Skip to main content
sharethis
  • ประมวลรายงานสัมภาษณ์ผู้มีส่วนร่วมในขบวนการเยาวรุ่น-ราษฎร ที่แสดงถึงเฉดความฝันที่หลากหลายของคนกลุ่มนี้ นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย รัฐสวัสดิการ/สิทธิแรงงาน, เสรีภาพ/ความเป็นธรรมในระบบการศึกษา, สิทธิที่ดินทำกิน/ฐานทรัพยากร, LGBTQ เฟมินิสต์ และการต่อต้านปิตาธิปไตย, ปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่, ปัญหาการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะปมโควิด รวมทั้งโจทย์ความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี
  • ย้อนอ่านการทบทวน 1 ปี ที่พังเพดานและขบวนการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในมุมมองทนายอานนท์
  • ประมวลการโบยตีเกือบพันคดี และกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง  รวมทั้งเปิดข้อสังเกตจากมุมของ 'ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ' ซึ่งพบว่าการสลายการชุมนุมที่เริ่มต้นที่กรณีขบวนเสด็จ 14 ต.ค.

ภาพ กิจกรรมชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดสำคัญของการชุมนุมครั้งนี้คือ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา 3 ส.ค.63

จนมาเป็น 3 ข้อเรียกร้องหลัก

การเคลื่อนไหวที่นำโดยเยาวชน นักศึกษา ประชาชน หรือภายหลักรวมเรียกว่า ‘กลุ่มราษฎร’ นับย้อนกลับไปต้นปี 2563 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ปรากฏนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจัดแฟลชม็อบแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความไม่เป็นธรรมทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นมักปรากฏในรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนจะหายไปประมาณต้นเดือนมีนาคม เนื่องจาก COVID-19 ระบาดหนัก จนกลับมาอีกครั้งเดือน มิ.ย.63 หลังการถูกอุ้มหายที่กัมพูชาของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยและนักกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมกับออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ตามหาตัววันเฉลิม จนกระทั่งมีการดำเนินคดีนักกิจกรรมต่างๆ จากนั้นเกิดการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนำโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth และ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่มีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ ‪1. หยุดคุกคามประชาชน ‪2. ประกาศยุบสภา และ ‪3. เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

ภาพชื่อและสถานที่จัดกิจกรรมที่นอกจากมีการตั้งชื่อด้วยการติดแฮชแท็กตามวัฒนธรรมการสื่อสารของผู้ชุมนุมที่ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กแล้ว ยังเห็นการเคลื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยในช่วงต้นปี 63 มาสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยช่วงกลางปี 63 ด้วย (ภาพจากที่ประชาไทเคยประมวลไว้)

จากนั้น ‘แฟลชม็อบ’ กลับมากระจายทั่วประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะเดือน ส.ค.63 ถือเป็นเดือนเริ่มต้นขยับข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ที่ชัดเจนขึ้น เริ่มจากการชุมนุมวันที่ 3 ส.ค. นำโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสดภายใต้ธีมพ่อมดน้อย แฮรี่ พอตเตอร์  ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ จุดสำคัญของการชุมนุมครั้งนี้คือ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเขาย้ำว่าต้องการนำเอาความคับข้องใจของเยาวชนที่ชุมนุมในช่วงเวลานั้น ซึ่งมักออกมาชูป้ายหรือโพสต์แสดงความเห็นทางโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้วถูกดำเนินคดีและคุกคาม แปลงมาเป็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เวทีการชุมนุม '#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน “เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ’ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ยุบสภา 3. ร่างธรรมนูญใหม่ รวมทั้งประกาศ 2 จุดยืนคือ 1. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ 2. ไม่เอารัฐประหาร และข้อเสนอปรับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย หรือ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นประกาศ 10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วันที่ 10 ส.ค.63

10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ลำดับเวลาก่อนเกิด 3 ข้อเรียกร้องหลัก 

  • 18 ก.ค.63 : Free Youth และ สนท. จัดชุมนุม ข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ ‪1. หยุดคุกคามประชาชน ‪2. ประกาศยุบสภา และ ‪3. เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ 
  • 3 ส.ค. 63 : กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด จัดชุมนุม ทนายอานนท์ ปราศรัยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
  • 7 ส.ค. 63 : เปิดตัวคณะประชาชนปลดแอก 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน  1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภา ส่วน 2 จุดยืนคือ 1. ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร และ 2. ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
  • 10 ส.ค. 63 : แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดชุมนุม  3 ข้อเรียกร้อง 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ยุบสภา 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งประกาศ 2 จุดยืนคือ 1. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ 2. ไม่เอารัฐประหาร และข้อเสนอปรับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย หรือ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 
  • 16 ส.ค. 63  : คณะประชาชนปลดแอกจัดชุมนุม 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน เดิมวันที่ 7 ส.ค. พร้อมเพิ่ม 1 ความฝัน การมี "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" 
  • 19 ก.ย.63 : แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดชุมนุม ยื่นหนังสือ 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่าน ผบช.น.
  • 8 ต.ค.63 : แนวร่วมกลุ่มนักศึกษาและประชาชนกว่า 30 องค์กรที่รวมตัวโดยใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" เพื่อเตรียมจัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ ลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
     

