Skip to main content
sharethis

'สว.เทวฤทธิ์' โพสต์แจงทำงานสื่อมวลชนมานานเกิน 10 ปีแล้ว หลังถูก กกต.ตั้งข้อกล่าวหา ‘สมัคร สว.ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัคร เพราะประสบการณ์ในวิชาชีพน้อยกว่า 10 ปี’ เจ้าตัวแปลกใจทำไมไม่มีกระบวนการเรียกขอข้อมูลก่อนตั้งข้อกล่าวหา

 

12 ก.ย. 2567 เฟซบุ๊ก 'เทวฤทธิ์ มณีฉาย' โพสต์ข้อความวานนี้ (11 ก.ย.) เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากกลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม เปิดเผยว่า เมื่อ 10 ก.ย. 2567 ตนได้รับหนังสือเชิญจากสำนักสืบสวน 3 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงวันที่ 6 ก.ย. 2567 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ข้อหา สมัครรับเลือก สว. "โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก เนื่องจากมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครเกี่ยวกับกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน น้อยกว่า 10 ปี" อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ ม.74 ประกอบ ม.13(3) และ ม.11 (18) แห่ง พ.ร.ป.การได้มา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561

โพสต์ของเทวฤทธิ์ ระบุว่า ทางเขายินดีและสนับสนุนให้มีการตรวจสอบ แต่ขอชี้แจงเพิ่มว่า เขาเคยยื่นเอกสารรับรองว่าเป็นนักข่าวประจำสำนักข่าวประชาไท ตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งข้อมูลนี้ถูกระบุในเอกสาร สว.3 ที่ใช้แนะนำตัว และ กกต.มีข้อมูลส่วนนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ เขาแปลกใจด้วยว่าทำไมคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลางของ กกต. ถึงไม่มีกระบวนการเรียกไปให้ข้อมูลเพิ่มก่อนตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว  

โพสต์ของ สว.เทวฤทธิ์ ระบุเพิ่มว่า นอกจากการทำงานที่ประชาไทตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เขายังเป็นบรรณาธิการบริหารตั้งแต่ปี 2562 อีกทั้งมีผลงานลงสำนักข่าวทั้งที่ระบุชื่อหรือไม่ระบุชื่อจำนวนมาก ทั้งเคยร่วมกิจกรรมสาธารณะในนามของนักข่าวของสำนักข่าวแห่งนี้อย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เช่น เป็นวิทยากรวงเสวนามีเดียคาเฟ่ สื่อสนทนาหัวข้อ "อัพเดทเสรีภาพสื่อไทย..ในเสรีภาพสื่อโลก" จัดโดยกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 หรือช่วงรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถูกคำสั่งเรียกรายงานตัวและคุมตัวในค่ายทหารก็ถูกสื่อสัมภาษณ์ เช่น ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ในหัวข้อ “อัญชลี-เทวฤทธิ์” สื่อมวลชนจาก 2 ค่ายเล่าประสบการณ์ถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหาร เป็นต้น

ก่อนหน้าทำงานประจำกับสำนักข่าวประชาไท เขายังเป็นนักข่าวพลเมืองในประเด็นสิทธิแรงงานและพลเมืองที่มีงานเขียนข่าวส่งสำนักข่าวประชาไทตั้งแต่ปี 2552 อีกทั้งกลุ่ม 18 ยังมีส่วนที่เป็นเรื่องงานเขียนอื่นๆ ที่อาจไม่จำกัดว่าต้องเป็นสื่อมวลชนนั้น ในปี 2552 ตนก็เคยเป็น บรรณาธิการประจำเล่ม หนังสือ 'เขียนประชาธิปไตยสมบูรณ์' ของ มูลนิธิ 14 ตุลา ปี 2554 ร่วมเขียนรายงาน "ความจริงเพื่อความยุติธรรม" ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ปี 2555 ร่วมเขียนรายงาน 'เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย' ในฐานะผู้ช่วยวิจัยของเครือข่ายพลเมืองเน็ต เป็นต้น

โพสต์ของ สว.กลุ่ม 18 กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า คาดว่าหลักฐานที่ถูกใช้เป็นข้อมูลในการกล่าวหาน่าจะมาจากใบ สว.3 ซึ่งเป็นเอกสารแนะนำตัวเดิมที่ให้ใส่ประวัติเพียง 5 บรรทัดที่มีข้อจำกัดอย่างยิ่ง เหล่านี้ก็เป็นผลมาจากการวางระบบของ กกต.เอง การตรวจสอบคุณสมบัติแต่ต้นของ กกต. ก็ถูกสังคมตั้งคำถามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่อาจสะท้อนปัญหาการจัดการvหรือเจตนาของ กกต. เองด้วยหรือไม่

สำหรับเทวฤทธิ์ เป็นหนึ่งในผู้ฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือก สว. จนต่อมา ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียนที่เป็นข้อจำกัดการแนะนำตัว รวมทั้งข้อจำกัดการใช้ความสามารถตัวเองในการแนะนำตัวของผู้สมัครกลุ่มสื่อสารมวลชนและศิลปวัฒนธรรม โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ประกาศศาลปกครองได้ถูกนำเผยแพร่ลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net