Skip to main content
sharethis

ชาวพม่าในไทยกว่า 200 คน รวมตัวหน้าสถานทูตพม่า ประท้วงเผด็จการหลังประหารชีวิตนักกิจกรรม-นักการเมือง รวม 4 รายวานนี้ พร้อมคุยกับชาวพม่าที่มาร่วมกิจกรรม 'เราไม่ควรไว้อาลัยแค่ 4 คนนี้ แต่ควรไว้อาลัยให้ทุกคนในพม่าที่สละชีวิต' ด้านเชียงใหม่ ศิลปินไทย-พม่า แสดงศิลปะให้กำลังชาวเมียนมา หน้าประตูท่าแพ

26 ก.ค.2565 เวลา 12.30 น. ที่หน้าสถานทูตพม่า ถ.สาทร ประชาชนพม่าในประเทศไทยประมาณ 200 คน รวมตัวชุมนุมเพื่อแสดงพลังและประท้วงประหารนักกิจกรรมและนักการเมืองชาวพม่า 4 คน เมื่อวานนี้(25 ก.ค.) โดย 2 ใน 4 คนดังกล่าวคือ  ‘เพียวเซยาต่อ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอายุ 41 ปี จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD และ ‘โกจิมมี’ นักกิจกรรมจากยุค ค.ศ. 1988 อายุ 53 ปี จากการถูกดำเนินคดีข้อหา ก่อการร้ายอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม 

ทางการพม่าประหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 4 ราย-'นานาชาติ-นักการเมืองไทย' ร่วมประณาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น.  แม้จะมีฝนตกลงมาอย่างหนัแต่ประชาชนพม่ายังคงชุมนุมอยู่พร้อมตะโกนภาษาพม่าดังกึกก้อง บางคนนำผ้าสีแดงอันเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรค NLD มาคาดหัว เพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคของอองซานซูจี ที่ถูกรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว บางคนนำภาพของเพียวเซยาต่อ และโกจิมมี มาชูเพื่อไว้อาลัย และเป็นเกียรติแก่ทั้ง 2 คน

นอกจากนี้ iLaw รายงานด้วยว่า ตัวแทนผู้ชุมนุมจะมีการยื่นหนังสือให้กับสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย โดยมีข้อเรียกร้องด้วยกัน 4 ข้อ ประกอบด้วย 

  1. กองทัพพม่าต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตยและยุติบทบาทการควบคุมอำนาจโดยเร็ว
  2. ประชาคมอาเซียนต้องยืนหยัดและมีมาตรการอย่างเฉียบขาดชัดเจนให้กองทัพพม่าเคารพในฉันทามติอาเซียน 5 ข้อ เร่งรัดให้มีการยุติความรุนแรงและฟื้นฟูประชาธิปไตยคืนสู่พม่าโดยเร็ว
  3. รัฐบาลไทยต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างของกองทัพพม่า รวมถึงการใช้โทษประหารชีวิตกับประชาชนที่เห็นต่างจากกองทัพ และควรมีบทบาทร่วมกับประชาคมอาเซียนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า
  4. กลไกของสหประชาชาติ และประชาคมระหว่างประเทศ ควรมีบทบาทมากขึ้นในการพยายามยุติความรุนแรงในพม่า และสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า

วีระ แสงทอง หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานระบุว่า สุดท้ายไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตออกมารับหนังสือ ทางประชาชนจึงมัดหนังสือเปิดผนึกไว้กับรั้วกั้น  

คุยกับมนุษย์ม็อบหน้าสถานทูตพม่า

ทุนทุนมิน อายุ 29 ปี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระบุ เหตุที่เขาออกมาทำกิจกรรมหน้าสถานทูตพม่า เพราะไม่อยากให้รัฐบาลไทยช่วยทหารพม่า และอยากให้รัฐบาลไทยช่วยดูว่ากองทัพพม่าฆ่าทุกคน ผู้หญิง และเด็ก ฆ่าหมด อยากให้ช่วยประชาชนพม่า

ออ อายุ 40 กว่าปี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า วันนี้เขามาด่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ด้วยกันกับคนอื่นๆ และอยากให้รัฐบาลไทยช่วยประชาชน อย่าช่วยกองทัพพม่าเลย

‘นาน’ (Nann) ชาวพม่าในไทย เล่าถึงความรู้สึกสั้นๆ ว่า ‘ช็อก’ หลังได้รับทราบข่าวร้ายว่า กองทัพพม่าทำการประหารนักกิจกรรม 4 รายวานนี้ และเธอขอประณามกองทัพพม่าต่อการกระทำดังกล่าว

