ในหนังสือ “ข้ามพ้นศาสนา: จริยธรรมเพื่อคนทั้งโลก” (Beyond Religion: Ethics for a Whole World) ของทะไลลามะ (แปลโดยนัยนา นาควัชระ) ทะไลลามะมองว่ามนุษย์อยู่ได้โดยไม่ต้องมีศาสนา และเสนอว่า “จริยธรรมเป็นอิสระจากศาสนา” ดังที่เขาเขียนว่า
“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า แม้มนุษย์จะอยู่ได้โดยไม่ตองมีศาสนา แต่มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้โดยไม่มีคุณธรรมภายในใจ เพราะฉะนั้นที่ข้าพเจ้าเสนอว่าให้จริยธรรมเป็นอิสระจากศาสนา จึงเป็นหุผลที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะข้าพเจ้ามองว่าเรื่องจิตวิญญาณมีสองมิติ
มิติแรก คือการมีสภาพพื้นฐานทางจิตวิญญาณที่ดี - คือมีสภาพจิตและสภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็งมีสมดุล -โดยที่ไม่ต้องพึ่งศาสนา เพราะสภาพเช่นนี้เป็นธรรมชาติที่มนุษย์มีมาแต่กำเนิดในฐานะที่เป็นสัตว์ซึ่งมีพื้นนิสัยโน้มเอียงไปในทางกรุณา โอบอ้อมอารีและใส่ใจทุกข์สุขของผู้อื่น มิติที่สอง อาจเรียกได้ว่าเป็นมิติทางจิตวิญญาณที่มีศาสนาเป็นพื้นฐาน…
ความแตกต่างระหว่างมิติทั้งสองเปรียบเหมือนน้ำกับน้ำชา จริยธรรมและคุณธรรมภายในใจที่ไม่มีเนื้อหาทางศาสนาคือน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่เราต้องกินดื่มทุกวัน และ จำเป็น ต่อสุขภาพและความอยู่รอดของเรา จริยธรรมและคุณธรรมในใจที่อยู่ในบริบทของศาสนาเปรียบเหมือนน้ำชา ชาที่เราดื่มมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำ แต่ก็มีอย่างอื่นผสมอยู่ด้วย ...
แต่ไม่ว่าเราจะชงชาอย่างไรก็ตาม ส่วนผสมหลักจะต้องเป็นน้ำเสมอ เรามีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีชา แต่เราขาดน้ำไม่ได้ ในทำนองเดียวกันเราเกิดมาโดยที่ไม่มีศาสนามาแต่กำเนิด แต่เราไม่ได้เกิดมาโดยที่ไม่ต้องการ ความกรุณา”
ตามมุมมองของทะไลลามะ “จริยธรรมและคุณธรรมภายในใจที่ไม่มีเนื้อหาทางศาสนา” เปรียบเหมือน “น้ำ” ขณะที่จริยธรรมทางศาสนาเป็นเพียง “น้ำชา” จากความคิดพื้นฐานเช่นนี้ทำให้ทะไลลามะมองว่า “จริยธรรมโลกวิสัย” (secular ethics) ใหญ่กว่าจริยธรรมศาสนา เพราะเป็นจริยธรรมสากลที่อยู่บนพื้นฐานจิตสำนึกเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรมทางสังคม ทะไลลามะเสนอว่าเราควรตีความจริยธรรมพุทธศาสนาสนับสนุนจริยธรรมสากล ด้วยหลักการพื้นฐานสองประการ คือ
“หลักข้อแรก คือ เราจะต้องเข้าใจและยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ และปรารถนาความสุข และไม่อยากมีทุกข์เหมือนกับคนอื่นๆ หลักข้อที่สอง ก็คือ เราจะต้องเข้าใจว่าโดยความเป็นจริงแล้วลักษณะเด่นของมนุษย์ คือการพึ่งพาอาศัยกันและกัน...”