ภาพแถลงจัดตั้ง คณะราษฎร 8 ต.ค.64

จากนั้นข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ มักจะเป็น 1. ประยุทธ์ออกไปและยุบสถา 2. ร่างธรรมนูญใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรื่อยมา

การกลับมารอบนั้นนอกจากจำนวนการชุมนุมที่เพิ่มมากขึ้นและกระจายหลายพื้นที่ เพดานที่สูงขึ้นแล้ว คดีความก็ตามมาจำนวนมากด้วย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยว่า ตั้งแต่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 31 ต.ค.64 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,636 คน ในจำนวน 896 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 258 ราย ด้วย ประชาไทเคยสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจมุมมองความคิดของนักกิจกรรม เยาวชนและผู้ถูกดำเนินคดีไว้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งนอกจาก 3 ข้อเรียกร้องที่พวกเขาถือเป็นธงนำในการเคลื่อนไหวแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมหรือนักกิจกรรมแต่ละกลุ่มแต่ละคนก็มีวาระหรือประเด็นของตัวเองมาเสนอรวมทั้งใช้ในการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงเข้ากับธงดังกล่าวด้วย ดังนี้

รัฐสวัสดิการและสิทธิแรงงาน

รัฐสวัสดิการหรือแนวคิดการดำเนินสวัสดิการและการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในรัฐถ้วนหน้าในรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงและเข้มข้นมากช่วงเลือกตั้ง 62 ที่ทุกพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายสวัสดิการมากขึ้น ในการชุมนุมของราษฎรมีการพูดถึง เช่น We Fair หรือ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสหภาพคนทำงาน Workers' Union เป็นต้น

บอล ชนินทร์ วงษ์ศรี

‘ชนินทร์ วงษ์ศรี’ หรือบอล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้โดนข้อหา ม.112  หรือ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จากการอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยหน้าสถานทูตเยอรมนี ใน #ม็อบ26ตุลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว สนใจพวกนอร์ดิกโมเดล (Nordic Model) การใช้งบประมาณของรัฐ แล้ววันนั้น (24 ก.ย. 63) เราก็พูดไปถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 6 พูดไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ว่ามากเกินไปไหม ถ้ามากเกินไป เราก็ควรจะวิจารณ์ได้ เรายกตัวอย่างกรณีของประเทศอังกฤษว่าใช้งบไปเท่าไร การใช้งบของกษัตริย์ของสวีเดน ของเดนมาร์ก เป็นอย่างไรบ้าง แล้วเราก็พูดว่า ‘แต่ประเทศไทยพูดไม่ได้นะ เพราะมีมาตรา 112 อยู่ มีมาตรา 6 คุ้มครองกษัตริย์อยู่ แล้วเราจะรู้ได้ไงว่างบพวกนี้ใช้ไปแล้วมีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน’ ตอนนั้นพวกตนก็พูดกันเล่นๆ ว่า เราโดน ม.112 เพราะพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ

เหตุที่สนใจเรื่องรัฐสวัสดิการนั้น ชนินทร์ เล่าว่าเพราะอ่านหนังสือด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับการศึกษาดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่าประชาชนในประเทศกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และไอซ์แลนด์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะมีระบบรัฐสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า

“รัฐสวัสดิการมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งระบบบิสมาร์ค คือเป็นระบบประกันสังคม ให้เฉพาะคนที่ทำงานเท่านั้น หรือระบบอังกฤษที่รัฐดูแลบางส่วน และขายประกันด้วย ส่วนนอร์ดิกโมเดล คือ รัฐสวัสดิการที่รัฐดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย มีเงินเด็กแรกเกิด มีเงินผู้สูงอายุ ค่าเล่าเรียนถูกและมีคุณภาพเป็นอย่างน้อย ถ้าอย่างมากก็คือเรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา ทุกคนได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพเหมือนกันหมด และก็มีการประกันคนว่างงาน ใครว่างงานก็สามารถรับเงินเดือนเป็น UBI (Universal Basic Income, รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า) แนวคิดมันง่ายมากๆ เลย ทุกคนช่วยกัน คนมีเงินเยอะช่วยเยอะ ช่วยดูแลเด็ก ช่วยดูแลสังคม เป็นสังคมที่เกื้อกูล” ชนินทร์ กล่าว

