Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทำไมประเทศประชาธิปไตยเจริญแล้ว ถึงมีรัฐบาลที่สะวิงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง หรือบางยุคฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นรัฐบาล บางยุคฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายก้าวหน้าเป็นรัฐบาล ก็เพราะว่าในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตย ผู้คนมีความแตกต่างและหลากทางความคิดความเชื่อตั้งแต่เรื่องศาสนา ไม่มีศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ไปจนถึงปัญหาโลกร้อนและอื่นๆ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็คือการแสดงหา “ฉันทามติ” จากความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายเหล่านั้น โดยที่ยังมองคนอื่น ฝ่ายอื่นที่มีความคิด ความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากฝ่ายตัวเองเป็น “คนเหมือนกัน” ไม่ตีตราให้ดูต่ำหรือโง่เขลาเลวร้ายเกินจริง

แล้วทำอย่างไรในการแสดงหาฉันทามติจากผู้คนที่มีความแตกต่างและหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ จึงจะสามารถรักษา “ระบอบประชาธิปไตย” ให้มีประสิทธิภาพและยืนยาวได้ 

จอห์น รอลส์ นักปรัชญาการเมืองอเมริกันเสนอว่า จำเป็นต้องแสวงหา “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” (overlapping consensus) บางคนอาจบอกว่าผมพูด “ทฤษฎี” อีกแล้ว แต่ผมคิดว่าแนวคิดนี้ของรอลส์สอดคล้องกับการปฏิบัติในโลกของความเป็นจริงอยู่มาก

เพราะในสังคมประชาธิปไตยหรือในโลกของความเป็นจริง ผู้คนมีความคิดความเชื่อทางศาสนา ปรัชญา ความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจ และ ฯลฯ แตกต่างและหลากหลายอยู่แล้ว แต่ในความแตกต่างและหลากหลายเหล่านั้น มันมีบางสาระสำคัญของแต่ละความคิด ความเชื่อที่ “เหลื่อม” (overlap) หรือ “สอดคล้องไปกันได้” (compatible) อยู่จริง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเจรจาต่อรองเพื่อหาฉันทามติเหลื่อมซ้อนจากบุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดความเชื่อต่างกันเป็นไปได้ 

พูดอีกอย่างคือ กระบวนการต่อสู้ต่อรองเพื่อหาฉันทามติจากความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายมันคือ “วิถีประชาธิปไตย” หรือเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่จำเป็น 

แต่การแสวงหาฉันทามติเหลื่อมซ้อนตามที่รอลส์เสนอ ไม่ใช่แค่การหา “ข้อตกลงร่วมกัน” บน ”การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ลงตัว” ของแต่ละฝ่ายที่มาตกลงร่วมมือกันเท่านั้น เพราะฉันทามติเหลื่อมซ้อนต้องสามารถใช้เป็น “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) ได้ และอะไรที่เป็นเหตุผลสาธารณะได้ต้องสอดคล้องไปกันได้กับ “คุณค่าสาธารณะ” (public values) อันเป็น “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ของระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม หลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น 

ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ผู้คนจะมีความคิดความเชื่อ มีกลุ่มอำนาจ และผลประโยชน์แตกต่างและหลากหลาย ถ้ามีวัฒนธรรมยึด “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบประชาธิปไตยร่วมกันแล้ว ก็ย่อมสามารถแสวงหาฉันทามติเหลื่อมซ้อนที่ “แฟร์” กับทุกฝ่ายได้ และช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงได้ พร้อมๆ กับการที่แต่ละคนยังสามารถรักษาสิทธิหรือเสรีภาพทางความคิดความเชื่อในด้านที่แตกต่างของตนเองหรือกลุ่มตนเองไว้ได้ ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพคนอื่น

