COVID-19 : 4 ก.พ. พบรายใหม่ 809 ราย อนุทินยันวัคซีนโควิดในไทย ไม่ล่าช้า

สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 วันที่ 4 ก.พ.64

  • พบรายใหม่ 809 ราย มาจากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 751 ราย
  • รมว.สาธารณสุข ยันวัคซีนโควิดในไทย ไม่ล่าช้า เตรียมแผนฉีดวัคซีนเต็มรูปแบบ มิ.ย.
  • ดัน ‘พระนิสิตเมียนมา’ เป็นที่ปรึกษา-ที่พึ่งพาแรงงานข้ามชาติฝ่าวิกฤตโควิด

4 ก.พ.2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 วันนี้ (4 ก.พ.64) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 809 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 796 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 44 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 751 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันจากรัฐจัดให้ 13 ราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 22,058 ราย หายป่วยแล้ว 14,798 ราย รักษาตัวอยู่ 7,181 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 79 คน

สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศตามพื้นที่เสี่ยงระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 63 - 5 ก.พ. 64 พบว่าจังหวัดสมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อ คิดเป็นร้อยละ 98.62 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 0.50 จังหวัดอื่นๆ ร้อยละ 0.88

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ จ.สมุทรสาคร การค้นหาเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ถ้าค้นหาวันละหมื่นราย จะใช้งบประมาณวันละ 20 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่มาก จึงต้องมาดูว่าจะทำให้ทุกอย่างสมดุลกันอย่างไรทั้งการควบคุมโรคและงบประมาณ โดยในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดคุยกันว่า ถ้าไม่ไปค้นหาเชิงรุก มีช่วงเว้นว่าง ก็ต้องหาคำตอบมาบอกกับประชาชนว่าตัวเลขจะทรงตัวหรือลดลง ทีมสมุทรสาครกับกรมควบคุมโรคพยายามนำหลักวิชาการมาศึกษา ที่โดยทั่วไปถ้ามีคนหนึ่งแสน ไม่ใช่ต้องค้นหาทั้งหนึ่งแสน เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ดังนั้นจะใช้ระบบควบคุมโรคและไปสุ่มหา เพราะรู้ระยะเวลาฟักตัวของโรคคือ 14 วัน จึงมีคำถามว่าการไปค้นหาทุกวันจะมีประโยชน์อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกัน

นอกจากนี้ มีชุดข้อมูลของ กทม. ที่ไปทำการค้นหาเชิงรุกในเขตที่มีพื้นที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร พบว่าเขตที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บางขุนเทียน ภาษีเจริญ บางพลัด บางรัก และธนบุรี สำหรับการค้นหาเชิงรุกในโรงงานที่อยู่ในเขตติดต่อกับ จ.สมุทรสาคร จะใช้วิธีใกล้เคียงกับการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร อาทิ เขตภาษีเจริญ มีโรงงาน 11 แห่ง มีแรงงาน 5,635 ราย สุ่มตรวจในโรงงานและชุมชนรอบๆ 1,721 ราย พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย หรือที่เขตบางขุนเทียน มีโรงงาน 25 แห่ง มีแรงงาน 11,228 ราย สุ่มตรวจโรงงานและชุมชนรอบๆ 6,772 ราย พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย

รมว.สาธารณสุข ยันวัคซีนโควิดในไทย ไม่ล่าช้า เตรียมแผนฉีดวัคซีนเต็มรูปแบบ มิ.ย.

วันเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงกรณีนำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกา 50,000 โดส จากการต่างประเทศที่ติดปัญหาอียู จำกัด การส่งออกวัคซีน ว่า ขณะนี้กำลังพยายามเจรจาอยู่กับผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง โดยทางบริษัท แอสตราฯรับปากว่าจะมีการจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาทดแทน แต่ปฏิเสธที่จะระบุแหล่งที่มาของวัคซีน จะมาจากเอเชียหรือที่ใด เนื่องจากเกรงถูกโจมตี และ เมื่อวัคซีนมาถึงไทยเมื่อไหร่ จะแจ้งให้สื่อมวลชนให้ทราบ

พร้อมย้ำสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของไทยในขณะนี้ ถือว่าควบคุมอยู่ จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลหรือเครียดกับสถานการณ์การได้มาของวัคซีนหรือการฉีด รวมถึงการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปก่อนนี้