เสรีภาพและความเป็นธรรมในระบบการศึกษา

เนื่องด้วยขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมานอกจากนักศึกษาแล้ว กลุ่มนักเรียนก็มีบทบาทสำคัญ เช่น กลุ่มนักเรียนเลว นักเรียนไทย ภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย จึงมักเห็นการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎร และเคลื่อนไหวมีกิจกรรมเองเป็นระยะ เช่น เรียกร้องหยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลังที่มีเนื้อหาเป็นการกดขี่นักเรียน ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวนักเรียน ปฏิรูปการศึกษา เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตัวผู้เรียน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษา ปัญหาหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาภาระงานครู ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครู ฯลฯ

ภาพ 5 ก.ย. 63 ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มนักเรียนเลว จัดชุมนุมเรียกร้อง หยุดคุกคามนักเรียน-ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง-ปฏิรูปการศึกษา

โป๊ยเซียน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 จากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ช่วง ม.ปลาย อยากผลักดันประเด็นเรื่องการศึกษา อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราอยากให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเท่ากันโดยที่ไม่ต้องสอบแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสทางการศึกษา เพราะตนเอง ก็ต้องมานั่งไขว่คว้าเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในสายที่อยากเรียน เพราะโรงเรียนเก่าไม่มีสายการเรียนที่เราอยากจะเรียน คิดว่าเด็กควรได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยที่ไม่ต้องมานั่งสอบ การศึกษาไทยจะดีได้ ทุกคนต้องออกมาเรียกร้องและช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มนักเรียน นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและการเมืองเพื่อผลักดันเชิงนโยบาย

สิทธิที่ดินทำกิน/ฐานทรัพยากร

ด้วยเหตุผลที่รัฐ กลุ่มทุน มักมีอำนาจผ่านกลไกกฎหมาย ที่จะยึดและถือครองสิทธิที่ดินของประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งสะท้อนผ่านนโยบาย และ พ.ร.บ.หลายฉบับที่ออกมา เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะยุค คสช. ที่ออกนโยบายทวงคืนผืนป่า ส่งผลต่อกระแสการออกมาเรียกร้องคัดค้านนโยบายเหล่านี้ตั้งแต่การดำเนินนโยบาย หรือกรณีจากประเด็นเฉพาะพื้นที่อย่างปัญหาการที่รัฐบังคับออกจากที่ดินทำกินต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มนักกิจกรรม ในนามภาคี #SAVEบางกลอย มีการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎรและนักกิจกรรมในกลุ่มราษฎรหลายคนเคลื่อนไหวสนับสนุนกับภาคีนี้ที่นอกจากพูดถึงประเด็นเฉพาะที่บางกลอยแล้ว ยังพูดถึงประเด็นปัญหาสิทธิที่ดินทำกินในภาพรวมด้วย

‘ฮิวโก้’ จิรฐิตา ธรรมรักษ์ นักกิจกรรมคณะราษฎรรุ่นใหม่ วัย 23 ปี ผู้ถูกกล่าวหา ม.112 จากกรณีร่วมปราศรัย ม็อบ 2 ธ.ค.63 ไปห้าแยกลาดพร้าว คือหนึ่งในผู้ที่เราได้พูดคุย โดยเธอเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ผ่านอาสาสมัครในโครงการนักสิทธิมนุยชน หรือ มอส. และผันตัวมาเรียนรู้ประเด็นสิทธิที่ดินกับ คปอ. โดยดูแลประเด็นปัญหาที่ดินของประชาชนในอีสาน ทั้งเรื่องที่ดินทับซ้อนระหว่างรัฐ และประชาชนในพื้นที่ จนนำมาสู่การไล่ที่ชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม การเวนคืนที่ดินชาวบ้านเพื่อก่อสร้างโครงการรัฐโดยไม่มีการเยียวยาอย่างเหมาะสม และอื่นๆ

จิรฐิตา ธรรมรักษ์ หรือฮิวโก้ (คนซ้าย) นักกิจกรรมคณะราษฎรรุ่นใหม่ และสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

ปัญหาที่ดินทำกินนั้น จิรฐิตา กล่าวว่า หลายคนมักมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว และเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หรือกรณี "เด่น คำแหล้" แกนนำชาวบ้านด้านสิทธิที่ดินบริเวณป่าโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่ภายหลังถูกบังคับสูญหาย แต่แท้จริงนั้น นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ไกลจากตัวเราเลย