แต่ใน “ระบบการเมืองผิดปกติแบบไทย” ที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย จึงยังไม่มี “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญให้พลเมืองที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างและหลากหลายได้ยึดถือร่วมกัน ภาระในการสร้างฉันทามติเหลื่อซ้อนของ “พรรคก้าวไกล” ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจึงท้าทายและยากอย่างยิ่ง เพราะ;

หนึ่ง ก้าวไกลชูอุดมการณ์สร้างระบอบประชาธิปไตยและคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริงในอนาคต ซึ่งท้าทายอำนาจแบบเดิมของสถาบันกษัตริย์ กองทัพ หรือรัฐราชการไทยโดยตรง

สอง ก้าวไกลจำเป็นต้องเล่นใน “กติกาที่เผด็จการเขียนขึ้น” โดยต้องได้เสียง ส.ส. และ สว. รวม 376 เสียงโหวตสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

สาม เพื่อบรรลุข้อสอง ก้าวไกลต้องแสวงหา “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตยตามอุดมคติที่จะสร่างขึ้นในอนาคตให้ได้ แต่ต้องแสวงหาฉันทามตินี้ภายใต้กติกาหรือ “ระบบผิดปกติ” และท่ามกลางความคิดความเชื่อที่แตกต่างทางการเมืองซึ่งขัดแย้งกันมายาวนาน

พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ในสถานการณ์นี้ ก้าวไกลเป็น “สีส้ม” ที่กำลังแสวงหาฉันทามติเหลื่อมซ้อนกับ “สีแดง” และ “สีเหลือง” โดยเฉพาะ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และพรรคอื่นๆ 250 สว. ที่เผด็จการตั้ง หรือพรรคฝ่ายเผด็จการเดิม เพื่อรวมเสียงโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยที่ฉันทามติเหลื่อมซ้อนที่ได้มานั้นต้องสามารถอธิบายได้ว่าเป็น “เหตุผลสาธารณะ” หรือเหตุผลที่สมเหตุสมผลว่าสามารถสนับสนุนให้ก้าวไกลตั้งรัฐบาลได้และทำตามนโยบายสำคัญๆ ที่ประกาศหาเสียงไว้ให้ได้มากที่สุด หรือในระดับที่สังคมยอมรับได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 

คำถามคือ ในความขัดแย้งร่วมสองทศวรรษ มีข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นว่าการแสดงหาฉันทามติเหลื่อมซ้อนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะมี ตัวอย่างเช่น;

หนึ่ง เคยมีข้อเสนอมานานแล้วว่า การจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยได้ จำเป็นต้อง “โน้มน้าว” ฝ่าย “เสื้อเหลือง” และพรรคการเมืองฟากอนุรักษ์นิยมให้เปลี่ยนใจ หรือมีฉันทามติร่วมกับฝ่ายยืนยันประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตยด้วย ข้อเสนอแบบนี้เกิดจากการมอง “ความเป็นไปได้” ของการเปลี่ยนฝ่ายทางการเมือง หรือการหา “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” ระหว่างกลุ่มคนที่เห็นต่างกัน เพราะเป็นไปได้ที่แต่ละฝ่ายอาจเห็นต่างกันในเรื่อง X แต่อาจเห็นสอดคล้องกันในเรื่อง Y หรือ Z

สอง ที่ผ่านมาการเมืองมี “พลวัต” (dynamic) อยู่ตลอด เพราะมีทั้งเสื้อแดงที่เปลี่ยนไปสนับสนุนฝ่ายเผด็จการ มีเสื้อแดงที่ปกป้องจุดยืนเดิมของตน มีเสื้อแดงเปลี่ยนเป็นส้ม มีเสื้อเหลืองเปลี่ยนเป็นแดง เป็นส้ม และ ส.ส.ส้มเปลี่ยนไปสนับสนุนฝ่ายเผด็จการ กระทั่งมีอดีต “เสื้อเหลือง” เป็น ส.ส.ในพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยเป็นต้น 

