนเข้ารับการตรวจหาเชื้อผู้ร้องกับพวกทั้ง 7 ยังคงปฏิเสธโดยแจ้งว่าจะขอเข้ารับการตรวจในช่วงเช้าส่วนผู้ต้องขังอื่นอีก 9 ราย ยินยอมเเละดำเนินการแยกตัวผู้ต้องขังทั้ง 9 รายที่ตรวจหาเชื้อออก

ต่อมาเวลา 02.10 น.เจ้าพนักงานเรือนจำ แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบสีกากี 5 คนและเจ้าพนักงานเรือนจำกลุ่มลาดยาวแต่งกายด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษสีกรมท่า 5 คนกลับมายังห้องขังพร้อมแจ้งจะนำตัวผู้ร้องกับพวกไปแยกคุมขังไว้ที่เรือนพยาบาล  แต่ผู้ต้องขังทั้ง 7 คน ไม่ยินยอมมีการเจรจาจนถึงเวลา 02.19 น. เห็นว่าตั้งเเต่เวลา 21.30-02.30 น.เจ้าพนักงานเรือนจำเข้าพูดคุยกับผู้ร้องและพวกอยู่หลายครั้งทุกครั้งต่างกระทำโดยมิได้มีท่าทีข่มขู่คุกคามหรือใช้ความรุนแรง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 5 คนที่เดินทางไปพร้อมกับนายแพทย์วีระกิตต์ ล้วนแต่งกายด้วยเครื่องแบบบุคลากรทางการแพทย์และเป็นเพศหญิงถึง 4 คนมีการจัดเตรียมชุดเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล

เชื่อว่า การอำนวยการปฏิบัติงานเป็นการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด และต้องการแยกตัวจำเลยทั้ง 3 ไปคุมขังในสถานที่อื่นโดยมิได้มีความมุ่งหมายที่จะข่มขู่คุกคามหรือทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย 
อย่างไรก็ตามผู้ร้องกับพวกเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งถูก จำกัด เสรีภาพในร่างกายบางประการ โดยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องขังหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่ออันตรายประการอื่น
ผู้ร้องกับพวกและผู้ต้องขังอื่นยังคงเป็นพลเมืองไทย ย่อมได้ความรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิที่ถือติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการอย่างเท่าเทียมกัน เฉกเช่นเดียวกับปวงชนชาวไทยทั้งปวง การนอนหลับพักผ่อนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการดำรงชีพและดำเนินชีวิตอันเป็นปกติของบุคคลทั่วไป

เมื่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีมาตรการปิดโทรทัศน์ในช่วงเวลา 21.30 น. อันเป็นสัญลักษณ์แสดงนัยยะว่าถึงช่วงเวลาในการพักผ่อนเรือนจำ จึงต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ดำเนินมาโดยจัดให้ผู้ต้องขังได้มีช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอไม่ถูกล่วงละเมิดเกินสมควรผู้ร้องกับพวกในฐานะเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังอื่น การเข้าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดก็ดีการเปลี่ยนสถานที่คุมขังของผู้ต้องขังก็ดี พึงกระทำในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม การดำเนินการใด ๆ หลังช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงกระทำได้ แต่เฉพาะปรากฏเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องกับพวกได้รับการคัดกรองโรคเบื้องต้นโดยตรวจวัดอุณหภูมิถึงสามครั้งจนผ่านเกณฑ์แล้ว แม้จะถูกย้ายตัวมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่ก็เป็นการเคลื่อนย้ายนักโทษระหว่างเรือนจำกับเรือนจำซึ่งต่างล้วนแต่มีมาตรการคัดกรองในระดับสูง

กรณีจึงยังไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบหรือเร่งด่วนถึงขนาดต้องดำเนินการแยกตัวผู้ร้องกับพวกออกจากผู้ต้องขังอื่นหรือเร่งตรวจหาเชื้อไวรัสให้แล้วเสร็จภายในคืนนั้น หากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านพ้นไปอีก 3 ชั่วโมงก็จะถึงรุ่งเช้าซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาปกติที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อการพักผ่อนของผู้ต้องขัง การกระทำของเจ้าพนักงานเรือนจำแม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสมบนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนเเละอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครองการดำเนินการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง หรือย้ายสถานที่คุมขัง หรือกระทำการใด กรมราชทัณฑ์จึงต้องดำเนินการช่วงเวลาที่เหมาะ สมควร เเละเป็นไปตามระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ไม่กระทบกระเทือนต่อติดสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในฐานะผู้ต้องขัง 

ศาลเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง อันกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องกับพวกเท่าที่ควร และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับความคุ้มครองสิทธิที่กฎหมายรับรอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net