“การออกกฎหมายที่มันแต่เอื้อกับนายทุน เอื้อกับรัฐบาล มันทำให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อนมากๆ การที่คุณไปทวงคืนผืนป่า โดยที่คุณไม่ได้ดูเลยว่าเขาอยู่มาก่อน หรือคุณไม่ได้มีนโยบายอะไรรองรับ หรือการเยียวยาที่มันจะบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ถูกยึดที่ได้เลย”

“เขาอยู่ตรงนั้นเขาทำมาหากินตั้งหลักแหล่งมาตั้งนานแล้ว อยู่วันดีคืนดี คุณออกกฎหมายทีหลังโดยที่คุณไม่ได้ไปสำรวจพื้นที่ความเป็นจริงเลยว่าตรงนี้มันมีคนอยู่ไหม เขาอยู่มานานเท่าไรแล้ว นึกอยากจะประกาศว่าเขตตรงนี้เป็นเขตอุทยานก็ประกาศ คุณแก้ปัญหาโดยการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วชาวบ้านที่เดือดร้อนจะไปอยู่ไหน คนที่ไร้ที่อยู่ เขาทำเกษตรกรรม เขาหากินในป่า เขาอยู่ในป่าอยู่แบบวิถีไทบ้านเขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อที่ใหม่ในการสร้างที่อยู่ แล้วการที่เขาไม่ได้มีเงิน ไม่ได้มีที่อยู่ มันไม่ได้กระทบแค่เขาคนเดียว ครอบครัวเขา หลานเขา เงิน กลายเป็นว่ามันเป็นผลกระทบเป็นวงจร มันไม่ได้แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันผสมกันจนแยกไม่ออก”

นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวทำให้ชาวบ้านผู้เสียสิทธิ์ที่ดินทำกินอย่างไม่ชอบธรรม ไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรือโครงสร้างส่วนบนได้ เนื่องจากชาวบ้านที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากมาย การเรียกร้องเรื่องสิทธิที่ดินทำกินเป็นไปโดยลำบาก บางคนสู้คดีไม่ไหว กรณีร้ายแรงที่สุดนำมาสู่การบังคับสูญหาย ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรมของไทย กลายเป็นการละเมิดซ้ำซาก ทั้งจากรัฐ และกระบวนการยุติธรรม

สำหรับภาพใหญ่กับประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้น จิรฐิตา มองว่า เป็นสถาบันที่ถือครองที่ดินจำนวนมากในประเทศ อาจไม่ทั่วทุกพื้นที่ แต่มักถูกนำไปต่อยอดทั้งในเรื่องการสะสมทุน อำนาจ และเป็นปัจจัยการผลิต จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างสังคม โดยเธอชี้ไปที่การประกาศพื้นที่โครงการ พระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในหลายพื้นที่ หลายหมู่บ้านถูกเวนคืนไปทำเขื่อน ซึ่งมีปัญหาการเยียวยาประชาชนอย่างจริงจังด้วย

LGBTQ เฟมินิสต์ และการต่อต้านปิตาธิปไตย

ประชาชนถือธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ในกิจกรรมไพร่พาเหรด 7 พ.ย. 63

เรียกได้ว่าเป็นสีสันของการเคลื่อนไหวของขบวนรุ่นใหม่ในประเด็น LGBTQ และเฟมินิสต์ นำโดยผู้หญิงปลดแอกที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น 'เฟมินิสต์ปลดแอก' ที่หวังสร้างความตระหนักรับรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยไม่จำเป็นต้องมีแค่ผู้หญิงมาเข้าร่วม และสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม "คณะราษฎร" โดยที่ต้องไม่มีประเด็นการคุกคามทางเพศ

มีมี่ (แถวหน้า คนที่สองจากขวา) ร่วมการแสดงชุดราษฎรลุยไฟ หลังเข้ารายงานตัวกับ ตำรวจ สน.ลุมพินี

มีมี่ นักกิจกรรมเยาวชนวัย 17 ปีผู้เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ กลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ หลังขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 63 ซึ่งมีมี เล่าว่า เริ่มต้นเคลื่อนไหวในประเด็นความเป็นธรรมทางเพศร่วมกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและกลุ่ม Free Queer and Non-binary โดยเป็นหนึ่งในผู้จัดทำการแสดงชุดสีดาลุยไฟ ซึ่งดัดแปลงมาจากการแสดงชุด A Rapist in Your Path (Un Violador en Tu Camino) ของกลุ่มเฟมินิสต์ Las Tesis ในประเทศชิลี ที่ต่อมาถูกนำไปใช้โดยกลุ่มผู้เรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศในประเทศต่างๆ เพื่อต่อต้านความรุนแรงทางเพศ วัฒนธรรมโทษเหยื่อ และโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในสังคม

“เราคิดว่าทุกคนควรจะเป็นเฟมินิสต์ เพราะว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนควรจะต้องเป็นใหญ่ ซึ่งประชาชนทุกคนควรจะเท่ากันไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไรหรือมีชนชั้นอะไร” มีมี่กล่าว “เราคิดว่าประชาธิปไตยที่เราฝันถึงมันไม่ใช่แค่คนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน แต่เราคิดว่าไม่ว่าคุณจะมีพื้นฐานเรื่องเพศ พื้นฐานกำเนิด หรือว่าพื้นฐานในจิตใจคุณยังไง คุณควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่ากัน”

มีมี่คาดหวังอยากจะเห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางอารมณ์ หรือทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และอยากจะเห็นสังคมที่ไม่เลือกปฎิบัติ ที่เข้าใจและเคารพความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ​ รสนิยม หรือแรงดึงดูดทางเพศ

“ในสังคมเราตอนนี้มันมีกรอบไบนารี่ (ระบบสองขั้ว) คือกรอบชายและกรอบหญิง ซึ่งมันเป็นกรอบที่เป็นกรอบลงไปอีก แต่เราคิดว่ามันไม่ได้มีแค่นั้น เพศชายไม่ใช่เพศที่หนึ่ง เพศหญิงไม่ใช่เพศที่สอง และเพศหลากหลายไม่ใช่เพศที่สาม ทุกคนก็คือเพศ ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวตนตัวเองเป็นอะไร” มีมี่กล่าว

‘เสกจิ๋ว’ เยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกแจ้งข้อหา ม.112 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64  กล่าวว่า ทุกคนต้องเท่ากัน ไม่ว่าจะทางเพศหรือทางไหน แม้แต่เวลาเราไปพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกับผู้ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยบางคน เขายังบอกเลยว่า ‘ให้สนใจเรื่องประชาธิปไตยก่อนไหม’ แต่เรามองว่าเราสามารถเรียกร้องความเท่าเทียมทุกเรื่องไปพร้อมกันได้ อีกอย่างคือเรื่องความตระหนักรู้ (awareness) ในเรื่องต่างๆ เช่น คนมีอายุที่พูดปราศรัย บางทีก็พูดกระทบคนเพศอื่น และกดทับกันเองไปเลย

ปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร นอกจากฆราวาสหรือประชาชนแล้ว เรายังเห็นพระ เณรรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยบ่อยครั้ง พร้อมกับคำเรียกตัวเองว่า ‘แก๊งแครอท’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ‘คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่’ ที่ต้องการให้คณะสงฆ์ออกจากอำนาจรวมศูนย์ของรัฐ ปรับโครงสร้างให้พระปกครองกันเองสอดคล้องตามระบอบประชาธิปไตย สู่เป้าหมายการเป็น  รัฐฆราวาส (secular state)

พระชิษณุพงศ์ ไพรพารี และสามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า นักศึกษา เอกศาสนศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิสังขรณ์ใหม่ กล่าวว่า การปกครองสงฆ์เป็นภาพสะท้อนของสังคมการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โครงสร้างทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ มส. และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กฎระเบียบบางประการก็ไม่ได้อิงกับพระธรรมวินัย เช่น การให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่เจ้าอาวาสในการปกครองพระลูกวัด การใช้องค์กรสงฆ์เป็นเครื่องมือของรัฐ รวมถึงการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เรื่องใหญ่เพียงนี้ต้องการความเห็นร่วมกันพอสมควรในแวดวงสงฆ์ถึงจะขับเคลื่อนได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าคณะสงฆ์เองมีความพร้อมแล้วหรือที่จะปฏิรูป พ.ร.บ.คณะสงฆ์และปลดแอกตนเองออกจากการรวมศูนย์อำนาจของ มส.