แม้แต่ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ก็มีพลวัตของตัวเองเช่นกัน เช่น อนาคตใหม่ไม่แตะ 112 แต่พอพัฒนามาเป็นก้าวไกลก็เสนอแก้ 112 ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ก็มีพลวัตของตนเองและกล้าท้าทาย “อำนาจที่แตะไม่ได้” มากขึ้น แม้พรรคการเมืองฝ่ายเผด็จการเองก็มีพลวัต ไม่ได้เป็น “เอกภาพ” ที่แน่นอนขนาดนั้น 250 สว.ก็มีบางคนที่เริ่มประกาศหนุนพิธาเป็นนายกฯ แน่นอนอาจมี “อำนาจนอกระบบ” ที่ทำอะไรลับๆ ซึ่งคาดเดายากอยู่ด้วย ขณะที่มีประชาชนจำนวนมากที่เลือกก้าวไกลและเลือกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจับตาดูอยู่และคาดหวังอยู่

ดังนั้น ปรากฏการณ์ตามข้อสอง จึงทำให้เรา “คาดหวัง” ว่าการสร้างฉันทามติเหลื่อมซ้อนเพื่อตั้งรัฐบาลก้าวไกล “อาจ” จะเป็นไปได้ 

แต่ถ้าก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็น่าเสียดายโอกาสในการทำตามนโยบายดีๆ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ และอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราก็จะมี “รัฐบาลตัวแทนอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ชัดเจนขึ้น ที่ประชาชนสามารถเรียกร้อง และผลักดันให้นิรโทษกรรมคนที่โดน 112 และแก้ 112 หรือให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้มากขึ้น 

เราต่างรู้ว่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับการตั้งรัฐบาลก้าวไกลในระบบผิดปกติเช่นนี้ เพราะเงื่อนไขของการต่อรองเพื่อแสวงหาฉันทามติเหลื่อมซ้อนของแต่ละฝ่ายสุดขั้วไปคนละทาง การ ”เปลี่ยนผ่าน” ภายใต้กติกาและสถานการณ์ผิดปกตินี้ ไม่มีอะไรแน่นอน แต่หลายเรื่องที่ผ่านมาก็มักผิดจากการคาดเดา เช่น แรกๆ เซียนการเมืองไม่เชื่อว่าก้าวไกลจะเป็นพรรคอันดับ 1 แต่ก็เป็นได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเคยพูด (ประมาณ) ว่า "ธรรมชาติของการเมืองต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อแสวงข้อตกลงร่วมกัน โดยที่ก้าวไกลยังรักษาอุดมการณ์และนโยบายหลักไว้ได้" ผมยังมองว่า ถ้าก้าวไกลต่อรองแล้วได้เป็นแกนนำรัฐบาลคุมกระทรวงหลักๆ และดันแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ เราจะได้เห็นประสิทธิภาพการต่อสู้อีกแบบ (นอกจากประสิทธิภาพแบบฝ่ายค้านตามที่เคยเห็นมา) ของก้าวไกล 

ถ้าในอนาคตเกิดขัดแย้งในพรรคร่วมเรื่องประเด็นแก้ 112 จนหาทางออกไม่ได้ ก็ประกาศ "ยุบสภา" เลือกตั้งใหม่ได้เร็วขึ้น ถ้าก้าวไกลสู้ในสภาอย่างยึดมั่นอุดมการณ์เป็นที่ประจักษ์ เลือกตั้งครั้งหน้าก็อาจชนะท่วมท้นมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่การเป็น “พรรคการเมืองตัวแทนอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ก็จำเป็นและเป็นความหวังของประชาชนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย จะสามารถใช้เวทีรัฐสภาต่อสู้ได้มากกว่าที่ผ่านๆ มา แทนที่จะเป็นภาระของมวลชนที่ลงถนนแต่ฝ่ายเดียว!

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo?fbid=815866593436028&set=pcb.815867010102653&locale=th_TH

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net