Skip to main content
sharethis

ในเวทีประชุมผู้บริหารสูงสุดของประเทศสมาชิกสหประชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ ภาคประชาสังคมไทย ร่วมลงนามจดหมายเปิดผนึก “ปฏิญญากรุงเทพฯ” รวมใจค้านความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ขวางการเข้าถึงยาของประชาชน ขณะที่ประเทศมหาอำนาจเจ้าของสิทธิบัตรต้องการผูกขาดตลาดทำกำไร 8 มิ.ย. 54 ในขณะที่การประชุมผู้บริหารสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งกำลังมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย.นี้ ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามและกำหนดเจตจำนงร่วมกันตามที่ประเทศต่างๆ ได้ตกลงตามปฏิญญาว่าด้วยพันธกรณีเรื่องเอชไอวีและโรคเอดส์ เมื่อปี ค.ศ.2001 และปฏิญญาการเมืองว่าด้วยเรื่องโรคเอดส์เมื่อปี ค.ศ. 2006 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพราะประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ พยายามใช้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่จะเพิ่มการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่ต้องการรับปากที่จะให้เงินช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ภาคประชาสังคมไทยกว่า 10 องค์กร อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ร่วมกับภาคประชาสังคมทั่วโลก ส่งจดหมายเปิดผนึก “ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยความตกลงเขตการค้าเสรีและการเข้าถึงยา” และบางส่วนยังได้จัดการรณรงค์ส่งโทรสารไปยังสถานฑูตประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคต่างๆ เพื่อคัดค้านความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และความพยายามในรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วและอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ที่ต้องการผูกขาดทำกำไรด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วโลก นายสุริยา วิงวอน ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมที่สหประชาชาติขณะนี้ ตัวแทนประเทศไทยมีจุดยืนที่ดีมาก คือ ต้องการให้กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงการรักษาที่ 15 ล้านคนภายในปี 2030 ซึ่งจะครอบคลุม ร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้ยา และยืนยันให้คงสิทธิและสนับสนุนให้ทุกประเทศใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์เพื่อการเข้าถึงยา รวมทั้งคัดค้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ที่ผ่านช่องทางการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ซึ่งจุดยืนนี้มาจากการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยและภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานด้านเอดส์ “เชื่อว่า การเจรจาครั้งนี้จะดุเดือด เพราะประเทศพัฒนาแล้วคัดค้านสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เนื่องจากต้องการทำกำไรจากการขายยาให้ได้สูงสุด แต่ภาคประชาสังคมทั่วโลกจะร่วมกับรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเช่น ไทย บราซิล และอินเดีย คัดค้านเรื่องนี้อย่างที่สุดเช่นเดียวกัน” 00000000 ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยความตกลงเขตการค้าเสรีและการเข้าถึงยา องค์กรและบุคคลที่ลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ ขอประกาศคัดค้านความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่คำนึงถึงแต่กำไรของบรรษัทยาข้ามชาติมากกว่าสิทธิของประชาชนทั่วโลกในเรื่องสุขภาพและกำลังแพร่ระบาดไปทั่วอย่างรวดเร็ว ความตกลงเหล่านี้เป็นภัยและบ่อนทำลายการเข้าถึงยาของประชาชนนับล้านคนอย่างใหญ่หลวงและถาวร ยาจำเป็นใหม่ๆ สำหรับรักษาเอชไอวีและเอดส์ วัณโรค โรคไวรัสตับอักเสบซี มะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่นๆ ทั้งหมดนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง แต่เดิมคนนับล้านๆ คนในประเทศซีกโลกใต้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นอยู่แล้ว อุปสรรคทางการค้าแบบใหม่จะยิ่งทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงยาได้ยากขึ้นไปอีก ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกลงนามตกลงร่วมกันในปฏิญญาโดฮา ซึ่งยืนยันว่าความตกลงการค้าที่เกี่ยวกับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) “สามารถและควรตีความและนำไปปฏิบัติในทางที่สนับสนุนสิทธิของประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกที่จะคุ้มครองการสาธารณสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมการเข้าถึงยาแก่ประชาชนทุกคน” แต่ชาติต่างๆ กำลังถูกบังคับให้ละทิ้งสิทธินั้นของตนเองโดยผ่านการทำความตกลงเขตการค้าเสรี รัฐบาลที่ดำเนินการเจรจากำลังให้สัญญาเท็จว่าความตกลงเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเรื่องสุขภาพของประชาชน แต่พวกเรารู้ว่าสัญญานั้นไม่เป็นความจริง การปฏิบัติตามความตกลงทริปส์ถือเป็นการจำกัดการเข้าถึงยาใหม่ของคนในซีกโลกใต้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีจะเป็นภัยคุกคามทำให้สถานการณ์เลวร้ายและยิ่งย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก หลักฐานจากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ความตกลงนั้นจะริดรอนสิทธิของประเทศต่างๆ ในอันที่จะนำนโยบายภายในประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพมาใช้ การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าความตกลงเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯ ได้ทำกับจอร์แดน ส่งผลให้ร้อยละ 79 ของยาที่สิทธิบัตรหมดอายุในจอร์แดนไม่มียาชื่อสามัญที่ให้ผลการรักษาที่เทียบเท่าเข้ามาในตลาดได้ และทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคชนิดเดียวกันในประเทศกัวเตมาลามีราคาแพงกว่าถึงร้อยละ 850,000 ในความตกลงเขตการค้าเสรีของสหภาพยุโรป (Free Trade Agreement) ความตกลงความร่วมมือแถบแปซิฟิคของสหรัฐฯ (Trans Pacific Partnership Agreement) และการเจรจาแบบทวิภาคีในรูปแบบอื่นๆ พวกเรารู้ว่าบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุนถูกกำหนดไว้เป็นเรื่องที่จะต้องเจรจา ซึ่งจะส่งผลบังคับให้ประเทศคู่เจรจาต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศขนานใหญ่และจะทำให้ยามีราคาแพงและเข้าไม่ถึงในอนาคต ความสามารถของอินเดียและประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพการผลิตยาต้นทุนต่ำภายในประเทศ เป็นตัวกำหนดสำคัญต่อจำนวนคนที่จะเข้าถึงยาจำเป็นที่ช่วยรักษาชีวิตได้ การกีดกันการผลิตยาชื่อสามัญจึงเป็นเรื่องความเป็นความตาย พวกเราขอยืนหยัดคัดค้านข้อเสนอใดๆ ในความตกลงเขตการค้าเสรี ไม่ว่าจะมีเนื้อหาบางส่วนหรือทั้งหมดที่จะส่งผลกระทบร้ายต่อการเข้าถึงยา ข้อเสนอเหล่านั้นได้แก่: การผูกขาดข้อมูลยา (DATA EXCLUSIVITY) ที่จะกีดกันไม่ให้รัฐบาลใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิค (clinical trial) เพื่อขึ้นทะเบียนยาให้กับยาชื่อสามัญ แม้ว่ายานั้นจะไม่ได้จดสิทธิบัตรในประเทศนั้น หรือสิทธิบัตรหมดอายุลงหรือถูกเพิกถอน ทั้งนี้ ยังจะทำให้การนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เกิดความยุ่งยากและไม่ได้ผล การขยายอายุสิทธิบัตร (PATENT TERM EXTENSIONS) ซึ่งจะทำให้สิทธิบัตรมีอายุเกินกว่า 20 ปี การเพิ่มกรอบการคุ้มครองสิทธิบัตร (INCREASING PATENT SCOPE) ที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมให้มีการผูกขาดตลาดอีก 20 ปี ยาที่มีสิทธิบัตรอยู่เดิมจะสามารถจดสิทธิบัตรใหม่เพิ่มเติมได้ถ้านำไปใช้รักษาแบบใหม่หรือผลิตออกมาในรูปแบบใหม่ ด้วยวิธีการนี้ ยาที่จะขอจดสิทธิบัตรทำนองนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ยาเหล่านั้นผูกขาดตลาดได้ยาวนานเพิ่มขึ้นอีกเป็นสิบปีหรือยาวนานกว่านั้น เพียงแต่ดัดแปลงสูตรยาหรือกระบวนการผลิตเล็กน้อย การเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (PATENT LINGKAGE) ที่กีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญดำเนินการล่วงหน้าเพื่อทำวิจัยและเตรียมขึ้นทะเบียนยาได้ทันทีที่สิทธิบัตรของยาต้นฉบับหมออายุลง มาตรการเช่นนี้เป็นการประวิงเวลาทำให้มียาชื่อสามัญในตลาดได้ช้าลง แม้ว่าจะมีการนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาให้ หรือสิทธิบัตรหมดอายุลงแล้วหรือถูกเพิกถอนก็ตาม ข้อจำกัดในการใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (RESTRICTIONS ON COMPULSORY LICENCES) ซึ่งจะจำกัดสิทธิที่ทุกประเทศพึงมีในการนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าถึงยาได้ทุกคน แม้ว่าสิทธินี้จะถูกยืนยันซ้ำในปฏิญญาและสนธิสัญญาหลายฉบับก็ตาม ข้อจำกัดในเรื่องการนำเข้าคู่ขนาน (RESTRICTIONS ON PARALLEL IMPORTS) ที่จะทำให้การนำเข้ายาที่จดสิทธิบัตรในประเทศอื่นแต่มีราคาถูกกว่าไม่สามารถกระทำได้ กฎเกณฑ์ว่าด้วยการลงทุน (INVESTMENT RULES) ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติดำเนินคดีกับรัฐบาลโดยอาศัยกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถ้าผลประโยชน์ของบริษัทเหล่านั้นถูกกระทบกระเทือนจากนโยบายด้านสุขภาพภายในประเทศที่รัฐบาลนำมาใช้ เช่น มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร มาตรการคุ้มครองสาธารณสุขที่ระบุไว้ในกฎหมายสิทธิบัตร มาตรการควบคุมราคายา นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังอาจกีดกันไม่ให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในประเทศอีกด้วย มาตรการชายแดน (BORDER MEASURES) ที่จะทำให้ผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าไม่ถึงยาได้ เพราะเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะมีอำนาจยึดจับยาชื่อสามัญที่นำเข้าหรืออยู่ระหว่างขนส่งเพียงต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การจำกัดการออกคำสั่งศาล (INJUNCTIONS) ซึ่งจะเป็นการลดอำนาจศาลของประเทศกำลังพัฒนาลง และทำให้ศาลไม่สามารถตัดสินคดีโดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของผู้ป่วยมาก่อนกำไรบรรษัทข้ามชาติได้ มาตรการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ (OTHER IP ENFORCEMENT MEASURES) ที่จะทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้การรักษา ต้องเสี่ยงถูกตำรวจจับหรือถูกดำเนินคดีในศาล และยังรวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อุปสงค์และการจัดส่งยาชื่อสามัญทั้งหมด นับตั้งแต่การผลิต การกระจายและจัดส่งสินค้า อาจถูกฟ้องดำเนินคดีด้วย นอกจากนี้ พวกเรายังยืนหยัดคัดค้านการใช้กลวิธีข่มเหงในทุกรูปแบบ ที่ประเทศพัฒนาแล้วและบรรษัทยาข้ามชาติใช้กดดันประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ให้ยอมรับนโยบายและกฎหมายที่เป็นภัย ซึ่งรวมถึงรายงานพิเศษ 301 ของประเทศสหรัฐฯ การอบรมผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การฟ้องดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง และการกดดันและการล็อบบี้ในรูปแบบอื่นๆ เราเรียกร้องให้:รัฐบาลของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ถอนมาตรการทริปส์ผนวกออกจากบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุนที่อยู่ในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีทันที ขอให้ประเทศเหล่านี้หยุดกดดันและล็อบบี้ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดทันที และล้มเลิกการเจรจาความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (ACTA) รัฐบาลประเทศซีกโลกใต้ค้ดค้านและปฏิเสธไม่ยอมข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องการผลิต การขึ้นทะเบียน การจัดส่ง การนำเข้าและส่งออกของยาชื่อสามัญ และสร้างความร่วมมือในโลกซีกใต้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้มียาชื่อสามัญราคายุติธรรมที่ยั่งยืนสำหรับในอนาคต รัฐบาลประเทศเหล่านี้ควรเรียกร้องให้มีการทบทวนความตกลงทริปส์และผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดโดยทันที รัฐบาลประเทศซีกโลกใต้ที่ได้ลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีแล้ว ซึ่งจำกัดการเข้าถึงยาในราคายุติธรรม เร่งทบทวนและแก้ไขมาตรการเหล่านั้นในความตกลงเขตการค้าเสรีในทันที และแก้ไขนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นภัยทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาในราคายุติธรรมได้ รัฐบาลทุกประเทศควรทำให้การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไม่เป็นความลับอีกต่อไป เนื้อหาการเจรจาต้องปรากฎต่อสาธารณะและสามารถตรวจสอบได้ รัฐบาลทุกประเทศควรสนับสนุนให้มีการประเมินผลกระทบของการเจราจาการค้าที่กล่าวมาต่อสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิอื่นๆ และการประเมินนั้นต้องเปิดกว้าง โปร่งใส และสาธารณชนมีส่วนร่วม รัฐสภาและองค์กรรัฐธรรมนูญของประเทศควรเรียกร้องให้เปิดเผยเนื้อหาการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ทบทวนผลกระทบที่มีต่อสิทธิด้านสุขภาพและการเข้าถึงยา ปฏิเสธที่จะเห็นชอบหรือให้สัตยาบันกับความตกลงเขตการค้าเสรีที่ได้ลงนามไปแล้วและมีมาตรการต่างๆ ที่ริดรอนสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงการรักษาในราคาที่เป็นธรรม และทบทวนกฎหมายภายในประเทศทั้งหมด รวมถึงนโยบายและกฎหมายสิทธิบัตรและกฎระเบียบเรื่องยา เพื่อทำให้มั่นใจว่าสาระของปฎิญญาโดฮาได้รวมอยู่ในกฎหมายเหล่านั้นอย่างครบถ้วน องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ และองค์กรอื่นของสหประชาชาติ ควรมีการกระทำที่มากไปกว่าเพียงการออกแถลงการณ์ และควรกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกที่สนับสนุนสิทธิด้านสุขภาพในเรื่องที่เกี่ยวกับความตกลงเขตการค้าเสรี องค์กรของสหประชาชาติควรทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมระดับสูงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นและต้องมีตัวแทนชุมชนและกลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพเข้าร่วมอย่างครบถ้วนในการประชุมเหล่านั้นด้วย องค์กรภายใต้สหประชาชาติควรวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงการค้าต่างๆ ต่อการเข้าถึงยา และนำเสอนผลการวิเคราะห์นั้นต่อสาธารณะและให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการกับรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าความตกลงเขตการค้าเสรีจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าองค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติต้องการขยายการเข้าถึงการรักษาและป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ให้ได้จำนวนหนึ่งล้านคนต่อปีจริง และถ้าเป้าหมาย Treatment 2.0 นี้จะบรรลุผลได้จริง องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติต้องประณามการเจรจาความตกลงเขตการเสรีอย่างชัดเจน และเร่งทำงานเพื่อป้องกันไม่มีการลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมาตรการทริปส์ผนวก คณะกรรมการกองทุนโลก ควรให้ความสนใจและประณามการเจรจากความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมาตรการทริปส์ผนวก สั่งให้เลขาธิการกองทุนโลกประเมินผลกระทบด้านการเงินที่เกิดจากความตกลงการค้าต่างๆ เปิดเผยผลการวิเคราะห์นั้นสู่สาธารณะ และต้องทำให้มั่นใจว่าได้นำระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่นำมาตการยืดหยุ่นทริปส์มาใช้อย่างเต็มที่มาใช้ รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินจากโครงการกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียไม่ใช้ไปซื้อยาที่ติดสิทธิบัตรและมีราคาแพงจนเกินความจำเป็น องค์การอนามัยโลกไม่ควรปลีกตัวออกจากงานด้านนโยบายของตนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา และต้องสร้างความมั่นใจว่าองค์การอนามัยโลกจะไม่เปลี่ยนจุดยืนมาเป็นฝ่ายสนับสนุนมาตรการทริปส์ผนวก แต่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังให้ประเทศต่างๆ ใช้สิทธิของตนในความตกลงทริปส์เพื่อคุ้มครองการสาธารณสุขและส่งเสริมการเข้าถึงยาสำหรับทุกคน กลุ่มภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และชุมชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาโรคติดต่อและไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศซีกโลกเหนือและใต้ ควรรวมพลังกันเพื่อหยุดยั้งความตกลงเขตการค้าเสรีในทุกรูปแบบที่จะจำกัดการเข้าถึงยาชื่อสามัญ พวกเราขอยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเคียงข้างกลุ่มเคลื่อนไหวและประชาชน ที่ถูกริดรอนสิทธิด้านสุขภาพ การดำรงชีวิต ความเสมอภาค ความเท่าเทียม อาหาร สิ่งแวดล้อม ความรู้ และการดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั่งเดิม จากผลกระทบทางลบอันเกิดแต่ความตกลงเขตการค้าเสรีเหล่านี้ซึ่งทำให้ช่องว่างคนจนและคนรวยในประเทศเองและระหว่างประเทศด้วยมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net