นาน กล่าวว่า เธอมาวันนี้ เพราะแม้ว่าตัวเธอขณะนี้ไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศบ้านเกิด แต่เธออยากทำบางอย่างเท่าที่เธอจะสามารถทำได้เพื่อประเทศของเธอ และเธอยืนยันว่า แม้จะได้ยินข่าวที่น่าเศร้าเมื่อวาน (25 ก.ค.) แต่เธอจะขอสู้กับกองทัพพม่า เพื่อประชาธิปไตย จนหยดสุดท้าย 

นาน ทิ้งท้ายว่า เธอเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยไม่ให้ร่วมมือกับกองทัพพม่า และขอส่งความระลึกถึงไปยังผู้สละชีวิตเพื่อประเทศเมียนมาทุกคน นาน กล่าวพร้อมกับชูป้ายในมือ ปรากฎข้อความเขียนว่า ‘ขอประณามอย่างรุนแรงต่อเผด็จการทหารพม่า สำหรับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และขอแสดงความเคารพไปยังทุกชีวิตที่ถูกสังหารโดยไม่ชอบธรรม’ 

เธอบอกว่าป้ายดังกล่าวเขียนด้วยลายมือ และความรู้สึกของเธออยู่ในป้ายนี้

นาน (Nann) ผู้ร่วมกิจกรรมหน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย ถนนสาทร

‘ซอ’ ชาวพม่าอายุ 38 ปี กล่าวถึงข่าวการประหารนักกิจกรรมว่า เป็นเรื่องปกติของฆาตกร เพราะว่าพวกเขาอยากจะฆ่าทุกคนโดยคำนึงถึงแค่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น และการทำแบบนี้สะท้อนว่ากองทัพพม่าไม่สนใจใครแล้ว รวมถึงอาเซียน 

“ผมอยากคุยกับรัฐมนตรีประเทศไทย รัฐมนตรีมาเลเซีย ใครก็ได้ เขา (กองทัพพม่า) ไม่สนใจใครแล้ว สนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ตอนนี้ไม่มีความเป็นกลางในสถานการณ์ที่มีแต่ความอยุติธรรม ถ้าคุณวางตัวเป็นกลาง แปลว่าคุณเข้าข้างผู้กดขี่” ซอ กล่าว 

ซอ ระบุต่อว่า เขามาที่นี่ เพราะนี่เป็นเวลาที่เราต้องแสดงอารมณ์ความรู้สึก และเสียงของเราออกมา เราต้องทำอะไรที่สามารถทำได้

“สำหรับมินอ่องหล่าย ผมไม่มีอะไรจะพูด ทุกคนอยากให้เขาตาย เขามันปัญญาอ่อน และเป็นโรคจิต คุณก็ทราบว่าทั้งอาเซียน และนานาชาติ ขอให้เขาอย่าทำอะไรนักโทษการเมือง เขาก็ยังทำ คุณจะเห็นได้ว่าเขาบ้านมากขนาดไหน บ้าอำนาจ บ้าผลประโยชน์” ซอ กล่าว

ซอ ระบุว่า เขาอยากสื่อสารถึงประชาชนอาเซียนว่า เราต้องไม่เข้าข้างผู้กดขี่ทุกคนบนโลก เราต้องสามัคคีเพื่อต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้

“ผมคิดว่ามีประชาชนเมียนมาเสียชีวิตมากกว่า 1 หมื่นคน แม้ว่าตัวเลขจาก AAPP (สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า) บอกว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 พันคน แต่ผมมั่นใจว่ามีมากกว่านั้น บางทีอาจจะเป็นแสนเป็นหมื่นคนที่ตายในเมียนมา… ตอนนี้มีนักโทษการเมืองจำนวนมากถูกจองจำ พวกเราทราบว่าเขา (กองทัพ) กำลังทรมานประชาชนและทุกคนบนถนนในนครย่างกุ้ง นครมัณฑะเลย์… เราต้องแสดงความเสียใจไม่แค่ 4 คนนี้ แต่เราต้องแสดงความเสียใจถึงทุกคนในเมียนมา และทุกคนบนโลก” ซอ ทิ้งท้าย 
  
กิจกรรมการชุมนุมของชาวพม่าดำเนินต่อไป จนกระทั่งเวลา 14.30 น. ก่อนประกาศยุติการชุมนุม 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางชาวพม่ายุติการชุมนุมไปแล้ว มีกลุ่มนักกิจกรรมคนไทยทำกิจกรรมการเชิงสัญลักษณ์หน้าสถานทูตพม่า โดยนำกิโยตินประดิษฐ์สับลงไปที่เสื้อลายพรางแปะรูปหน้าของมินอ่องหล่าย
 