อนุทิน ย้ำว่าแผนของการได้รับและเริ่มฉีดวัคซีน ยึดตามกรอบเดิมในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นหลัก โดยมีแหล่งที่มาจากการผลิตในไทย โดยบริษัทแอสตราฯที่ว่าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิต รวม 61 ล้านโดส ส่วนวัคซีนที่มาจากแหล่งผลิตอื่น 2 ล้านโดสในกรอบใหญ่ ที่เจรจาไว้ อาทิ ซิโนแวก หากได้มาจริงก็เป็นเรื่องดี แต่หากไม่ได้ก็ไม่ได้กระทบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และทุกฝ่ายพยายามจัดหาอย่างเต็มที่ โดยการสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมนี้เกิดจาก สถานการณ์การระบาดของจังหวัดสมุทรสาคร และภาคตะวันออก พร้อมยืนยันประเทศไทยไม่ได้มีความล่าช้าเรื่องวัคซีน เตรียมความพร้อมมาตลอดให้การให้วัคซีนกับประชาชนเต็มรูปแบบ ที่ผ่านมาประชาชนต้องการวัคซีน ก็มีการซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจากแผนเดิม ไม่ได้อิงแค่หลักวิชาการ อิงความคาดหวังของประชาชน และความมั่นคงทางสุขภาพ ใช้ทุกมิติในการตัดสินใจ และยังยึดความปลอดภัยของประชาชนด้วย

ดัน ‘พระนิสิตเมียนมา’ เป็นที่ปรึกษา-ที่พึ่งพาแรงงานข้ามชาติฝ่าวิกฤตโควิด

ภาคีหน่วยงานองค์กรด้านศาสนา สุขภาพ สังคม และการสื่อสาร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในประเด็นต่อเนื่องถึงแนวทางการนำพระนิสิตชาวเมียนมา เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการสื่อสารและด้านจิตใจแก่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากโรคระบาดโควิด-19 ภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่”

พระมหาประยูร โชติวโร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีพระนิสิตชาวเมียนมา ที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ประมาณ 50 รูป ขณะที่อีกประมาณ 300 รูป สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งโดยปกติแล้วนิสิตพระชาวเมียนมาจะมีช่องทางการสื่อสาร หรือกิจกรรมของตนเองอยู่แล้ว เช่น องค์กรบริหารนิสิตในเมียนมาที่มีกิจกรรมทุกสัปดาห์ โดยการเทศน์ หรือพูดคุยสื่อสารผ่านช่องทางเฟสบุ๊คเป็นประจำ
“ส่วนใหญ่พระนิสิตที่มาศึกษาหรืออาศัยในประเทศไทย จะเป็นพระผู้ใหญ่ หรือเป็นระดับเจ้าอาวาสในเมียนมา จึงเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของญาติโยมอยู่แล้ว ฉะนั้นหลายรูปจึงสามารถเทศน์ให้ความรู้ หรือนำความคิดได้ โดยเราอาจสนับสนุนด้านประสิทธิภาพในการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย มจร ยินดีและพร้อมสนับสนุนแผนงานนี้” พระมหาประยูร กล่าว

สพ.ญ.ดร.รัตนพร ตั้งวังวิวัฒน์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่เสี่ยงหลักคือ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีกลุ่มคนที่เข้ามายังโรงพยาบาลสนามไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อวัน โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินกิจกรรมในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ที่คอยช่วยให้ความรู้ หรือตอบคำถามเบื้องต้น จึงเสนอให้มีการช่วยผลิตสื่อเผยแพร่ในโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการกักกันโรค 14 วัน ได้ศึกษาข้อมูลและสามารถนำไปปฏิบัติหรือถ่ายทอดกับผู้อื่นได้หลังจากการกักกันโรค และขณะนี้ยังขาดแคลนอาสาสมัครที่ช่วยแปลภาษาอยู่ 
“กรมควบคุมโรค เตรียมจัดทำเนื้อหาหรือหลักสูตรอบรมระยะสั้น เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถกลับออกไปและให้ความรู้ในพื้นที่ต่อได้ หากพระนิสิตสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาสื่อตรงนี้ เป็นสื่อแบบเดียวกันที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงได้เหมือนกัน ก็จะช่วยให้เราเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้” สพ.ญ.ดร.รัตนพร ระบุ 

