Skip to main content
sharethis

สปสช. ตั้งคณะทำงานพัฒนานโยบายการล้างไตด้วยการเพิ่มทางเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทบทวน 2 ปีหลังเปลี่ยนนโยบายล้างไต เกิดอะไรขึ้นบ้าง


แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 ฝ่ายสื่อสารองค์กรโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) รายงานว่า จากกรณี สปสช.ปรับนโยบายล้างไตด้วยการเพิ่มทางเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับการฟอกไตทางช่องท้องและการปลูกถ่ายไตตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา เกิดคำถามจำนวนมากว่าการปรับนโยบายดังกล่าว มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้างนั้น

ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก น.พ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ให้เป็นประธานคณะทำงานเพื่อทบทวนผลกระทบจากนโยบายการล้างไตใหม่ เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ประชุมร่วมกันไปแล้วสองครั้งได้ข้อสรุปว่า นโยบายใหม่ทำให้มีผู้ป่วยล้างไตรายใหม่ด้วยวิธีฟอกเลือดเพิ่มขึ้นจากปีละ 4,000 ราย เป็นปีละ 28,000 รายในปี พ.ศ. 2565 และปีละ 20,000 รายในปี พ.ศ.2566 ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ที่เลือกล้างไตทางช่องท้องรายใหม่ลดลงจากปีละ 8,000 รายเหลือปีละ 3,000 รายในรอบสองปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยโดยรวมที่เข้าสู่ระบบการล้างไตทั้งสองวิธีของ สปสช.เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งคงไม่ใช่เฉพาะแค่การเข้าถึงการล้างไตของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการล้างไตทางช่องท้องเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุทั้งอาจจากแรงจูงใจของแพทย์และคนไข้ที่เลือกการฟอกเลือดที่เร็วมากขึ้น ผู้ป่วยที่สมควรได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาจได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพิ่มขึ้น และมาตรการชะลอไตเสื่อมในประเทศไทยยังไม่เข้มข้นมากพอที่จะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายลดลง

ประเด็นที่คณะทำงานกังวลมากที่สุดคือ ผู้ป่วยล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากหลังเปลี่ยนนโยบาย อัตราการเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มจาก 250 รายต่อผู้ป่วย 1,000 รายต่อปี เป็น 360 รายต่อผู้ป่วย 1,000 รายต่อปี และอัตราการเสียชีวิต ภายใน 90 วันหลังเริ่มการฟอกเลือดที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 27 ของผู้ป่วยฟอกเลือดราย ใหม่ ซึ่งอาจอธิบายได้ด้วยข้อจำกัดในการเข้าไม่ถึงการเตรียมเส้นเลือดเพื่อฟอกเลือดที่ไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาที่จำกัด และคุณภาพของหน่วยไตเทียมที่มีบุคลากร สถานที่ และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ

ในด้านงบประมาณ สปสช.รายงานว่ามีการเพิ่มขึ้นของงบค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจาก 9,000 ล้านบาทต่อปีก่อนเปลี่ยนนโยบายเป็น 13,000 ล้านบาทต่อปีในปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนของงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มจากร้อยละ 3.6 เมื่อ 11 ปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 7.7. ในปีที่ผ่านมา ซึ่งดูแลผู้ป่วยประมาณ 60,000 คนจากผู้ประกันตนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด 47 ล้านคน

ในตอนท้าย ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ได้ชี้แจงว่าคณะทำงานชุดนี้จะเร่งพัฒนาข้อเสนอในการปรับนโยบายล้างไต เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการและสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการพัฒนาข้อเสนอแนะนี้จะวางอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งนี้องค์ประกอบคณะทำงานประกอบด้วยแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง พยาบาล นักวิชาการและตัวแทนผู้ป่วย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการทำงานของคณะทำงาน คาดว่าจะได้ข้อเสนอแก่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายในเดือน ก.ย. 2567 นี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net