สิ่งที่เราเรียกร้องคือสิ่งเดียวกัน การไม่เอาเผด็จการ

“พอเราเห็นในไลฟ์ เรารู้สึกเริ่มฮึกเฮิม รู้สึกว่าเราอยากไปต่อสู้ร่วมกับเขา เพราะว่าสิ่งที่เขากำลังพูด กำลังตะโกนออกมา มันเป็นสิ่งเดียวกับที่เราต้องการตะโกนออกไปเหมือนกัน เราไม่ต้องการเผด็จการ เราไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจของเผด็จการ”

‘มิ้นท์’ นักกิจกรรมชาวไทย และสมาชิกกลุ่มนาดสินปฏิวัติ กล่าวขณะกำลังไปร่วมกิจกรรมที่หน้าสถานทูตพม่า ถนนสาทร

ในหลายโอกาสเรามักเห็นมิ้นท์ ออกมาเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ถูกคุมขังทางการเมืองชาวไทย แต่ในวันนี้ (26 ก.ค.) เธอมาทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตพม่า หลังเวลา 14.30 น. เพื่อแสดงเจตจำนงว่า เธออยากยืนเคียงข้าง และอยากให้กำลังใจชาวพม่าที่กำลังเผชิญปัญหาขณะนี้ 

มิ้นท์ นำอุปกรณ์ติดตัวมาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เป็นกิโยตินประดิษฐ์ หรือเครื่องประหารศีรษะชื่อดังจากยุคกลาง ทำจากพลาสติก เธอมาแสดงการประหาร มินอ่องหล่าย ที่หน้าสถานทูตพม่า ก่อนจะโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจกันตัวเธอออกจากพื้นที่

หลังเสร็จกิจกรรม ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ‘มิ้นท์’ ทางโทรศัพท์ โดยเธอกล่าวเพิ่มว่า จริงๆ เธอเตรียมการแสดงเทิดวีรชนชาวเมียนมาด้วย แต่ไม่ทันได้แสดง ก็ถูกเจ้าหน้าที่กดดันให้ออกไปซะก่อน

มิ้นท์ให้ความเห็นว่า การประหารประชาชนของกองทัพพม่าวานนี้ (25 ก.ค.) เป็นสิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น และไม่ควรมีใครถูกประหารชีวิตเพราะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเขา เธออยากเรียกร้องไปยังสื่อมวลชน ให้มีการนำเสนอข่าวในพม่ามากกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า  

นอกจากนี้ นักกิจกรรมกลุ่ม ‘นาดสินปฏิวัติ’ ยังอยากส่งสารไปยังรัฐบาลไทย ให้มีการส่งสัญญาณที่เข้มแข็งไปยังมินอ่องหล่าย เพราะสิ่งที่กองทัพพม่าทำมันเกินไป และยังขัดต่อฉันทามติอาเซียน 5 ข้อ โดยเฉพาะการยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

“เรา (ผู้สื่อข่าว - ประเทศไทย) ที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย เรากลับนิ่งเฉยกับการกระทำอันโหดร้ายของมินอ่องหล่าย ของศาลทหาร และของเผด็จการเมียนมา เราเลยอยากให้รัฐบาลไทยทำอะไรมากกว่านี้ ยิ่งเขานิ่งเฉย มันยิ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเห็นด้วยกับการกระทำของมินอ่องหล่าย” มิ้นท์ กล่าว

ขณะที่เมื่อ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยตอบจุดยืนของประเทศไทยต่อวิกฤตการเมืองพม่าว่า ประเทศไทยจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด เนื่องจากไทยยังมีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจพลังงาน จึงต้องระมัดระวังเรื่องการแสดงออกด้านจุดยืน แต่ในความคิดของมิ้นท์ สิ่งที่กองทัพพม่าทำกับคนในประเทศเป็นเรื่องโหดร้ายเกินกว่าจะเอาเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาอ้าง พร้อมยืนยันว่าไทยต้องแสดงท่าทีที่เข้มแข็งกว่านี้ 

“สิ่งที่พม่าทำมันโหดร้ายที่มันเกินกว่าจะเอาเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องการค้าอะไรมากล่าวอ้างได้เลย …เหตุผลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่เพียงพอที่สามารถออกมาพูดได้ จริงๆ การที่เขาพูดแบบนั้น มันชัดเจนว่าเขาเลือกข้างแล้ว เขาเลือกข้างมินอ่องหล่าย ไม่ได้เลือกข้างประชาชน และทุกวันนี้เขาก็ไม่ได้เลือกข้างประชาชนไทย” นักกิจกรรมกลุ่มนาดสินปฏิวัติ กล่าวย้ำ

