Skip to main content
sharethis

5 องค์กรสิทธิมนุษยชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้แก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ เร่งสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหา นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ พร้อมขอให้เร่งปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรม หวั่นไทยโดนปรับสถานะค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List มาเป็น Tier 3 กระทบภาพลักษณ์และเศรษฐกิจ

22 ก.พ. 2565 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พร้อมด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (มรพ.) เดินทางเข้ายื่นจดหมายจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้นำผู้กระทำผิดค้ามนุษย์โรฮิงญาที่ยังลอยนวลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและขจัดการค้ามนุษย์โรฮิงญาที่ยังเติบโตอยู่ในปัจจุบัน

เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกของทั้ง 5 องค์กรระบุว่า ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ได้หยิบยกกรณีปัญหาของการค้ามนุษย์โรฮิงญาในพื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ที่ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องประสบชะตากรรม มีเด็กและผู้ใหญ่จบชีวิตลงในประเทศไทยอย่างคาดไม่ถึง และทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีในขณะนั้นต้องลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย พล.ต.ต.ปวีณ ได้ส่งสำนวนพยานหลักฐานที่แน่นหนาต่ออัยการสูงสุดและสั่งฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องได้สำเร็จทำให้ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปหลายสิบราย รวมถึงลงโทษ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องขังคนสำคัญ (เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564) เมื่อ พล.ต.ต.ปวีณ ลี้ภัยไปต่างประเทศ ทำให้การสืบสาวไปถึงผู้ค้ามนุษย์ระดับสูงที่ยังลอยนวลชะงักงัน จนเป็นเหตุให้ขบวนการค้ามนุษย์เติบโต การนำชาวโรฮิงญาเข้ามาอย่างผิดกฎหมายยังมีอยู่ด้วยน้ำมือของคนกลุ่มเดิมในปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับล่างและระดับสูงร่วมกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบอยู่ด้วย

การค้ามนุษย์เป็นอาขญากรรมข้ามชาติ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล การที่ขบวนการค้ามนุษย์ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการค้ามนุษย์ หากรัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการเชิงรุกในการปราบปรามจับกุมผู้ค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ชาวพม่า ชาวประมง หญิงและเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือยังไม่กำจัดกลุ่มอิทธิพลและอาชญากรในเครื่องแบบให้สิ้นซาก ธุรกิจการค้ามนุษย์ก็จะยังคงมีอยู่ และขยายตัวเติบใหญ่ต่อไป ซึ่งจะเป็นผลให้ประเทศไทยถูกปรับจาก Tier 2 Watch List มาเป็น Tier 3 ตามกฎหมายสหรัฐว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) ที่ใช้จัดระดับกับทุกประเทศทั่วโลก เพราะไม่เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างมีนัยยะสำคัญ (Significant Efforts) ก็จะส่งผลต่อภาพพจน์ของกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เป็นดินแดนแห่งเซ็กซ์ทัวร์ (Sex Tourism) ให้ตกต่ำมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อการค้า การลงทุน ของประเทศไทยด้วย องค์กรต่างๆ จึงมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ใช้อำนาจหน้าที่สานต่อการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ดังกล่าวในพื้นที่ จ.สงขลา ที่สะดุดหยุดลงไปเมื่อปี 2558 และติดตามเส้นทางการค้ามนุษย์ในภาคใต้กับภาคตะวันตกทุกจังหวัด เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างถอนรากถอนโคน
  2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมมาธิการของรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง เรียกเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ ข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงลึก ถึงสาเหตุที่ทำให้การค้ามนุษย์ และการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องมาได้เป็นเวลากว่า 10 ปี ใครอยู่เบื้องหลัง ขบวนการที่ไปขนชาวโรฮิงญาและขบวนการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
  3. ให้มีกลไก หรือมาตรการการทำงานที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุล การทำงานของตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ชายแดนและจุดเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ เลิกล้มระบบอุปถัมภ์ ความคิด ค่านิยม ความสัมพันธ์นับถือส่วนตัว ที่มักเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สามารถปฏิบัติการณ์ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้อย่างเต็มที่
  4. การค้ามนุษย์เป็นการละเมิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยระบุไว้ชัดเจนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 กล่าวคือรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐควรตระหนักว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ โดยไม่ตกเป็นทาสหรือการค้าทาส ไม่ถูกทรมาน ต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายไม่ถูกคุมขังหรือเนรเทศตามอำเภอใจซึ่งบุคลากรของภาครัฐและหน่วยงานรัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือร่วมรับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์เสียเอง
  5. เร่งให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วนให้มีความโปร่งใส เพื่อให้พนักงานตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล นิติวิทยาศาสตร์ และฝ่ายปกครองมีความมั่นใจในการทำคดีค้ามนุษย์ เก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้ที่ทุกหน่วยงานและให้มีการคุ้มครองความปลอดภัยผู้ปฏิบัติงานทุกคน จากการถูกข่มขู่ คุกคามโดยผู้มีอิทธิพล เป็นเหตุให้อยู่ในประเทศไม่ได้ หรือถูกกลั่นแกล้งในหน้าที่การงาน ถูกโยกย้ายออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุผลทั้งที่บางคนปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต

สสส. และอีก 4 องค์กรตามที่ระบุไว้ข้างต้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องการค้ามนุษย์ที่เกิดกับชาวโรฮิงญา ซึ่งไม่ได้รับการเหลียวแลจากประเทศต้นทาง และการก่ออาชญากรรมที่เกิดกับคนสัญชาติอื่นในประเทศไทย จะได้รับการช่วยเหลือดูแล จนได้รับความเป็นธรรม ไม่ล่าช้า รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันปัญหา ปราบปรามผู้กระทำผิดทุกระดับอย่างจริงจัง แสดงให้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อมิให้ถูกปรับสถานะจาก Tier 2 Watch List มาเป็น Tier 3 ในช่วงเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. ที่จะถึงนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net