Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ กังวลเหตุการณ์จนท. ยึดรูป ผู้รู้ทางศาสนา-ธงชาติปาเลสไตน์ ในงานขบวนพาเหรดงานประเพณีสัมพันธ์ ที่นราธิวาส เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง - แนวทางการทำงานคลี่คลายความขัดแย้งของฝ่ายอื่นๆ

 

11 ก.ย. 2567 จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Chaturon Chaisang" ระบุ วันนี้ (11 ก.ย. 2567) คณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ แถลงการณ์แสดงความวิตกต่อกรณีเหตุการณ์ในกิจกรรมการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ตำบลโคกสะตอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากหลายอำเภอได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่เข้ายึดวัตถุจัดแสดงของผู้เข้าร่วมเดินขบวนพาเหรด สิ่งที่ยึดไปเป็นธงที่เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ธงชาติปาเลสไตน์ รวมทั้งรูปของอูลามะหรือผู้รู้ในทางศาสนา ที่เยาวชนบางกลุ่มนำไปร่วมแสดงในขบวนพาเหรดจำนวนหลายรูป สื่อมวลชนรายงานว่าผลของการใช้มาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ทหารอย่างมาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

จาตุรนต์ระบุว่า คณะกรรมธิการสันติภาพฯ มีความเห็นไปในหลายทิศทาง คณะกรรมาธิการส่วนหนึ่งกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวแม้จะเป็นความพยายามปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้จัดงานสามารถรักษารูปแบบงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้จัด แต่การยึดรูปของผู้นำด้านศาสนาซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงของคณะผู้จัดและการยึดธงปาเลสไตน์ในขบวนพาเหรดที่เป็นการแสดงออกอย่างสันติ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

การเก็บรูปภาพบุคคลในงานพาเหรดโดยเฉพาะบุคคลสำคัญในอดีตที่เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นผู้นำด้านจิตใจ เช่น หะยีสุหลง การติดตามไปพบปะเยาวชนถึงบ้านโดยทหารตลอดจนการเชิญตัวไปพบเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวโดยเฉพาะในหมู่เยาวชนอย่างมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 25 และภายใต้มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ที่ระบุถึงเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารส่งผลให้มีการตีความ และเกิดการเข้าใจผิดต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และต่อแนวทางการทำงานคลี่คลาย ความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์เป็นรัฐอธิปไตยในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2012 (recognition) และไทยยังได้ร่วมสนับสนุนทางด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวปาเลสไตน์ด้วย การห้ามถือธงชาติปาเลสไตน์ในจังหวัดชายแดนใต้จึงเป็นเรื่องที่ควรชี้แจง และภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็มิได้ห้ามการจัดแสดงรูปภาพของบุคคลสำคัญในพื้นที่

ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงอยู่แล้ว การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนี้จะทำให้เข้าใจไปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ในขณะที่รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติต่างพยายามที่จะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีและการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการฯจึงมีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับทิศทางของการดำเนินการเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการฯ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานทหารได้ทบทวนและแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เคารพเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

แต่ถึงอย่างไร ยังมีคณะกรรมาธิการอีกส่วนหนึ่งก็กังวลและตั้งคำถามว่าการปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้จัดกิจกรรมและหน่วยงานรัฐในลักษณะเช่นนี้ จะขัดต่อกฎหมายฉบับอื่น ๆ หรือไม่

ดังนั้นในการประชุมสัปดาห์ถัดไป (18ก.ย.2567) คณะกรรมาธิการจะเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคง คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาหารือ เพื่อเป็นพื้นที่กลางที่นำความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้มาอธิบายและถกเถียงกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของทั้งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จึงต้องทำความเข้าใจต่อทิศทางในการแก้ปัญหาให้ตรงกัน

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net