Skip to main content
sharethis

เปิดผลงานวิจัย “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” ของอัศวิณีย์ หวานจริง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของคดี ‘ตัดโซ่’ ผู้แจ้งความจับกุม 2 อาจารย์ - 1 นศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ มช. เช่นกัน กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะเป็นงานวิจัยที่มุ่งอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของครูช่างไทยสมัยโบราณเกี่ยวกับการทำกาวเมล็ดมะขาม และยังได้รับการตีพิมพ์ถึง 2 ครั้งด้วยกัน

 

11 พ.ย. 2565 เปิดผลงานวิจัยของอัศวิณีย์ หวานจริง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของคดี ‘ตัดโซ่’ ผู้แจ้งความจับกุม 2 อาจารย์ - 1 นศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ มช. เช่นกัน ในข้อหาบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ จากกรณีที่อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. ได้กระทำการตัดโซ่คล้องกุญแจที่ล็อคประตูทางเข้าสาขาวิชา Media Art and Design ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564

อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช.

 

เปิดงานวิจัยกาวเม็ดมะขามใช้ในงานศิลปะของอัศวิณีย์

นอกจากเรื่องการเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ และเป็นเจ้าของคดีตัดโซ่แล้ว รองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเป็นเจ้าของผลงานวิจัย เรื่อง “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ถึง 2 ครั้ง กับทางสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่หนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2564  และครั้งที่สองเดือนธันวาคม 2564

ผลงานวิจัย “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “อนุรักษ์เทคนิคกาวเมล็ดมะขามเพื่อพัฒนาเป็นสื่อการสอน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2561

ผลงาน “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” โดย อัศวิณีย์ หวานจริง

รองศาสตราจารย์อัศวิณีย์มุ่งหวังให้งานศึกษาชิ้นนี้มีส่วนอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของครูช่างไทยสมัยโบราณเกี่ยวกับการทำกาวเมล็ดมะขาม ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่าย ประหยัด ไม่มีสารเคมี ไม่เป็นพิษและมลภาวะ ต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ นำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุต่างๆ และสะดวกต่อการใช้สำหรับนักเรียนนักศึกษาได้ทดลองใช้เป็นวัสดุการเรียนการสอนทำผลงานด้านศิลปะ

ความรู้ในการทำกาวเมล็ดมะขามนั้นรองศาสตราจารย์อัศวิณีย์ได้รับมาจากสมัยที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปกร เมื่อพ.ศ. 2532 จนมารถคิดค้นสูตรในการทำกาวเมล็ดมะขามได้หลากหลายรูปแบบ

ในงานวิจัยมีการบอกถึงกรรมวิธีการทำกาวเมล็ดมะขาม ตั้งแต่การคั่วเมล็ดมะขาม การต้มกาว และการทดลองทำกาวเมล็ดมะขามแห้งแบบแผ่น แบบผง และแบบอัดเม็ด รวมไปถึงการทดสอบลองพื้นกาวเมล็ดมะขามสำเร็จรูป และวิเคราะห์ทางคุณภาพของพื้นกาวเมล็ดมะขามแบบน้ำและแห้งให้แก่ผู้อ่าน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 เฟซบุ๊กเพจ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า อัศวิณีย์ยังได้รับทุนอุดหนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ The International Journal of Designed Objects (Scopus Q2) ในชื่อผลงาน Conservation of Tamarind Seed Glue as a Medium of Art Instruction อีกด้วย

 

คดีตัดโซ่

ภาพจาก ศูนย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เหตุการณ์ “ตัดโซ่” เกิดขึ้นเนื่องจากการที่นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design ชั้นปีที่ 4 ไม่สามารถเข้าไปติดตั้งผลงานศิลปะของตนเองได้ เนื่องจากทั้งประตูทางเข้าบริเวณสาขาวิชาและตัวหอศิลป์ถูกล็อคด้วยโซ่และยังถูกตัดน้ำตัดไป เพื่อให้ทันวันแสดงนิทรรศการแสดงศิลปนิพนธ์ “WHIPLASH : MADs Pre-degree Exhibition 2021” ของนักศึกษาในวันที่ 20 ต.ค. 2564 นักศึกษาและอาจารย์ที่เกี่ยวข้องจึงได้ทำการ Occupy หรือบุกยึดหอศิลป์พื้นที่จัดแสดงงานคืนจากผู้บริหารคณะซึ่งมีรองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง เป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในขณะนั้น

ชื่อของรองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง ขณะที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นที่สนใจและถูกจับตาจากสังคมจากกรณี “เก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ” จนกลายเป็นข่าวดัง โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64 คณบดีและรองคณบดีคณะวิจิตรศิลป์นำเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปแอบรื้อถอนและเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาที่วางอยู่ภายในลานหน้าตึก Media Art and Design ยัดใส่ถุงดำ และนำขึ้นรถของทางมหาวิทยาลัยเตรียมขนออกไป โดยไม่แจ้งให้นักศึกษาเจ้าของผลงานทราบ

ทางฝ่ายคณบดีและรองคณบดีอ้างว่าเป็นการเก็บไปเพื่อความสะอาดของพื้นที่ ไม่อนุญาตให้วางของเกะกะ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนักศึกษาที่ถูกเก็บผลงานศิลปะยัดใส่ถุงดำมียศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ผู้ต้องหาในคดีตัดโซ่รวมอยู่ด้วย

 

 

หนังสือ “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” สามารถหาซื้อในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่เว็บไซต์ซีเอ็ด ในราคา 154 บาท

 

 

หมายเหตุ มีการปรับแก้เนื้อหาในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 08.21 น. โดยการสลับเนื้อหาข่าวในส่วนงานวิจัย “กาวเมล็ดมะขามในงานศิลปะ” ขึ้นมาอธิบายก่อน "คดีตัดโซ่"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net