แต่ในหนังสือ “ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา: ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ” ป.อ. ปยุตฺโตมองจริยธรรมสากลอย่างระแวงว่า
“การนำจริยธรรมสากลมาให้นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเรียน มองในแง่หนึ่งก็เหมือนการบังคับ หรือใช้กลวิธีชักจูงให้นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมานับถือศาสนาที่เรียกว่าจริยธรรมสากลแทน อาจจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของชาวพุทธเหล่านั้นไปก็ได้ เมื่อจัดไปแทนที่จะได้ผลดี ก็จะกลายเป็นเสียทั้งคู่ ไม่ได้ผลเลยทั้งสองทาง”
จะเห็นว่าความคิดพื้นฐานทางจริยธรรมแบบทะไลลามะกับปยุตฺโตต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ทะไลลามะมองว่าจริยธรรมสากลกับจริยธรรมพุทธสามารถตีความให้สอดคล้องไปกันได้ หรือสนับสนุนกันและกันได้ และมองว่าจริยธรรมสากลใหญ่กว่าจริยธรรมพุทธ เพราะจริยธรรมสากลก้าวข้าม “อคติทางศาสนา” ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนา คุณก็ควรมีสามัญสำนึกทางจริยธรรมในการเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเป็นธรรมทางสังคม จริยธรรมศาสนาในโลกสมัยใหม่นอกจากจะไม่ควรนำเสนออย่างขัดหลักการพื้นฐานดังกล่าว ยังควรถูกตีความสนับสนุนหลักการพื้นฐานดังกล่าวด้วย แต่ปยุตฺโตกลับระแวงว่า ถ้าสอนจริยธรรมสากลในโรงเรียนจะเป็นกลวิธีทำให้ชาวพุทธเปลี่ยนจากการนับถือ “ศาสนาพุทธ” ไปนับถือ “ศาสนาจริยธรรมสากล” แทน
ดูเหมือนว่าปยุตฺโตไม่อาจข้ามพ้น “อคติทางศาสนา” ไปได้ เพราะยังมองคุณค่าทางจริยธรรมเป็น “ประเด็นศาสนา” ไปเสียหมด เช่น มองว่าจริยธรรมสากลก็คือ “ศาสนาจริยธรรมสากล” ถ้าให้คนไทยเรียน คนไทยอาจเปลี่ยนจากนับถือพุทธศาสนาไปนับถือศาสนาจาริยธรรมสากล
แต่ทะไลลามะมองต่างว่า ธรรมชาติทางจริยธรรมของมนุษย์เปรียบเหมือน “น้ำ” แต่ศาสนาเป็นแค่ “น้ำชา” แปลว่ามนุษย์เราอาจพัฒนาธรรมชาติพื้นฐานทางจริยธรรมขึ้นจากแนวคิดปรัชญาต่างๆ และความคิด ความเชื่อหลากหลายที่ไม่ใช่ศาสนาก็ได้ ดังนั้น มนุษย์จึงอยู่ได้ หรือดีงามได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีศาสนาก็ได้ แต่ถ้ามีศาสนาก็ต้องไม่ใช่ศาสนาที่เป็นเครื่องมือของนักบวชและชนชั้นปกครองในการครอบงำและกดขี่ หรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรมทางสังคม
เพราะไม่อาจข้ามพ้นอคติทางศาสนา (ฉันทาคติแบบเชื่อว่าจริยธรรมพุทธเหนือว่าจริยธรรมทั้งปวง) ปยุตฺโตจึงสรุปแบบ “โอเว่อร์เคลม” ไว้ในหนังสือ “สิทธิมนุษยชนสร้างสันติสุขหรือสลายสังคม” ว่า “ถ้าหมู่มนุษย์ประพฤติอยู่ในศีล 5 ก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน” ราวกับว่าหลักศีล 5 (หรือแม้แต่หลักพุทธธรรมทั้งหมด) มีเนื้อหาครอบคลุมสิทธิปัจเจกบุคคล สิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม และหลักความเสมอภาคด้านต่างๆ ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล
นอกจากนี้ ในหนังสือสองเล่มดังกล่าว ปยุตฺโตยังเสนอให้คงการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติต่อไป และเสนอให้ตีความศีล 5 มาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ขัดหลักจริยธรรมโลกวิสัยและหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) ต่างอย่างสิ้นเชิงกับทะไลลามะที่ยืนยันให้ชาวศาสนาต่างๆ เคารพหลักจริยธรรมโลกวิสัย หรือหลักจริยธรรมสากล และปรับตัวตามหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย และการแยกศาสนาจากรัฐ
คำถามคือ หากพุทธศาสนาคือรากฐานของวัฒนธรรมไทย และเป็นรากฐานทางจริยธรรมของสังคมไทยมาช้านาน หรือ “หลักจริยธรรมพุทธเป็นหลักจริยธรรมของชาติ” และพุทธมี “หลักธรรมาธิปไตย” ที่ทำให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่า ดังที่ปยุตฺโตยืนยันไว้จริง แต่เหตุใดระบบปกครองสงฆ์ที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” (หรือที่จริงคือ “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม”) จึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะพระมีสมณศักดิ์ฐานันดร มีวัฒนธรรมชนชั้นและอำนาจนิยม ไม่มีความเสมอภาค พระเณรไม่มีสิทธิ์มีเสียง หรือมีส่วนร่วมใดๆ ในการปกครองคณะสงฆ์เลย แม้แต่ “เสรีภาพในการตีความพุทธธรรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน” พระเณรก็ไม่มี ตกลงระบบปกครองสงฆ์มีธรรมาธิปไตยหรือไม่มีกันแน่
จะว่าไปแล้ว ในระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมคงมีศีล 5 สมบูรณ์กระมัง เพราะพระมีศีลมากกว่าฆราวาส ด้วยเหตุนี้สิทธิมนุษยชนจึงไม่จำเป็นสำหรับระบบสงฆ์ จึงทำให้ระบบสงฆ์มีอภิสิทธิ์หลายประการที่ขัดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักประชาธิปไตยโลกวิสัย
แต่น่าเศร้าที่นักบวชในระบบที่มีอภิสิทธิ์เช่นนี้ กลับมีอำนาจชี้นำรัฐให้บังคับเรียนศาสนาและปฏิเสธการเรียนจริยธรรมสากลโลกวิสัย อันเป็นจริยธรรมที่จำเป็นต่อการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย
ผลก็คือ การที่สังคมไทยถูกบังคับยัดเยียดปลูกฝังจริยธรรมพุทธศาสนามายาวนาน ทำให้คนไทยเข้าใจจริยธรรมมิติเดียว คือจริยธรรมในมิติศาสนา โดยเฉพาะจริยธรรมพุทธศาสนาที่อ้างว่าเป็นหลักจริยธรรมของชาติ และทำให้เกิดวัฒนธรรมอ้างจริยธรรมและความเป็นคนดีแบบพุทธมาเป็นผู้ปกครอง ผ่านการทำรัฐประหารเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์มาตลอด
โดยที่ปราชญ์และผู้รู้พุทธไม่เคยท้วงติงเลยว่า การรัฐประหารละเมิดหลักจริยธรรมพุทธอย่างไร นอกจากไม่เคยท้วงติง ยังมีพระและชาวพุทธจำนวนไม่น้อยอ้างธรรมะ ศีลธรรม ความเป็นคนดีตามความเชื่อแบบพุทธสนับสนุนรัฐประหารมาตลอด
ถ้าสังคมเราต้องการประชาธิปไตยโลกวิสัย การแยกศาสนาจากรัฐ และวัฒนธรรมเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล เราก็ต้องข้ามพ้นจริยธรรมพุทธตามการตีความแบบปยุตฺโต ไปสู่การตีความพุทธธรรมสนับสนุนจริยธรรมสากลโลกวิสัยแบบทะไลลามะให้ได้เป็นอย่างน้อย