ภาพขณะทำการแสดงเชิงสัญลักษณ์

เมื่อเอ่ยถามถึงสิ่งที่มิ้นท์ อยากสื่อสารถึงชาวพม่าที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขณะนี้ เธอกล่าวว่าเธอประทับใจการต่อสู้ของชาวพม่ามาโดยตลอด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากวันแรงงานสากล เมื่อ 1 พ.ค. 2565 ในวันนั้นแรงงานชาวพม่าในไทยมารวมตัวกันทำกิจกรรม และมีการตะโกนต่อต้านกองทัพพม่าเสียงดังสนั่น ประโยคที่มิ้นท์ ประทับใจจากวันนั้น คือ ประโยคที่ชาวพม่าตะโกนซ้ำๆ เป็นภาษาพม่าว่า “การปฏิวัติต้องชนะ”  

“เขาผนึกกำลังแม้ว่าจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่แปลกใจเลยที่เราเห็นภาพการต่อสู้ของชาวพม่า และเราก็ชื่นชม และอยากแสดงเจตจำนงว่าเราที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เรายืนหยัดว่าเราจะยืนเคียงข้างประชาชนพม่า เหมือนกับที่เรายืนเคียงข้างประชาชนของเรา เราก็ยังคงที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับคนในประเทศเรา และเมื่อทางพม่าเขามีปัญหาเหล่านี้ ถ้าเกิดเรามีโอกาสในเวลาที่มันเหมาะสมกัน เราก็ขอยืนยันว่าจะไปสู้ร่วมด้วยเหมือนกับวันนี้ที่มิ้นท์ตั้งใจไปร่วมกิจกรรมกับเขา” มิ้นท์ กล่าวทิ้งท้าย

มินอ่องหล่าย จำลอง (ถ่ายโดย Panda)

ศิลปินพม่า-ไทยเมืองเชียงใหม่ แสดงศิลปะส่งสารให้กำลังใจชาวเมียนมา

ในวันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากหน้าประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ กลุ่ม ‘ลานยิ้มการละคร’ และเพื่อนศิลปินพม่าในเชียงใหม่ ร่วมกันทำการแสดง ‘Performance Arts’ เฉพาะกิจ ส่งสารถึงรัฐบาลไทย และเผด็จการพม่า ตั้งแต่เวลา 12.00-13.00 น.​

สืบเนื่องจากวานนี้ (25 ก.ค.) ทางการพม่าทำการประหารชีวิต นักเคลื่อนไหว 4 ราย รวมถึงเพียวเซยาต่อ ส.ส.พรรค NLD และจ่อมินยู หรือ ‘โกจิมมี’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยยุค 8888 โดย เพียวเซยาต่อ และ โกจิมมี ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย ขณะที่อีก 2 รายโดนข้อหาฆาตกรรมคนแจ้งข่าวของกองทัพพม่า

‘อ่อง’  ศิลปินพม่าในเชียงใหม่กล่าวต่อผู้ชมว่า  มีผู้คนหลายพันคน หรือจำนวนนับไม่ถ้วน ถูกรัฐบาลทหารพม่าเข่นฆ่า ผู้เสียชีวิตมาจากทุกพื้นเพ ทุกเชื้อชาติ ทั้งคนยากดีมีจน มีคนที่ตายเพราะถูกเผาทั้งเป็น มีคนต้องละทิ้งบ้านที่ถูกกองทัพพม่าเผา มีผู้หญิงที่ถูกข่มขืน มีคนจำนวนมากอยู่อย่างหวาดกลัวต้องหลบหนี

และเราทราบข่าวล่าสุดที่ว่ามีนักกิจกรรม 4 คนถูกประหาร ซึ่งไม่ใช่แค่ 4 คนนี้เท่านั้นที่ถูกฆ่า ก่อนหน้าก็มีคนที่ถูกกองทัพพม่าฆ่า

"พวกเรามารวมกันที่นี่ เพื่อแสดงความสามัคคี ว่าพวกเรายังคงยืดหยัดร่วมกับพลเมืองจากพม่า" อ่อง กล่าวทิ้งท้าย 

ภาพของอ่อง ขณะแสดง Performance Arts (่ที่มา: สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์)

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรม (ที่มา: สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net