Skip to main content
sharethis

สื่อพม่าเผย รมต.มหาดไทย แห่งกองทัพพม่า เป็นผู้ควบคุมการประหาร 4 นักกิจกรรมพม่าด้วยตนเอง ด้านราชทัณฑ์พม่าเผยเหตุผลไม่คืนศพนักกิจกรรมให้ครอบครัวไปทำพิธี อ้างทำให้เกิดการจลาจล และส่งผลต่อเสถียรภาพในประเทศ 

 

28 ก.ค. 2565 สำนักข่าว Myanmar Now อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิด เผยว่า พลโท โซทุต รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย แห่งสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC เดินทางมากำกับการประหารนักกิจกรรม 4 รายด้วยตัวเองที่เรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-25 ก.ค.) สำหรับ พลโท โซทุต เป็นอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหารพม่า และเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อมินอ่องหล่าย มากคนหนึ่ง 

ภาพนักกิจกรรมที่ถูกประหาร (ซ้าย-ขวา) โกจิมมี, เพียวเซยาต่อ, หล่ะเมียวอ่อง และอ่องทุระซอ (ที่มา: Khit Thit Media)

โซทุต ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย เมื่อปี 2563 หรือ 1 ปีก่อนการทำรัฐประหารพม่า ซึ่งเป็นช่วงที่อองซานซูจี ยังดำรงตำแหน่งในรัฐบาลอยู่ โดยเขาเข้ามาแทนที่ พลโท จ่อส่วย เนื่องจากกองทัพเห็นว่าสนิทสนมกับอองซานซูจี มากเกินไป 

หลังการรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 โซทุต ได้รับแต่งตั้งโดย SAC ให้ดำรงตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ มีรายงานว่า โซทุต เป็นตัวตั้งตัวตีในการสั่งให้แยกอองซานซูจี ไปอยู่ในห้องขังเดี่ยวด้วย โดยรัฐมนตรีมหาดไทยของพม่ามีหน้าที่ในการบังคับบัญชาตำรวจ และกรมราชทัณฑ์

ผู้ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอภายใต้การกำกับดูแลของ โซทุต ได้แก่ โกจิมมี หรือจ่อมินยู นักกิจกรรมวัย 53 ปี ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่ามาตั้งแต่เหตุการณ์ 8888 เพียวเซยาต่อ อายุ 41 ปี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD อีก 2 คนที่ถูกประหารได้แก่ หล่ะเมียวอ่อง อายุ 41 ปี และอ่องทุระซอ อายุ 27 ปี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวระบุว่ามีการตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นในนครย่างกุ้ง ทั้งในช่วงที่มีการประหาร และช่วงหลังการประหารนักกิจกรรมทั้ง 4 คน เนื่องจากเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจจะถูกเอาคืนโดยกลุ่มจรยุทธ์ในเขตเมือง ในละแวกต่างๆ ของเมืองย่างกุ้ง มีการตีหม้อเพื่อประท้วงการสั่งประหารนักกิจกรรมเป็นระยะ 

แหล่งข่าวในเรือนจำอินเส่ง ระบุว่ามีการสั่งห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายนักโทษ ตั้งแต่คืนวันศุกร์ (22 ก.ค.) จนถึงวันจันทร์ (25 ก.ค.) เพื่อป้องกันการประท้วง ปกติแล้วนักโทษจะเดินออกมาจากห้องขังเพื่อรับอาหาร แต่ในช่วงดังกล่าวเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเป็นผู้นำอาหารเข้าไปในเรือนจำเอง 

การประหาร 4 นักกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการกลับมาใช้โทษประหารในรอบ 30 ปี ก่อให้เกิดกระแสการประณามจากทั่วโลก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นานนัก สำนักข่าวชินด์นิวส์ รายงานว่าอาจมีการประหารนักโทษการเมืองอีก 41 คน คาดว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับก่อนหน้านี้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยไม่มีการนำตัวมาไต่สวน

ในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26 ก.ค.) โฆษกของคณะรัฐประหาร พลเอก ซอมินทุน อ้างว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถคืนร่างผู้เสียชีวิตให้แก่สมาชิกครอบครัวได้ โดยอ้างเหตุผลว่าการประกอบพิธีศพอาจก่อให้เกิดการจลาจลและอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ และเรือนจำจะเป็นผู้ทำพิธีณาปนกิจเอง 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Key ally of Myanmar junta leader oversaw executions

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net