Skip to main content
sharethis

สถานทูตจีนโพสต์เฟซบุ๊กถวายวัคซีนซิโนฟาร์มแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จำนวน 200,000 โดส รวมส่งมอบวัคซีนให้ไทยทั้งสิ้น 50.35 ล้านโดส แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลเพิ่มเติมกรณีการวัคซีนซิโนฟาร์มที่ถวายแด่ราชวงศ์ไทย

9 ธ.ค. 2564 วันนี้ (9 ธ.ค. 2564) เวลา 10.19 น. เฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์รูปพร้อมข้อความระบุว่ารัฐบาลจีนถวายวัคซีนซิโนฟาร์ม 200,000 โดสแด่ราชวงศ์ไทย โดยถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จนถึงขณะนี้ จีนได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้ไทยแล้วทั้งหมด 50.35 ล้านโดส

สำหรับการขนส่งวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 200,000 โดสที่รัฐบาลจีนถวายแด่ราชวงศ์ไทยนั้น ใช้เครื่องบินของสายการบิน Air China ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สายการบินหลักของสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 สำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวการขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งยื่นขอจดทะเบียนโดยบริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วัคซีนซิโนฟาร์มตัวนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Virus) ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตามบัญชีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนใช้แบบฉุกเฉิน (Emergency Use Listing)

วัคซีนซิโนฟาร์มที่ถูกนำเข้ามาในไทย ถูกใช้เป็น 'วัคซีนทางเลือก' กล่าวคือไม่ใช่วัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดสรรให้ประชาชนฉีดฟรี โดยในช่วงแรก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดขายวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับหน่วยงานเอกชน รวมถึงหน่วยงานรัฐ เช่น กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ. และ อบต. เพื่อนำไปฉีดต่อให้คนในสังกัด ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเรื่องการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ให้หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งที่ 1 ที่ยื่นความประสงค์มาในระบบขอรับการจัดสรรและส่งเอกสารรับรอง พร้อมแบบฟอร์มแผนการกระจายวัคซีนครบถ้วนแล้ว มีหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรจำนวน 54 แห่ง เป็นจำนวนประชากรที่ได้รับจัดสรรในระยะที่ 1 นี้จำนวน 375,320 คน

ต่อมาในเดือน ส.ค. 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดให้บุคคลทั่วไปลงทะเบียนจองซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 โดสในราคาคนละ 1,554 บาท (โดสละ 777 บาท) ซึ่งในการเปิดลงทะเบียนจองซื้อสิทธิ์ฉีดวัคซีนรอบที่ 3 ในวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์มากเกินจนทำให้เว็บไซต์ล่มและประชาชนจำนวนมากไม่สามารถจองสิทธิ์ฉีดวัคซีนได้ ส่งผลให้ในวันดังกล่าวแฮชแท็ก #ซิโนฟาร์ม ติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์ประเทศไทย

ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดเผยว่าได้ดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA โมเดอร์นา 8,000,000 โดส (100 ไมโครกรัม/โดส) โดยมีการลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มาในการนำเข้า คาดว่าการจัดส่งครั้งแรกและส่งมอบได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 และจะทะยอยส่งจนถึงไตรมาสที่ 3 โดยวัคซีนที่นำเข้ามานี้เพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

สำหรับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปัจจุบันมี ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นทั้งประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ข้อมูลจาก เว็บไซต์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาต่อยอด “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขนาด 100 เตียง ให้เป็น “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” สถาบันการศึกษาและบริการทางการแพทย์แบบครบวงจร พร้อมแผนรองรับการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีศักยภาพโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการวิจัย โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยฯ อันประกอบไปด้วย “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” “ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์” และ “ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ” และทรงมีพระวินิจฉัยให้รวม “สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์” ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือ โดยรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้องค์กรที่พระราชทานนามว่า "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”

สำหรับรายได้ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เล่มที่ 1 ที่เผยเพร่ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณ พบว่าปี 2565 ตั้งงบประมาณ 5,708,822,200 บาท โดยที่ปี  2564 ตั้งไว้ 7,699,747,400 บาท

ต่อมาในวันที่ 5 ต.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบ 3,275 ล้านบาทให้กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบล ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565-2569

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net