Skip to main content
sharethis

สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จัด “รำลึก 237 ปีปาตานีเสียกรุง” พร้อมถ่ายทอดสดการแสดงช่วงเวลาทหารสยามจับ “มูฮัมมัด ดูวา” กษัตริย์คนที่ 18 ไปปลงพระชนม์ท่ามกลางสายฝน ผู้จัดเผยเพื่อให้ความรู้และเรียกร้องให้รัฐและสังคมไทยยอมรับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อทำลายความรู้สึกการเป็นเมืองชั้นสองที่มีมายาวนาน เพราะสยามผนวกดินแดนได้ แต่ไม่ได้ผนวกความรู้สึกของคนปาตานีไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ CAP (Civil Society Assembly For Peace) จัดงาน รำลึกปาตานีเสียกรุง ในช่วงบ่ายวันศุกร์ ที่ 11 พ.ย. 2565 ณ สนามข้างมัสยิดบ้านท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื่องในโอกาสครบรอบ 237 ปีที่ราชอาณาจักรปาตานีสูญเสียเอกราชตกเป็นของสยาม โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งในช่วงก่อนเริ่มงานได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้ามาสอบถามข้อมูลด้วย และมีถ่ายทอดสดงานดังกล่าวด้วยทางเพจ CAP, Wartani, PSP และเพจ Salasilah Patani – ประวัติศาสตร์มลายูปาตานี

งานเริ่มต้นด้วยการอ่าน “ตะห์ลีล อัรวะ” (การอ่านบทในคัมภีร์อัลกุรอ่านและบทขอพรอุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิต) จากนั้นเป็นการอ่านบทอาขยานเสียกรุง ประกอบละครสั้นที่แสดงถึงช่วงเวลาที่ทหารสยามบุกจับตัว “มูฮัมมัด ดูวา” ซึ่งเป็นกษัตริย์คนที่ 18 ของราชอาณาจักรปาตานีก่อนจะถูกปลงพระชนม์ในเวลาต่อมา ท่ามกลางสายฝนที่เทกระหน่ำลงมาพอดี (ชมการแสดงในที่เพจ Salasilah Patani) จากนั้นจึงเป็นเวทีเสนา

นายฮาซัน ยามาดีบุ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้เพื่อรำลึกการที่อาณาจักรหนึ่งได้สูญเสียอธิปไตยไปเมื่อ 237 ปีที่แล้วหรือเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ค.ศ.1785 ซึ่งครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 4 แล้ว โดยไม่มีปัญหาอะไร

วัตถุประสงค์ที่สอง คือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้คนในพื้นที่ได้ทราบ ซึ่งเมื่อทราบแล้วก็จะมีการจัดพิธี “ตะห์ลีล อัรวะห์” เพื่ออุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นและในเหตุการณ์อื่น ๆ ด้วยทั้งหมด ซึ่งการรำลึกถึงคนที่ตายไปแล้วเป็นหนึ่งในคำสอนของศาสนาอิสลาม

“การจัดงานรำลึกครั้งนี้ แม้เป็นเรื่องในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการที่ปาตานีตกเป็นอยู่ภายใต้อำนาจของสยามและเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งยาวนานระหว่างคนปาตานีกับฝ่ายรัฐจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นเพราะว่าประเทศไทย รัฐไทยหรือสังคมไทยไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของปาตานีอย่างที่พูดถึงภูมิภาคอื่น เช่น ล้านนา เป็นต้น” นายฮาซันกล่าว

นายฮาซัน กล่าวว่า การสูญเสียอธิปไตยดังกล่าวที่ได้สร้างความรู้สึกของการเป็นผู้แพ้ และการถูกปฏิบัติอย่างพลเมืองชั้นสองซึ่งแม้จะผ่านมาแล้วกว่า 237 ปี แต่ความรู้สึกนี้ยังอยู่ เพราะรัฐหรือประเทศไทยไม่ได้จัดการความรู้สึกนี้กับคนมลายูปาตานีว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

“สยามผนวกดินแดนได้ แต่ไม่ได้ผนวกความรู้สึกของคนปาตานีไปด้วย คนปาตานียังรู้สึกอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกิดการยอมรับในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ของคนมลายูปาตานี เพื่อให้รัฐสร้างความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เป็นการทำลายความรู้สึกดังกล่าวออกไป” นายฮาซันกล่าว

นายฮาซัน ยังได้เปิดเผยในงานด้วยว่า การจัดงานรำลึกดังกล่าวมีขึ้นหลายแห่งทั้งในประเทศมาเลเซียและในประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีคนปาตานีอาศัยอยู่ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net