ทั้งนี้สำหรับสามเณรสหรัฐ เป็นเณรคนแรกที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งลาสิกขา พร้อมยืนยันว่าตนเองคือ 'คอมมิวนิสต์' และจะเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคทั้งทางด้านความเสมอทางการเมืองและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจที่โลกทุนนิยมให้ไม่ได้ต่อ

ปัญหาการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะปมโควิด

จากวันที่ 7 ส.ค.64 กลุ่มเยาวชนปลดแอก รวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเดินทางไปบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในค่ายทหาร กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต เรียกร้อง 3 ข้อ 1.ประยุทธ์ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข 2.ปรับลดงบสถาบัน-กองทัพสู้โควิด และ 3.เปลี่ยนวัคซีนโควิดเป็น mRNA แต่การชุมนุมครั้งนั้นเกิดการปะทะกันระหว่าง คฝ. แม้ว่าทางผู้จัดงานจะประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และรถฉีดน้ำผสมแก๊ส เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตกค้างอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ-แยกสามเหลี่ยมดินแดง ลากยาวต่อเนื่องอีก 3 ชั่วโมง จากนั้นช่วงเย็นถึงค่ำในเกือบทุกวันบริเวณบริเวณแยกดินแดง - ถนนมิตรไมตรี เกิดการชุมนุมกลุ่มอิสระในนามทะลุแก๊ซ หรือทะลุแก๊ส ที่มาชุมนุมและมักมีเหตุปะทะกับตำรวจบริเวณนี้เป็นระยะ มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ในจำนวนนี้มี 'วาฤทธิ์' เยาวชน 15 ปี ถูกยิงหน้าสน.ดินแดงเมื่อ 16 ส.ค.64 และเสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลหลังรักษาตัวอยู่กว่า 2 เดือน นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกจำกุมและดำเนินคดีจำนวนมาก โดยศูนย์ทนายสิทธิฯ ระบุว่ามียอดผู้ถูกจับกุมรวมตลอดแล้วอย่างน้อย 498 ราย คิดเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 167 คดี

ภาพการปะทะกันของตำรวจควบคุมฝูงชนกับกลุ่มทะลุแก๊ส ที่ดินแดง วันที่ 29 ส.ค.64 ภาพโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล

แอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ทะลุแก๊ซ’ ที่ระบุว่าตั้งเพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมถูกทอดทิ้ง (โดยภายหลังเพจยุติบทบาทแล้วนั้น) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ประเมินจากข้อมูลของทีมปฏิบัติการหน้างาน พบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาร่วมชุมนุมที่แยกดินแดงส่วนใหญ่แล้วเป็นคนชายขอบของสังคมเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาลจริงๆ

“เขาไม่ได้มีข้อเรียกร้องตามม๊อบทั่วไป เช่น ให้ประยุทธ์ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ตรงนี้เลย ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือต้องการรัฐบาลใหม่ มีคนเข้ามาจัดการใหม่ ได้รับวัคซีน ต้องการให้พ่อแม่ของพวกเขาได้กลับไปทำงาน”

“ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องปากท้องของปัจเจก ไม่ใช่ประเด็นที่พวกเขาต้องตกผลึกทางสังคมจากทฤษฎีสังคมการเมือง แต่เป็นประเด็นที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง” แอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ทะลุแก๊ซ’ ระบุ

ซึ่งสอดคล้องกับวงเสวนาออนไลน์ “ค้นหาความหมายใต้พรม เยาวชนรุ่นสามเหลี่ยมดินแดง” ที่จัดโดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวขณะนั้นว่า จากการติดตามพบว่า มีอดีตเด็กจากบ้านกาญจนาที่คืนเรือนไปแล้วหลายปีมาร่วมชุมนุมด้วยจำนวนหนึ่ง มีหลายกลุ่ม ต่างคนต่างมา อาจจะมีบ้างที่ชวนกัมา แต่สิ่งที่พบคือ 1.เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งกับตัวเอง และครอบครัวมีคนเจ็บป่วย แต่การเข้าถึงสวัสดิการรักษาเกือบศูนย์ ยุ่งยาก ซับซ้อน กระทบกับความรู้สึก ทำให้รู้สึกโกรธ 2. หนี้สินครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้เดิม หนี้ใหม่ งานก็ไม่มีให้ทำ เป็นต้น

นอกจากนี้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนยังมีประเด็นความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี ที่มีตัวแทนของกลุ่ม PerMAS หรือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ขึ้นปราศรัยกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือราษฎรทางกรุงเทพเป็นระยะ โดยครั้งสำคัญคือการชุมนุมประชาชนปลดแอก 16 ส.ค.63 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซูกริฟฟี ลาเตะ ตัวแทนจาก PerMAS ขึ้นปราศรัย โดย อสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เคยกล่าวถึงปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่า ด้วยบรรยากาศทางการเมืองในแบบที่เป็นอยู่สังคมไทยในปัจจุบันนำไปสู่การเป็นหนึ่งเดียวกันของเยาวชนในประเทศไทย การขึ้นปราศรัยดังกล่าว ทำให้เกิดการอธิบายเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ความอยุติธรรม จนนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมของเยาวชนในประเทศต่อประเด็นปาตานี

ซูกริฟฟี ลาเตะ ในฐานะประธาน PerMAS คนสุดท้าย ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมประชาชนปลดแอก 16 ส.ค.63 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามแม้ PerMAS เพิ่งประกาศยุติบทบาทกลุ่มไปเมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเป็นองค์กรรวมกลุ่มของนักศึกษาชายแดนภาคใต้หรือปาตานีที่ก่อตั้งและเคลื่อนไหวประเด็นการกำหนดชะตากรรมตนเองมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่ง อัสมา มองว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในปัจจุบันนั้นเป็นไปในรูปแบบแกนนอนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีลักษณะของการจัดรูปแบบขบวนในแบบเดิม มีการจัดรูปองค์กรในรูปแบบเดิมที่น้อยมากทั้งต่อการเคลื่อนไหว ทั้งต่อการระดมทรัพยากรที่ใช้ในการเคลื่อนไหวและการสื่อสาร ซึ่งเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมพร้อมทั้งมีความยืดหยุ่นและการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของพลวัต

1 ปี ที่พังเพดานและขบวนการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อานนท์ ปราศรัยทบทวน 1 ปี ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หน้าหอศิลป์ กทม. 3 ส.ค.64

วันที่ 3 ส.ค.64 เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี ที่อานนท์ พูดถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อานนท์ปราศรัยทบทวนว่า 1 ปีขบวนการเคลื่อนไหว ตกผลึกร่วมกันคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวนั้น อานนท์ยืนยันว่า ขบวนสามารถพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปพร้อมกับการไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้ ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไล่พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเดียวก่อน ส่วนวิธีการเคลื่อนไหวนั้น อานนท์ยืนยันว่าต้องยึดหลักสันติวิธีในทางสากล

อานนท์กล่าวในการทบทวน 1 ปีการเคลื่อนไหวว่า พวกตนต้องการจะปกป้อง แก้ไขระบอบการปกครองให้มันดีขึ้น พร้อมเตือนกลุ่มที่ต้องการให้ประเทศไทยกลับไปเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกษัตริย์เป็นประมุขนั้น อย่าคิดหรือทำ เพราะเมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ของระบอบดังกล่าวแล้วยังมี ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งมีทางเลือกที่ 3 คือ สาธารณรัฐ ด้วย เมื่อพูดก็ต้องพูดให้หมด สมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีคนเลือกแน่นอน ส่วน ข้อที่สอง คนอยากปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้อยู่เหนือการเมือง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกันนั้นก็มี แต่อย่าลืมว่า ก็มีคนที่ต้องการปกครองแบบคนเท่าเทียมกันทุกคน เลือกตั้งโดยตรง ไม่มีเทวดา มีรัฐสวัสดิการ ทุกคนเป็นเจ้าของหรือสาธารณรัฐ มันก็มีเช่นกัน ดังนั้นอย่าบังคับให้พวกเราเลือกข้อ 1 ข้อ 2 หรือ 3 เพราะถ้ามันถึงที่สุด เราทุกคนจะลงประชามติ ว่าจะเลือกข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3

การโบยตีเกือบพันดคี และกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง 

ท่ามกลางจำนวนการชุมนุมที่เพิ่มมากขึ้นและกระจายหลายพื้นที่ เพดานที่สูงขึ้น คดีความก็ตามมาจำนวนมากด้วย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยว่า ตั้งแต่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 31 ต.ค.64 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,636 คน ในจำนวน 896 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 258 ราย ด้วย ส่วนใน ม. 112 นั้น มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 159 คดี โดยการดำเนินคดีตามมาตรานี้กลับมาใช้อีกครั้งภายหลังจากวัน 20 พ.ย. 63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีผู้ชุมนุม นั่นรวมถึง ม.112 ด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ เองออกมาพูดว่า “อยากบอกคนไทยว่า วันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้”

ส่วนคดีที่มากที่สุดคือ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,337 คน ในจำนวน 553 คดี

ทั้งนี้ไฮไลท์คงหนีไม่พ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอกและปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ทั้ง 3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

สถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  (18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 31 ต.ค.64) ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 159 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 112 คน ในจำนวน 35 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 549  คน ในจำนวน 175 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,337 คน ในจำนวน 553 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 529 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 73 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 97 คน ในจำนวน 114 คดี

จากจำนวนคดี 896 คดีดังกล่าว มีจำนวน 129 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ

ข้อมูลจาก iLaw ระบุคดีและจำนวนวันที่แกนนำผู้ชุมนุมถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี นอกจาก 6 คนในคดี ม.112 แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ยังมีข้อหาอื่นๆ จำนวน 18 คน ทำให้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 24 พ.ย. 2564 มีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 24 คน

การสลายการชุมนุมที่เริ่มต้นที่กรณีขบวนเสด็จ

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจนอกจากคดีความแล้วการสลายการชุมนุมก็กลายเป็นอีกเรื่องที่ปกติ บุศรินทร์ แปแนะ ผู้ประสานงานโครงการ Mobdata Thailand ในฐานะผู้สังเกตการณ์การชุมนุม เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับประชาไทว่า ในช่วงแรกๆ มีความพยายามจำกัด ตั้งเงื่อนไข หรือการฟ้องคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อสกัดการชุมนุม กระทั่งมีการเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันที่ยิ่งทำให้การชุมนุมเติบโต ซึ่งเหตุการณ์ที่เป็นจุดตัดสำคัญคือวันที่ 14 ต.ค.63 กรณีขบวนเสด็จที่สะพานชมัยมรุเชฐนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินร้ายแรงและใช้รถฉีดน้ำกับแก๊สน้ำตาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ต.ค.63

ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระราชินีผ่านบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่มีประชาชนชุมนุมกันอยู่ เมื่อ 14 ต.ค. 2563 (ภาพโดย ช่างภาพนิรนาม)

พอมีการสลายการชุมนุมครั้งนั้นเป็นตัวเปิด ฉีดน้ำปุ๊บแต่ไม่สามารถหยุดการชุมนุมได้ เราจะเห็นว่ารัฐก็ใช้กำลังมากขึ้น ตอนนั้นการชุมนุมไปได้ไกลมาก เช่น พระบรมมหาราชวัง ราบ 11 ตอนนั้นเราเข้าใจว่ามีกระบวนการเจรจาเพราะการชุมนุมมีแกนนำชัดเจนและรัฐก็แสดงออกถึงความพยายามในการเจรจา ไม่สลายการชุมนุมทันที พอมีการเปิดฉากปะทะกันเล็กน้อยก็ยังพอมีพื้นที่ที่เจรจากันได้ ปี 2563 เราจึงเห็นแค่ 2 ครั้งที่สลายการชุมนุม มีการปะทะเล็กน้อย”

แต่ปี 2564 พบว่าแนวโน้มการจัดการของรัฐแตกต่างออกไป แม้ว่าผู้ชุมนุมจะเป็นลักษณะเดิมแบบที่เห็นในปี 2563 คือเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มการ์ด คนเสื้อแดง หรือผู้ใหญ่ทั่วไปก็ตาม กล่าวคือรัฐเริ่มใช้กำลังมากขึ้นและคาดการณ์ไม่ได้ด้วยอำนาจจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แม้จะเป็นการชุมนุมขนาดเล็กที่มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 50 คน แต่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 200 นายกรูเข้าจับกุมและลากผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นชัดเจนขึ้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปกป้องพื้นที่สำคัญต่างๆ อย่างเข้มงวด ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่านหรือเข้าใกล้ เช่น สนามหลวง พระบรมมหาราชวัง หรือกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

“อย่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ปีนี้มีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปราบ 1 จากการสังเกตการณ์ของเราเขาไม่เตือนว่าไปแล้วจะเจออะไร แค่เตือนว่าการรวมตัวนี้ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พอไปถึงปุ๊บกำลังจะรื้อตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำกิจกรรมปรากฏว่าตำรวจก็แสดงกำลังจับกุมและใช้วิธีการจับกุมโดยไม่เจรจา ผู้ชุมนุมยังอยู่ในรูปแบบการชุมนุมของปีที่แล้วคือพอตำรวจมาก็ลากรั้วมากันแล้วคิดว่าตำรวจจะชะลอ แต่เปล่า ตำรวจเข้าใส่เลยและมีการกระทืบด้วย แล้วหลังจากนั้นก็มีการใช้กระสุนยางโดยไม่มีการเตือนเป็นครั้งแรกทั้งที่ผู้ชุมนุมก็ยังอยู่ในลักษณะที่ควบคุมได้และไม่ใช้ความรุนแรง แล้วมันก็มีความตึงเครียดขึ้นมาเรื่อย เริ่มเห็นว่าเขาไม่เจรจากับผู้ชุมนุม” ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม กล่าว

อ่านบทสัมภาษณ์เยาวรุ่น-ราษฏร เพิ่มเติม

หมายเหตุ : 2 ธ.ค.64 เวลา 3.15 น. ประชาไทมีการเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net