ประกาศิต กายะสิทธิ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของ สสส. ได้รวบรวมสื่อต่างๆ รวม 5 ภาษา เผยแพร่บนเว็บไซต์ นับเราด้วยคน.com โดยมีเนื้อหาหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาเพื่อดูในเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าการสื่อสารในเรื่องเหล่านี้ ควรหาจุดร่วมเพื่อคัดกรองสื่อต่างๆ ร่วมกัน ไม่ให้เป็นการดำเนินงานแบบครั้งเดียวจบ แต่จะมีแผนต่อเนื่อง เป็นงานระยะยาวต่อไป

“การเตรียมอบรมผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามก่อนที่เขาจะกลับไปยังพื้นที่ ก็น่าจะเป็นตัวเปลี่ยนที่สำคัญ ในการเป็นกลุ่มที่จะไปสื่อสารคลายกังวลให้กับพี่น้องชาวเมียนมาได้ ซึ่งนอกจากพระนิสิตแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือกลุ่มก้อนของพื้นที่ เช่น ตลาด หอพัก หรือวัด ที่หากมีการสนับสนุนสื่อ ชุดความรู้ต่างๆ ก็จะช่วยให้สามารถดำเนินกิจกรรมไปในระยะยาวได้ โดย สสส.เห็นด้วยกับแนวทางของกิจกรรมนี้ และยินดีที่จะร่วมมือในทุกด้าน” ประกาศิต กล่าว

ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ในบทบาทการทำงานภาคประชาสังคม มีพี่น้องชาวเมียนมาทั้งที่อยู่ในสถานประกอบการ และเครือข่ายการศึกษานอกระบบ (กศน.) ที่เข้าไปช่วยหนุนเสริมในการเป็นล่ามแปลภาษา ช่วยเหลืองานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการคัดกรอง ซึ่งมีการรวมทีมและประสานงานกันเองได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับมีข้อจำกัดในแง่ของความไม่เป็นทางการ ที่ทำให้ชาวไทยหรือแม้แต่แรงงานข้ามชาติเองอาจยังไม่ค่อยเชื่อถือ

“เคยมีการพูดคุยกันถึงต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว คือแรงงานข้ามชาติในสถานการประกอบการ หรือนักศึกษา กศน. ที่มีศักยภาพและทำงานช่วยเหลือกันเองอย่างไม่เป็นทางการ หากเราลดข้อจำกัดและสามารถดึงให้คนกลุ่มนี้ให้เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้เขาภูมิใจและพร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่ เข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการทำงานของรัฐได้” น.ส.ลัดดาวัลย์ ระบุ

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของพระนิสิตนอกจากการเป็นล่ามแล้ว ยังจะเป็นที่ปรึกษา (counsellor) และผู้นำทางความคิด (influencer) ให้กับแรงงานชาวเมียนมาได้ อันจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บนหลักการของการ ไม่แบ่งแยก แต่แบ่งปัน ไม่กีดกัน แต่เกื้อกูล

“ช่วงหลังวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะมีการจัดเวิร์คช็อป หรือ training for trainers ให้กับพระนิสิต ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มทั้งในแง่ความรู้ ข่าวสาร และสภาพจิตใจ ให้กับชาวเมียนมา ควบคู่ไปกับการเดินหน้าผลิตสื่อต่างๆ และการดำเนินกิจกรรมอีกหลายมิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นหนึ่งเดียว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมียนมา หรือชุมชนไทย” นพ.ปรีดา ระบุ

สำหรับบทบาทของพระนิสิตเมียนมา จะสามารถช่วยเป็นล่ามแปลภาษาในการสอบสวนโรค การสื่อสารให้ความรู้ด้านการป้องกัน การดูแลสุขภาพ รวมถึงการลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตของแรงงานชาวเมียนมาได้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงการนำวัดที่แรงงานเมียนมาชอบไปทำบุญ ในพื้นที่จำนวน 6 เขต ได้แก่ บางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ บางแค จอมทอง และหนองแขม เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือทั้งด้านการสื่อสาร การช่วยเหลือ ตลอดจนด้านจิตใจด้วย

ที่มา : สำนักข่าวไทย เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และกลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท