Skip to main content
sharethis

ผู้หญิงเกาหลีใต้กว่า 6 พันคนชุมนุมที่สถานีรถไฟฮเยวา กรุงโซล เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการลงโทษที่เข้มงวดต่อผู้ที่นำภาพถ่ายและภาพตัดต่อ สร้าง Deepfake ทำสื่อลามก โดยที่ไม่ได้รับการยินยอม

 

26 ก.ย. 2567 สื่อต่างประเทศรายงานว่า เมื่อ 21 ก.ย. 2564 มีการชุมนุมของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ที่สถานีรถไฟฮเยวา กรุงโซล จัดโดยเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยสตรี 6 แห่ง เพื่อต่อต้านความรุนแรงจากความเกลียดชังผู้หญิง ภายใต้ชื่อ "การชุมนุมเรียกร้องให้ลงโทษผู้แสวงหาประโยชน์ทางเพศด้วย Deepfake อย่างเข้มงวด : ทั้งผู้สร้าง ผู้ขาย และผู้ดู ทั้งหมดต้องถูกลงโทษ"

บรรยากาศการชุมนุม มีผู้หญิงสวมหน้ากากสีดำหลายพันคนรวมตัวกันอยู่ที่ทางออกของสถานีรถไฟฮเยวา ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับเมื่อ 6 ปีก่อนที่หญิงชาวเกาหลีใต้นับหมื่นออกมาประท้วง เพื่อประณามภาพถ่ายที่ผิดกฎหมาย แต่ครั้งนี้เป็นการใช้โปรแกรม ‘Deepfake’ ภาพลามกจาก Deepfake ถูกสร้างจาก AI และมักถูกมาตัดต่อกับภาพจริง ผู้ประท้วงประณามสมาชิกรัฐสภาที่ไม่สามารถร่างกฎหมายที่เหมาะสม ศาลที่ปล่อยให้อาชญากรได้รับโทษเพียงเล็กน้อย และตำรวจที่ไม่กระตือรือร้นในการสืบสวนอาชญากรรมทางเพศ

บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีจำนวน 6 แห่ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดแก่ผู้ที่ผลิต ขาย และดูสื่อลามก จาก Deepfake (ที่มา: Hawong Jung)

ก่อนหน้านี้เมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา นักข่าวคนหนึ่งเปิดโปงว่ามีภาพลามกที่ใช้ Deepfake เผยแพร่ในหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย 2 แห่งในสัปดาห์เดียวกัน มีรายงานว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากกว่า 500 แห่งตกเป็นเป้าหมาย และมีเหยื่อที่เป็นเป้าหมายอายุต่ำกว่า 16 ปี ขณะที่ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ต่อมา เจ้าหน้าที่ นักข่าว และผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อีกจำนวนหนึ่งสามารถชี้เบาะแสกลุ่มแชตที่สมาชิกในกลุ่มสร้างและแชร์ภาพลามกที่สร้างขึ้นจาก Deepfake ได้จำนวนมาก ในจำนวนนี้มีเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 16 ปี

ตำรวจเกาหลีใต้ ระบุว่า ผู้ก่อเหตุที่ใช้ Deepfake ก่ออาชญากรรมทางเพศกว่า 80% เป็นวัยรุ่นหรือผู้เยาว์ ขณะเดียวกัน ยังเผยสถิติว่าอาชญากรรมทางเพศที่เกิดจาก Deepfake ในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (2567) พุ่งถึง 297 คดี เทียบกับปีที่แล้ว (2566) สถิติทั้งปีมี 180 คดี ในปี 2566 'ACOSAV' หน่วยงานที่ทำงานสนับสนุนเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ของเกาหลีใต้ให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อ 86 คน แต่ 8 เดือนแรกของปี 2567 มีผู้เข้ารับการปรึกษาแล้ว 238 คน

การชุมนุมประท้วงในประเด็นอาชญากรรมทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ในเกาหลีใต้ เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี เกาหลีใต้มีชื่อเสียงในทางลบจากการก่ออาชญากรรมทางเพศออนไลน์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (2557-2567) ก่อนหน้านี้ในปี 2562 มีการเปิดโปงห้องแชตในแอปพลิเคชันเทเลแกรมที่ผู้ชายแบล็กเมล์ผู้หญิงหลายสิบคนให้ทำกิจกรรมทางเพศ ซึ่งโช จูบิน หัวหน้ากลุ่มต้องโทษจำคุก 42 ปี

ขณะที่องค์กรสิทธิสตรี ยอมรับว่า เทคโนโลยี AI ทำให้การแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเหยื่อง่ายขึ้น พวกเขายังระบุว่านี่เป็นรูปแบบล่าสุดของการเกลียดชังผู้หญิงในโลกออนไลน์ของเกาหลีใต้ ตั้งแต่การใช้คำพูดโจมตี มาเป็นการคิดตั้งกล้องเว็บแคมเพื่อส่องดูในห้องน้ำสาธารณะ หรือห้องแต่งตัว

กลุ่ม ReSET กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่รวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศดิจิทัล และทำงานร่วมกับตำรวจกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ล่าสุดของอาชญากรรมทางเพศในโลกดิจิทัล เราต้องสนใจว่า ผู้ชายมีวิวัฒนาการในกดขี่ผู้หญิงอย่างไร ในขณะที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น “สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า หน่วยงานรัฐทำอะไร ในขณะที่ผู้หญิงต่อสู้อย่างยากลำบาก”

ด้านประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ย็อล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การล่วงละเมิดทางเพศด้วย Deepfake ถูกสร้างขึ้นได้เพียงแค่นาทีเดียว ใครๆ ก็สามารถเข้าไปในห้องแชตโดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตน เขากล่าวว่า ในการสร้างวัฒนธรรมสื่อที่แข็งแรง ผู้ชายต้องได้รับการศึกษาดีกว่านี้

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ที่ออกโดยองค์กรผู้หญิง 84 แห่ง ระบุว่าต้นเหตุเกิดจากการเหยียดเพศเชิงโครงสร้าง และวิธีแก้ปัญหาคือความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้แถลงการณ์ดังกล่าวตอบโต้ประธานาธิบดี ที่เคยปฏิเสธว่าไม่มีการเหยียดเพศเชิงโครงสร้าง ตัดเงินสนับสนุนแก่กลุ่มที่ช่วยเหลือเหยื่อ และยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/1159340.html

https://www.bbc.com/news/articles/cpdlpj9zn9go

https://www.bbc.com/news/articles/cg4yerrg451o
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net