ชาวบ้านกว่า 2 พันคนเตรียมขึ้นเขาบูโด บุกโค่นต้นยางเก่า ประท้วงรัฐแก้ปัญหาอุทยานทับที่ช้า

เครือข่ายที่ดินเทือกเขาบูโดและชาวบ้านกว่า 2,000 คน เตรียมเดินเท้าขึ้นเขาบูโด บุกโค่นต้นยางพาราเก่าประท้วงรัฐแก้ปัญหาเขตอุทยานทับที่ล่าช้า ทั้งที่มีหลักฐานยืนยันการครอบครองมาก่อน นักวิชาการชี้เป็นผลจากความมักง่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้ชาวบ้านไม่อยากมีปัญหาเพราะความไม่สงบก็หนักพออยู่แล้ว ส่วนชาวบ้านหวังทวงเพียงสิทธิทำกินไม่ได้ขอโฉนด

ผศ.นุกูล รัตนดากุล ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2558 นี้ทางเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส และชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาอุทยานทับที่ทำกินกว่า 2,000 คน เตรียมที่จะเดินเท้าขึ้นเขาบูโดเพื่อโค่นต้นยางพาราเก่า เพื่อเป็นการประท้วงต่อการแก้ไขปัญหาเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีทับที่ดินชาวบ้านล่าช้า

ผศ.นุกูล เปิดเผยต่อไปว่า ปัญหาที่ดินของชาวบ้านแถบเทือกเขาบูโดถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แม้ชาวบ้านได้พยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิมายาวนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ทั้งที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มัสยิดโบราณ เรื่องเล่าจากอดีต และหลักฐานการมีอยู่ของชุมชน ยืนยันถึงการครอบครองที่ดินของชาวบ้านว่ามีมาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

“การประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ถือเป็นความมักง่ายของรัฐ ที่เกิดจากการกำหนดแนวเขตไม่ชัดเจน ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทำให้กระทบการทำมาหากินของชาวบ้าน การออกมาเรียกร้องของชาวบ้านจึงเป็นการออกมาเรียกร้องในความเป็นธรรมตามสิทธิที่ควรจะได้รับ” ผศ.นุกูล กล่าว

ผศ.นุกูล กล่าวด้วยว่า ไม่มีชาวบ้านคนใดต้องการมีความขัดแย้งกับรัฐ เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาที่หนักพออยู่แล้ว จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องใช้ความจริงใจลงมาดูข้อเท็จจริง และหาทางออกร่วมกันกับชุมชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาโดยตรงต่อชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยอาจยึดแนวทางจัดการปัญหาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เช่น การใช้มิติทางวัฒนธรรม มิติศาสนา ซึ่งเป็นหลักการที่เชื่อมโยงชุมชนมานับร้อยปี อันเป็นตัวกำหนดให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ผืนป่า ที่นา สวนผลไม้ แหล่งน้ำ และพื้นที่สาธารณะอย่างเหมาะสม

“ปัญหาที่ดินไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดเท่านั้น แต่ความขัดแย้งนี้กำลังเป็นปัญหาของชาวบ้านทั่วประเทศ เพราะนโยบายหรือกฎหมายที่ดินของรัฐที่ออกมา สะท้อนกรอบความคิดของรัฐว่ามองชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกป่า จนนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน เมื่อปัญหายืดเยื้อมานานและยังแก้ไม่ได้ รัฐจึงควรใช้โอกาสนี้ปรับตัวเข้าไปคุยกับชุมชนเพื่อสะสางปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ในการประกาศเขตหรือกั้นแนวป่าและแนวที่ดินทำกินให้ชัดเจน” ผศ.นุกูล กล่าว

ด้านนายสิโรตม์ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด กล่าวว่า แม้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะกำหนดเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีทับที่ดินชาวบ้าน ให้อยู่ในแผนงานหลักที่จะขับเคลื่อนในปี 2558 แต่ชาวบ้านยังมีความกังวล เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงเครือข่ายภาคประชาชนเท่านั้นที่พยายามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 รวมทั้งพยายามผลักดันให้ ศอ.บต. และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว

“แต่ในระดับปฏิบัติการกลับแทบไม่มีการลงมาดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการให้ออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินซึ่งทับซ้อนเขตอุทยานฯ เพียงแต่ต้องการสิทธิทำกินในผืนดินเดิมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษเพียงครอบครัวละ 4-5 ไร่เท่านั้น โดยมีรูปแบบกรรมสิทธิ์สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม สามารถตกทอดให้แก่ลูกหลานทำกินสืบไปได้ แต่ไม่สามารถซื้อขายได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามากว้านซื้อไปดำเนินกิจการที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แต่แนวทางดังกล่าวยังคงขัดต่อหลักกฎหมาย ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐลงมาศึกษาสภาพปัญหาในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลไปออกกฎหมายให้สอดคล้องต่อการจัดการปัญหาที่ดิน” นายสิโรตม์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท